ReadyPlanet.com


แต่งงานกับชาวต่างชาติแล้วจะต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศเขาอีกหรือไม่


ญาติของดิฉันแต่งงานกับชาวต่างชาติ คือ เขาเป็นคนประเทศแคนาดา  ไม่ทราบว่าจะต้องเดินทางไปจดทะเบียนที่ประเทศของเขาหรือไม่ค่ะ  ถึงจะได้เป็นภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมายของประเทศเขา  แต่ทุกวันนี้เขาไปทำงานที่ตะวันออกกลาง  แต่ที่เมืองไทย เขาก็ยังไม่ได้จะเบียนสมรสกัแต่อย่างใดภรรยาคนไทยไม่ทราบว่าคุณทนายจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างค่ะ  คือ เขาไปทำงานเดือนหนึ่ง แล้วก็มาวันหยุดเดือนหนึ่งนะค่ะ ส่วนวันหยุดเขาก็จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยของเรา  ขอคำแนะนำด้วยค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ ทิพวรรณ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-09 19:29:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1960508)

"อยากจะได้เป็นภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมายของประเทศเขา"

มาตรา 1459 การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วย กัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม กฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ให้พนักงาน ทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน

ในทางกลับกัน ถ้าจะให้มีผลตามกฎหมายของประเทศแคนาดา ก็ไปจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตแคนาดา ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-09 21:17:05


ความคิดเห็นที่ 2 (1960713)

**เป็นความเห็นน่ะครับ แม้ว่าจะจดทะเบียนสมรสในเมืองไทย ก็น่าจะมีผลถึงเป็นผู้ที่ได้สมรสแล้วในแคนาดาด้วย

  เพราะได้มีการสมรสตามกฎหมายแล้ว แม้จะไม่ใช่ประเทศเจ้าของสัญชาติ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น รอยเปลื้อน วันที่ตอบ 2009-07-10 11:36:12


ความคิดเห็นที่ 3 (1960728)

ความเห็นอื่น ๆ

แหล่ที่มา /     http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20090513000707AAfYFR8

 

 

1.ถ้าคุณจดทะเบียนสมรสในไทยแล้วทำเรื่องขอวีซ่าถาวรไปอยู่ต่างประเทศกับสามี เมื่อผ่านขั้นตอนทางอิมมิเกรชั่นและได้วีซ่าเรียบร้อยแล้ว ถือว่าทะเบียนสมรสที่จดในไทยมีผลบังคับใช้สมบูรณ์ตามกฏหมายของประเทศนั้นๆ ด้วย คุณจึงไม่จำเป็นต้องไปจดซ้ำ

และในทางกลับกัน หากคุณเดินทางไปด้วยวีซ่าชั่วคราว แล้วไปจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ คุณสามารถนำทะเบียนสมรสนั้นมาแปล ให้สถานทูตไทยรับรอง และนำไปยื่นขอจดทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวที่อำเภอ เพื่อรับรองให้ทะเบียนสมรสที่จดมาจากต่างประเทศนั้นมีผลบังคับใช้สมบูรณ์ตามกฏหมายไทย

 

2. การทำเอกสารเพื่อจดทะเบียนสมรสแตกต่างกันออกไป ถ้าจะจดภายใต้กฏหมายไทย ก็ต้องเตรียมอีกแบบ ถ้าจะจดภายใต้กฏหมายของแฟนคุณ ก็อีกแบบ (คุณสามารถจดทะเบียนสมรสกับแฟนคุณ ภายใต้กฏหมายของเขาได้ ตามสถานฑูตของแฟน ภายในประเทศไทย) จะมีผลสมบูรณ์แบบ ที่สุด หากคุณ จดภายใต้ทั้งสองกฏหมาย จะควบคุม จดแบบไทยก็ต้องไปแปลเป็นภาษาของแฟน จดแบบแฟนต้องแปลเป็นไทย ไม่ยากหรอก

ถ้าจะให้ หากคุณมีปัญหาเรื่องเอกสาร สถานฑูต คือ ที่ปรึกษา ที่ดีที่สุด และ ถูกต้องที่สุด ถามๆๆๆๆ ไม่ต้องอาย

คนอื่นตอบแทนไม่ได้หรอก เพราะคนเรามีเอกสาร และวิธีการที่ต่างกัน

 

3. ควรจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของชาวต่างชาติ ของชาตินั้นที่คุณจะจดทะเบียนด้วย เช่นแต่งงานกับชาวเยอรมัน ก็ต้องจดทะเบียนที่เยอรมัน และไทยด้วย (ทั้งสองถูกต้องแล้ว) แต่ต้องแปลเอกสารกันหลายฉบับเลยนะจ๊ะ (จากไทยเป็นเยอรมัน) ขอให้โชคดี

สิ่งที่ดีที่สุดคือเข้าไปในเว็บไซต์ของประเทศของแฟนคุณแล้วไปอ่านในส่วนของการแต่งงานและจดทะเบียนสมรส จะได้คำตอบที่ตรงที่สุดจ้า ไม่แนะนำให้ถามคนอื่นๆ จ่ะ อาจผิดพลาดได้

 

4. มันขึ้นอยู่ที่ว่า สมบูรณตามกฎหมายของประเทศอะไร และ เราเองจะอยู่ประเทศอะไรด้วย

ถ้าสมบูรณ์ตามกฎหมาย.ไทย ก็ต้องจดที่ไทย
ถ้าสมบูรณ์ตามกฎหมาย....ประเทศอื่นๆ ก็ไปจดที่ประเทศนั้นๆ

ถ้าสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย แล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ กฎหมายไทยก็ไม่สามารถบังคับใช้ถึงต่างประเทศได้ ดังนั้นก็ต้องเอาหลักฐานจากสถาทูต หรือ จากอำเภอที่จดทะเบียนในไทย ไปแปลแล้วเอาไปจดทะเบียน ที่ประเทศนั้นๆ หรือ ที่สถานทูตของเค้าอีกที

ถ้าจะอยู่ที่ไทยอยางถาวร ก็ควรจะจดที่ไทยเป็นหลักไว้ก่อน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 11:54:10


ความคิดเห็นที่ 4 (1960738)

ความเห็นสอื่น

แหล่งที่มา / http://www.lawyerthai.com/forum2/view.php?topic=2723

 

 

 

เกี่ยวกับการแต่งงานในประเทศไทย

ผู้ใดจดทะเบียนสมรสที่อำเภอในประเทศไทย(คือถูกต้องตามกฎหมายไทยทุกอย่าง) กฎหมายอังกฤษก็รับรองการสมรสนั้น โดยที่คู่สมรส
ไม่จำเป็นต้องสมรสในประเทศอังกฤษอีกครั้งเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษอีก

เกี่ยวกับการหย่าที่ประเทศอังกฤษ

แม้คู่สมรสจะได้ทำการสมรสที่ประเทศไทย แต่จำเป็นต้องทำการหย่าที่ประเทศอังกฤษ
- ถ้าได้มีถิ่นฐานอยู่ในอังกฤษหรือ
- ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องให้กฎหมายอังกฤษรับรองการหย่า และ
- กฎหมายอังกฤษให้การรับรองคู่สมรสมากกว่ากฎหมายไทยด้วยค่ะ

กฎหมายอังกฤษมีข้อบังคับที่สำคัญ(โดยไม่มีข้อยกเว้น) ไว้อย่างหนึ่งคือ คู่สมรส(ไม่ว่าจะแต่งงานที่ประเทศใดก็ตาม) ถ้าจะหย่าในประเทศอังกฤษ
ไม่อาจหย่าได้จนกว่าจะได้สมรสมาแล้วอย่างน้อยครบ ๑ ปี การหย่าร้างนี้ต้องทำเรื่องขึ้นศาลอังกฤษในทุกกรณี (ในอังกฤษไม่มีการหย่าโดยตกลง
กันเองและไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภออย่างในประเทศไทย) การหย่าที่ศาลอังกฤษต้องใช้เวลานานพอสมควร ถ้ามีการตกลงกันได้ทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ค่าเลี้ยงดู หรือเรื่องบุตร จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดก็ประมาณ ๔-๖ เดือน แต่ถ้ามีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้และต้องขอให้ศาลตัดสินก็ต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก

ข้อเตือน
การหย่าที่สถานทูตไทยจะไม่ได้การรับรองจากกฎหมายอังกฤษ จะได้รับการรับรองจากกฎหมายไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าจะไปหย่ากันที่สถานทูตไทยแทนการทำเรื่องหย่าที่ศาลอังกฤษได้

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 12:07:05


ความคิดเห็นที่ 5 (1960754)

บันทึก*เรื่อง การหย่าโดยความยินยอมระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับบุคคลสัญชาติไทย

 

 

กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0302/12317 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2535 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย ได้หารือปัญหาข้อกฎหมายต่อสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กรณีการหย่าโดยความยินยอมระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมัน-บุคคลสัญชาติไทย โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายซึ่งจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมต่อนายทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอหรือเขต และนายทะเบียนได้จดทะเบียนหย่าให้นั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนและมีผลบังคับตามกฎหมายไทยหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานทูตฯได้รับการทักท้วงจากกระทรวงยุติธรรมแห่งรัฐบาเดนฯว่า ได้พิจารณาจากกฎหมายแพ่งของเยอรมัน มาตรา 1564 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ภาค 5 มาตรา 26 แล้ว เห็นว่า ไม่สามารถที่จะหย่าขาดกันโดยความยินยอมได้

กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วมีความเห็นเป็น 3 ทาง จึงขอหารือว่าความเห็นใดถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

 

1. การขอจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมัน-บุคคลสัญชาติไทย สามารถดำเนินการได้ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วโดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 4

 

2. การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมให้คู่สมรสดังกล่าวนั้น ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทั้งไทยและเยอรมัน ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 จึงควรแนะนำคู่สมรสไปดำเนินการใช้สิทธิทางศาล

 

3. การหย่าโดยความยินยอมสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย ตราบใดที่ยังไม่มีเหตุที่จะนำกฎหมายขัดกันมาใช้ การหย่าโดยความยินยอมตามกฎหมายไทยดังกล่าวย่อมนำขึ้นกล่าวอ้างได้ทุกกรณี

คณะกรรมการกฤษฎีกา(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 3)ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวประกอบกับฟังคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงมหาดไทย(สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมการปกครอง) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ(สำนักงานปลัดกระทรวง)แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่สมรสที่เป็นบุคคลสัญชาติเยอรมันกับบุคคลสัญชาติไทยซึ่งได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ได้แสดงเจตนาหย่าตามกฎหมายไทย โดยการไปยื่นคำขอจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมต่อนายทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอหรือเขต และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนการหย่า ต่อมา สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทยมีหนังสือสอบถามกระทรวงมหาดไทยว่า การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนและมีผลบังคับตามกฎหมายไทยหรือไม่ โดยอ้างมาตรา 26*(1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481และมาตรา 1564*(2) แห่งกฎหมายแพ่งของเยอรมัน กระทรวงมหาดไทยจึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 3) เห็นว่า แม้ว่าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะมีสัญชาติเยอรมัน แต่กรณีที่กระทรวงมหาดไทยหารือมานี้มิใช่ปัญหาการโต้แย้งสิทธิระหว่างคู่สมรสที่มีสัญชาติต่างกันที่จะต้องไปพิจารณาหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเพื่อค้นหากฎหมายที่เหมาะสมมาวินิจฉัยให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี แต่เป็นการสอบถามข้อสงสัยของสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย

 

 

*(1) มาตรา 26 การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้

 

*(2) มาตรา 1564 การสมรสจะสิ้นสุดลงได้ด้วยการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ซึ่งคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ยื่นคำร้องขอหย่า

การสมรสถือเป็นอันสิ้นสุดเมื่อคำพิพากษามีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอหย่า จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ฯลฯ ฯลฯ

(หมายเหตุ:- คำแปลดังกล่าวข้างต้น สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทยรับรองแล้วว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง มีเนื้อหาใจความตรงกันกับต้นฉบับภาษาเยอรมัน)

 

ในปัญหาเกี่ยวกับการสิ้นสุดของการสมรสที่คู่สมรสได้ดำเนินการตามกฎหมายไทยว่าจะมีผลบังคับและสมบูรณ์ตามกฎหมายไทยหรือไม่ ดังนั้น ในกรณีนี้จึงต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายภายในของไทยที่บัญญัติเกี่ยวกับฐานะทางครอบครัวและวิธีการในการจดทะเบียนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตามหลักของการใช้กฎหมายภายในประเทศ กฎหมายไทยย่อมใช้บังคับแก่บุคคลที่อยู่ภายในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ประกอบกับกรณีนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจของนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องใช้กฎหมายไทยในการพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย โดยไม่จำเป็นจะต้องนำกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายหรือกฎหมายของต่างประเทศมาพิจารณาด้วย และการจะนำกฎหมายต่างประเทศมาเป็นข้อพิจารณาในที่นี้ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทยแจ้งมายังกระทรวงมหาดไทยว่ามีกฎหมายแพ่งของเยอรมันบัญญัติไว้เท่านั้น หาเพียงพอที่จะรับฟังได้ไม่ เพราะปัญหาว่ากฎหมายต่างประเทศมีอยู่อย่างไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ ซึ่งจะรับกับมาตรา 8*(3)*แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม" และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4302/2528*(4)

 

*(3) มาตรา 8 ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม

 

*(4) คำพิพากษาฎีกาที่ 4302/2528 (ฎีกาย่อ) เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว แต่กลับยับยั้งการจดทะเบียนสมรสไว้ โดยหารือไปยังจังหวัดก่อนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส อันผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แล้ว

 

ที่วินิจฉัยไว้ในกรณีนายทะเบียนอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องว่า "...การคัดค้านฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องและนางเตี่ยนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเงื่อนไขแห่งการสมรสตามกฎหมายของประเทศเวียดนามอันเป็นประเทศที่นางเตี่ยนมีสัญชาติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 19 ... ฟังได้ว่า ผู้ร้องและนางเตี่ยนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" นั้น หาใช่บทกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะนำมาใช้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไม่ ..."

อนึ่ง พึงสังเกตว่าหากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยอมรับข้อเสนอของสถานทูตต่างประเทศต่าง ๆ เข้ามาใช้บังคับแล้ว กรณีจะเกิดปัญหาหลายประการ เช่น

เจ้าหน้าที่ไทยไม่สามารถจะรับรู้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ว่ามีอยู่อย่างไร และได้มีการแก้ไขอย่างไรบ้างหรือไม่ และจะกลายเป็นการรับรองสิทธินอกอาณาเขตของต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้ความพยายามมาเป็นเวลานานจึงหลุดพ้นไปได้ และอีกประการหนึ่งในการใช้กฎหมายภายในของแต่ละประเทศ สถานทูตต่างประเทศ ภายในประเทศนั้นย่อมไม่มีสิทธิทักท้วงหรือแนะนำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำบทกฎหมายแห่งประเทศของตนมาใช้ภายในประเทศไทยได้

 

ในชั้นยื่นคำคัดค้าน ผู้คัดค้านอ้างเหตุที่ทำให้คำร้องเคลือบคลุมอย่างหนึ่ง แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าคำร้องเคลือบคลุมเป็นอีกอย่างหนึ่งต่างกัน ดังนั้น ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" นั้น หาใช่บทกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะนำมาใช้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไม่ ดังนั้น เมื่อพิจารณามาตรา 1514*(5) มาตรา 1515*(6) และมาตรา 1531*(7) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับมาตรา 18*(8) แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แล้ว จะเห็นได้ว่า คู่สมรสที่ได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถหย่าโดยความยินยอมได้ โดยการทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน แล้วนำไปแสดงต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้นต่อนายทะเบียน เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการหย่านั้น การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป ดังนั้น ในกรณีที่หารือมานี้ เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมระหว่างบุคคลสัญชาติเยอรมันกับบุคคลสัญชาติไทยให้แล้วตามกฎหมายไทย การหย่าย่อมมีผลบังคับและสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย

 

*(5) มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

 

*(6) มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

 

*(7) มาตรา 1531 การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป ฯลฯ ฯลฯ

 

*(8) มาตรา 18 การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอและได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1498 วรรค 2แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย

(หมายเหตุ:- มาตรา 1498 ในปัจจุบันคือมาตรา 1514)

คณะกรรมการกฤษฎีกา(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 3)จึงเห็นว่าแนวความเห็นของกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 3 นั้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

(ลงชื่อ) ไมตรี ตันเต็มทรัพย์

(นายไมตรี ตันเต็มทรัพย์)

รองเลขาธิการฯรักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

มีนาคม 2536.

ไพบูลย์ฯ - คัด/ทาน

 

แหล่งที่มา / * http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/jud/th/deca/2536/c2_0102_2536.htm

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 12:45:23


ความคิดเห็นที่ 6 (1960767)

ผู้หญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทยกับสามีชาวบริติช

 

แหล่งที่มา */ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sawasdeebritain&month=05-2008&date=21&group=9&gblog=1

 

 

 

 

....ดังนั้น จากผลประโยชน์ในข้อสุดท้ายที่ดิฉันได้กล่าวถึงไปแล้ว จะเป็นผลดีสำหรับผู้หญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทยกับสามีชาวบริติช ...เพราะหากบางท่านไม่ได้ทำการบันทึกผลการแต่งงานของสามีในประเทศของสามีแล้วนั้น


สามีของคุณ (บางคน ... ที่กะล่อนๆ ยังไม่พอ ... แถมยังอวดฉลาด) อาจจะคิดว่าตัวเขาเองนั้นยังเป็นโสดตามกฏหมายอังกฤษ เพราะคิดว่าไม่ได้จดทะเบียนสมรสที่ประเทศของเขาแล้วจะไม่มีผลบังคับอะไร และอาจจะเที่ยวไปหลอกลวงสาวๆบนอินเตอร์เนตได้ตามอำเภอใจว่าตัวเองนั้นยังเป็นโสดในประเทศของเขา แต่จริงๆแล้วไม่โสดตามกฏหมายของประเทศภรรยา ! ซึ่งในกรณีแบบนี้ การมีบันทึกข้อมูลการแต่งงานของสามีคุณไว้ในประเทศของเขาเองนั้น ย่อมต้องเป็นผลดีต่อตัวคุณเอง !


**** เพราะสถานะสมรสของสามีคุณสามารถตรวจสอบได้ทันทีจาก General Register Office ในอังกฤษ โดยไม่ต้องไปติดต่อสถานฑูตอังกฤษในประเทศไทยให้ยุ่งยาก ! ****


หมายเหตุ

* ทะเบียนสมรสที่จดในไทย จะมีการแปลและรับรองโดย
1. สถานฑูตอังกฤษในไทย
2. กระทรวงต่างประเทศ ถ. แจ้งวัฒนะ


** ทะเบียนสมรสที่ผ่านการรับรองครั้งที่ 2 คือ เมื่อคุณส่งทะเบียนสมรสที่ผ่านการแปลและรับรองจากครั้งแรกตามด้านบนไปให้ General register office ในประเทศอังกฤษ ทาง General register office จึงจะส่งทะเบียนที่ผ่านการแปลและรับรองจากไทย กลับไปยังสถานฑูตอังกฤษในไทยอีกครั้ง เพื่อให้กงศุลของสถานฑูตอังกฤษในไทยรับรองว่าเป็นตัวจริงและประทับตรา และจึงส่งกลับมาที่ General register office ในอังกฤษ เพื่อรับตราประทับจากอังกฤษ ...เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนความ......

 

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sawasdeebritain&month=05-2008&date=21&group=9&gblog=1

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 13:10:26


ความคิดเห็นที่ 7 (1962045)

ทำหนังสือหย่ากันเองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้

 

 

โจทก์คนสัญชาติไทย จำเลยคนสัญชาติอินเดีย จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. การสมรส ค.ศ. 1949ของประเทศอังกฤษ แม้มิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียน อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียนณ ที่ทำการสถานทูต หรือกงสุลไทยก็ตาม เมื่อได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ ทั้งตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันโดยความยินยอมได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา การหย่าโดยทำหนังสือหย่ากันเองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้แต่เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1515 หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าเท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามหนังสือหย่า โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516และการฟ้องของโจทก์เช่นนี้ก็เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ.

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นภริยาสามีกันโดยได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน 2 คน ที่บ้านเลขที่ 91/7 ถนนวิทยุแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของบิดาโจทก์หลังจากที่โจทก์กับจำเลยอยู่กินร่วมกันระยะหนึ่ง จำเลยได้ประพฤติตนเป็นคนเสเพลชอบเที่ยวเตร่ และดื่มสุราเป็นอาจิณไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสอง ไม่เคยให้ความเคารพนับถือบิดามารดาของโจทก์ชอบพูดจาหยาบคาย ส่อเสียด ดูถูกคนหมิ่นโจทก์และบิดาของโจทก์ ไม่ตั้งใจที่จะทำงานการให้เป็นหลักแหล่ง และยังจงใจทิ้งร้างโจทก์กลับไปอยู่ยังประเทศอินเดียวเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี โจทก์เคยฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลแพ่งมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อต้นปี 2528 จำเลยก็ติดต่อขอตกลงกับโจทก์โดยตกลงยืนยอมทำสัญญาแยกกันอยู่ ให้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองตกอยู่กับโจทก์ และจะไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ในภายหลัง โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดี ต่อมาจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และยังคงไม่ให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสองเช่นเดิมการกระทำของจำเลยดังกล่าวโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี และโจทก์ยังถือว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะจดทะเบียนหย่ากับโจทก์แล้ว แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ ขอศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ณสำนักงานทะเบียนทันที หากจำเลยไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจพิพากษาตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง เพราะโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันในประเทศอังกฤษ ตามแบบที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสมรส ค.ศ. 1945 ของประเทศอังกฤษ โจทก์กับจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนแสดงถึกงารจดทะเบียนสมรสซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยเก็บรักษาไว้ในประเทศไทย จึงไม่อาจจดทะเบียนหย่างในประเทศไทย ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจจะพิพากษาว่าหกจำเลยไม่ไปทำการจดทะเบียนหย่า ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย เพราะจะเป็นการขยายเขตอำนาจของศาลพ้นอาณาเขตของประเทศไทย ตลอดเวลาตั้งแต่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน จำเลยให้ความช่วยเหลือและอุปการะเลี้ยงดูโจทก์รวมทั้งบุตรทั้งสองเยี่ยงสามีและบิดาที่ดีเหมาะสมแก่สภาพฐานะและความเป็นอยู่ฉันสามีภริยาและบุตรทุกประการ จำเลยไม่เคยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวดังโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยไม่เคยจงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่า 1 ปี จำเลยมีกิจการงานทำเป็นหลักเป็นฐาน มิได้ประพฤติตนเป็นคนเสเพลดื่มสุราเป็นอาจิณหรือออกเที่ยวเตร่ยามค่ำคืน มิได้พูดจาหยาบคาย ส่อเสียดดูถูกดูหมิ่นโจทก์หรือบิดาของโจทก์คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังไว้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2521 โจทก์ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดีย ได้จดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานทะเบียนเขตเชลซี ท้องที่รอเยลโบโร แห่งเคนชิงตันและเชลซีประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.9 ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการสมรส ค.ศ. 1949 ของประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยากันที่บ้านบิดาโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 โจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อแรกว่าศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากันเพราะการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 มุ่งหมายเฉพาะกรณีคู่สมรสได้ทำการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เท่านั้น กล่าวคือต้องเป็นกรณีโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 คือ ต้องเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือกึ่งอำเภอ หรือโดยเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ณ ที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยจึงจะพิพากษาให้คู่สมรสหย่ากันได้นั้น พิเคราะห์ปล้ว เห็นว่าการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าวนั้นจะมีผลใช้บังคับหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 26ซึ่งบัญญัติว่า "การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองระบบกฎหมายของประเทศที่อนุญาตให้มีการหย่าด้วยความยิยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย หมายความว่าการหย่าโดยความยินยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อกฎหมายของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายยินยอมให้หย่าโดยความยินยอมได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้เถียงกันและฟังเป็นยุติแล้วว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือ กฎหมายของประเทศไทยและอินเดียต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่าโดยความยินยอมได้และโจทก์กับจำเลยก็ได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจตามเอกสารหมาย จ.3 การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514แม้โจทก์กับจำเลยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ หรือกิ่งอำเภอหรือโดยนายทะเบียน ณที่ทำการสถานทูตหรือกงสุลไทยก็ตาม การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยดังกล่าวก็มีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 เมื่อโจทก์ฟ้องหย่าโดยอาศัยหนังสือหย่าฉบับดังกล่าวศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาได้ ที่จำเลยฎีกาว่าแม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายของประเทศอังกฤษจะฟังได้ว่าเป็นการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์และจำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 คือ ไม่สามารถไปจดทะเบียนหย่าในราชอาณาจักรไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าการใด ๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว ได้ทำขึ้นในต่างประเทศตามแบบซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นนั้นบัญญัติไว้ ผู้มีส่วนได้สเียจะขอให้บันทึกในประเทศไทยก็ได้ แต่ต้องยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้นโดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย"และมาตรา 18 บัญญัติว่า "การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้นให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือที่ระบไว้ในมาตรา 1514 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย" จากบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันในประเทศตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษก็ตามหากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะจดทะบเียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยได้ตามขั้นตอนของบทกฎหมายดังกล่าว คือ ในเบื้องต้นโจทก์หรือจำเลยต้องร้องขอให้นายทะเบียนในประเทศไทยบันทึกข้อความลงในทะเบียนว่าโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน ณสำนักงานทะเบียนเขตเชลซีประเทศอังกฤษ ตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษแล้ว พร้อมกับยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการจดทะเบียนสมรสตามเอกสารหมาย จ.9 พร้อมคำแปลภาษาไทยขั้นตอนต่อไปโจทก์และจำเลยก็ร้องขอให้นายทะเบียนในปะเทศไทยจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3 ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 17 และ 18 ดังกล่าว ดังนี้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกทั่วไปได้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยในกรณีนี้จึงสามารถปฏิบัติตามมาตรา 1515 ดังกล่าวได้ที่จำเลยฎีกาว่ากรณีนี้เมื่อโจทก์กับจำเลยทำหนังสือหย่ากันเองก็สมบูรณืแล้วไม่จำต้องให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันอีกโดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2496 มาด้วยนั้น เห็นว่า การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3 นั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับกันได้เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น แต่จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 เมื่อจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าโจทก์จึงจำเป็นต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันเพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทะเบียนครอบครัวต่อไปเพื่อให้การหย่านั้นสมบูรณ์ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทเบียนสมรสกัน ณ ต่างประเทศโดยมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ต่อมาได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายในประเทศไทยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการหย่านั้นสมบูรณ์ ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันนับแต่นั้น จำเลยที่ 1 ทำการสมรสกับจำเลยที่ 2 ได้ไม่ถือว่าขณะจำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 ยังเป็นคู่สมรสกับโจทก์โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะไม่ได้ คดีดังกล่าวไม่มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหย่ากับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือหย่าที่ทำกันไว้ได้หรือไม่ รูปเรื่องและข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่จำเลยฎีกาว่าคพิพากษาของศาลไทยที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าไม่มีสภาพบังคับกล่าวคือ ไม่อาจบังคับให้นายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน เขตเชลซีประเทศอังกฤษ ปฏิบัติตาม เพราะจะเป็นการขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกอาณาเขตประเทศไทย และไม่สามารถบังคับนายทะเบียนเขตปทุมวันจดทะเบียนหย่าให้เพราะนายทะเบียนเขตปทุมวันไม่มีเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของโจทก์กับจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 บัญญัติว่า"เมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสหรือให้หย่ากันแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นนำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน" บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า กรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันนั้นจะไม่มีการจดทะบเียนหย่า เพียงแต่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนว่าศาลพิพากษาให้หย่าแล้วก็มีผลใช้ได้แล้ว คดีนี้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้วโจทก์ก็สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติ มาตรา 16 ดังกล่าวได้กล่าวคือโจทก์ต้องขอให้นายทะเบียนบันทึกเสียก่อนว่าโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันในประเทศอังกฤษและตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.9 พร้อมคำแปลภาษาไทย ตามมาตรา 17ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปโจทก์ก็นำคำพิพากษาให้หย่ากันอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วยื่นต่อนายทะเบียน ตามมาตรา 16เพื่อให้บันทึกว่าศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้วการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 ก็จะมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1515 จึงสรุปได้ว่าคำพิพากษาของศาลคดีนี้สภาพบังคับได้ ส่วนจะมีผลใช้บังคับไปประเทศอังกฤษหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องไปดำเนินการต่อไป แต่ศาลมิได้บังคับให้นายทะเบียนณ สำนักงานทะเบียน เชตเชลซี ประเทศอังกฤษ ทำการจดทะเบียนหย่าให้แก่โจทก์กับจำเลยแต่ประการใดจึงมิใช่การขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกราชอาณาจักร

ที่จำเลยฎีกา เหตุฟ้องหย่ามีเพียง 10 ประการ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามหนังสือหย่าเอกสารหมาย จ.3ไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะฟ้องหหย่าได้นั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 แล้ว เท่ากับทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไป ร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนหย่า ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวแล้ว จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมไปร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ได้ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนหย่าแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามนั้นจึงเท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามหนังสือหย่าฉบับดังกล่าว เป็นกรณีโจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันได้โดยไม่เป็นต้องมีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 เพราะกรณีนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้การหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1515 เมื่อฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหย่าโดยอาศัยหนังสือหย่าที่โจทก์กับจำเลยได้ทำขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 หรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องหย่าตามมาตรา 1529 หรือไม่เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์และจำเลยต่อไปอีกแล้ว..."

พิพากษายืน.

( วิชัย ตันติกุลานันท์ - พนม พ่วงภิญโญ - อุดม มั่งมีดี )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-13 18:05:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล