ReadyPlanet.com


สัญญาหมั้น


มีปัญหาว่า  บิดามารดา ฝ่ายชายและหญิง  ทำสัญญาหมั้นกัน โดยบิดามารดา ฝ่ายชายไม่ทราบมาก่อนว่า ขณะทำสัญญาหมั้นนั้น หญิงคู่หมั้นอายุไม่ถึง  17 ปี  ทั้งสองฝ่ายได้จัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณีแล้ว  แต่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอมหลับนอนฉันสามีภรรยากับฝ่ายชายและไม่ยินยอมไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และนอกจากนั้นหญิงคู่หมั้นได้หลบหนีไปจากบ้าน  บิดามารดาฝ่ายชายจะเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากฝ่ายหญิงได้หรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ นรี :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-05 14:49:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959257)

สัญญาหมั้นที่คู่หมั้นมีอายุไม่ครบ 17 ปี เป็นโมฆะ แต่ฝ่ายชายคู่หมั้นไม่ทราบว่าหญิงคู่หมั้นมีอายุไม่ครบ 17 ปี ดังนั้นของหมั้นและสินสอดต้องคืนแก่ฝ่ายชายเพราะเหตุโมฆะกรรมนั้น ตามลาภมิควรได้

บิดามารดาฝ่ายชายจึงเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากฝ่ายหญิงได้

 สัญญาหมั้นระหว่างชายและหญิงที่ทำขึ้นหากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสจะมีผลอย่างไรบ้าง? จะมีผลทำให้การหมั้นนั้นเป็นโมฆะหรือไม่?
(ก)  การหมั้นที่เกิดโดยชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์
การหมั้นระหว่างชายและหญิงที่อายุยังไม่ครบ 17 ปีนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1435 บัญญัติให้เป็นโมฆะ ฉะนั้นความเป็นโมฆะ เช่นว่านี้แม้ว่าต่อมาคู่หมั้นฝ่ายที่บกพร่องในเรื่องอายุจะมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์แล้วก็ตามก็ไม่ทำให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์ขึ้นมาได้
(ข)  การหมั้นระหว่างชายและหญิงที่ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเป็นบุคคลวิกลจริต
การสมรสระหว่างชายและหญิงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต อาจมีผลทำให้เกิดการสมรสที่ฝ่าฝืน มาตรา 1449 การการสมรสดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 150
(ค)  การหมั้นระหว่างชายและหญิงที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ทำการหมั้นกัน สัญญาหมั้นจึงอาจนำไปสู่การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1450 และเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นโมฆะตาม มาตรา 150
(ง)  การหมั้นระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมโดยไม่มีการจดทะเบียนให้เลิกรับบุตรบุญธรรม
การหมั้นระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้การสมรสระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผลให้การรับบุตรบุญธรรมที่มีต่อกันเป็นอันยกเลิกตาม มาตรา 1598/32 ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(จ) การหมั้นที่ทำขึ้นระหว่าง ชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว ไปทำสัญญาหมั้น สัญญาหมั้นดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ตาม มาตรา 150 มีวัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากทำให้ครอบครัวเดิมแตกแยก
(ฉ)  การหมั้นระหว่างชายกับหญิงที่สามีตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงไม่ถึง 310 วัน
การหมั้นที่ฝ่ายหญิงเคยสมรสและการสมรสสิ้นสุดลงไม่ถึง 310 วัน การหมั้นสมบูรณ์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
 

(รูปภาพสำหรับ - สำนักงานทนายความ, และ ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-06 18:59:53


ความคิดเห็นที่ 2 (1959472)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนาย อ. จำเลยเป็นมารดาของนางสาว บ. เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์จำเลยร่วมกันจัดพิธีแต่งงานให้กับบุตรทั้งสองคนแล้วพักอาศัยอยู่บ้านจำเลย แต่บุตรจำเลยไม่ยอมร่วมหลับนอนกับบุตรโจทก์และหลังแต่งงานเพียง ๓ วัน บุตรจำเลยหนีจากบ้านไปอันเป็นการผิดประเพณีของการสมรส โจทก์จำเลยจึงตกลงกันโดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๗๐,๔๐๐ บาท ภายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน ๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์จำเลยให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางสาว บ. เกิดวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๔ ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์และจำเลยจัดพิธีแต่งงานระหว่างนาย อ. กับนางสาว บ. ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๕ ปีเศษ ก่อนพิธีแต่งงานมีการหมั้นโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่านางสาว บ. อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี ส่วนการหมั้นมีของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำพร้อมจี้และสินสอดเป็นเงินสด นาย อ. กับนางสาว บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันได้ ๓ วัน ก็เลิกการอยู่กินด้วยกันและโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยตกลงคืนเงินสินสอดจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท และของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก ๒ บาท พร้อมจี้ทองคำให้แก่โจทก์ภายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ตามเอกสารหมาย จ. ๑ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๑ มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะแต่งงานนางสาว บ. อายุ ๑๔ ปีเศษ เป็นการขัดต่อกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี บริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง ๑๕ ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓๕ วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๑๔๓๕ วรรคสอง นอกจากนี้ มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ ๑๗ ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๒ และ ๔๑๓ โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๗ หาได้ไม่ ดังนั้นบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๑ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น?

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( จรัส พวงมณี - สุเทพ เจตนาการณ์กุล - จรูญวิทย์ ทองสอน )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 13:42:45


ความคิดเห็นที่ 3 (1959474)

 

มาตรา 1435 ารหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

 

มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มี ส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าว อ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

 

มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

 

มาตรา 413 เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย
ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

 

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือน หนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 13:57:44


ความคิดเห็นที่ 4 (2399395)

เงื่อนไขของการหมั้น
ในการที่ชายและหญิงจะทำการหมั้นกันนั้นกฎหมายกำหนดเงื่อนไขของการหมั้นไว้ 2 ประการ คือ
1. อายุของคู่หมั้น
2. ความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง

1.1 ชายและหญิงคู่หมั้นคู่หมั้นต้องมีอายุอย่างต่ำ 17 ปีบริบูรณ์

มาตรา 1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
 
การที่ชายจะทำการหมั้นหญิงนั้นกฎหมายกำหนดอายุของคู่หมั้นไว้ว่า ชายและหญิงต้องมีอายุอย่างต่า 17 ปี บริบูรณ์ อายุที่กำหนดตาม มาตรา 1435 นี้เป็นเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ การหมั้นที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขนี้จึงเป็นโมฆะ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุขั้นต่าของชายและหญิงที่จะเป็นคู่หมั้นกันไว้ก็เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกันจึงควรให้ชายและหญิงที่จะเป็นคู่หมั้นอยู่ในวัยที่รู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร  กฎหมายถือว่าชายและหญิงที่มี อายุต่ำกว่า 17 ปี บริบูรณ์ยังไม่เจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจเพียงพอที่จะทำการหมั้นหรือการสมรส จึงทำการหมั้นไม่ได้ แม้บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะให้ความยินอยมก็ตาม การหมั้นที่ชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์อันเป็นโมฆะตาม มาตรา 1435 วรรคสองนี้ แม้ต่อมา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มตรา 172 ซึ่งบัญญัติว่าโมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ เพราะฉะนั้นหากจะให้การหมั้นสมบูรณ์ก็ต้องมาทำการหมั้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ชายและหญิงที่มีอายุต่ากว่า 17 ปี บริบูรณ์จะขออนุญาติศาลทำการหมั้นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ผิดกับการสมรสซึ่งหากมี่เหตุอันสมควร มาตรา 1448 ให้อำนาจศาลที่จะอนุญาตให้ชายหรือหญิงที่อายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ทำการสมรสได้ในกรณีที่ชายหรือหญิงซึ่งอายุต่ากว่า 17 ปีบริบูรณ์ทำการสมรสโดยได้รับอนุญาตจากศาล หากต่อมาขาดจากการสมรสเดิมและประสงค์จะทำการหมั้นใหม่ในขณะที่ตนอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ก็ไม่อาจจะกระทำได้ เพราะขัดต่อ มาตรา 1435 ที่บัญญัติไว้โดยเด็ดขาดว่า ชายและหญิงต้องอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์แล้วทั้งสองคนจึงจะทำการหมั้นได้ หากฝ่าฝืนทำการหมั้นกันการหมั้นนี้เป็นโมฆะ

สัญญาหมั้นที่เป็นโมฆะเพราะชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเสียเปล่าเสมือนไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้นเลย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนอย่างเช่น มิได้เข้าทำสัญญาหมั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมได้ มาตรา 172 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ" - เมื่อถือว่าไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้นจึงไม่มีการที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนโมฆียะกรรมที่ถูกบอกล้าง หากมีการให้ของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายหญิงก็ถือว่าเป็นการกระทำอันปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาของหมั้นและสินสินสอดคืนได้ ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 412 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน"   ---หรือ ตามมาตรา 413 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย
ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"  ----- แต่ทั้งนี้ฝ่ายชายจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกของหมั้นและสินสอดคืน ศาลจะสั่งคืนเองไม่ได้ แม้สัญญาหมั้นจะเป็นโมฆะก็ตาม นอกจากนี้ แม้ชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิง หรือหญิงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับชาย ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะเรียกค่าทดแทนอย่างใด ๆ จากกันมิได้ อย่างไรก็ดีการที่ฝ่ายชายจะเรียกร้องเอาของหมั้นและสินสอดคืนในเหตุที่สัญญาหมั้นเป็นโมฆะเพราะคู่หมั้นอายะไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายชายไม่รู้ว่าหญิงคู่หมั้นอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หากตัวชายคู่หมั้นอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือฝ่ายชายก็รู้ดีว่าหญิงคู่หมั้นอายุไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ แต่ทำสัญญาหมั้นและให้ของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายหญิง เช่นนี้ ต้องถือว่าฝ่ายชายได้ทำการชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม มาตรา 411 ซึ่งบัญญัติว่า "มาตรา 411  บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่"  ฝ่ายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน นอกจากนี้ หากชายและหญิงคู่หมั้นที่อายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์นี้ได้ทำการสมรสตามประเพณี และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้วไดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ทรัพย์ที่ฝ่ายชายให้แก่ฝ่ายหญิงดังกล่าวไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย ฝ่ายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเช่นเดียวกัน


 

ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย, เรียกสินสอดของหมั้นคืนไม่ได้
ขณะหมั้นหญิงคู่หมั้นอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หลังแต่งงานและอยู่กินด้วยกันนานประมาณ 1 เดือน  ตลอดเวลาที่อยู่กินด้วยกัน ชายมุ่งประสงค์จะแต่งงานอยู่กินกับตามประเพณีเป็นสำคัญ หาได้นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสไม่ เงินทั้งหลายที่ชายมอบให้แก่หญิงจึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายแม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กัน ชายก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่
http://www.lawyerleenont.com/ครอบครัว/ไม่มีเจตนาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย.html


จดทะเบียนสมรสกันแล้วเรียกค่าสินสอด,ของหมั้นคืนไม่ได้
กรณีที่ฝ่ายชายจะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดของหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากฝ่ายหญิงได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรสโดยเป็นความผิดของฝ่ายหญิง  เมื่อปรากฏว่า ทั้งสองได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว สามีจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากภริยาได้
http://www.peesirilaw.com/การสิ้นสุดแห่งการสมรส/ฟ้องหย่าจงใจละทิ้งร้างเรียกสินสอดทองหมั้นคืน.html

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 15:03:29


ความคิดเห็นที่ 5 (2399428)

ชำระหนี้ตามอำเภอใจ(มาตรา 407),สัญญาหมั้นตกเป็นโมฆะ, ไม่ทราบว่าหญิงอายุไม่ครบ 17 ปี, ต้องคืนของหมั้นและสินสอด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1222518

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 16:09:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล