ReadyPlanet.com


การเช่าพื้นที่สัญญาระยะยาว(มากกว่า 3 ปี)


ผมขอสอบถามเป็นข้อ ๆ นะครับรบกวนอ้างมาตราด้วยนะครับ

1.กรณีในท้ายสัญญาระบุว่า"ลงลายมือชื่อและประตราสำคัญ(ถ้ามี)" กรณีที่บริษัทมีตราบริษัทแต่ไม่ได้ประทับตรา หรือประทับตราแต่หน้าสุดท้ายของสัญญาที่มีการลงนาม หรือประทับตราไม่ครบทุกหน้าถือว่าสัญญานั้นถูกต้องหรือไม่มีผลทางกฏหมายหรือไม่

2. กรณีมีการเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิหรือมีการโอนสิทธิ จำเป็นต้องโอนสิทธิการเช่าที่กรมที่ดินหรือไม่ครับถ้าไม่โอนมีความผิดอย่างไรบ้างครับและถ้ามีการโอนสิทธิการเช่าจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิพร้อมลงนามในสัญญาใหม่หรือเปล่าครับ

รบกวนหน่อยนะครับผมไม่มีความรู้ด้านกฏหมายเลย

ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ อินทนิน :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-03 13:25:11


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958522)

1. นิติบุคคลเป็นบุคคลต่างหากกับผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้จัดการ หากมีข้อกำหนดไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนให้กรรมการมีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น หากไม่ปฏิบัติตาม อาจเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งยกขึ้นเป็นข้อได้เปรียบได้

สำหรับการประทับตราไม่ครบทุกหน้าไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องประทับตราให้ครบทุกหน้า แต่หากประทับตราครบทุกหน้าก็ตัดปัญหาว่าข้อความที่ปรากฏในหน้าที่ประทับตรานั้นได้รับการรับรองแล้วว่าถูกต้องตรงกันตามเจตนาของทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่อาจแก้ไขตกเติมได้อีก

แต่อย่างไรก็ตาม หากข้อบังคับนิติบุคคลนั้น ได้กำหนดให้กรรมการลงชื่อในการทำนิติกรรมไว้ แต่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคล เคยมีฎีกาว่ามีผลบังคับได้

2. ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ สิทธิตามสัญญาเช่า ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่ให้เช่าโดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าจะได้ไปดำเนินการเปลี่ยนที่สำนักงานที่ดินหรือไม่ แต่ถ้าสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน 3 ปี กฎหมายบังคับให้จดทะเบียนการเช่าไว้กับสำนักงานที่ดิน หากไม่จดทะเบียนการเช่าก็บังคับได้เพียงสามปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-04 09:26:58


ความคิดเห็นที่ 2 (1958523)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างซึ่งจ่ายต่ำกว่ากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์นำความลับของจำเลยไปเปิดเผยเป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยเจตนาและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์

วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์และนายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกรผู้จัดการของจำเลยมาศาล และแถลงร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้ ขอให้ศาลแรงงานกลางทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ ศาลแรงงานกลางจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่คู่ความและมีคำพิพากษาไปตามยอมนั้นแล้ว

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้กรรมการจำนวนสองคนในสี่คนตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายฟ้องอุทธรณ์เท่านั้นที่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยและต้องประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยด้วย ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่านายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยเพียงผู้เดียวเป็นผู้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยมิใช่เป็นผู้มีอำนาจหรือได้รับมอบอำนาจจากจำเลยโดยชอบ การกระทำของนายสมชาติไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งจำเลยมีเจตนาที่จะต่อสู้คดี ไม่ประสงค์จะประนีประนอมยอมความกับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ขอให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดจำนวนกรรมการหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ว่า "นายธวัช วงศ์รัตนานุกูล นายฐิตพรมีสมมนต์ นายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร นายเดชา ทิพย์ภวัง สองในสี่คนนี้ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท" ซึ่งหมายความว่าสัญญาหรือนิติกรรมใด ๆ จะผูกพันจำเลยต่อเมื่อมีกรรมการของจำเลยตามที่ระบุชื่อดังกล่าวจำนวนสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย กรรมการคนหนึ่งคนใดโดยลำพังหามีอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารให้มีผลผูกพันจำเลยได้ไม่ ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์นั้น นายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกรกรรมการเพียงคนเดียวลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันจำเลย การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมนั้นจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 วรรค สอง(2) ไม่มีผลบังคับ"

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และพิพากษาไปตามรูปคดี.

( เพียร สุมิระ - สมบูรณ์ บุญภินนท์ - สุพจน์ นาถะพินธุ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2529

 

หมายเหตุ

 

การประนีประนอมยอมความในศาลโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 วรรคแรก วางเงื่อนไขไว้ว่า"ข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้น (ต้อง) ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย" ศาลจึงจะพิพากษาตามยอมให้ได้ หากศาลขืนพิพากษาตามยอมไปโดยไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความนั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจอุทธรณ์ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาตามยอมนั้นได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138 วรรคสอง(2) ซึ่งหากเป็นจริงดังที่อุทธรณ์ฎีกา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีย่อมถือได้ว่าคำพิพากษาตามยอมนั้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแ่หงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาตามยอมนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) และดังที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้

ผลทางกฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับในกรณีที่มีการอุทธรณ์ฎีกากล่าวอ้างและปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาว่า "คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล" หรือ "คำพิพากษานั้นมิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ" ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138วรรคสอง(1) และ (3) ด้วย จึงอาจสรุปได้ว่ากรณีตามมาตรา 138 วรรคสอง(1) ถึง (3) นั้น มิได้เป็นเพียงเหตุที่จะทำให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาตามยอมได้เท่านั้น แท้ที่จริงแล้วยังเป็นเงื่อนไขแห่งการตกลงหรือประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งศาลจะต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าไม่มีข้อบกพร่องในลักษณะดังกล่าวอยู่จึงจะพิพากษาตามยอมให้ไป

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาตามยอมต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว คำพิพากษานั้น ย่อมถือว่าผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งตามหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำพิพากษา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 และ 145 คู่ความจะกลับมากล่าวอ้างโต้แย้งในภายหลังว่าคำพิพากษาตามยอมนั้นใช้บังคับไม่ได้เพราะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หรือเพราะเหตุผลอื่นใดย่อมไม่ได้ ดังตัวอย่าง เช่น คำพิพากษาตามยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์มีกำหนด 10 ปีย่อมใช้บังคับระหว่างคู่ความได้ แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2527) หรือเมื่อศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว จำเลยไม่อุทธรณ์แต่กลับมาขอให้เพิกถอนคำพิพากษาหรือขอให้ศาลพิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าลายเซ็นในใบแต่งทนายของตนเป็นลายเซ็นปลอมสัญญาประนีประนอมตกเป็นโมฆะ ย่อมไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่2440/2525, 1626/2522 และ 1017/2520) หรือแม้แต่ในกรณีที่คู่ความเป็นผู้เยาว์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1574(8) ห้ามไว้ว่าจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลมิได้แต่ถ้าศาลได้พิพากษาตามยอมให้ไปแล้วโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษานี้ย่อมมีผลผูกพันคู่ความได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1173/2517).

จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทำหมายเหตุ).

ข้อพิจารณาประกอบหมายเหตุ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 นี้มีข้อความที่เข้าใจยากวรรคแรกว่า ข้อตกลง หรือ การประนีประนอมยอมความกันนั้น ไม่เป็นการฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย การที่กรรมการของบริษัทจำเลยลงลายมือชื่อไม่ครบตามฎีกาที่ 2375/2529 นี้น่าจะนับว่าเป็นกรณี "การประนีประนอมยอมความกันนั้น" เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย (ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยตามที่จดทะเบียนไว้)เมื่อเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและศาลขืนพิพากษาตามยอมไป ผลจะเป็นอย่างไร จะต้องคิดกันต่อไป เพราะบริษัทจำเลยจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือการอุทธรณ์ก็ถูกจำกัดไว้ว่ามีได้ใน 3 กรณีเท่านั้น กรณีที่ใกล้เคียงที่สุดคือ (2) ที่ว่าละเมิดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ฯ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรรมการเพียงคนเดียวลงชื่อและศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมไป เป็นการกระทำโดยละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จึงน่าคิดว่า การที่นิติบุคคลใดเขาจะตราข้อบังคับและจดทะเบียนไว้ว่าใครบ้างที่จะมีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลนั้น ๆ จะต้องประทับตราหรือไม่ซึ่งถ้าทำไม่ครบจะไม่ผูกพันนิติบุคคล เช่นนี้จะนับว่าเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเทียวหรือ แต่ถ้าไม่ถือว่าเป็น ก็อุทธรณ์ไม่ได้ แล้วจะให้บริษัทจำเลยทำอย่างไร

มีคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับลงชื่อไม่ครบตามข้อบังคับอยู่2 เรื่องคือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1709/2516 มูลนิธิโจทก์รับโอนที่ดินซึ่งจำเลยเช่าอยู่ ย่อมรับมาทั้งสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการเช่า จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยตามสัญญาเช่าได้ จำเลยจะเถียงสิทธิของมูลนิธิโจทก์ว่าฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อสร้างตึกแถวหากำไรเป็นการนอกเหนือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิหาได้ไม่

ประธานกรรมการของมูลนิธิโจทก์ลงนามในหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่าเพียงผู้เดียว ไม่มีกรรมการอื่นร่วมลงนามด้วยให้ถูกต้อง แม้จะถือไม่ได้ว่ากระทำในฐานะผู้แทนมูลนิธิโจทก์ ก็เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของมูลนิธิโจทก์ ทั้งมูลนิธิโจทก์ก็ได้รับเอาผลแห่งการกระทำนั้นและฟ้องขับไล่จำเลยแล้ว จำเลยจะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้

จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นว่า การบอกกล่าวเลิกการเช่าของทนายโจทก์ มิได้มีการมอบอำนาจโดยชอบ จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2525 ผู้จัดการบริษัทจำเลยลงนามในสัญญาว่าจ้างโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทที่ระบุว่าต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งร่วมลงนามด้วย แต่ระหว่างโจทก์ดำเนินการตามสัญญา กรรมการของบริษัทจำเลยคนอื่นก็ได้ทักท้วงและรับมอบผลงานนั้นจากโจทก์ไว้แล้ว ดังนี้ จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาไม่ได้

ฟ้องไม่ได้บรรยายว่า ช.เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างแทนโจทก์ แต่โจทก์ก็นำสืบถึงการมอบหมายให้ ช. เป็นตัวแทนซึ่งปรากฏความตามสำเนาเอกสารสัญญาว่าจ้างท้ายฟ้องได้ ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็นต่างไปจากคำฟ้อง

เกี่ยวกับการที่ไม่ได้ประทับตราตามข้อบังคับ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2525 บริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายไม้ กรรมการคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยได้ เมื่อเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงขายไม้ให้โจทก์ มี พ.กรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงชื่อในช่องผู้ขายแม้จะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย ก็แสดงว่า พ.ตกลงขายไม้ในนามของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวผูกพันจำเลย.

ประทีบ ชุ่มวัฒนะ (ผู้ทำข้อพิจารณาประกอบหมายเหตุ).

จรัญ ภักดีธนากุลประทีป ชุ่มวัฒนะ.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 09:32:40


ความคิดเห็นที่ 3 (1958914)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายไม้เต็งมาเลย์หลายขนาดรวม5,000 ลูกบาศก์ฟุตเป็นเงิน 410,000 บาท เพื่อใช้ในกิจการค้าของโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบไม้ตามข้อตกลงให้โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเพราะโจทก์ต้องซื้อไม้ตามสัญญาจากที่อื่น ในราคาสูงกว่าราคาตามที่ตกลงกันถึง 282,957.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยจัดส่งไม้จำนวน 5,000 ลูกบาศก์ฟุตหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวข้างต้น พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า ไม่เคยขายไม้ตามฟ้องให้โจทก์ จำเลยมิได้ประกอบกิจการค้าไม้และไม่ได้รับอนุญาตให้ค้าไม้จากกรมป่าไม้ ใบสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คน ลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ ทั้งไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลย โจทก์ไม่เสียหายฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยตกลงขายไม้ให้โจทก์ตามใบสั่งซื้อ และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยจัดส่งไม้เต็งมาเลย์จำนวน 5,000ลูกบาศก์ฟุต ให้โจทก์ หรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า หนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายไม้ด้วย กับระบุว่ากรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อแทนจำเลย ฉะนั้น เมื่อเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า จำเลยตกลงขายไม้ให้โจทก์และนายไพศาล ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงชื่อในช่องผู้ขาย แม้จะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย ก็แสดงว่านายไพศาลตกลงขายไม้ในนามของจำเลยนั่นเองข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยได้ประกอบการค้าไม้และได้รับอนุญาตให้ค้าไม้จากกรมป่าไม้หรือไม่ ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ระบุชื่อผู้ขายผิด ก็รับฟังไม่ได้ เพราะหากมีข้อผิดพลาดโจทก์และจำเลยต้องร่วมกันจัดการแก้ไข ดังจะเห็นได้ตามเอกสารหมาย ล.1 การแก้ไขชื่อผู้ขายจาก "บริษัทพร้อมวงศ์ จำกัด" เป็น"บริษัทนครไทย จำกัด" กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์และกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลย ต้องร่วมกันลงชื่อกำกับแสดงความยินยอมในการแก้ไข เมื่อจำเลยไม่ส่งไม้ให้โจทก์ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.2 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ส่งมอบไม้ตามข้อตกลง หรือเรียกค่าเสียหายได้ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เสียหาย แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่แน่นอน การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 100,000 บาท เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( อาจ ปัญญาดิลก - สุไพศาล วิบุลศิลป์ - ไพศาล สว่างเนตร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2525

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 19:50:17



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล