ReadyPlanet.com


ซื้อขายความกัน (ยุยงให้เป็นความ)


ตกลงกันว่า หากจัดหาทนายความมาว่าความให้ หากแพ้คดีไม่คิดเงิน แต่หากชนะคดี ขอเรียกค่าจ้างว่าความ 1 ล้านบาท หากผลคดีออกมาว่า ชนะคดี แต่ลูกความจะไม่จ่ายเงินให้ตามสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ กมล :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-02 21:33:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958343)

สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันหรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะมีข้อตกลงว่าหากแพ้คดีไม่คิดเงินค่าจ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-03 16:20:18


ความคิดเห็นที่ 2 (1958638)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีฟ้องขับไล่ ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1959/2532 ของศาลแพ่งธนบุรีระหว่างนายอลงกรณ์ กมลยะบุตร ที่ 1 นายอนุสรณ์ ฉวีรัตน์ที่ 2 โจทก์ นายพีรกิตย์ ถาวรนุสรณ์ จำเลย ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์ 250,000 บาท มีข้อสัญญาว่าจำเลยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี กับให้โจทก์ออกเงินทดรองเป็นค่าขึ้นศาลจำนวน 20,400 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระหว่างดำเนินคดีไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุดถ้าจำเลยไม่ได้รับที่ดินพิพาทคืน โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์ได้ใช้ความรู้ความสามารถตลอดจนศิลปะบังคับจนจำเลยในคดีดังกล่าวข้างต้นยอมที่จะประนีประนอมด้วย โดยขอค่าขนย้าย 25,000 บาท ครั้นถึงวันนัดจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายความพร้อมเสนอให้เงินแก่จำเลยคดีนั้น50,000 บาท ศาลจึงมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย แต่จำเลยปฎิเสธ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,833.34 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 265,833.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยจ้างโจทก์เป็นทนายความไม่เคยตกลงให้ค่าจ้างโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24พฤษภาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2532จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความโดยโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่าความว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีฟ้องขับไล่ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1959/2532 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนายอลงกรณ์ กมลยะบุตร ที่ 1 นายอนุสรณ์ ฉวีรัตน์ ที่ 2โจทก์ นายพีรกิตย์ ถาวรานุสรณ์ จำเลย ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์250,000 บาท มีข้อสัญญาว่าจำเลยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี กับให้โจทก์ออกเงินทดรองเป็นค่าขึ้นศาลจำนวน 20,400 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระหว่างดำเนินคดีไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ถ้าจำเลยไม่ได้รับที่ดินพิพาทคืน โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนี้ เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันหรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม) (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่)ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247"

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

( สละ เทศรำพรรณ - สุรินทร์ นาควิเชียร - ถวิล อินทรักษา )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2539

 

หมายเหตุ

 

การรับว่าความให้แก่ตัวความถือเป็นสัญญาจ้างทำของเป็นการประกอบวิชาชีพอย่างหนึ่งมิใช่อาชีพและทนายความก็มิใช่ลูกจ้างของตัวความทนายความจึงต้องมีความเป็นอิสระระดับหนึ่งในการใช้วิจารณาญาณความรู้ความสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีได้กล่าวคือตัวความจะบงการหรือสั่งให้ทนายความทำการอย่างใดๆตามที่ตนเองต้องการในทุกเรื่องไม่ได้ในทางกลับกันทนายความก็มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อศาลการนำเสนอความเท็จต่อศาลไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีปลูกพยานเท็จเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จปกปิดซ่อนงำอำพรางหลักฐานต่างๆเพื่อช่วยเหลือลูกความของตนล้วนเป็นเรื่องผิดกฎหมายและสิ่งที่มักจูงใจให้เกิดการกระทำดังกล่าวก็คือ"ค่าว่าความ"ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2477มาตรา12(2)จึงบัญญัติว่าทนายความที่เข้าว่าความแก้ต่างโดยวิธีแบ่งส่วนเอาจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้จากลูกความอาจถูกห้ามหรือลบชื่อออกจากทะเบียนได้ทั้งนี้เพราะการเรียกค่าว่าความโดยวิธีดังกล่าวนั้นเป็นการเอาตนเองไปมีส่วนได้เสียกับผลแห่งคดีกระทบต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(เดิม)

ต่อมามีพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2528มาตรา51บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการสภาทนายความออกข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความได้และมีการออกข้อบังคับมารยาททนายความเมื่อวันที่18กุมภาพันธ์2529ข้อบังคับใหม่มิได้ระบุให้การเรียกเอาค่าว่าความโดยวิธีแบ่งส่วนเอาจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทซึ่งจะตกได้แก่ลูกความเป็นการผิดมารยาททนายความปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าสัญญาว่าความที่ทำขึ้นหลังวันที่18กุมภาพันธ์2529โดยมีข้อตกลงเรียกค่าว่าความด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นข้อตกลงจะเป็นโมฆะหรือไม่(ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ต้องพิจารณาจากผลของกฎหมายขณะมีการทำข้อตกลง)คดีนี้ได้ความว่าสัญญาว่าความทำขึ้นภายหลังวันที่18กุมภาพันธ์2529ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันหรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกันเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(เดิม)จึงอาจมีข้อโต้แย้งว่าเมื่อข้อบังคับมารยาททนายความซึ่งออกโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมายในปัจจุบันมิได้ระบุห้ามการเรียกค่าว่าความโดยวิธีดังกล่าวแล้วแสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์ให้เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้เหตุใดข้อตกลงจึงเป็นโมฆะอีกผู้หมายเหตุเห็นว่าเฉพาะกรณีนี้ข้อตกลงจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ต้องพิจารณาจากภาพรวมของวิชาชีพทนายความกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเหตุผลของเรื่องอยู่ที่ว่าสมควรให้ทนายความเอาตนเองไปมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีหรือให้ทนายความไปเป็นตัวความเสียเองหรือไม่มิใช่ขึ้นกับว่ามีกฎหมายและข้อบังคับระบุไว้หรือไม่ผู้หมายเหตุเชื่อว่าผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทุกท่านไม่มีผู้ใดต้องการเอาตนเองไปผูกพันเป็นตัวความเสียเองแม้คดีนี้จะเกิดขึ้นผู้หมายเหตุก็ยังเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาบริสุทธิ์มิได้ประสงค์เอาตนเองไปเป็นตัวความเสียเองแต่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้เท่านั้นเมื่อได้รับคำตอบเช่นนี้จึงสรุปได้ว่าการเรียกค่าว่าความโดยวิธีดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่สมควรเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วคำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงชอบด้วยเหตุผลทั้งเป็นการสนับสนุนให้ศักดิ์ศรีของทนายความดำรงอยู่ต่อไป

ทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 16:53:34


ความคิดเห็นที่ 3 (1958639)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องเทศบาลเมืองระยอง โดยทำสัญญาจ้างว่าความ ตกลงค่าจ้างว่าความเป็นที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 618 หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงเนินอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ 200 ตารางวาโจทก์ดำเนินการว่าความให้จำเลยเสร็จแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ขอให้จำเลยโอนที่ดิน 200 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 618 หมู่ที่ 2ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง แก่โจทก์หากจำเลยไม่แบ่งแยกโอนให้ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า ค่าจ้างว่าความตามที่ตกลงกันเป็นการเรียกค่าจ้างว่าความเอาจากส่วนแบ่งที่ดินแปลงที่เป็นมูลพิพาทเป็นสัญญาที่ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ จึงเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกและส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 618 หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้แก่โจทก์ 200 ตารางวา ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ถือสิทธิร่วมในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 200 ตารางวา จำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยเท่านั้นว่า สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้ทางพิจารณาได้ความว่า การที่โจทก์เรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยโดยใช้วิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้จากคู่ความนั้นไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529ที่จะทำให้สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.2 ตกเป็นโมฆะดังเช่นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้นนอกจากเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยแล้วยังมีกรณีที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า แม้การกระทำนั้นจะไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เลยแต่ถ้าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว นิติกรรมนั้นก็ย่อมตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วพึงเห็นได้ว่าเดิมโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จำเลยกับบุคคลอื่นพิพาทกันเลย การที่โจทก์ได้ค่าจ้างว่าความเป็นที่ดิน 200 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยพิพาทกับบุคคลอื่นนั้น ทำให้โจทก์เป็นผู้เข้าไปมีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวโดยตรงเพราะหากจำเลยต้องแพ้คดีแล้ว โจทก์ก็จะไม่ได้ค่าจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.2 เนื่องจากจำเลยพิพาทกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าจ้างตามฟ้องนั้นทั้งแปลง ดังนี้ย่อมแสดงว่า สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.2 มีลักษณะเป็นการรับโอนสิทธิในการดำเนินคดีของจำเลยมาจัดการให้โดยขอรับส่วนแบ่งจากที่ดินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนเมื่อจำเลยชนะคดี อันเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

( พินิจ เพชรรุ่ง - อธิราช มณีภาค - ไพศาล เจริญวุฒิ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2542

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-04 16:57:19


ความคิดเห็นที่ 4 (1959273)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินบางส่วนกับนางกวย สุนทรชื่น แต่นางกวยผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2533 จำเลยขอให้นายสำรอง สมไพบูลย์ ช่วยหาทนายความและออกเงินค่าจ้างว่าความกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนางกวยให้โอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยยอมยกที่ดินที่ชนะคดีให้แก่นายสำรองโดยนายสำรองต้องจ่ายเงิน 60,000 บาท แก่จำเลยเป็นการตอบแทน นายสำรองได้ติดต่อหาทนายความและออกเงินค่าจ้างว่าความกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีให้แก่จำเลยมาโดยตลอด แต่ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายสำรองได้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงทำสัญญาตกลงให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีแทนนายสำรอง และถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยยอมยกที่ดินที่ชนะคดีให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องจ่ายเงิน60,000 บาท แก่จำเลยเป็นการตอบแทน ต่อมาปี 2538 ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาของนางกวยกับพวกจำเลยในคดีดังกล่าว คดีถึงที่สุดโดยจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีจำเลยต้องยกที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยรับเงิน 60,000 บาทจากโจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ด้วย

จำเลยให้การว่า สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยและนางกวยเป็นความกัน โดยนายสำรองและโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

ในชั้นชี้สองสถานโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่า นายสำรองเป็นเพียงคนรู้จักกับโจทก์โดยนายสำรองกับโจทก์ต่างก็ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทและโจทก์ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดด้วย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดชี้สองสถานและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สัญญาที่จำเลยทำกับนายสำรองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น มีข้อตกลงว่า ให้นายสำรองติดต่อว่าจ้างทนายความในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนางกวย สุนทรชื่น ให้โอนที่ดินแก่จำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อขาย โดยนายสำรองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดและเมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยชนะคดี จำเลยยอมยกที่ดินพิพาทที่จำเลยฟ้องให้แก่นายสำรองทันทีโดย นายสำรองจะต้องจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาท แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นการตอบแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสำรองไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทจึงเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับนางกวยพิพาทกัน กรณีย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการที่นายสำรองตกลงออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้จำเลยในการดำเนินคดีโดยหวังจะไดที่ดินพิพาทที่จำเลยพิพาทกับนางกวยมาเป็นของนายสำรอง สัญญาที่นายสำรองทำกับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีข้อตกลงให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นความ ซึ่งนายสำรองคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีนั้น ย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) ไม่ใช่เป็นสัญญาที่เข้าลักษณะสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่โจทก์อ้างในฎีกา ส่วนสัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 นั้น เป็นสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยโดยมีข้อความและเงื่อนไขอย่างเดียวกับสัญญาที่จำเลยทำไว้กับนายสำรองดังกล่าว เหตุที่ทำสัญญากันดังกล่าวเนื่องจากนายสำรองได้ถึงแก่ความตายไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับนางกวยพิพาทกัน ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการที่โจทก์ตกลงออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้จำเลยในการดำเนินคดีชั้นฎีกาก็โดยหวังจะได้ที่ดินพิพาทที่จำเลยพิพาทกับนางกวยมาเป็นของโจทก์ สัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ดังกล่าวเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีข้อตกลงให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นความ ซึ่งโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีนั้นย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เช่นเดียวกัน โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์และให้จำเลยรับเงินจากโจทก์จำนวน60,000 บาท ตามสัญญาหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( จำรูญ แสนภักดี - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2542

 

 

หมายเหตุ

 

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้เป็นอันยุติตามที่โจทก์แถลงรับในชั้นชี้สองสถานว่าโจทก์กับ ส. ไม่มีส่วนได้เสียในคดีที่จำเลยพิพาทกับ ก. ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินพิพาทหรือส่วนได้เสียในมูลเหตุของคดีที่เกิดขึ้น โจทก์และ ส. เป็นเพียงบุคคลภายนอกคดีเท่านั้น ดังนั้น การที่บุคคลภายนอกคดีเข้าไปเสนอตัวออกทุนรอนเป็นค่าว่าจ้างทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในคดีที่บุคคลอื่นพิพาทกัน โดยมีข้อตกลงให้ตนได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการยุยงส่งเสริมให้เขาเป็นความกัน

เมื่อสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ บุคคลที่ออกทุนรอนให้เขาเป็นความกันก็ไม่สามารถฟ้องบังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ ส่วนเงินที่ตนออกทดรองเป็นค่าว่าจ้างทนายความค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเรียกคืนจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2494,2978/2528)

อย่างไรที่จะถือว่าบุคคลที่ออกทุนรอนให้เขาเป็นความกันนั้นมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย คงต้องพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2494(ประชุมใหญ่) พี่ชายจัดการแบ่งนามรดกให้แก่น้องชายและน้องสาว (ป.) ตามคำสั่งของบิดามารดา แต่น้องสาว (ป.) ไม่ยอม พี่จึงพาน้องชายไปหาทนายความ ต่อมาน้องชายขอให้พี่ออกเงินให้ตนดำเนินคดีโดยสัญญาว่าถ้าคดีถึงที่สุด น้องชายได้รับส่วนแบ่งนามาจะแบ่งให้พี่ชายครึ่งหนึ่งถ้าไม่ต้องการก็จะขายนาเอาเงินใช้ทุนให้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่า พี่ชายช่วยเหลือน้องชายให้ได้รับความยุติธรรมจากโรงศาล และควรนับได้ว่าพี่ชายมีความเกี่ยวพันอยู่ในมูลคดีนั้นด้วย ไม่ใช่เรื่องพี่ชายแสวงหาประโยชน์ใส่ตนด้วยการยุยงส่งเสริมให้เขาเป็นความกันในกรณีที่ตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลคดีนั้นด้วย จึงไม่ทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(แก้ไขใหม่เป็น มาตรา 150) เมื่อคดีถึงที่สุดน้องชายได้รับส่วนแบ่งนามาแล้วไม่แบ่งนาให้พี่ชาย พี่ชายย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเอาได้ตามสัญญา

ข้อสังเกต พฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลฎีกานำมาประกอบวินิจฉัยว่าไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ใส่ตนด้วยการยุยงส่งเสริมให้เขาเป็นความกัน

1.) โจทก์ จำเลย และ ป. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

2.) บิดามารดาสั่งเสียก่อนถึงแก่ความตาย ให้โจทก์พี่ชายเป็นผู้จัดแบ่งนามรดกให้จำเลยกับ ป. ซึ่งเป็นน้องชายและน้องสาวโจทก์

3.) เมื่อ ป. ไม่ยอมแบ่งนามรดกให้จำเลย จำเลยไม่มีเงินที่จะว่าจ้างทนายความฟ้องแบ่งนามรดกจาก ป. โจทก์จึงพาไปหาทนายความและออกทดรองแทนไปก่อน

4.) ข้อตกลงที่จำเลยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ จำเลยเป็นฝ่ายเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะแบ่งที่ดินให้โจทก์แทนเงินที่โจทก์ออกทดรองไปหรือจำเลยจะชำระเป็นเงินให้โจทก์ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2528 ฉ. มีความประสงค์ที่จะขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินออกไปเพื่อใช้ที่ดินปลูกสร้างอาคาร จึงได้ไปปรึกษากับ ว. และตกลงจ้าง ว. ที่ ว. รับออกค่าใช้จ่ายไปก่อนก็เพราะ ฉ. เป็นเพื่อนสนิทกับ ว. เป็นกรณีที่ ว. ออกค่าใช้จ่ายทดรองไปก่อนโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่า ว. ยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องคดีกันทั้งค่าจ้างก็ไม่มากเกินสมควร ส่วนที่ ฉ. จะให้ค่าจ้างเป็นเงิน 1 ล้านบาท หรือถ้าไม่มีเงินให้ก็จะให้เป็นตึกแถว 2 ห้องนั้น ก็เป็นข้อเสนอและความประสงค์ของ ฉ. เอง ทั้งตึกแถว 2 ห้องนั้น ก็มิใช่ทรัพย์พิพาทในคดี จึงยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของ ว. เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน และคิดค่าจ้างโดยแบ่งเอาจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาท ดังนี้สัญญาจ้างหาตกเป็นโมฆะไม่

ข้อสังเกต พฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลฎีกานำมาประกอบวินิจฉัยว่าการกระทำของว. มิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน

1.) ว. เป็นเพื่อนสนิทกับ ฉ. การออกค่าใช้จ่ายทดรองไปจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต

2.) ค่าจ้างที่ ฉ. ตกลงให้ ว. ไม่มากเกินสมควร

3.) เป็นข้อเสนอและความประสงค์ของ ฉ. เองที่ตกลงจะให้ค่าจ้างเป็นเงินหรือถ้าไม่มีเงินก็จะให้เป็นตึกแถว

4.) ตึกแถวมิใช่ทรัพย์พิพาทในคดีที่ ว. ออกค่าใช้จ่ายให้ ฉ. พิพาทกับบุคคลอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2525 การที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้หาทนายความที่มีความซื่อสัตย์และมีความสามารถให้ แต่จำเลยไม่มีเงิน จึงตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นที่ดินจำนวน 2 ไร่ ดังนี้ เป็นสัญญาจ้างทำของ และสัญญาดังกล่าวไม่เป็นการจ้างให้ไปกระทำการอันผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือใช้สิทธิเกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ และเมื่อจำเลยขายที่ดินนั้นไปเสียก่อน จำเลยต้องใช้ราคาที่ดินในขณะที่ขายมิใช่ขณะทำสัญญา

ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ที่ดิน 2 ไร่ ที่โจทก์เรียกเอานั้นเป็นที่ดินแปลงอื่น ไม่ใช่ที่ดินพิพาทในคดีที่โจทก์จัดหาทนายความให้จำเลยพิพาทกับบุคคลอื่นซึ่งต่างกับข้อเท็จจริงในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2542 ที่หมายเหตุนี้ เพราะที่ดินที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยโอนให้ในคดีนี้นั้น เป็นที่ดินพิพาทในคดีที่โจทก์ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยพิพาทกับ ก. อันเป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน

พิทักษ์หลิมจานนท์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-06 19:26:28


ความคิดเห็นที่ 5 (1959478)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีแพ่งต่อกรมทางหลวงกับพวกเรื่องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตกลงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 50,000 บาท จำเลยชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์แล้ว 30,000 บาท คงค้างอยู่อีก 20,000 บาท ส่วนค่าจ้างว่าความตกลงกันในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนค่าทดแทนที่ได้เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นฟ้องคดีถึงที่สุดศาลพิพากษาให้จำเลยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 504,110 บาท จำเลยได้รับเงินตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างจำนวน 20,000 บาท และค่าจ้างว่าความ 70,211 บาท รวมเป็นเงิน 90,211 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 90,211 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความจากส่วนได้ตามคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,400 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพทนายความ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11766 และ 11767 ตำบลคลองสวนพลู (ไผ่ลิง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ถูกทางราชการเวนคืนเนื้อที่บางส่วนรวม 126 ตารางวาเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน ? พยุหคีรี จำเลยได้รับค่าทดแทนแล้วแต่ยังไม่พอใจค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นทนายความให้ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากกรมทางหลวงกับพวกโดยตกลงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ได้รับแล้ว 30,000 บาท คงค้างอยู่อีกบางส่วน ส่วนค่าจ้างว่าความตกลงให้โจทก์เป็นจำนวนในอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา หลังจากการดำเนินคดีดังกล่าวในศาลคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้กรมทางหลวงกับพวกจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้จำเลยจำนวน 504,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 702,110 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่าจำเลยตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับค่าทดแทนที่จำเลยได้รับหรือเงินที่จำเลยได้รับ หากจำเลยไม่รับค่าทดแทนหรือเงินรายนี้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากจำเลย สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้จึงมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยซึ่งเป็นลูกความ ไม่เหมือนสัญญาจ้างว่าความที่คิดค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือพิพาทกันในคดีซึ่งทนายความพึงได้รับค่าจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินที่ตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไร ดังนี้สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวแม้จะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

( สถิตย์ อรรถบลยุคล - องอาจ โรจนสุพจน์ - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8439/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 14:02:17


ความคิดเห็นที่ 6 (1960305)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีเรียกร้องทรัพย์มรดกจากกองมรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ บิดาของจำเลยทั้งสามโดยทำสัญญาจ้างว่าความเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 จำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยทั้งสามตกลงว่าเมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยแต่ละคนจะจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนได้รับเป็นส่วนของตนเป็นคราว ๆ ไป ต่อมาโจทก์ตกลงลดค่าจ้างว่าความลงเหลือร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้วรวมเป็นเงิน 983,850,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทซึ่งตามสัญญาจ้างว่าความจำเลยทั้งสามต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเงิน29,515,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 29,515,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาโดยชำระเงิน 5,993,100บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระเงินจำนวน 23,522,400 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามขายทรัพย์มรดกจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์เป็นทนายความโดยตกลงให้โจทก์มีหน้าที่ติดตามรวบรวมทรัพย์มรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ ที่สูญหายไปเนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียที่ดูแลทรัพย์มรดกอยู่เบียดบังเอาทรัพย์ส่วนนั้นไป โจทก์ไม่ทำการงานให้เห็นผลในการติดตามทรัพย์มรดกเข้าในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามสัญญาขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ประกอบอาชีพทนายความ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทั้งสามทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก และเรียกร้องทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิจะได้รับจากกองมรดกของนายมานิตย์ ภาคยวงศ์ บิดาของจำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามตกลงให้ค่าจ้างว่าความหรือสินจ้างแก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 5ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนได้รับส่วนของตนเป็นคราว ๆ ไปต่อมาโจทก์ลดค่าจ้างว่าความลงเหลือร้อยละ 3 โดยนำสัญญาเดิมมาลบเลข 5 ออกและเขียนเลข 3 ลงไปใหม่ ตามสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26หลังจากนั้นทายาทของนายมานิตย์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกกันในคดีหมายเลขแดงที่ 7181/2534 ของศาลแพ่ง โดยจำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งด้วย คดีถึงที่สุดแล้ว คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26 มีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยแต่ละคนตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 3ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่ได้รับ โดยจะจ่ายให้ต่อเมื่อจำเลยแต่ละคนได้รับเงินจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นคราว ๆ ไป แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามย่อมขึ้นอยู่กับทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับหรือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือเงินส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกรายนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสาม สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้จึงมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่คิดค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือพิพาทกันในคดีซึ่งทนายความพึงได้รับค่าจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินที่ตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไรการที่โจทก์มอบให้นายชุมศักดิ์ วิชัยลักษณ์ ทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.88 โดยคิดค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ 3 ของทรัพย์มรดกแต่ละรายการที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้รับแล้วนั้น ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับค่าจ้างว่าความตามผลแห่งคดีที่จำเลยทั้งสามได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกโดยตรง สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวแม้จะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และข้อความในสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26 ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่อาจตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นอย่างอื่นไปได้ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆของโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - กำพล ภู่สุดแสวง - สุรชาติ บุญศิริพันธ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 14:42:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล