ReadyPlanet.com


อย่างนี้จะเข้าข่ายดหมิ่นซึ่งหน้า/หมิ่นประมาท สามารถดำเนินคดีได้เปล่าคะ


ดิฉันทำการค้าทางเนต รับงานมา 1 งาน ทำงานมีส่วนผิดพลาด จึงบอกลูกค้าไปว่า ใ้ห้ส่งงานกลับมาแก้ได้ ทุกๆเวลา เมื่อลูกค้าส่งงานมาแก้(โพสกระทู้) ดิฉันเข้าไปอธิบาย ว่า ส่วนนี้แก้ได้ ส่วนนี้แก้ไม่ได้ (บอกสาเหตุ) แต่คุณสามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ แต่กลับปรากฎว่า ลูกค้ากลุ่มนั้นไปตั้งกระทู้โพสว่าและวิจารณ์ชิ้นงานหาว่าไม่รับผิดชอบงาน เค้ารับไม่ได้ ดิฉันเข้าไปอ่าน แต่ไม่ตอบ และเห็นว่าดิฉันเสื่อมเสียเพราะดิฉันรับงานในเวบนั้นประจำ ลูกค้ากลุ่มนั้น เห็นว่าดิฉันไม่เข้าไปต่อความ จึงตาม(ทำลิงค์) โดยเข้ามาในกลุ่มที่ ดิฉันคุยกับเพื่อนๆอยู่ ให้ดิฉันตามไปอ่านซะ ดิฉันจึงแจ้งทางทีมงานเวบ ให้ลบกระทู้นั้นซะ เมื่อกระทู้นั้นโดนลบไป เค้ากลับตั้งกระทู้ขึ้นมาใหม่(ทันที) เมื่อดิฉันตรวจพบว่ามีการตั้งกระทู้อีก จึงแจ้งทางทีมงานให้ลบอีก ทาง วมต. กลับแจ้งว่าทางนั้นไม่ต้องการให้ลบกระทู้ให้ดิฉันไปชี้แจ้งในแต่ละuser เอง ดิฉันจึงแจ้งไปทาง วมต ว่า ขอความกรุณาลบกระทู้นั้นซะ เพราะ ถ้ามีการดำเนิคดี ทางดิฉันคงต้องขอข้อมูลทางทีมงานด้วย ทาง วมต จึงยอมลบ พร้อมกับตั้งกระทู้(โดยมามีชื่อ user ดิฉัน) ทำการปักหมุด ว่าห้ามตั้งกระทู้เกี่ยวกับปัญหาการขายของของดิฉัน โดยบอกว่า หากผู้ใดต้องการดำเนินคดีให้ไปแจ้งความเพื่อขอข้อมูลกระทู้ที่ถูกลบนั้นได้


ผู้ตั้งกระทู้ แม้ค้าในเนต :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-25 08:19:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1967799)
อีกอย่างคะ อยากทราบว่า ถ้าสามารถฟ้องร้องได้ ค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง และโทษที่เค้าจะได้รับ คะ ขอบคุณคะ
ผู้แสดงความคิดเห็น แม่ค้าในเนต วันที่ตอบ 2009-07-25 08:21:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1967828)

เนื่องจากไม่เห็นข้อความที่อ้างถึงนั้นจึงฟันธงไม่ได้ แต่ลักษณะดังกล่าวไม่เป็นดูหมิ่นซึ่งหน้า เพราะการดูหมิ่นซึ่งหน้าจะเป็นเรื่องการการด่าที่ใช้คำหยาบ ทำให้ผู้ถูกดูหมิ่นเจ็บแค้นใจ แต่การกระทำดังกล่าวหากทำให้คุณได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังก็ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ครับ

โทษที่จะได้รับ ศาลจะใช้ดุลพินิจเป็นเรื่อง ๆ ไปครับ หากไม่ร้ายแรงก็คงลงโทษปรับและให้ขอโทษกันไปก็ได้ เป็นอำนาจของศาลครับ

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-25 10:31:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1967829)

ถ้อยคำว่า ""ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า "ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล"

การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:32:06


ความคิดเห็นที่ 4 (1967832)

คำว่า "ใส่ความ" ไม่ได้หมายถึงการใส่ร้ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการพูดยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลอื่นซึ่งจะเท็จหรือจริงก็เป็นการใส่ความเหมือนกัน และการยืนยันนั้นเป็นการยืนยันต่อบุคคลที่สาม และการยืนยันนั้นทำให้ผู้ถูกใส่ความ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือสมควรได้รับการเกลียดชังด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:35:18


ความคิดเห็นที่ 5 (1967836)

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

 

การหมิ่นประมาทโดยวิธีการโฆษณา ผ่านทางอินเตอร์เน็ต นั้นมีโทษหนักขึ้นครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:39:41


ความคิดเห็นที่ 6 (1967838)

ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต


(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม


ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:43:19


ความคิดเห็นที่ 7 (1967840)

ข้อความที่พูดจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ซึ่งหากผู้กระทำอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมากการที่ผู้กระทำกล่าวข้อความไป อาจจะเป็นการระบายความรู้สึกของผู้กระทำที่มีต่อผู้ถูกกระทำและเป็นการวิจารณ์การทำงานทั่ว ๆ ไปซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้กระทำ ในความรู้สึกว่าผู้กระทำถูกเอาเปรียบด้วยประการอย่างใด อย่างหนึ่ง หาใช่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ ไม่เป็นหมิ่นประมาท

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:50:25


ความคิดเห็นที่ 8 (1967842)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังได้ว่า โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแพ่งที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หลังจากโจทก์นำนางสาวปิยาภา มั่นจิรังกูร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในคดีดังกล่าวเข้าเบิกความจนแล้วเสร็จ ระหว่างผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้พิพากษา นายภูวงศ์ โพธิ์ไทร ทนายจำเลย และนางสาวสุวรรณา จำปาไทร ว่า "ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า "ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่าข้อความที่จำเลยพูดดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียวโดยเฉพาะเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีของศาลขณะที่ผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งจำเลยอยู่ในภาวะถูกกดดันเป็นอย่างมากการที่จำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้ง หาใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังไม่ ไม่เป็นหมิ่นประมาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องพอมีมูล ที่ศาลชั้นต้นจะประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้พิจารณากันมาในศาลชั้นต้นคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:54:15


ความคิดเห็นที่ 9 (1967845)

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ดังนั้นหากพูดลอย ๆ ไม่เอ่ยชื่อและบุคคลที่อ่านข้อความก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงใคร ก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 10:59:59


ความคิดเห็นที่ 10 (1967847)

การใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 หรือไม่

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 11:02:49


ความคิดเห็นที่ 11 (1967848)

กล่าวข้อความว่า

" ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถ้าใจไม่เป็นผู้ใหญ่ เอะอะจะใช้แต่อำนาจจัดการกับคนที่บังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็คนโรคจิตบ้าอำนาจดี ๆ นี่เอง" "

ไม่ถือว่าเป็นหมิ่นประมาท

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 11:08:40


ความคิดเห็นที่ 12 (1967852)

วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตามสิทธิที่จะทำได้ในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่เหมาะไม่ควรเท่านั้น

ไม่เป็นหมิ่นประมาท

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 หรือไม่ ข้อความที่จำเลยทั้งสามตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2542 ตามเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ความว่า"ข้อสำคัญต้องตระหนักว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นข้าราชการในยุคประชาธิปไตย ไม่งั้นบรรดาม็อบอาจโดนแจ้งจับกันในเรื่องเผาหุ่นเผาโลงกันวุ่นแน่ เหมือนกับที่โดนมาแล้ว ถือเป็นรายแรกของโลกเลยก็ว่าได้ บิล คลินตัน ผู้นำมหาอำนาจโลกโดนเผาเป็นประจำ ถ้าใจเล็กเป็นอวัยวะมด ก็คงแจ้งจับกันไปแล้วทั้งโลก" โลกทุกวันนี้พัฒนาไปมาก ทั่วทุกวงการต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้าง อย่าปิดกั้นโลกทัศน์ตัวเองจนมืดทึบ แคบสั้น" ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถ้าใจไม่เป็นผู้ใหญ่ เอะอะจะใช้แต่อำนาจจัดการกับคนที่บังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็คนโรคจิตบ้าอำนาจดี ๆ นี่เอง" "มีคนสงสัยกันไม่น้อยกว่ากองปราบฯยุคที่ผ่านมากลายเป็นหน่วยงานที่ทำงานให้ใคร เรื่องปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่เห็นทำดีแต่ใช้อำนาจ ใช้กฎหมายในมือมาสนองอารมณ์ส่วนตัว..." "...กองกำกับฯ นี้จะเป็นหน่วยงานที่คอยดำเนินคดีกับแกน ม็อบนักประชาธิปไตย" "กระทั่งมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องโดยดำเนินคดีมากมายที่สุด" "ความจริงก็ไม่ได้ลับ ไม่ได้น่ากลัวอะไรหรอก ก็แค่พวกโรคจิตเท่านั้นแหละ" นั้น ก็เป็นข้อความทั่ว ๆ ไป ที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตามสิทธิที่จะทำได้ในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่เหมาะไม่ควรเท่านั้น ดังเช่นศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่มีตอนใดที่จะให้รับฟังว่าเป็นการกล่าวร้ายใส่ความ แม้จะมีคำว่า คนโรคจิตหรือบ้าอำนาจอยู่ด้วยก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ 3 กล่าวออกมาด้วยความรู้สึกที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรกระทำการใด ๆ รุนแรงต่อประชาชนผู้มาชุมนุมเท่านั้น มิได้กล่าวหาถึงขั้นว่าประพฤติชั่วกระทำการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวคงกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมกันเท่านั้น มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถึงแม้จะมีระบุถึงกองปราบปรามอยู่ด้วย ก็เป็นกล่าวโดยธรรม มิได้ระบุตัวเจ้าพนักงานตำรวจในกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือตำรวจหน่วยใดในกองปราบปรามที่ระบุได้แน่นอน ดังนั้น เจ้าพนักงานตำรวจที่สังกัดกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายได้ โจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลางถึงแม้จะทำหน้าที่กำกับดูแลกองปราบปรามก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดและพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( พินิจ เพชรรุ่ง - โนรี จันทร์ทร - ทวีวัฒน์ แดงทองดี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2545

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 11:13:23


ความคิดเห็นที่ 13 (1967856)

มีความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่ไม่ต้องรับโทษ

 

การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษ

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328และให้จำเลยตีพิมพ์โฆษณาข้อความตามที่โจทก์กำหนดให้เป็นการขอขมาต่อโจทก์ลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลย หนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสดเป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อลงในหนังสือพิมพ์ข่าวอาทิตย์ฉบับที่ตีพิมพ์จำหน่ายติดต่อกัน 2 ฉบับ โดยให้โฆษณาภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ข่าวอาทิตย์รายสัปดาห์ ได้ลงข่าวฉบับประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม2536 เกี่ยวกับตัวโจทก์ประพฤติมิชอบและถูกกรมตำรวจมีคำสั่งไล่ออกจากราชการตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 734/2529 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับโจทก์ตามฟ้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยมีสิทธิพิสูจน์ข้อที่ถูกหาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง และไม่ต้องรับโทษตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พลตำรวจตรีประยุทธ ศุภจริยาวัตรพยานจำเลยได้เบิกความว่า คำสั่งของกรมตำรวจที่ 734/2529 นั้นเป็นความจริงที่โจทก์อ้างว่า ได้ลาออกจากราชการตั้งแต่ปี 2525 ก่อนที่กรมตำรวจจะมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ คำเบิกความของโจทก์นั้นขัดกับความเป็นจริง เพราะถ้าโจทก์ลาออกจากราชการก่อนจะมีคำสั่งของกรมตำรวจให้ออกจากราชการแล้ว คำสั่งเรื่องให้โจทก์ออกจากราชการย่อมระงับไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนและการที่โจทก์แจ้งความกล่าวโทษพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ นั้น ย่อมถือว่าโจทก์ตกเป็นบุคคลสาธารณะซึ่งถูกวิพากย์วิจารณ์ได้เพื่อเห็นว่าโจทก์เป็นคนมีภูมิหน้าภูมิหลังอย่างใด และจำเลยก็ได้ลงข่าวตามข้อความที่ระบุในคำสั่งกรมตำรวจทุกประการ มิได้เพิ่มเติมข้อความขึ้นผิดจากเดิมแต่อย่างใดจำเลยจึงมีสิทธิพิสูจน์ข้อความจริงตามที่ลงข่าวดังกล่าวได้จำเลยไม่ต้องรับโทษในข้อหาหมิ่นประมาทตามฟ้องนั้น ตามข้อความที่จำเลยตีพิมพ์ในหนังสือข่าวอาทิตย์ฉบับพิพาทได้กล่าวระบุว่าโจทก์ขัดขืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบที่แต่งตั้งให้โจทก์ไปประจำหน้าที่ที่จังหวัดสุรินทร์กับโจทก์มีพฤติการณ์รีดไถพ่อค้าและประชาชนเกี่ยวกับที่โจทก์ไปเรียกร้องเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านพักครูและโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครกับขอเงินจากพ่อค้าประชาชนหลายครั้งและบังคับให้พ่อค้าซื้อบัตรจัดงานช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด กับปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบโดยจับยึดรถจักรยานยนต์ของประชาชนแล้วไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย กับไม่นำรถจักรยานยนต์ยึดมาส่งต่อหน่วยงานราชการ ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า โจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริง ทางกรมตำรวจจึงมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 734/2529 ดังกล่าว ข้อความดังกล่าวนี้โจทก์ได้นำสืบว่า ทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในคราวต่อไป เป็นเหตุให้โจทก์อาจไม่ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ทั้งเป็นการทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่โจทก์กลับประพฤติผิดต่อกฎหมายและผิดระเบียบของทางราชการ ดังข้อเท็จจริงที่ระบุในคำสั่งกรมตำรวจ จนทางกรมตำรวจมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการดังกล่าวย่อมเป็นประจักษ์ชัดว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีพฤติกรรมก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนครตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวเพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติมิชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือข่าวอาทิตย์ฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

( ธรรมนูญ โชคชัยพิทักษ์ - สมชัย สายเชื้อ - วิรักษ์ เอื้ออังกูร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2541

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-25 11:25:22


ความคิดเห็นที่ 14 (1968066)
คห.2 **เนื่องจากไม่เห็นข้อความที่อ้างถึงนั้นจึงฟันธงไม่ได้ ** คำกล่าวโดยคร่าวๆ เป็นการ นำชิ้นงานที่มีข้อผิดพลาด มา ชี้ ทีละจุด ว่าเป็นการทำงานชุ่ยๆๆ ไม่มีความรับผิดชอบงาน เป็นชิ้นงานที่เค้าไม่สามารถทนรับงานนี้ได้ โดยทางดิฉันมีเจตนาทำให้เป็นแบบนั้น กล่าวโดยรวม เป็นการประจานงานที่ทำ ทั้งๆที่ก็ได้ตกลงกับผู้รับงานให้ส่งงานที่ต้องการแก้ไขกลับมาได้ตลอดเวลา ทุกๆงานที่ต้องการแก้(ซึ่งเป็นการรวมกับสั่งทำ) เข้าทำนองเค้าเรียกร้องสิทธิว่าเค้าเสียเงินแล้วไม่ได้รับของตามต้องการ ( ข้อความในกระทู้ยาวมาก คะ ไม่ได้เซฟข้อความไว้คะ เพราะแจ้ง วมต. ลบไปแล้วคะ ) ----------------------------------------- คห.9 *การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการ ยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ* มีการระบุชื่อ User ที่ใช้ตรงๆ คะ ทั้งหัวกระทู้ที่ตั้งและ ข้อความภายในกระทู้นั้น -------------------------------------------
ผู้แสดงความคิดเห็น แม่ค้าในเนต วันที่ตอบ 2009-07-26 00:18:29


ความคิดเห็นที่ 15 (1968101)

1. หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็น่าจะเข้าทำนองการวิพากวิจารณ์เนื้องานที่ผู้มีส่วนได้เสียเขาควรวิจารณ์ติชมได้ แต่หากการวิจารณ์นั้นสร้างความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ก็เข้าหลักเกณฑ์ความผิดได้ แต่ศาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และคุณก็มีสิทธิฟ้องได้

2. สำหรับการระบุ user นั้น บุคคลที่สามเขารู้หรือไม่ว่าเป็นบุคคลใด อยู่ที่ไหน หากเป็นการรู้เฉพาะกลุ่มซึ่งบุคคลทั่วไปไม่เข้าใจและรู้จักด้วยศาลก็อาจมองว่าไม่ได้ระบุตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงได้ (เป็นอำนาจของศาลครับ)

อย่างไรก็ตามก็ไม่ตัดสิทธิที่คุณจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-26 09:34:41


ความคิดเห็นที่ 16 (1968112)
**2. สำหรับการระบุ user นั้น บุคคลที่สามเขารู้หรือไม่ว่าเป็นบุคคลใด อยู่ที่ไหน หากเป็นการรู้เฉพาะกลุ่มซึ่งบุคคลทั่วไปไม่เข้าใจและรู้จักด้วยศาลก็อาจมอง ว่าไม่ได้ระบุตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงได้ (เป็นอำนาจของศาลครับ) อย่างไรก็ตามก็ไม่ตัดสิทธิที่คุณจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้** การระบุ user นั้น ในชื่อ user นั้นจะมีลิงค์ที่นำไปสู่เวบบอร์ดเรา และมีเบอร์ติดต่อ พร้อมอีมล์เรา ด้วยคะ
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-26 10:11:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล