ReadyPlanet.com


ถ้าข้างบ้านพื้นที่ติดกันสร้างตึกแล้วบ้านเราร้าวต้องทำอย่างไรบ้างคะ


บ้านที่อยู่สร้างมาแล้วประมาณ 20 ปี เป็นบ้านสองชั้นตึกค่ะ ข้างบ้านพื้นที่ติดกันเลยกำลังจะสร้างตึกได้ข่าวว่าเค้าจะสร้างตึก 5 ชั้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงถมดินค่ะ แต่ขนาดถมที่รถเครนที่เข้ามาดำเนินการก็ทำบ้านสั่นไปทั้งหลังค่ะ เกรงว่าถ้ามีการเจาะเสาเข็มจะทำให้บ้านร้าวได้ค่ะ เพื่อไม่ให้วัวหายแล้วล้อมคอก และไม่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านค่ะ ควรทำอย่างไรดีคะ

ทั้งนี้เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อนค่ะ คือฝั่งตรงข้ามสร้างตึก 5 ชั้นเหมือนกัน บ้านร้าวมากเลยค่ะ เคยไปคุยกับคนก่อสร้าง เขาบอกว่าสร้างตึกเสร็จแล้วเขาจะมาซ่อมให้ แต่พอเอาเข้าจริงพอสร้างเสร็จผู้รับเหมาก็ไม่กลับมาซ่อมให้เลยค่ะ คุยกับเจ้าของ เจ้าของเค้าก็ไม่รับผิดชอบค่ะ สุดท้ายก็เลยต้องซ่อมกันเอง

ตอนนี้กังวลมากๆเลยไม่อยากให้เป็นแบบคราวที่แล้วค่ะ บ้านที่อยู่ก็มีกันแค่แม่ลูก ไม่มีกำลังจะไปสู้อะไรกับใคร ไม่อยากมีปัญหากับใครเลย แต่ก็กลัวบ้านพังมากๆเลยค่ะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ช่วยแนะนำด้วยเถอะค่ะ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-17 14:52:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1964255)

ขณะนี้บ้านเรายังไม่เป็นอะไร ก็คงยังมีการใครมาโต้แย้งสิทธิของเราก็ยังทำอะไรไม่ได้เพราะเขาก็ไม่ได้ทำอะไรกับพื้นที่ของเรา แต่ในกรณีที่บ้านได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างของเพื่อนบ้านคนก่อนน่าจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้ภายใน 1 ปีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-18 06:55:01


ความคิดเห็นที่ 2 (1964634)

การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเอง

 

โจทก์ฟ้องว่า -จำเลยก่ออิฐเป็นกำแพงสูงเท่ากับอาคารตึกแถวของโจทก์บนที่ดินและท่อระบายน้ำชิดกับอาคารตึกแถวของโจทก์ ปิดกั้นทางเดินด้านหลัง ทำให้พัดลมระบายอากาศไม่สามารถใช้การได้ ช่องระบายอากาศถูกปิดกั้น บังแสงแดด และทิศทางลม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายไว้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งแห่งทรัพย์มาประกอบเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงที่สร้างไว้บนทางเดินและทางระบายน้ำด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์ กว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวอาคาร เนื้อที่ 5 ตารางวา กำแพงสูงประมาณ 5 เมตร ที่ปิดบังทางระบายอากาศและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และให้น้ำไหลไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.... การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไม่มีกลิ่นเหม็นยิ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจากการที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเพื่อปิดกั้นช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศดังกล่าว การก่อสร้างกำแพงพิพาทของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

 

 

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8298/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11521 พร้อมอาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 จำเลยเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 737/83 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7805, 11255 และ 11256 ซึ่งปลูกอยู่จากบริเวณด้านหลังของอาคารตึกแถวของโจทก์ประมาณ 10 เมตร ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบุกรุกเข้าถมทางระบายน้ำ ซึ่งระบายน้ำออกไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะที่เจ้าของเดิมจัดให้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2510 และใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดมา จำเลยต่อเติมบ้านหลายห้องเพื่อให้ผู้อื่นเช่า โดยต่อเติมชิดกับอาคารตึกแถวของโจทก์ห่างไม่เกิน 2 เมตร ยาวตลอดแนวอาคาร และไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตบางพลัด กับได้ต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เป็นทางเดินและท่อระบายน้ำหลังอาคารตึกแถวของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวาง รบกวนการใช้ประโยชน์ของโจทก์ จำเลยก่ออิฐเป็นกำแพงสูงเท่ากับอาคารตึกแถวของโจทก์บนที่ดินและท่อระบายน้ำชิดกับอาคารตึกแถวของโจทก์ ปิดกั้นทางเดินด้านหลัง ทำให้พัดลมระบายอากาศไม่สามารถใช้การได้ ช่องระบายอากาศถูกปิดกั้น บังแสงแดด และทิศทางลม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายไว้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งแห่งทรัพย์มาประกอบเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงที่สร้างไว้บนทางเดินและทางระบายน้ำด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์ กว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวอาคาร เนื้อที่ 5 ตารางวา กำแพงสูงประมาณ 5 เมตร ที่ปิดบังทางระบายอากาศและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และให้น้ำไหลไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนกำแพงดังกล่าวได้ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา

จำเลยให้การว่า เดิมอาคารตึกแถวเลขที่ 737/76 ถึง 737/82 รวม 7 คูหา ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินแปลงเดียวกัน ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมแบ่งแยกออกเป็นแปลงๆ เพื่อปลูกสร้างอาคารตึกแถวขาย เมื่อแบ่งแยกแล้วโจทก์ได้กรรมสิทธิ์อาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11251 เนื้อที่ 12 ตารางวา โดยการซื้อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 ด้านหลังของอาคารตึกแถวของโจทก์ดังกล่าวเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7805, 11255, 11256 และ 9719 ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2533 ที่ดินดังกล่าวทั้งสี่แปลงพร้อมอาคารเลขที่ 737/83 และ 737/84 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซึ่งอาคารนี้อยู่ด้านหลังของอาคารตึกแถวเลขที่ 737/76 ถึง 737/82 อาคารตึกแถวดังกล่าวซึ่งรวมทั้งอาคารของจำเลยมีที่ดินว่างเป็นทางหนีไฟกว้างประมาณ 2 เมตร และที่ดินว่างดังกล่าวจะมีที่บำบัดน้ำเสียประมาณ 1 เมตร ไม่มีทางระบายน้ำสู่ทางระบายน้ำสาธารณะตามฟ้อง ก่อนที่อาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มีการต่อเติมอาคารดังกล่าวที่ด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณที่ว่างและเป็นทางหนีไฟดังกล่าวจนชิดกับแนวเขตที่ดินของจำเลย จำเลยต่อเติมอาคารห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ประมาณ 60 เซนติเมตร และห่างจากตัวอาคารของโจทก์ประมาณ 2.60 เมตร การก่อสร้างอาคารของจำเลยไม่ได้รุกล้ำเข้าไปถมทางระบายน้ำ ไม่ได้ทำให้พัดลมระบายอากาศและช่องระบายอากาศใช้ไม่ได้ โจทก์ต่อเติมอาคารชิดแนวเขตที่ดินของจำเลยโดยผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จำเลยก่ออิฐเป็นกำแพงในที่ดินของจำเลยติดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์สูงประมาณ 2 เมตร ไม่ทำให้พัดลมระบายอากาศของโจทก์ใช้ไม่ได้ ไม่ได้บดบังแสงแดดและทิศทางลม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนตามฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดบังช่องลมในห้องน้ำ และส่วนที่ปิดบังพัดลมไล่อากาศออก หากไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อกำแพงเฉพาะส่วนดังกล่าวได้ โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายและให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อปี 2525 โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11251 ตำบลบางพลัด (บ้านปูน) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารตึกแถว 2 ชั้น เลขที่ 737/81 ซึ่งมีการก่อสร้างต่อเติมทางด้านหลังออกไปเป็นห้องครัวและห้องน้ำมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศออกไปทางด้านหลัง บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ดินและอาคารเลขที่ 737/83 ที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาเมื่อปี 2533 ครั้นปี 2539 ถึงปี 2540 จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทกั้นระหว่างอาคารตึกแถวของโจทก์กับอาคารของจำเลย กำแพงพิพาทชิดด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์โดยมีความสูงประมาณ 2.50 เมตร อยู่ในระดับเดียวกับชั้นล่างของอาคารตึกแถวของโจทก์ซึ่งเป็นห้องครัวและห้องน้ำ ทำให้ไม่อาจเปิดพัดลมระบายอากาศออกไป และไม่อาจเปิดช่องหน้าต่างได้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยรื้อกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนมาด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การก่อสร้างกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำในอาคารของโจทก์กับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศของโจทก์ซึ่งอยู่ถัดไปเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้รื้อถอนกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนออกไปด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า กำแพงพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในการชี้สองสถานว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารและการก่อกำแพงของจำเลยเป็นการขัดขวางรบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์ และเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกำหนดจากส่วนหนึ่งของคำฟ้องและคำให้การที่คู่ความกล่าวอ้างและโต้แย้งกันว่า การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ด้วยว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย การก่อสร้างกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า กำแพงพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเบิกความยืนยันว่าจำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทในที่ดินของจำเลย โดยโจทก์มิได้ถามค้านและนำสืบโต้เถียงว่า กำแพงพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลย จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย

ปัญหาข้อสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำกับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความว่ามีการต่อเติมอาคารตึกแถวของโจทก์ในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมากขึ้น ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วยย่อมเห็นได้ว่าอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย ทั้งจำเลยยังเบิกความยืนยันด้วยว่า จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไม่มีกลิ่นเหม็นยิ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจากการที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเพื่อปิดกั้นช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศดังกล่าว การก่อสร้างกำแพงพิพาทของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลย.

( นินนาท สาครรัตน์ - ธานิศ เกศวพิทักษ์ - วีระศักดิ์ นิศามณี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/searchlist.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 11:47:21


ความคิดเห็นที่ 3 (1964649)

คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาฐานละเมิดโดยโจทก์ทั้งสี่ ต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือทาวน์เฮาส์สองชั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ สูง 7 ชั้น ลงบนที่ดินด้านหลังทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว โดยทำการก่อสร้างไม่ถูกต้องทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ เป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมทาวน์เฮาส์หลังละ 150,000 บาท ค่าเสื่อมราคาหลังละ 500,000 บาท และค่าที่ทำให้โจทก์ทั้งสี่มีรายได้ตกต่ำลดน้อยลงจากเดิมเดือนละ 7,000 บาท 8,000 บาท 7,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ คิดตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองระงับหรือหยุดการก่อสร้าง และรื้อถอนอาคารเฉพาะที่อยู่ติดกับทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสองออกไปทั้งหมด และให้เว้นระยะการก่อสร้างห่างจากแนวเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษา...ว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 130,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 110,000 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ กับให้ร่วมกันชำระเงินค่าขาดรายได้ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดือนละ 7,000 บาท โจทก์ที่ 2 เดือนละ 8,000 บาท และโจทก์ที่ 4 เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะระงับหรือหยุดการก่อสร้างอาคารและรื้อถอนอาคารเฉพาะในด้านที่อยู่ชิดกับอาคารของโจทก์ทั้งสี่ออกไปทั้งหมดและให้เว้นระยะการก่อสร้างห่างจากแนวเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ทั้งสี่ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ในต้นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้โจทก์แต่ละรายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 130,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 110,000 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสี่ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 2,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานละเมิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือทาวน์เฮาส์สองชั้นบนที่ดินโฉนดเลขที่ 51775, 51776, 51777 และ 51779 ตามลำดับ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ สูง 7 ชั้น ลงบนที่ดินด้านหลังทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว โดยทำการก่อสร้างไม่ถูกต้องทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ เป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมทาวน์เฮาส์หลังละ 150,000 บาท ค่าเสื่อมราคาหลังละ 500,000 บาท และค่าที่ทำให้โจทก์ทั้งสี่มีรายได้ตกต่ำลดน้อยลงจากเดิมเดือนละ 7,000 บาท 8,000 บาท 7,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ คิดตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองระงับหรือหยุดการก่อสร้าง และรื้อถอนอาคารเฉพาะที่อยู่ติดกับทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสองออกไปทั้งหมด และให้เว้นระยะการก่อสร้างห่างจากแนวเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่จะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวที่ถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิด และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคน ดังนั้น การพิจารณาทุนทรัพย์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกกัน หาใช่คิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทุกคนรวมกันไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 130,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 110,000 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกินคนละ 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหายเนื่องจากการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงข้อเดียวว่าที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษากำหนดค่าทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองใช้สิทธิปลูกสร้างอาคารสูง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เจ้าของทาวน์เฮาส์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ ในข้อนี้เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 มาโดยชัดแจ้งก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าการปลูกสร้างอาคารสูงของจำเลยทั้งสองที่ปลูกสร้างจนเกือบชิดหรือติดกับตัวอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้รับความยินยอมของโจทก์ทั้งสี่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาโดยตลอด กล่าวคือระหว่างปลูกสร้างอาคารได้มีการลงเสาเข็มพื้นฐานอาคารโดยไม่ถูกวิธีและปลอดภัยพอ เป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ในส่วนที่เป็นผนังห้อง เสา คาน เกิดรอยแตกร้าวโดยทั่วไป อาคารสูงของจำเลยทั้งสองปิดบังช่องของแสงและทิศทางลมซึ่งส่องและระบายเข้าออกในส่วนทางด้านหลังของทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ อีกทั้งระหว่างก่อสร้างได้ก่อให้เกิดมลภาวะซึ่งความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ไม่เคยเกิดและมีมาก่อน โจทก์ทั้งสี่ไม่อาจอยู่อาศัยในทาวน์เฮาส์ของตนได้อย่างเป็นปกติสุข มีผลต่อความรู้สึกด้านจิตใจและความเป็นอยู่ รวมทั้งสุขภาพของคนในครอบครัวของโจทก์ทั้งสี่อย่างแสนสาหัส ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสี่ยังได้สรุปความเสียหายก่อนที่มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า "การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจอย่างแสนสาหัส?" ดังนี้ เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จะมิได้มีข้อความโดยชัดแจ้งระบุค่าทดแทน การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้สิทธิของตนในการปลูกสร้างอาคารสูงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ คือทาวน์เฮาส์ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 มาด้วย ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องที่โจทก์ได้บรรยายมาดังกล่าวข้างต้น พิจารณาประกอบคำให้การที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยทั้งสองโดยห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายและการก่อสร้างก็ได้รับอนุญาตจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและมีการตรวจสอบแบบแปลนและสถานที่ก่อสร้างแล้ว อีกทั้งวิธีการก่อสร้างก็ทำถูกตามขั้นตอนโดยมีวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างและอาคารที่ปลูกสร้างก็ไม่ได้บังทิศทางลมอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ด้วย และในประการสำคัญคือศาลชั้นต้นก็ได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นพิพาทเรื่องค่าเสียหายไว้เพียงกว้าง ๆ ว่าโจทก์ทั้งสี่เสียหายหรือไม่เพียงใดด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่และคำให้การจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ถือได้ว่าคดีมีประเด็นพิพาทเรื่องค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้สิทธิปลูกสร้างอาคารบนที่ดินของตนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คือทาวน์เฮาส์ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ด้วย โดยถือว่ารวมอยู่ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่ที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นพิพาทไว้ในประเด็นพิพาทข้อ 2 นั่นเอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หาได้วินิจฉัยเกินคำขอไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยค่าเสียหายนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่รวมเป็นเงิน 540,000 บาท จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่ไม่เกิน 75,000 บาท ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่เกินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 465,000 บาท เท่านั้น และเมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับประเด็นค่าเสียหายจากการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 340,000 บาท ศาลฎีกาจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาส่วนนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองผู้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาที่จำเลยทั้งสองจะต้องเสียค่าขึ้นศาลจึงมีเพียง 125,000 บาท เป็นเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 3,125 บาท แต่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์จำนวน 540,000 บาท เป็นเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 13,500 บาท อันเป็นการเสียเงินค่าขึ้นศาลฎีกาเกินมาเป็นเงิน 10,375 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองด้วย

พิพากษายืน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 3,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - วิชัย วิวิตเสวี - เกรียงชัย จึงจตุรพิธ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548

 

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 12:32:57


ความคิดเห็นที่ 4 (1964693)

สัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มว่าจำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่าจำเลยต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก

 

โจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209011, 209012 และ 209013 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209014 รวมเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้าน 2 ชั้น 2 หลัง เลขที่ 42/24 และ 42/25 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงของโจทก์ทั้งสอง ได้ประกอบการค้าโดยปลูกสร้างคอนโดมิเนียมแฟลตหรืออาคารชุด เพื่อขาย ชื่อว่า "โครงการฟลอราวิลล์" ระหว่างปี 2533ถึงปัจจุบัน จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยระหว่างก่อสร้างอาคารของจำเลยได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม รถบรรทุกดินและวัสดุก่อสร้างเข้าออกผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของการก่อสร้าง เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้อาคารบ้านเลขที่ 42/24 และ 42/25 พร้อมรั้วคอนกรีตได้รับความเสียหายหลายรายการ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,147,850 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ก่อสร้างโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเนื่องจากมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,763,563 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209011, 209012 และ 209013โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209014 และโจทก์ทั้งสองได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินทั้ง 4 แปลง เมื่อปี 2530 คือบ้านเลขที่ 42/24 และ42/25 หมู่ที่ 16 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินโจทก์ทั้งสองทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารชุดสูง 33 ชั้น จำนวน4 อาคาร เพื่อขายหรือให้เช่า ใช้ชื่อโครงการว่า "ฟลอราวิลล์" การบริหารโครงการของจำเลยนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ พนักงานของจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมโครงการ ระหว่างก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยบ้านและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เหตุที่รั้วบ้านโจทก์พังเนื่องจากที่ดินบริเวณบ้านโจทก์ทั้งสองสูงกว่าถนนประมาณ 1 เมตร และรั้วไม่มีสเตย์ยึดไว้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ฝนตกหนักทำให้รั้วยุบตัวลง และการดำเนินการก่อสร้างอาคารของจำเลยใช้วิธีขุดเปิดหน้าดินออกบางส่วน ฝังแผ่นเหล็กโดยรอบ และเจาะเอาดินออกบางส่วน แล้วจึงตอกเสาเข็มลงในหลุมดิน ซึ่งจะทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ที่ดินข้างเคียงน้อยที่สุด และการขนส่งวัสดุก่อสร้างมายังสถานที่ก่อสร้างไม่ได้ทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองเสียหายนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ขณะก่อสร้างได้มีการขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทำให้ถนนเสียหายถนนถูกอัดลง ดินใต้ถนนไหลเลื่อนเบียดกำแพงและเสาบ้านโจทก์ทั้งสองและการก่อสร้างใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ทำให้เสาบ้านโจทก์ทั้งสองทรุดตัวและมีรอยแตกร้าวของอาคารบ้านโจทก์ทั้งสองหลายแห่งความเสียหายของโจทก์ทั้งสองปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.14 ถึง จ.16 โจทก์ที่ 2 แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยส่งนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ มาตรวจสอบความเสียหายอยู่ 7 เดือนจึงวิเคราะห์ว่าเสาอาคารของโจทก์ทั้งสองต้นคู่หน้าได้รับความเสียหายโดยการทรุดตัว ตามเอกสารหมาย จ.17 และนายสุบรรณได้ทำบันทึกลงวันที่ 12 เมษายน 2534 ในฐานะผู้จัดการโครงการของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2ไว้ว่า ขอรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตามเอกสารหมาย จ.20และโจทก์ทั้งสองมีนายพิทักษ์ พิทักษ์พงศ์สนิทซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างและมีบ้านอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เบิกความสนับสนุนว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองและบ้านของพยานเสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวสอดคล้องต้องกัน จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนจำเลยมีนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ เป็นพยาน แต่นายสุบรรณเบิกความรับว่า ความเสียหายที่บ้านโจทก์ทั้งสองพยานเข้าไปดูแลและซ่อมแซมและลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.20 เป็นลายมือชื่อของพยานทั้งนายประสงค์ เอาฬาร กรรมการบริษัทจำเลยก็เบิกความรับว่าจำเลยให้นายสุบรรณเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมบ้านโจทก์ ดังนั้นจึงฟังได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลย

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โครงการนี้จำเลยว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการจำเลยมิได้เป็นผู้ผิดในการว่าจ้างจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้นเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในโครงการทั้งหมดแม้จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆแทน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างในโครงการทั้งหมด และตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เช่น สัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตเอกสารหมายล.2 ปรากฏตามสัญญาข้อ 5.1 ว่า จำเลยจะต้องจัดหาสถานที่สำหรับกองเสาเข็มและจัดทำทางเพื่อให้รถบรรทุกเสาเข็มเข้าไปส่งยังจุดทำงานได้โดยสะดวกและสัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏตามสัญญาตามข้อ 5.3 ว่า จำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด จำเลยฎีกาว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2539 เป็นความประสงค์ของคู่ความที่จะให้วิศวกรของกรมโยธาธิการสำรวจความเสียหายและประเมินราคามาเพื่อตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยมิได้ยอมรับราคาตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินมา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ยุติชอบที่ศาลจะต้องฟังจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2539 ปรากฏข้อความว่า "คู่ความแถลงร่วมกันว่ามีความประสงค์ที่จะติดต่อให้วิศวกรของกรมโยธาธิการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายและประเมินราคากลางโดยละเอียด เช่น ปริมาณงาน วิธีการซ่อม ค่าเสียหายที่ปรากฏในขณะตรวจค่าแรงงาน ค่าอุปกรณ์โดยละเอียดเพื่อนำราคาดังกล่าวมาเป็นราคากลางในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากวิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคาค่าเสียหาย ค่าซ่อมแซมมาเสนอต่อคู่ความเป็นจำนวนเท่าใดคู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับตามนั้น" และตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2539 ปรากฏข้อความว่า "คู่ความแถลงร่วมกันว่าได้ให้กรมโยธาธิการประเมินความเสียหายเกี่ยวกับตัวอาคารพิพาท และทางกรมโยธาธิการได้จัดส่งเอกสารสรุปผลการประเมินราคาค่าก่อสร้างมาให้แล้วปรากฏตามหนังสือของกรมโยธาธิการฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม2539 ที่เสนอต่อศาลวันนี้ราคาดังกล่าวเป็นความเสียหายที่สำรวจตามสภาพที่มองเห็นซึ่งคู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมาคู่ความขออ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลให้แยกเก็บและหมายเอกสารเป็น จ.ล.1" คำแถลงของคู่ความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเกี่ยวกับปริมาณค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นไปตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคาซึ่งคู่ความจะต้องผูกพันตามคำแถลงดังกล่าวไม่ว่าผลการประเมินราคาจะออกมาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตน หาใช่เป็นเพียงให้วิศวกรของกรมโยธาธิการสำรวจความเสียหายและประเมินราคามาให้คู่ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่งตามที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ว่า วิศวกรของกรมโยธาธิการได้เข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านโจทก์ทั้งสองแล้วประมาณราคามาเฉพาะในส่วนของความเสียหายที่มองเห็นได้คิดเป็นเงินประมาณ 1,463,563 บาท เช่นนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมต้องถูกผูกพันเป็นยุติตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคามาจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่น หรืออ้างความเห็นของพยานคนใดมาหักล้างมิได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2539 มีข้อความว่า"โจทก์แถลงว่าค่าเสียหายที่ยังไม่สามารถประเมินราคาได้นั้นกับเงินค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองจัดการซ่อมแซมปรับปรุงถนนไปบางส่วน จะเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องกับจำเลยทั้งสิ้น 1,800,000 บาท" และทนายจำเลยก็แถลงว่า "จะนำราคากลางและค่าเสียหายส่วนที่เกินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องมานั้นไปแจ้งให้จำเลยทราบ" แสดงว่า ราคาที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินมา1,463,563 บาท โจทก์ทั้งสองเองก็ไม่พอใจและจำเลยก็ยังไม่ตอบตกลงด้วยนั้นเห็นว่าข้อความตามรายงานดังกล่าวเป็นข้อความต่อจากข้อความที่คู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเสียหายที่จำเลยยังไม่ยอมรับคือค่าเสียหายส่วนที่เกินจาก 1,463,563 บาทเท่านั้น หาใช่ไม่ยอมรับในจำนวนทั้งสิ้นตามที่จำเลยฎีกาไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2ได้ความว่า ความเสียหายของอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิดก่อนเดือนกรกฎาคม2533 มิใช่เกิดต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่มีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และในปี 2535 ไม่มีการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ทั้งสองและไม่มีการรับสภาพหนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า การก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2533จนถึงปี 2537 ดังที่นายประสงค์กรรมการบริษัทจำเลยเบิกความว่าการก่อสร้างสระว่ายน้ำและสปอร์ตคลับแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เมื่อปลายปี 2537และโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 จำเลยได้ส่งช่างเข้ามาทำเสาและโครงสร้างหลังคาบ้านให้แล้วเสร็จแล้วก็เงียบหายไปอีกจนกระทั่งต่อมามีนายพิทักษ์ พิทักษ์พงศ์สนิท เป็นผู้รับเหมาของจำเลยเข้ามาซ่อมแซมบ้านเฉพาะส่วนหน้าบ้านให้ โดยซ่อมแซมส่วนหน้าบ้านจนเกือบแล้วเสร็จ และมีการซ่อมถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ก็ไม่มีการซ่อม ส่วนอื่นอีกเนื่องจากทางฝ่ายจำเลยแจ้งว่า หากซ่อมในขณะนั้นโจทก์ทั้งสองอาจได้รับความเสียหายอีกเนื่องจากโครงการยังไม่เสร็จสิ้นยังมีการขนส่งและก่อสร้างตลอดเวลาขอให้ชะลอการซ่อมไว้ก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็มีนายพิทักษ์มาเบิกความสนับสนุนในข้อนี้สอดคล้องต้องกันแสดงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองอันเป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้นไป หากแต่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ๆตราบเท่าที่ยังมีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ตรวจดูคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2ได้เบิกความเกี่ยวกับจำเลยให้นายพิทักษ์เข้ามาซ่อมแซมบ้านโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 แล้วไม่มีการซ่อมอีกดังกล่าวข้างต้นนั้นศาลฎีกาตรวจดูคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ปรากฏข้อความดังกล่าว ดังนั้นจึงฟังได้ว่า จำเลยได้ให้นายพิทักษ์เข้าไปซ่อมบ้านของโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันถือเป็นการที่ลูกหนี้ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้รายนี้เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยด้วย"

พิพากษายืน

( วุฒินันท์ สุขสว่าง - ระพินทร บรรจงศิลป - วิรัช ลิ้มวิชัย )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7873/2542

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 14:33:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล