ReadyPlanet.com


การได้สัญชาติโดยการเกิด


คนไทยแต่งงานกับหญิงชาวต่างประเทศ มีบุตรด้วยกัน 2 คน มีสัญญาชาติอเมรกัน อยากให้บุตรมีสัญชาติไทย ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง



ผู้ตั้งกระทู้ วิลัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-03 12:11:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958516)

" มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคล ตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง"

 

การจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว บุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทยจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาตามบทกฎหมายนั้น หมายถึงบิดาตามกฎหมายไม่ได้หมายรวมถึงบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา

หากยังอยู่ที่ต่างประเทศก็สามารถติดต่อได้ที่สถานทูตไทยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-04 08:55:54


ความคิดเห็นที่ 2 (1958517)

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า " พระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

" มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคล ตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง"

มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 7ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508

" มาตรา 7ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้น เป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณา และสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทย ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 14 วรรคหนึ่งหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

" มาตรา 14 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตาม กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทย ตาม มาตรา 12 วรรคสอง ให้แสดงความ ประสงค์เข้าถือสัญชาติได้แต่เพียงสัญชาติเดียว โดยให้แจ้งความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ถ้าไม่มีการแจ้งความจำนง ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสัญชาติไทยเว้นแต่รัฐมนตรี จะสั่งเฉพาะรายเป็นอย่างอื่น"

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน

" มาตรา 15 นอกจากกรณีตาม มาตรา 14 ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทย โดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่ กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

" มาตรา 18 เมื่อมีพฤติการณ์อันเป็นการสมควรเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐรัฐมนตรี มีอำนาจถอนสัญชาติไทยของผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 7ทวิ วรรคสอง"

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

" มาตรา 21 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตาม กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียน คนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย"

มาตรา 10 บทบัญญัติ มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

มาตรา 11 บทบัญญัติ มาตรา 7ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วยเว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมี คำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง อาจได้สัญชาติไทยได้ตาม มาตรา 7ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติพ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้รัฐมนตรีจะสั่งให้ได้สัญชาติไทย เป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะรายก็ได้

มาตรา 12 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 08:57:12


ความคิดเห็นที่ 3 (1958916)

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยเป็นบุตรของนายยุทธเวท พรมไชยา ผู้มีสัญชาติไทย และนางพันธ์ แสนคำ ผู้มีสัญชาติลาว เกิดที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่ได้เป็นบุตรของนายยุทธเวทและนายยุทธเวทไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางพันธ์ แสนคำ ผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่ได้สัญชาติไทย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง

ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่ต้องใช้ค่าทนายความแทนผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งห้ามีว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 4 บัญญัติว่า "บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย" ฉะนั้น ผู้ร้องทั้งห้าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรไทยจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ผู้ร้องต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาตามบทกฎหมายดังกล่าว หมายถึงบิดาตามกฎหมายไม่ได้หมายรวมถึงบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หากจะหมายรวมถึงบิดาที่มิได้มีการสมรสกับมารดาด้วยกฎหมายจะบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดเช่น ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นต้น เมื่อผู้ร้องทั้งห้าเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติลาว แม้เกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยแต่ไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งห้าย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ส่วนหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยมีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติตามข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่ว่า ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยบิดาผู้มีสัญชาติไทยกับมารดาผู้มีสัญชาติอื่น และบิดามิได้สมรสกับมารดาย่อมได้สัญชาติไทยตามเอกสารหมาย ร.20 นั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหามีผลลบล้างกฎหมายไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( วิชัย ชื่นชมพูนุท - กนก พรรณรักษา - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2543

 

 

หมายเหตุ

 

มีประเด็นศึกษาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของบุตรกับบิดา ซึ่งตามหลักกฎหมายว่าด้วยครอบครัวทั่วไปถือเอาบิดาเป็นหลัก คือการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ดังปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 กล่าวคือ ถ้าเด็กเกิดในระหว่างสมรสหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่การสมรสสิ้นสุดลงเด็กนั้นย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา และคงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่บิดามารดาสมรสกันมาก่อนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 แล้วหลังจากนั้นเด็กเกิดมา หรือบิดามารดาหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว แต่เด็กนั้นเกิดตายในสามร้อยสิบวันนับแต่บิดามารดาของเด็กหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนี้ เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรในทางกฎหมายเรียกได้ว่ามีความชอบด้วยกฎหมายของทั้งสองฝ่าย ส่วนมารดาแม้ว่ากฎหมายมิได้บัญญัติว่าเด็กที่เกิดจากมารดาย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดานั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีโดยธรรมชาติว่าเด็กนั้นเกิดจากมารดาอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องระบุไว้โดยกฎหมายอีก เว้นแต่ในกรณีที่บิดามารดาอยู่กินด้วยกันโดยมิได้มีการสมรสกัน ดังนี้ เพื่อให้เห็นความชัดเจนและความชอบด้วยกฎหมายของบุตรกับบิดามารดาจึงจำเป็นต้องระบุไว้ว่าในกรณีเช่นว่านี้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 เด็กนั้นหาใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาไม่ แม้ว่าบิดามารดาจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตลอดมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปี เด็กนั้นจึงเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรืออาจเรียกว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627

ในกรณีที่บิดามารดามิได้สมรสกันเด็กที่เกิดมาจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา เมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547

การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นย่อมให้บุตรและบิดามีฐานะและความสัมพันธ์ในทางกฎหมายต่อกันหลายประการ เช่น มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา (มาตรา 1461) ต่างมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกัน (มาตรา 1463 และ1464) และบิดามารดาย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร (มาตรา 1566)

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ย. สัญชาติไทยได้ไปประกอบอาชีพในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนาง พ. ซึ่งมีสัญชาติลาว จนเกิดบุตรซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ทั้งห้าคนในประเทศดังกล่าวและต่อมาได้พากันอพยพมาอยู่ในประเทศไทย ดังนี้ ปัญหาว่าผู้ร้องทั้งห้าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาจากสถานภาพของบุตรกับบิดามารดาคือความชอบด้วยกฎหมายของบุตรกับบิดามารดานั้นเอง ในส่วนนี้กฎหมายว่าด้วยครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องและต้องพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ว่าบุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติโดยการเกิด (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ดังนั้นสำหรับคดีตามหัวข้อหมายเหตุนี้ความสำคัญอยู่ที่บิดาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในตอนหนึ่งว่า "ผู้ร้องทั้งห้าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรไทย จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ผู้ร้องต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึงบิดาตามกฎหมายไม่ได้หมายรวมถึงบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หากจะหมายรวมถึงบิดาที่มิได้มีการสมรสกับมารดาด้วย กฎหมายจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง เช่น มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง (พระราชบัญญัติสัญชาติ - ผู้หมายเหตุ) เมื่อผู้ร้องทั้งห้าเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติลาว แม้เกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยแต่มิใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งห้าย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 10

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร ว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของบุตรกับบิดา ซึ่งตามกฎหมายจะถือเอาบิดาเป็นหลัก ดังความปรากฏในมาตรา 1536 และต่อ ๆ ไป และในมาตรา 1546 กล่าวถึงการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาในกรณีที่บิดามารดามิได้สมรส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ชายหญิงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้สมรสหรือจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 เด็กนั้นย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเท่านั้น และมารดาแต่ผู้เดียวเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1566 และ 1569 ปัญหาว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤตินัยเป็นเหตุให้บุตรนั้นมีสิทธิรับมรดกของบิดาเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามมาตรา 1627 นั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือไม่ มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่หลายเรื่อง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้มีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการตีความกฎหมายคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2541 วินิจฉัยว่า มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่าห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น โจทก์เป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้วแต่จำเลยและมารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือจำเลยจดทะเบียนว่าโจทก์เป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามมาตรา 1547 เมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตัวอย่างคดีนี้ปัญหาสืบเนื่องมาจากความในมาตรา 1562 ที่ว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขออัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์คดีนี้เป็นบุตรที่เกิดระหว่างมารดาของโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยเพียงแต่รับรองโดยพฤตินัยว่าเป็นบุตร ก็มีการตีความกันว่า การฟ้องบุพการีตามมาตรา 1562 มีขอบข่ายเพียงใด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในปัญหานี้ว่าต้องเฉพาะแต่กรณีที่บุตรบิดามารดามีความชอบด้วยกฎหมายต่อกัน เช่นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเท่านั้น จึงจะห้ามฟ้องตามมาตรานี้ และมีอีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นมีลักษณะอย่างไร และมีผลกระทบต่อเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2541 คำว่า "บุคคลอื่น" ตามมาตรา 1567(4) หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งได้แก่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยมิใช่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความสัมพันธ์โดยชอบด้วยกฎหมายกับผู้เยาว์ ทั้งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมายและไม่มีสิทธิตามมาตรา 1567(1) ถึง (4) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้ มีข้อสังเกตว่าในคดีนี้ศาลฎีกากล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยมิใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของบุตร ซึ่งดังนี้ไม่มีปรากฏในบทบัญญัติบรรพ 5 ครอบครัว แต่ที่ใช้ก็เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างบิดากับบุตรเป็นสำคัญ เพราะความชอบด้วยกฎหมายของบุตรกับบิดานั้น ต้องถือเอาบิดาเป็นหลักหรือเป็นฐานเพื่อพิจารณา ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 และต่อ ๆ ไป

โดยที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุตรเพื่อรับสิทธิประโยชน์หรือดำเนินการใดแทนกัน โดยเฉพาะบิดา ซึ่งจะต้องกระทำแทนบุตรผู้เยาว์ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งบทบัญญัติเหล่านั้นมิได้กล่าวถึงความชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาบุตร ไว้โดยตรง เช่น พระราชบัญญัติสัญชาติ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ดังนี้ การพิจารณาว่าบิดามารดาบุตรมีความสัมพันธ์โดยชอบด้วยกฎหมายของกันและกัน จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากลักษณะบิดามารดากับบุตรตามบทบัญญัติบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นสำคัญ

พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 19:52:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล