ReadyPlanet.com


การจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง


ตอนนี้กำลังเจอปัญหานี้อยู่ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิดแล้วคะ  ช่วงนี้กิจการที่บ้านไม่ค่อยจะดีนักไม่สามารถบอกคนงานได้ว่าในแต่ละอาทิตย์วันไหนจะมีงานหรือไม่มีงาน  ปัญหาก็คือกรณีที่เราบอกลูกน้องว่าพรุ่งนี้ให้หยุดไปก่อนยังไม่ต้องมาทำงานเพราะไม่มีงานเข้ามาให้ทำ แล้วค่อยมาในวันถัดไป อยากทราบว่าเราจะต้องทำยังไงคะ กับวันที่เราบอกให้ลูกน้องหยุด


ผู้ตั้งกระทู้ อินทิรา :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-12 21:54:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1961965)

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน"

 

ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นนั้นจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร

 

ในกรณีของคุณที่ให้พนักงานหยุดเพียงวันเดียวไม่ใช่ความจำเป็นอันสำคัญ ลูกจ้างอาจร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มวันได้ แทนที่จะจ่ายเพียงร้อยละ 50 ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-13 15:25:00


ความคิดเห็นที่ 2 (1962903)

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีกเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำได้รับความเดือดร้อน เหตุที่นายจ้างจะยกความจำเป็นขึ้นอ้างเพื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หาใช่ว่าจะต้องมาจากสาเหตุที่นายจ้างประสบปัญหาการขาดทุนเพียงประการเดียวไม่

การที่กิจการของจำเลยซึ่งผลิตเครื่องหนังโดยมีเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศต้องผลิตตามคำสั่งซื้อตามความประสงค์ของผู้สั่งซื้อโดยไม่อาจเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและขาดช่วง เพราะต้องรอวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ต้องรอวัตถุดิบในการผลิต จำเลยจึงต้องปิดโรงงานผลิตไปบางส่วน และหยุดกิจการบางส่วนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ อันเป็นความจำเป็นที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลยอย่างมาก จำเลยย่อมหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 นี้

 

คดีทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 210/2548 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 123 แต่โจทก์ที่ 90 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวขอถอนฟ้อง คดีสำหรับโจทก์ที่ 90 จึงยุติไปแล้วในศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีหนึ่งร้อยยี่สิบสองสำนวนนี้

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยสั่งให้โจทก์แต่ละคนหยุดงานจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 89 และที่ 91 ถึงที่ 123 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวหรือไม่ โดยโจทก์ดังกล่าวอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประกอบกิจการโดยสุจริตแต่ประสบปัญหาการขาดทุน การที่จำเลยหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุแต่เพียงสั่งวัตถุดิบเข้ามาไม่ทันจึงไม่เป็นเหตุที่จะคุ้มครองจำเลย เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน” ตามมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหาในการดำเนินกิจการ มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีก เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย ซึ่งหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำ ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องมีความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเหตุความจำเป็นที่นายจ้างอ้างเพื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีไป หาใช่ความจำเป็นที่นายจ้างจะหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ จะต้องมาจากสาเหตุที่นายจ้างประสบปัญหาการขาดทุนเพียงประการเดียวเท่านั้นดังที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองอุทธรณ์ไม่

กรณีของจำเลยปรากฏว่า จำเลยผลิตกระเป๋าโดยไม่มีเครื่องหมายการค้าเป็นของจำเลยเอง แต่ผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อจากต่างประเทศ เครื่องหนังและผ้าที่ใช้ในการผลิตกระเป๋าส่วนมากจะมีตราเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อสินค้าติดอยู่ ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แสดงว่าถ้าไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจำเลยก็ไม่ได้ผลิตสินค้า แต่ถ้ามีคำสั่งซื้อเข้ามาจำเลยก็ต้องสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตสินค้าตามความประสงค์ของผู้สั่งซื้อ โดยไม่อาจสั่งวัตถุดิบเตรียมไว้ล่วงหน้าได้เพราะไม่รู้ว่าการสั่งซื้อในแต่ละครั้ง ผู้สั่งซื้อจะสั่งให้ผลิตสินค้าในรูปแบบใด เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งอาจไม่ใช่สินค้าแบบที่เคยสั่งซื้อก็ได้ ปรากฏว่านับแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องปิดโรงงานผลิตไปบางส่วน มีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและขาดช่วงหรือบางครั้งก็มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างกะทันหันทำให้เกิดมีช่วงเวลาที่ต้องรอวัตถุดิบในการผลิตส่งผลให้ไม่มีงานให้ลูกจ้างทำในขั้นตอนแรก ๆ ของการผลิต และมีผลไปถึงขั้นตอนต่อไปของการผลิตด้วย ดังนั้น การที่จำเลยหยุดกิจการบางส่วนแล้วสั่งให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองหยุดงานเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเพื่อรอวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตสินค้าดังเหตุผลที่กล่าวมา จึงเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลยอย่างมาก จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - จรัส พวงมณี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078 - 6199/2549

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-15 11:58:27


ความคิดเห็นที่ 3 (1968546)

ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง นายจ้างสั่งให้หยุดงานชั่วคราว

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องคำนวณไฟฟ้า (คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์) นายทองเอื้อกับพวกรวม 444 คน ทำงานเป็นลูกจ้าง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ให้ลูกจ้างของโจทก์หยุดงานในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 จำนวน 17 ครั้ง รวม 31 วัน เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน" บทบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวแต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไปเพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือนายทองเอื้อกับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะ ๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 วัน รวม 31 วัน แม้โจทก์จะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลงก็ตาม ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นการหยุดงานตามที่โจทก์คาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับโจทก์มีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้างและบางครั้งโจทก์ขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของโจทก์เองที่ขาดการวางแผนงานที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( ปัญญา สุทธิบดี - ชวลิต ยอดเณร - จรัส พวงมณี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2548

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-27 17:05:23



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล