ReadyPlanet.com


ตัวอยู่ต.ป.ท แต่ถูกทวงหนี้เพราะค้ำประกันรถให้เพื่อนที่ ปท.ไทย ต้องทำอย่างไรดีครับ


ช่วยด้วยครับ ประมาณปี ๒๕๔๙ ผมได้เป็นผู้ค้ำประกันรถตู้มือสองให้เพื่อนที่ ประเทศไทย เพราะสงสารที่เขาตกงานและลูำกยังเล็ก เขาขอร้องให้ช่วยค้ำประกัน เพราะจะเอารถไปขับทำมาหากิน และช่วงนั้นการขับรถตู้ก็รายได้ดี และ้ด้วยความที่ผมเห็นเขาเป็นคนขยัน ก็เลยช่วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตัวผมเองก็ตกงาน ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ครอบครัวผมก็ไม่ได้มีเงิน เลยคิดว่าเอาเงินก้อนสุดท้ายที่ผมมีลงทุนไปเรียนที่ตปท. ไปเสี่ยงดวง ขอแค่ได้ทำงานพออยู่ได้ และได้เรียนด้วย ตอนนี้ผมอยู่มา ๒ปีแล้ว ก็ตามมีตามเกิด พอถูไถไปวันๆเพราะทำงานใช้แรงงาน และเนื่องจากเป็นคนสุขภาพไม่ดี จึงทำงานได้น้อย ก็คิดว่าดีกว่าไม่มีงานไม่มีเิงิน แต่แล้วผมโทรศัพท์ไปที่บ้านก็ต้องช็อค เพราะมีทนายความและเจ้าหนี้มาทวงเงินที่บ้าน บอกว่าเราต้องชำระหนี้ให้เพื่อนเป็นจำนวนเงิน ๓แสนบาท และเจ้าหนี้ได้ยึดรถไปแล้ว ๑.ผมไม่เข้าใจว่าเจ้าหนี้ยึดไปแล้ว ทำไมยังต้องมาทวงเงินกับผมอีก แล้วนี่ผมจะต้องทำอย่างไรดีครับ เงินเก็บก็ไม่มี เรื่องกฎหมายก็ไม่รู้เรื่อง ๒.บ้านที่ไทยผมก็ยังผ่อนธนาคารอยู่ ตอนนี้เครียดมากครับ ผมกลัวพ่อกับแม่จะไม่มีที่อยู่ เขาจะมายึดบ้านผมไหม ๓.แล้วผมต้องเป็นคนล้มละลายที่ไทยหรีอเปล่าุ้ถ้าไม่มีเงินใช้หนี้ รบกวนช่วยผมด้วยครับ ผมหาทางติดต่อเพื่อนเลวคนนี้อยู่ครับ มันหายไปเป็นปีแล้ว ไม่รู้จะไปหามันได้ที่ไหน ขอบคุณครับ


ผู้ตั้งกระทู้ ขอความช่วยเหลือ จาก ตปท. :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-21 09:01:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1965683)

การเป็นผู้ค้ำประกัน มีแต่เครียดกับเครียด เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง (แต่)กระดูกแขวนคอ

1. ถามว่ายึดแล้วทำไมต้องมาทวงกับผู้ค้ำประกัน อันนี้ก็เป็นค่าเสียหายที่ผู้ให้เช่าได้รับเมื่อนำรถยนต์ที่ยึดไปขายแล้วได้เงินมาไม่ครบไม่คุ้มราคา และเสียหายค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ ซึ่งเมื่อเป็นคดีไปถึงศาล ๆ ท่านก็ไม่ได้ตัดสินว่าต้องชำระตามที่เขาเรียกร้องมา ก็ต้องดูรายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ ไปครับดังนั้นหากต่อรองกันไม่น่าจะถึง 3 แสนครับ

2.  เขาจะมายึดบ้านผมไหม- อันนี้ก็เป็นไปได้ครับ ถ้าไม่จ่ายเขา เขาก็ต้องฟ้องก่อน และหากศาลติดสินว่าเราต้องชำระเขาเท่าใด หากไม่ชำระ เขาก็มีสิทธิยึดบ้านนำไปขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอก็คอยยึดทรัพย์สินอื่นได้อีกครับ เพราะ แม้จะติดจำนองอยู่ก็ขายได้ครับ

3. จะเป็นคนล้มละลายหรือเปล่า - ในเรื่องนี้ ก็ตอบยาก แต่หลักเกณฑ์ที่จะฟ้องล้มละลายได้ก็คือ       (1).  มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้มากกว่าทรัพย์) (2). หนี้นั้นเป็นหนี้แน่นอนเกิน 1 ล้านบาท

สำหรับข้อ 2 นั้น หากเมื่อรวมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเกิน 1 ล้านก็อยู่ในหลักเกณฑ์ครับ  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจใช้สิทธิก่อนครบกำหนด  10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วเกิน 1 ล้านก็ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-21 11:57:16


ความคิดเห็นที่ 2 (1965744)

ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อจะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าซื้อในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน

 

 

ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคารถจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งปรากฏตามใบเสร็จรับเงินว่า โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนถึงงวดที่ 34 ประจำวันที่ 27 มกราคม 2540 แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 35 และต่อมาจำเลยได้รับชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คอีก 3 ฉบับ รวม 3 งวด จำเลยย่อมได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันยึดรถยนต์คืนเป็นเวลา 7 เดือน เมื่อคำนึงถึงราคารถยนต์เช่าซื้อประกอบค่าเช่าซื้อที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระไปแล้ว และทางได้เสียของจำเลยทั้งหมดแล้ว เห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นค่าขาดประโยชน์ 140,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830 - 3831/2550

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-21 13:36:19


ความคิดเห็นที่ 3 (1965756)

เมื่อผู้ให้เช่าซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญา

 

 

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับมาในปัญหาข้อกฎหมายมีเพียงประการเดียวว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาเป็นค่าเสียหายอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.3 จากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ที่ต้องชำระภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ในวันที่ 31 มกราคม 2540 โจทก์ฎีกาว่า ค่าเช่าซื้อนับแต่งวดที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ เป็นเวลา 4 เดือน เป็นหนี้อันสมบูรณ์ที่ถึงกำหนดชำระแล้วและอยู่ในช่วงเวลาที่สัญญามีผลใช้บังคับ แม้ภายหลังสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันแล้วก็ไม่ทำให้หนี้ดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อสัญญาเช่นว่านี้ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่เป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สมศักดิ์ เนตรมัย - สุภิญโญ ชยารักษ์ - เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ )

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2548

 

 

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-21 13:58:12


ความคิดเห็นที่ 4 (1965763)

การโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้บุคคลอื่นเช่าซื้อต่อ ถือว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ผู้ให้เช่าซื้อ ไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้เช่าซื้อเดิมและผู้ค้ำประกันอีก

 

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่นางสาวพรพิมล พันธ์ยศ พนักงานของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ให้นางยุพา แสงชาตรี และนายกะแมน สายวารี เป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง นางสาวพรพิมลได้ให้จำเลยที่ 1 และนางยุพาลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ให้นางยุพาลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ หลักฐานการรับมอบรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อ ให้นายกะแมนลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันตามสำเนาหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สำเนาสัญญาเช่าซื้อ สำเนาสัญญาค้ำประกัน และสำเนาหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 (หรือเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8) จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจำนวน 1,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 5 งวด หลังจากนั้นไม่ได้ชำระค่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2540 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ยังไม่เลิกกัน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไม่ได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด เพราะโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อยังไม่ได้ลงลายมือชื่อ จึงใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 มาตรา 152 และมาตรา 9 เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 แล้วต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ยังไม่ครบกำหนดชำระค่าเช่าซื้อในงวดถัดไป จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับนางสาวพรพิมล พันธ์ยศ พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่โดยให้นางยุพา แสงชาตรี เป็นผู้เช่าซื้อและให้นายกะแมน สายวารี เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง นางสาวพรพิมลจึงให้จำเลยที่ 1 และนางยุพาซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ ให้นางยุพาลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์โดยนางสาวพรพิมลพนักงานของโจทก์ข้างต้นลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบซึ่งปรากฏรายละเอียดตามหลักฐานการรับมอบรถยนต์เอกสารหมาย ล.4 ว่ามีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารจากพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาเช่าซื้อ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ยินยอมให้มีการตกลงโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อกันดังกล่าวและทำหลักฐานรับมอบรถยนต์ให้แก่นางยุพาไป ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่างนางยุพากับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นๆ อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

( สิทธิชัย รุ่งตระกูล - ปัญญา ถนอมรอด - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548

 

 

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-21 14:05:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล