ReadyPlanet.com


ถูกฟ้องสัญญาเงินกู้ บังคับจำนอง


     ขอเรียนถามคุณลีนนท์  ผมได้ทำสัญากู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อปี45โดยนำที่ดินจำนองไว้กับโจทก์และสัญญาโอนลอยไว้อีก 1 ฉบับได้ส่งดอกเบี้ยไป 2 เดือนโดยดอกเบี้ย100 ละ 5 เห็นว่าส่งไม่ไหวและเข้าใจว่าสัญญาโอนลอยนั้นมีผลให้โจทก์ยึดที่ดินได้จึงไม่ได้ส่งดอกอีกและโจทก์เองก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเป็นเวลา 7 ปีแล้วเมื่อวันที่ 20 มีหมายเรียกให้ไปศาลโจทก์ฟ้องขอบังคับจำนองและให้ชำระหนี้เงินกู้ ผมไม่ประสงค์จะสู้คดีศาลจึงพิพากษาตามฟ้องคือ                                          1ให้บังคับจำนองเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ 2 ชำระค่าทนายแทนโจทก์ 3 ภานใน 15วัน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ยึดทรัพย์จับกุมคุมขังจำคุกตามกฏหมาย     ขอเรียนถามดังนี้ครับ1. ผมไม่เข้าใจคำพิพากษาในข้อ 3 ช่วยบอกหน่อยครับ 2 แล้วถ้าทรัพย์ขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ต้องทำอย่างไรครับ 3 จะใช้บังคับตามมาตร733ได้รึเปล่าแล้วจะใช้ได้เมื่อไร ต้องอุทธรณ์รึเปล่าครับ 4 หนี้เงินกู้มีอายุความเท่าไรครับแล้วหนี้ประธานขาดอายุความรึยังครับสามารถยกขึ้เป็นข้อต่อสู้ได้รึเปล่าและเมื่อไรครับ    ขอบคุณมากครับถ้าจะกรุณาหาทางออกไม่ได้จริงๆครับ



ผู้ตั้งกระทู้ บอย :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-22 15:44:02


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1967292)

คำถามว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ส่วนเรื่องการจับกุมคุมขังเป็นแบบพิมพ์ของศาลในบางกรณีเท่านั้นจึงไม่มีผลกับคดีของคุณ

คำถามที่ 2 - 3. ว่า ถ้าทรัพย์ขายทอดตลาดไม่พอ หากคำพิพากษาไม่ได้ระบุต่อไปว่าให้ยึดทรัพย์สินอื่นขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ ก็แสดงว่า เจ้าหนี้ก็จะยึดได้เฉพาะทรัพย์ที่จำนอง ตามมาตรา 733 หากไม่ได้ระบุยกเว้นไว้ในสัญญาจำนองก็จะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ได้

คำถามที่ 4  อายุความ โดยปกติหนี้เงินกู้ยืมมีอายุความ 10 ปี เว้นแต่ มีข้อตกลงผ่อนคืนต้นเงินเป็นงวด ๆ จะมีอายุความ 5 ปี แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังบังคับจำนองได้เสมอครับจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ไม่ได้เพราะเป็นข้อยกเว้นเรื่องจำนอง

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-23 22:33:57


ความคิดเห็นที่ 2 (1967659)

ผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-3-9703-8 ซึ่งมีวิธีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และวันที่ 25 สิงหาคม 2520 พระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ตามประเพณีของธนาคาร โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2521 พระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,500,000 บาท รวมเป็น 5,500,000 บาท และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประกันอีก 1,500,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2525 พระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนจำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2526 นำเข้าอีก 1,582.18 บาท จากนั้นมิได้มีการนำเงินเข้าบัญชีหรือเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ...สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ...มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ...ในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ...มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ...เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ...จำนองไว้เท่านั้นตามกฎหมายข้างต้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ...ชำระเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 ถึง 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

( จรัส พวงมณี - นินนาท สาครรัตน์ - สถิตย์ ทาวุฒิ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-24 16:36:07


ความคิดเห็นที่ 3 (1967666)

แม้หนี้สินตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ เจ้าหนี้รับโอนสิทธิมาจากเจ้าหนี้เดิมย่อมใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ตายได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน จะมีข้อความระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "... พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ไม่ปิดอากรแสตมป์ โดยจำเลยทั้งหกอุทธรณ์อ้างว่าตามพระราชกำหนดและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ยกเว้นเฉพาะค่าธรรมเนียมและค่าภาษี เพื่อการโอนกิจการระหว่างสองธนาคารเท่านั้น ไม่ได้ระบุให้มีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรด้วย เห็นว่า การโอนกิจการระหว่างโจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นการโอนตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 5 ได้บัญญัติให้เพิ่มข้อความเป็นมาตรา 38 เบญจ โดยในวรรค 4 กล่าวถึงการควบกิจการหรือโอนกิจการธนาคารว่าให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรต่าง ๆ เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุว่ายกเว้นอากรประเภทใด จึงต้องแปลว่าเป็นการยกเว้นอากรทุกประเภท เมื่อโจทก์รับโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยตามพระราชกำหนดฉบับนี้ หนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างสองธนาคารเอกสารหมาย จ.16 จึงหาจำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยทั้งหกอ้างไม่

ส่วนที่จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในประการต่อไปว่า การที่โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยทั้งหกขอให้ชำระหนี้ บอกกล่าวบังคับจำนอง และบอกเลิกสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.5 ทำให้สัญญากู้เงินที่ผู้ตายทำไว้ระงับสิ้นไป หนี้ประธานตามสัญญากู้เงินจึงระงับสิ้นไปด้วยเหตุอื่นอันมิใช่เหตุอายุความ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386, 391 และ 392 การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1)โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้หนี้ระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ มีการปลดหนี้การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่หรือการที่หนี้เกลื่อนกลืนกัน เมื่อผู้ตายทำสัญญากู้เงินกับจำเลย 2 ครั้ง โดยผู้ตายยังชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน และไม่ปรากฏเหตุอย่างอื่นที่จะทำให้หนี้เงินกู้ดังกล่าวระงับสิ้นไป หนี้เงินกู้ที่ผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยังไม่ระงับ ดังนั้น การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงยังไม่ระงับสิ้นไปแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามทางนำสืบของโจทก์กับจำเลยทั้งหกและคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 6 ได้ไปติดต่อกับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) สาขาสวนมะลิ ซึ่งเป็นสาขาเดียวกับที่ผู้ตายไปทำสัญญากู้เงินพิพาทต่อโจทก์ เพื่อขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จากชื่อผู้ตายเป็นชื่อจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 6 จะมิได้แจ้งขอเปลี่ยนรายการลูกหนี้จากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อของจำเลยทั้งหกด้วยก็ตาม ถือว่าธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการตายของผู้ตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 และวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ได้มีการโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มาเป็นของโจทก์ หลังจากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2542 ทนายโจทก์ได้ตรวจสอบทางทะเบียนบ้านของผู้ตาย ทำให้โจทก์ทราบเรื่องที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า การที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ทราบเรื่องผู้ตายถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 และต่อมาได้มีการโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไปเป็นของโจทก์แล้วจะถือว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องที่ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จะเป็นคนละนิติบุคคลกันก็ตาม แต่โจทก์รับโอนกิจการจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มาเป็นของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รู้ถึงการตายของผู้ตายแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้แล้วด้วยเมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543 จึงเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและเป็นเหตุให้หนี้อุปกรณ์คือผู้ค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้ต่อโจทก์หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย อย่างไรก็ดีเนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการนำทรัพย์สินมาจำนองเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้สินตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยการรับโอนสิทธิมาจากเจ้าหนี้เดิมย่อมใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ตายได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 จะมีข้อความระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมของนางสุจิตรา กัมทรทิพย์ รับผิดชำระเงินจำนวน 2,003,985.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50ต่อปี ของต้นเงิน 1,330,023.83 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 186973 และเลขที่ 187054 ตำบลไทรม้า (บางไซรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - วิชัย วิวิตเสวี - สำรวจ อุดมทวี )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2546 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-24 16:44:56


ความคิดเห็นที่ 4 (1967714)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733

จริงๆแล้วต้นเหตุที่ทำให้ต้องถูกฟ้องล้มละลายกันนั้น เป็นเพราะกฎหมายมาตราเดียว คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ระบุไว้ว่า "ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น"

มาตรานี้เขาบอกว่า ถ้าขายทอดตลาดแล้วได้เงินน้อยกว่าเงินที่ค้าง ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด ซึ่งถ้าอ่านแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร เพราะลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดแล้ว จะมีปัญหาอะไร

ปัญหาของมาตรานี้ก็คือ เวลาที่เราไปกู้เงินจากธนาคารแล้ว ในสัญญากู้เขาจะมีสัญญาอยู่ 1 ข้อ ที่เขียนไว้ว่า "หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในหนี้จนครบ" ซึ่งเป็นการยกเว้นการใช้บังคับมาตรา 733 ที่ว่ามาแล้ว

ท่านที่อ่านอาจจะสงสัยว่า เอะ เขียนสัญญายกเว้นกฎหมายได้ด้วยหรือ เรื่องนี้เคยมีการสู้คดีกันมาแล้วจนถึงศาลฎีกา ซึ่งศาลท่านได้วินิจฉัยไว้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ฉะนั้น จึงสามารถตกลงยกเว้นได้

แล้วผลเป็นยังไงนะหรือ ก็เท่ากับว่า ถ้าขายทอดตลาดแล้ว ยังมีหนี้เหลืออีกเกิน 1 ล้านบาท ก็อาจจะถูกฟ้องล้มละลายได้

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-07-24 19:27:16


ความคิดเห็นที่ 5 (1968105)

จับกุม กักขัง ลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในบางกรณีนั้น ศาลมีอำนาจออกหมายจับเพื่อจับตัวจำเลยมากักขังไว้จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2229/2540  ใน ความคิดเห็นที่ 2

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-26 09:59:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล