ReadyPlanet.com


ซื้อที่ดิน น.ค. 3


ต้องการซื้อทีดินที่มีเอกสาร น.ค. 3 (หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง) ผู้ขายการันตีว่าออกโฉนดที่ดินได้แน่นอน อยากทราบว่ามีความเสี่ยงมากน้อยอย่างไรบ้าง 



ผู้ตั้งกระทู้ ประมวล :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-01 18:17:28


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1957926)

ที่ดิน น.ค. 3 คืออะไร

 

สำหรับที่ดินที่มีเอกสารเป็น น.ค. 3 คือที่ดินรัฐบาลจัดสรรให้ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 สำหรับ น.ค. 3 เป็นเอกสารที่ออกสืบเนื่องจาก น.ค.1 ซึ่งเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะเป็นผู้ออกให้กับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกนิคมตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ต่อมาเมื่อสมาชิกของนิคมได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปแล้ว และชำระหนี้สินเกี่ยวกับกิจการนิคมให้ทางราชการแล้ว ก็จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) เป็นหลักฐาน สมาชิกนิคมสร้างตนเองที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) แล้ว มาตรา 11 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติให้สามารถนำหลักฐาน น.ค. 3 ขอโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้

ถ้าคุณไม่ใช่สมาชิกของนิคมสร้างตนเอง หากไปซื้อที่ดินที่อยู่ในนิคมสร้างตนเองซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิตาม น.ค. 3 มา โดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็จะเกิดปัญญายุ่งยากตามมาอันเนื่องจากสิทธิในที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง เป็นสิทธิเฉพาะตัว คุณจะไม่ได้สิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเอง คุณจึงไม่สามารถนำ น.ค. 3 ซึ่งมีชื่อเจ้าของเดิมไปขอออกโฉนดที่ดินได้ ต้องให้ผู้มีชื่อใน น.ค. 3 นำ น.ค. 3 ไปขอออกโฉนดที่ดินและเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอน 5 ปี แล้ว สมาชิกผู้มีสิทธิก็จะสามารถจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้

 

การขอออกโฉนด

 

ถ้าเป็นการขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินส่วนแยก ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ

ถ้าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดำเนินการเดินสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง และได้เข้าไปทำการสำรวจรังวัดถึงที่ดินของผู้ใด หากผู้นั้นมีหลักฐาน น.ค.3 ก็สามารถนำ น.ค.3 เป็นหลักฐานในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินได้ โฉนดที่ดินที่ได้ออกจากหลักฐาน น.ค.3 จะถูกกำหนดห้ามโอน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน เว้นแต่ตกทอดทางมรดก และในกำหนดเวลาห้ามโอนนี้ที่ดินไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 16:48:34


ความคิดเห็นที่ 2 (1958124)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 จำเลยทั้งสามซึ่งทราบดีว่าที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 25 ไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลโคกตูม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี เป็นที่ดินที่ห้ามโอนให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อ โดยจำเลยทั้งสามได้จัดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 7,000,000 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 3 งวด ชำระด้วยเช็คล่วงหน้าของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน งวดที่ 1 จำนวนเงิน 2,100,000 บาท งวดที่ 2 จำนวน 2,450,000 บาท งวดที่ 3 จำนวนเงิน 2,450,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะดำเนินการออกโฉนดที่ดินภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญาจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำและค้ำประกันสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญาโดยไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนได้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 2,100,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 4,900,000 บาท โจทก์ยังไม่ได้ชำระเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้น เพื่อบังคับให้ชำระเงินตามเช็คค่าที่ดินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1615/2540 และคดีหมายเลขดำที่ 2418/2541 ของศาลชั้นต้น ในระหว่างพิจารณาคดีศาลได้สั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน ต่อมาจำเลยทั้งสามได้จัดให้จำเลยที่ 3 เข้าแถลงต่อศาลว่าโจทก์ได้สิทธิเป็นสมาชิกนิคมแล้ว เมื่อครอบครองทำประโยชน์เกินกว่า 5 ปี แล้ว มีสิทธิได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) หลังจากนั้นสามารถออกโฉนดได้ทันทีทำให้โจทก์หลงเชื่อว่า ได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว และสามารถออกโฉนดที่ดินได้ จึงยอมเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวและได้ชำระเงินค่าที่ดินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ห้ามโอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่ตกทอดทางมรดกเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเมื่อสัญญาเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่ชำระค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้ที่ค้างต่อศาล สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็เป็นโมฆะ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ไปจากโจทก์เป็นเงิน 2,100,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 726,687.50 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,826,682.50 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้พิพากษาถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมือเปล่าและเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขดำที่ 1615/2540 และคดีหมายเลขดำที่ 2418/2541 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 2,826,687.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3489/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 3485/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมือเปล่าจำเลยทั้งสามมิได้หลอกลวงโจทก์ โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่สัญญา การซื้อขายที่ดินดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินและเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ในศาลที่มีเขตอำนาจ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ 60,000 บาท ค่าทนายความให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้วดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 3484/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 3485/2541 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสามฎีกาว่า เมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมภายใน 1 เดือน คดีย่อมถึงที่สุดและหมดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสามจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้และคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่มูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้น เนื่องมาจากโจทก์สั่งจ่ายเช็คชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวโจทก์กล่าวในฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสามซึ่งทราบดีว่าที่ดินมือเปล่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นที่ดินอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองซึ่งห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นเว้นแต่ตกทอดทางมรดก ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อจนตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในราคา 7,000,000 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 3 งวด ชำระด้วยเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า งวดที่ 1 จำนวนเงิน 2,100,000 บาท งวดที่ 2 จำนวนเงิน 2,450,000 บาท และงวดที่ 3 จำนวนเงิน 2,450,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะดำเนินการออกโฉนดที่ดินภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญา โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญาโดยไม่รู้ว่าที่ดินตามสัญญาไม่สามารถโอนได้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินงวดที่ 1 จำนวน 2,100,000 บาท ส่วนงวดที่ 2 และที่ 3 จำนวน 4,900,000 บาท โจทก์ยังไม่ได้ชำระเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงนำเช็คค่าที่ดินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 มาฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 3 ได้แถลงต่อศาลว่าโจทก์ได้สิทธิเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแล้ว เมื่อครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเกินกว่า 5 ปี แล้ว มีสิทธิได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) และสามารถออกโฉนดที่ดินได้ โจทก์หลงเชื่อจึงยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และสำเนาคำพิพากษาตามยอมเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 ของคำร้อง ขอให้ชี้ขาดคดีเบื้องต้นของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 จำนวน 2,100,000 บาท ที่โจทก์ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ ตามคำฟ้องดังกล่าว หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง สัญญาจะซื้อจะขายและข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่อาจบังคับให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญาได้ และมีผลทำให้คู่กรณีหรือคู่สัญญากลับคืนสู่สถานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ที่ได้รับชำระแล้วแก่โจทก์ และโจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายก็ย่อมมีสิทธิฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 3484/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 3485/2541 ไม่ผูกพันโจทก์ได้และโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวด้วย

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3484/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 3485/2541 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นคู่ความกับโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 3484/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 3485/2541 ของศาลชั้นต้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะเป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินตามเช็คซึ่งโจทก์สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนยื่นคำให้การต่อสู้อีกประการหนึ่งว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ โดยจำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าที่ดินดังกล่าวเมื่อซื้อไปแล้วสามารถออกโฉนดที่ดินได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งทำให้โจทก์หลงเชื่อไปสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง กรมประชาสงเคราะห์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้พาโจทก์ไปดำเนินการเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน และบอกว่าไม่เกินต้นเดือนสิงหาคม 2539 โจทก์จะได้โฉนดที่ดิน โจทก์จึงยอมจ่ายเงินตามเช็คค่าที่ดินงวดที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์ได้ติดต่อทางราชการเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ภายใน 3 เดือน ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนกันโดยการส่งมอบเท่านั้น อีกทั้งที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีลักษณะทำนองว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เช็คตามฟ้องจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับให้ชำระเงินได้ ซึ่งต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์ตกลงชำระเงินตามเช็คแก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์ผิดสัญญาให้บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว เห็นได้ว่า สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีดังกล่าวก็คือโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 และสั่งจ่ายเช็คชำระค่าที่ดินแก่จำเลยที่ 1 แต่เช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอบังคับให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คแต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม ข้อโต้แย้งสิทธิตามคำฟ้องและคำให้การได้ถูกแปลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันถือได้ว่าประเด็นแห่งคดีได้มีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอม แต่การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยทั้งสามได้จัดให้จำเลยที่ 3 เข้าแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้สิทธิเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแล้ว เมื่อครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเกินกว่า 5 ปี มีสิทธิได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) หลังจากนั้นสามารถออกโฉนดที่ดินได้ทันที ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าได้รับโอนที่ดินมือเปล่ามาจากจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว และสามารถออกโฉนดที่ดินได้ โจทก์จึงยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีลักษณะทำนองว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใดๆ ขึ้น คู่สัญญาปราศจากข้อผูกพันในอันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา และเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปแล้วจึงเป็นลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์ และการที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 เป็นเพราะจำเลยทั้งสามจัดให้จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทสามารถออกโฉนดที่ดินได้ แต่ภายหลังไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ กรณีจึงไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาล อันเป็นการหลอกลวงโจทก์และกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่ หลังจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลบังคับได้ ดังนั้น ถือไม่ได้ว่าคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาในทำนองว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและที่ดินพิพาทยังสามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอยู่ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้สืบพยาน จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหานี้ให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5301/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-03 09:44:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล