ReadyPlanet.com


การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของผู้อื่น( แบบเต็มทั้งไร่ ) จะอ้างครอบครองปรปักหรือไม่


เถียงกับเพื่อนแล้วเครยดครับแบบว่ามันไม่ได้เข้าไปเลยไปปลูกไม้ยืนต้นไนที่ดินของผู้อื่นมันได้ได้ครอบครองปรปักไหม



ผู้ตั้งกระทู้ เอก :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-07 22:08:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959927)

คำว่าครอบครองปรปักษ์ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างครับ

1.ต้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินนั้น จะเป็นการปลูกต้นไม้ก็ได้ เพราะถือว่าได้ทำประโยชน์แล้ว โดยสงบและเปิดเผย

2.การครอบครองนั้นไม่ใช่เข้าไปทำแทนคนอื่น ต้องมีเจตนาเป็นเจ้าของ

3.การครอบครองนั้นต้องไม่มีเจ้าของมาโต้แย้ง เป็นเวลากว่า 10 ปี

4.การครอบครองปรปักษ์จะมีได้เฉพาะที่ดินที่เป็น โฉนด เท่านั้นครับ ถ้าเป็น สค.1 , น.ส.3  หรือที่ดินมือเปล่าอย่างอื่น ก็เป็นเรื่องการแย่งการครอบครอง ใช้เวลาครอบครองเพียง 1 ปี ถ้าเจ้าของไม่โต้แย้ง เพียง 1 ปี ก็ได้สิทธิการครอบครองแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-07-08 15:19:49


ความคิดเห็นที่ 2 (1960444)

ครอบครองที่ดิน ก็คือการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่ว่ากระทำการใด ๆให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา

การปรปักษ์ ก็คือการเป็นปฏิปักษ์

การครอบครองปรปักษ์ ก็เป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างเป็นเจ้าของ ถ้าครบเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

จากคำถามว่า การเข้าไปปลูกต้นไม้ยืนต้นนั้นก็เป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว แต่จะตอบให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์หรือไม่นั้น คงต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะจะมาวินิจฉัยจากคำถามสั้น ๆ นั้นคำตอบอาจคลาดเคลื่อได้

เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ฝ่ายโจทก์จำเลยก็ต้องนำพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้หรือสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ไม่ใช่ว่า คุณไปปลูกต้นไม่ยืนต้นในที่ดินของผู้อื่น 1 ต้น เกินกว่า 10 ปี แล้ว คุณจะไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตนเองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น คุณจะพิสูจน์อย่างไร ว่าได้ไปครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ศาลจะเชื่อดังนั้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ศาลต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานของคุณครับ

แต่ถ้าคุณเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้อื่นอย่างเป็นเจ้าของโดยปลูกไม้ยืนต้นเต็มพื้นที่ ในทางปฏิบัติคุณก็คงเข้าไปดูแลรักษาต้นไม้นั้น เมื่อได้แสดงอย่างเปิดเผยว่าคุณใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นเจ้าของแล้วโดยไม่ได้อาศัยสิทธิของเจ้าของแล้วก็เข้าหลักเกณฑ์ครอบครองปรปักษ์ได้ครับ จึงเห็นด้วยกับความเห็นที่ 1 (ความเห็น)

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-09 18:31:08


ความคิดเห็นที่ 3 (1960449)

ปลูกบ้านปลูกต้นไม้ยืนต้นในที่ดินอย่างถาวร ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยเปิดเผยและสงบ เกิน 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์ในทีดินนั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 110700 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางอัมพร ภูนิรันดร์ และนางบุญเรือน ฐิติวรรณ มีบ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 2 ของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้โดยไม่มีสัญญาเช่าหรือสัญญาอื่นใดกับเจ้าของที่ดินเดิม ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 2 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครออกไปจากที่ดินโฉนด เลขที่ 131962 และเลขที่ 131961ห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางสาวสุ่น พาณิชย์เฮง เจ้าของเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502และได้ครอบครองไว้โดยตรงสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยี่สิบปีแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทโจทก์ทั้งสามรับโอนมาจากนางบุญเรือนโดยไม่สุจริต จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่110700 ระหว่างนางบุญเรือนกับโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน และขอให้พิพากษาว่าส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 110700 ที่แยกมาจากโฉนดเดิมเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ซึ่งต่อมาอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 131961 กับ131962 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยทางครอบครองทางปรปักษ์และขอให้สั่งเพิกถอนในส่วนที่กันเอาของจำเลยไป

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของนางสาวสุ่นเจ้าของเดิมที่จำเลยว่าได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยก็ต่อสู้นางบุญเรือนและโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับโอนที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทกลางซึ่งรวมอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ตามโฉนดเลขที่ 131962 และอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ตามโฉนดเลขที่ 131961 เนื้อที่ 1 ไร่22 เศษ 6 ส่วน 10 ตารางวา ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนางบุญเรือน ฐิติวรรณ กับโจทก์ทั้งสอง กับที่ขอให้เพิกถอนในส่วนที่ดินที่เป็นของจำเลยเสียเพราะเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่ไม่ถูกฟ้องในคดี

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทกลางเอกสารหมายจ.2 ที่คู่ความให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดจัดทำขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 290 แขวงลาดยาว เขตบางซื่อกรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.19 เนื้อที่26 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา ซึ่งเป็นของนางสาวสุ่น พาณิชย์เฮงและนางกาหลงหรือหลง ไว้สาลี นางสาวสุ่นถึงแก่กรรมปีพ.ศ. 2517 นางกาหลงถึงแก่กรรมปี พ.ศ. 2518 จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่นางสาวสุ่นและนางกาหลงยังมีชีวิตอยู่และยังไม่ได้แบ่งแยกที่ดินแก่กันเป็นสัดส่วน เมื่อนางสาวสุ่นและนางกาหลงถึงแก่กรรมต่างมีผู้จัดการมรดกและได้แบ่งที่ดินออกเป็นของแต่ละคน เป็นส่วนของนางสาวสุ่น12 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 110699 เป็นส่วนของนางกาหลงซึ่งได้โอนขายให้นางบุญเรือน ฐิติวรรณเมื่อปี พ.ศ. 2522 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 53 ตารางวาตามสำเนาโฉนดเลขที่ 110700 เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาปี2524 มีชื่อโจทก์ทั้งสองและนางอัมพร ภูนิรันดร์ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงนี้ร่วมกับนางบุญเรือน ปี พ.ศ. 2528 ได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นส่วนของโจทก์ที่ 1 ส่วนหนึ่ง เป็นของโจทก์ที่ 2และภรรยาส่วนหนึ่งเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา และ 4 ไร่1 งาน 15 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.11 และจ.3ตามลำดับปรากฏว่ามีบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่ดินพิพาทเป็นของนางสาวสุ่นและนางกาหลงปรากฏตามภาพถ่ายของที่ดินและบ้านจำเลยในแผนที่กลางพิพาท เอกสารหมาย จ.2คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ประการแรกว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 131961 และ131962 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ประการที่สองโจทก์ที่ 1ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 131962 และโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 131961 มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาประการแรกจำเลยมีนางสงวน ลิ้มวัฒนาและนายดำเนิน เพ็งแพง เป็นพยานซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับจำเลยมาเป็นเวลานานตั้งแต่นางสาวสุ่นยังไม่ถึงแก่กรรมต่างเบิกความสอดคล้องตรงกันกับจำเลยว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสาวสุ่นและได้ครอบครองโดยปลูกบ้านและต้นผลไม้ยืนต้นต่าง ๆ ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ตลอดมาจนปัจจุบันเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้วนอกจากนี้ยังมีหลักบานที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่าสิบปีแล้วคือลักษณะบ้านจำเลยและขนาดต้นไม้ยืนต้นในที่ดินพิพาทตามภาพถ่ายในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.2 และภาพถ่ายหมาย ล.2 ถึง ล.8ซึ่งเป็นบ้านปลูกถาวรมั่นคงต้นไม้ยืนต้นมีลำต้นใหญ่มีผลแล้วแสดงว่าปลูกมานานแล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าเดิมจำเลยอาศัยที่ดินพิพาทจากนางสาวสุ่น เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินนางบุญเรือนแล้วนางบุญเรือนให้จำเลยเช่านั้นโจทก์ทั้งสองก็คงมีแต่นางบุญเรือนเป็นพยานเบิกความเช่นนั้นลอย ๆไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานโจทก์ทั้งสองที่นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางสาวสุ่นและได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่131962 และโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 131961 มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่เห็นว่าก่อนนางบุญเรือนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทนางบุญเรือนพยานโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยปลูกบ้านปลูกต้นไม้ยืนต้นอย่างถาวรมานาน และก่อนที่นางบุญเรือนจะเอาที่ดินซึ่งมีที่ดินพิพาทอยู่ด้วยตีใช้หนี้โจทก์ทั้งสองโดยให้โจทก์ทั้งสองเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมนั้น นางบุญเรือนพาโจทก์ทั้งสองมาดูที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองย่อมเห็นจำเลยปลูกบ้านปลูกต้นไม้ยืนต้นในที่ดินพิพาทอย่างถาวร เมื่อนางบุญเรือนบอกโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัยโจทก์ทั้งสองก็เชื่อโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้ขอดูหลักฐานการเช่าจากนางบุญเรือน ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้สอบถามจำเลยว่าเช่าที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัยจริงหรือไม่ จึงเป็นการผิดวิสัยของผู้ซื้อที่ดินทั่วไปที่จะกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองรู้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 131961 และ 131962 จนได้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองยังซื้อที่ดินซึ่งมีที่ดินพิพาทอยู่ด้วยโดยรับเอาเป็นการตีใช้หนี้จากนางบุญเรือน กรณีเช่นนี้จะถือว่าโจทก์ทั้งสองได้ที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหาได้ไม่ จำเลยย่อมยกเอาการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3277/2534

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-09 18:40:08


ความคิดเห็นที่ 4 (1960457)

ครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านดังกล่าว ขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าวของโจทก์ทั้งห้า และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 โดยปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่าสิบปี จำเลยทั้งสองไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งห้า ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 500 บาท ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองโดยการครอบครอง ห้ามโจทก์ทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนดังกล่าว กับให้โจทก์ทั้งห้าจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นของจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ทั้งห้าไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งห้า

โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายกู้เกียรติ ตันอังสนากุล จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 280 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 241768 ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ แล้วส่งมอบที่ดินในสภาพที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี...ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น คือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ ดังนั้น การครอบครองที่ดินของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เช่นนี้ การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปเท่านั้น ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมานับรวมกันได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2537 เมื่อคิดถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นชอบแล้ว

อนึ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองและสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสียด้วย ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งห้า ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2550

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-09 18:54:43


ความคิดเห็นที่ 5 (1960471)

การครอบครองปรปักษ์แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเองได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่พิพาทสีแดงทางด้านทิศใต้เนื้อที่ 8 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ 8 ไร่ ตามแผนที่พิพาทสีแดงทางด้านทิศใต้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของนายเบ้า จำปาแดง บิดานายโสภาสามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ที่ได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี 2498 และในปี 2508 นายเบ้าได้นำเจ้าพนักงานรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวเพื่อขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาปี 2513 นายเบ้าถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับโฉนดที่ดิน นายโสภาจึงยื่นเรื่องขอรับโอนมรดกที่ดิน ต่อมาในปี 2516 ทางราชการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้ ในปี 2517 นายโสภายื่นเรื่องขอรับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวพร้อมกับขอให้ลงชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน หลังจากนั้นนายโสภาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาโดยไม่มีบุคคลใดรบกวนการครอบครอง ประมาณปี 2530 จำเลยทั้งสามและนายโสภาตกลงให้โจทก์ทั้งสองเข้ามาร่วมทำนาพิพาท ตกลงแบ่งผลิตผลกัน เมื่อทำนาได้สองฤดูกาล โจทก์ทั้งสองตกลงขอเช่าทำนาจำเลยทั้งสามและนายโสภาจึงให้เช่าทางด้านทิศใต้ครึ่งหนึ่ง และได้รับค่าเช่าเป็นกระบือ1 ตัว จากนั้นโจทก์ทั้งสองได้เข้าทำนาพิพาทตลอดมา ต่อมาเดือนมกราคม 2540 โจทก์ทั้งสองติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทที่เช่าทำนาอยู่ในราคา 40,000 บาท นายโสภา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ตกลงขายให้และบอกเลิกการให้เช่าทำนาพิพาท แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมกลับนำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์ทั้งสองกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9276 ของจำเลยทั้งสามต่อไป

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ ตลอดมาตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อบิดาถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองก็ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ มิได้อาศัยสิทธิการเช่าตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ในเดือนมกราคม 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปไถหว่านข้าวในที่ดินพิพาทเพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปทำนา ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองโดยได้รับมรดกมาจากบิดา ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองที่ดินของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์และฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้องและให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม โดยห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9276 ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องมุ่งเรื่องการครอบครองปรปักษ์แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเองได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์ทั้งสองและตัวโจทก์ทั้งสองที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้ง จึงทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามตกไปด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นนอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นอีกด้วย หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ทั้งสองโดยได้รับมรดกร่วมกันมากับบิดาฝ่ายจำเลยการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทบิดาฝ่ายจำเลยกระทำการแทนบิดาโจทก์ทั้งสองที่ดินพิพาทจึงเป็นของบิดาโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลา 40 ปีเศษ แล้วโจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องโดยมุ่งประสงค์จะกล่าวอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์ แต่โจทก์ทั้งสองกลับบรรยายฟ้องยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองซึ่งรับมรดกมาจากบิดาของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเองได้โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามโดยอ้างเหตุว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ไม่มีฟ้องของโจทก์ทั้งสองและตัวโจทก์ทั้งสองที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งได้นั้น เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4843/2545

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-09 19:09:27


ความคิดเห็นที่ 6 (1960973)

ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของบิดาที่เป็นคนต่างด้าว

เมื่อบิดายกที่ดินให้แก่ผู้ร้องโดยส่งมอบการครอบครองแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ผู้ร้องก็เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยสืบสิทธิต่อจากบิดา การที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองที่ดินที่ตนมีสิทธิ แต่การครอบครองปรปักษ์นั้น จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อการครอบครองที่ดินตามคำร้องมิใช่เป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ตนมีสิทธิอยู่แล้วได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายเตียเซ็งหรือเตียเซ่งหรือเตี่ยเช็ง แซ่เล็ก กับนางฮี้หรือน้อยหรือเน้ย แซ่เล็ก เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2862 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 84.3 ตารางวา เป็นที่ดินมือเปล่าบิดาผู้ร้องซื้อและครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2480 เมื่อปี 2513 บิดาผู้ร้องมอบให้นายไพรัช เจริญวนิช พี่ชายร่วมบิดามารดาของผู้ร้องไปดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดินเนื่องจากบิดาผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวในปี 2515 นายไพรัชได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดเลย บิดามารดาได้ยกที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องโดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากนายไพรัชมาเป็นผู้ร้อง ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา30 ปี ไม่มีผู้ใดรบกวนโต้แย้งหรือคัดค้านแต่ประการใด ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2862 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 84.3 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2862 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า นายไพรัชเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยมาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินตนเองจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า บิดาผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อและได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แม้บิดาผู้ร้องจะเป็นคนต่างด้าวซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.2486 นั้น คนต่างด้าวจะมีที่ดินได้ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวทำสัญญาซื้อขายที่ดินและมิได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เมื่อบิดาผู้ร้องซื้อและครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี บิดาผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครอง การที่บิดาผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมอบหมายให้นายไพรัชไปดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินโดยมิได้โอนสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นายไพรัช แม้โฉนดที่ดินดังกล่าวจะมีชื่อนายไพรัชเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ไพรัชก็เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาผู้ร้องเท่านั้น หามีสิทธิใดๆ ในที่ดินดังกล่าวแต่ประการใดไม่ บิดาผู้ร้องยังคงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว เมื่อบิดาผู้ร้องยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยส่งมอบการครอบครองแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ผู้ร้องก็เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยสืบสิทธิต่อจากบิดาผู้ร้อง การที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองที่ดินที่ตนมีสิทธิ แต่การครอบครองปรปักษ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อการครอบครองที่ดินตามคำร้องมิใช่เป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ศาลจึงไม่อาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ตนมีสิทธิอยู่แล้วได้ ส่วนที่ผู้ร้องมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8637/2550

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-10 20:49:52


ความคิดเห็นที่ 7 (1986248)

คำถาม

ญาติได้อาศัยทำกินในที่นาโดยได้ปลูกปาล์มไว้จำนวนหนึ่ง(ตรงแนวเขตนาด้านหน้า)อ้างว่าเพื่อกั้นไม่ให้วัวคนอื่นเข้ามาในนานั้น

เจ้าของที่นาได้ทักท้วงแล้วว่าไม่ควรปลูก แต่ผู้ปลูกยังยืนกรานปลูกไว้

ขณะนี้ ปาล์มให้ผล เขาถือสิทธิเข้ามาในที่เพื่อตัดปาล์มดังกล่าว

เจ้าของที่นาได้บอกให้ญาติดังกล่าวทราบว่าขอสิทธิที่นาคืนเพื่อจะปลูกบ้าน และกั้นรั้วรอบนาทั้ง 4 ด้าน ควรจะทำอย่างไรดี

ผู้แสดงความคิดเห็น เกษตรมือใหม่ วันที่ตอบ 2009-09-21 10:59:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล