ReadyPlanet.com


เรื่องสามีภรรยา


 มีปัญหาครอบครัวอยากถามดังนี้ค่ะ

สามีภรรยาคู่หนึ่งแต่งงานอยู่กินกันมาจนลูกๆโตขึ้นแยกครอบครัวไปเกือบทุกคน อาชีพค้าขาย ต่อมาประมาณ 5 ปีก่อน สามีเริ่มมีปัญหาไปติดผู้หญิงที่มีสามีแล้ว แรกๆก็หลบๆซ่อนๆ ช่วงหลังเฝ้าติดตาม ไปไหนมาไหนด้วยกันค่อนข้างเปิดเผย ซึ่งสามีหญิงนั้นก็ไม่มีปฏิกริยาใดๆ อาจเป็นเพราะคุณสามีคนนี้ดูแลทุกอย่าง ข้าวปลา อาหาร เงินทอง โดยที่ไม่เคยดูแลครอบครัวของตัวเองเลย จนปัจจุบันฐานะแย่ลง ภรรยาพยายามปรับตัวเพื่อดึงสามีกลับ แต่สามีไม่เอาด้วย ไม่ดูแลครอบครัว ไม่สนใจภรรยา แต่ยังนอนร่วมบ้านเดียวกัน แต่นอนคนละที่เป็นมานานแล้ว มีการทะเลาะ ตบตีกันบ่อยครั้ง จนครั้งสุดท้ายเมื่อคืนนี้ ใช้น้ำยาสระผมกรอกปากภรรยา(สารเคมีที่หาได้ขณะนั้น) ภรรยาขอหย่าตลอด แต่สามีปฏิเสธบอกว่าไม่ยอมหย่า แต่จะอยู่แบบนี้เพื่อให้ภรรยาตรอมใจตาย รวมทั้งผู้หญิงคนนั้นด้วยถ้ภรรยาพูดบ่อย ผู้หญิงคนนั้นก็จะทำแบบนี้จนกว่าภรรยาจะตายไป สามีเป็นคนต่างถิ่น ไม่มีญาติพี่น้องในหมู่บ้าน ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน การลงจากบ้านหมายถึงการไร้ที่อยู่อาศัย จึงน่าจะเป็นประเด็นที่ไม่ยอมหย่าขาด จึงอยากเรียนถามว่ามีวิธีใดบ้างที่จะสามารถหย่าขาดกันได้

 



ผู้ตั้งกระทู้ ญาติผู้เดือดร้อน :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-21 13:39:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1965770)

ถูกทำร้ายก็ไปแจ้งความครับ หากตำรวจไม่ดำเนินคดีก็อาจใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องหย่าได้ ประกอบกับเหตุหย่าที่สามียกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา ไม่อุปการะเลี้ยงดู ภริยา ทั้งหมดนี้เป็นเหตุหย่าได้แล้วครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-21 14:10:46


ความคิดเห็นที่ 2 (1966052)

ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 ตามทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบาย ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใด ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์แต่โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเมื่อจำเลยด่าโจทก์ขณะทะเลาะกันโจทก์ก็ด่าจำเลยตอบกลับไปด้วย ทั้งโจทก์เบิกความเองว่าช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก เรืออากาศเอกทอดด์บาว์โลว พยานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมที่ทำงานเดียวกับโจทก์ก็เบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยดี ไม่เคยเห็นโจทก์จำเลยทะเลาะกันเสียงดังแต่เห็นไม่พูดกันขณะโมโห จำเลยไม่ยอมทำงานบ้านไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการร้ายแรงอย่างอื่นอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ โจทก์จึงเพิ่งมาฟ้องคดีนี้ พฤติการณ์ของจำเลยดังที่โจทก์นำสืบดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินสมควร ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีเหตุให้ฟ้องหย่าจำเลยได้ ส่วนข้ออ้างเรื่องจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีและจำเลยป่วยเนื่องจากการติดเชื้อในมดลูกไม่อาจมีบุตรได้นั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-21 22:26:01


ความคิดเห็นที่ 3 (1966053)

ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน จำเลยแถลงว่า จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูนางสุภาพรฉันภริยาตั้งแต่ต้นปี 2531 หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน โจทก์ทราบเรื่องและไม่ติดใจที่จำเลยจะมีนางสุภาพรเป็นภริยาและให้อภัยจำเลยตลอดมา ส่วนโจทก์แถลงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนางสุภาพรในปี 2539 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพรหรือไม่ เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคนจนเมื่อเดือนเมษายน 2545 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกันโจทก์ไม่เคยให้อภัยจำเลยและรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยมีหญิงอื่น ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และข้อเท็จจริงคู่ความรับกันแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 นั้น ไม่ชอบ เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรตามที่จำเลยให้การต่อสู้หรือไม่ ทั้งการที่มิได้มีการสืบพยานจึงไม่อาจทราบได้ว่าพยานที่งดสืบเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็นอย่างไร เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด คดีนี้เมื่อพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 แล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่า มีเหตุฟ้องหย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลายเหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้ว โจทก์จึงจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และสิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามมาตรา 1518 หรือไม่ เห็นว่า การยินยอมและให้อภัยตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า คดีนี้จำเลยให้การและฎีกาอ้างว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้ว โจทก์มิได้ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยเสียแต่แรกทั้งยังแสดงกริยาอาการไม่เอาเรื่องเอาความ ยอมรับสถานะการมีสองภริยาของจำเลยจึงถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่า เพียงพฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าว โจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงออกให้ปรากฏโดยชัดแจ้งพอที่จะเห็นเจตนาของโจทก์ว่ายินยอมหรือให้อภัยแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏจากคำแถลงของโจทก์จำเลยในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 ว่า โจทก์มิได้ยินยอมและให้อภัยในการกระทำของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพรเพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับนางสุภาพร เนื่องจากขณะนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยจะอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา ข้อเท็จจริงจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุหย่าในมาตรา 1516 (1) ระงับไปเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุหย่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 หรือไม่ เห็นว่า การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกดคีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-21 22:36:46


ความคิดเห็นที่ 4 (1966062)

ภริยาชอบด้วยกฎหมายฟ้องหย่าขาดจากสามีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากสามีและเรียกค่าทดแทนจากสามี และหญิงอื่น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 ณ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงกนกพรรณ เพชรไทย และเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย เมื่อประมาณต้นปี 2536 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักและสนิทสนมในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ขอให้จำเลยที่ 2 เลิกยุ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อต้นปี 2541 โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจเป็นสามีภริยากันอย่างเปิดเผย โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ณ สำนักทะเบียนอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างที่โจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดาพึงกระทำจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร แต่ไปอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ โจทก์ไม่สามารถที่จะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้บุตรผู้เยาว์คือเด็กหญิงกนกพรรณและเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาและพักอาศัยร่วมกันที่บ้านบิดาและมารดาของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ถูกดูถูกเหยียดหยาม แสดงความรังเกียจจากบิดามารดาของโจทก์ตลอดเวลา และบิดามารดาของโจทก์บีบบังคับให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดจำนวน 30,000 บาท มาให้เพื่อทำรั้วบ้าน จำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มามอบให้ เมื่อทำรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้วบิดามารดาของโจทก์ขับไล่ให้จำเลยที่ 1 ไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 อาศัยร่วมด้วย จำเลยที่ 1 ต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักราชการของผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 1 มีบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์มาอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ยอมมา ต่อมาในปี 2532 จำเลยที่ 1 ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1 ได้ชวนให้โจทก์ย้ายไปอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่โจทก์ไม่ยอมไป โดยโจทก์มีเจตนาจะแยกจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษเพียงลำพังตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มรู้จักกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อต่อรองให้โจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมมาและบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากจะมีภริยาใหม่ โจทก์ก็ไม่ขัดข้อง แต่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินมาให้โจทก์จำนวน30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไปนำเงินสดมาจากจำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์จำนวน 30,000บาท ตามที่ตกลงกัน จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ด้วยการรู้เห็นยินยอมของโจทก์มาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า โจทก์บ่ายเบี่ยงโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดมาให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท ก่อนจึงจะยอมปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงไปกู้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 32,000 บาทและมอบให้แก่โจทก์ ในปี 2536 โจทก์นัดหมายจะไปจดทะเบียนหย่าแต่เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ก็ไม่ไป โจทก์ได้มาขนทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านของจำเลยที่ 1 จนไม่มีทรัพย์สินเครื่องใช้เหลืออยู่เลย ต่อมาในปี 2539 โจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านของมารดาจำเลยที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ อ้างว่าวันรุ่งขึ้นจะไปจดทะเบียนหย่าให้กับจำเลยที่ 1 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ยอมมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองให้แก่โจทก์ไปแต่โจทก์ไม่ยอมไปตามนัด โจทก์หลอกลวงเรียกร้องเงินสดและทรัพย์สินจำนวนมากจากจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง และรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 อยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดามาตลอด แม้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะแยกกันอยู่ จนกระทั่งเมื่อโจทก์ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 จึงระงับการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาทนั้น เป็นเงินที่สูงเกินไป โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว หากจะนับเวลาตั้งแต่ปี2536 มาจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน ในชั้นมัธยมศึกษาคนละ3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษาคนละ 4,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันพิพากษาไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าบุตรทั้งสองมีอายุครบ 20ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย โดยที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เคยแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ 2แต่โจทก์บอกกับจำเลยที่ 1 ว่าจะมีภริยาใหม่โจทก์ไม่ขัดข้อง หากจำเลยที่ 2 นำเงินมาให้โจทก์ 30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงมอบเงินของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์จำนวน 30,000 บาทจำเลยที่ 1 เคยนำรูปของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดู โจทก์ก็เฉยและบอกว่าอยากมีก็มีไป ขอให้ได้รับเงินเดือนทุกเดือนนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ถามค้านโจทก์ถึงข้ออ้างดังกล่าว ทั้งหากโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันแล้วจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ในการพิจารณาเลื่อนชั้นระดับของจำเลยที่ 2 ส่วนการที่โจทก์เห็นภาพถ่ายงานพิธีมงคลสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือดำเนินการทางศาลนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองนั้นโจทก์ไม่ทราบ แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะจัดพิธีมงคลสมรสกัน แม้ต่อมาโจทก์เห็นภาพถ่ายดังกล่าวในภายหลังแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจัดพิธีมงคลสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสองเพียงใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้แก่ทางราชการอยู่ ควรรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีภาระต้องชำระหนี้ของทางราชการแล้วก็ยินยอมรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท ต่อไปนั้นเห็นว่า ตามใบแจ้งการหักเงินเดือนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือน 14,325 บาท ถูกหักค่าสหกรณ์จำนวน 7,004.63 บาท และหักอย่างอื่นอีก คงเหลือเงินเดือนที่ได้รับ 6,630.37 บาท แม้จะยังเหลือหนี้เงินต้นอยู่อีก103,800 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีเงินค่าหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเงิน 63,050 บาท ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่ามิได้จ่ายเงินช่วยเหลือโจทก์และบุตรทั้งสองมาตั้งแต่ต้นปี 2541 ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงรายได้และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษานั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 2,500บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่สองต่อไปเดือนละ 4,000 บาท จนกว่าบุตรคนที่สองจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-21 23:00:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล