ReadyPlanet.com


ที่ดินซื้อแล้วโอนมาไม่ครบ คือส่งมอบที่ดินมากกว่าโฉนดที่ดิน


เมื่อ2ปีที่แล้วดิฉันได้รับมรดกจากแม่มาเป็นที่ดิน1แปลงโดยใส่ชื่อร่วมกับน้องอีกคนหนึ่งต่อมาเมื่อ6เดือนก่อนดิฉันได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินจึงได้รู้ว่าที่ดินมีเนื้อที่ดินเกินว่าโฉนดไป2ไร่กว่าๆ แล้วเจ้าของที่ดินเข้ามายืนยันว่าที่ดินเกินไปในที่เขาเพราะเจ้าหน้าที่รังวัดบอกกับเขาว่าที่เกินเข้าไปที่แรกเจ้าของที่ดินเขาก็ไม่รู้ว่าสวนของดิฉันเกินเข้าไปในที่เขา ต่อมาภายหลังดิฉันจึงขอระงับการรังวัดเอาไว้ก่อน ความเป็นมาของที่ดินนั้นแม่ของดิฉันได้ซื้อมาจากพ่อของเจ้าของที่ดินตั้งแต่20กว่าปีก่อนเดิมเป็นที่สวนอยู่แล้วมีคันสวนล้อมทุกด้านด้านที่ติดกับที่เขามีคูน้ำเก่ากั้นไว้ตกลงกันซื้อสวนนี้ทั้งสวนแล้วคนขายก็โอนโฉนดมาให้เป็นของแม่ดิฉันแล้วแม่จึงปลูกมะม่วงลงไปทั้งสวนจนเมื่อ2ปีที่แล้วแม่ตายลูกตกลงแบ่งที่ดินกันดิฉันกับน้องชายได้ที่แปลงนี้คนอื่นเอาที่แปลงอื่นส่วนพ่อไม่เอาพอรังวัดแล้วจึงรู้ว่าที่ดินเขาโอนมาให้แม่ไม่ครบอย่างนี้ดิฉันจะทำอย่างไรดีขอคำปรึกษาหน่อยนะคะขอบความกรุณาด้วยคะ

แมว

 



ผู้ตั้งกระทู้ แมว :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-26 13:13:55


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1977705)

---ดิฉันได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินจึงได้รู้ว่าที่ดินมีเนื้อที่ดินเกินว่าโฉนดไป2ไร่กว่าๆ

---พอรังวัดแล้วจึงรู้ว่าที่ดินเขาโอนมาให้แม่ไม่ครบอย่างนี้ดิฉันจะทำอย่างไร

ที่เล่ามานั้นตกลงที่ดินเกิน หรือขาดกันแน่ครับ ยืนยันมาอีกครั้งนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-26 18:24:04


ความคิดเห็นที่ 2 (1977757)

ที่ว่าที่ดินเกินมาตอนรังวัดนั้นหมายถึงว่าที่สวนทั้งแปลงที่แม่ดิฉันซื้อมานั้นมีเนื้อที่มากกว่าหน้าโฉนดที่คนขายโอนให้มาคือคนขายโอนที่ดินให้มาไม่ครบตามที่ตกลงซื้อขายกันคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น แมว วันที่ตอบ 2009-08-26 20:49:33


ความคิดเห็นที่ 3 (1977761)

แล้วของเขาตามโฉนดที่ดินขาดไปจากโฉนดหรือไม่ (ที่ดินข้างเคียง) หากที่ดินที่เกินไปจากโฉนดของคุณเป็นที่ดินของเขาจริง ๆ คุณอาจมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าคุณได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เพราะคุณครอบครองที่ดินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยสงบและเปิด เกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-26 20:58:50


ความคิดเห็นที่ 4 (1978815)

จำเลยสละการครอบครองที่ดิน-โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตาม มาตรา 1382

สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระบุว่าผู้จะขายจะไปยื่นคำขอแบ่งขายให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนดสองปีนับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้ก็ตาม แต่โจทก์กับจำเลยปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานโดยมิได้ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด แสดงว่าคู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป การที่จำเลยรับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และยินยอมให้โจทก์นำศพญาติของโจทก์ฝังไว้ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โจทก์ ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้เป็นสุสานฝังศพหรือฮวงซุ้ยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

แม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตอนท้ายระบุว่า ผู้จะขายจะไปยื่นคำขอแบ่งขายให้แก่ผู้จะซื้อที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนดสองปีนับแต่วันทำหนังสือก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 และ บ. กับจำเลยทั้งห้าปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานโดยมิได้ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกโฉนด แสดงว่าคู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ก่อนทำหนังสือสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งห้านำศพมารดาและบิดาไปฝังไว้ในบริเวณที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ทั้งสองจำนวน 15 ศพ ไปฝังไว้เป็นแนวเดียวกัน ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทข้อ 1 ระบุไว้ชัดว่าจำเลยทั้งห้าแบ่งขายที่ดินทางด้านทิศใต้ตามที่ทำฮวงซุ้ยไว้แล้วอยู่ตรงกลางใกล้กับทางด้านทิศตะวันตก (ไม่สุดแนวเขต) จำนวน 2 ไร่ถ้วน แสดงว่าก่อนหน้านี้จำเลยทั้งห้าใช้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นสุสานฝังศพบิดามารดาจำเลยทั้งห้าอยู่แล้ว ทั้งตามลักษณะบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งทำฮวงซุ้ยไว้แล้วนั้นเป็นที่ฝังศพเฉพาะคนตระกูลของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้า โดยฝังศพไว้ในลักษณะถาวร บนหลุมฝังศพมีการก่อปูนซีเมนต์ไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง เมื่อถึงวันเช็งเม้งอันเป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ญาติผู้ตายคือฝ่ายโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าต่างไปเคารพศพทุกปี อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาวจีนทั่วไปต้องปฏิบัติตลอดไป โดยสภาพย่อมไม่มีการขุดศพออกจากที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่อาจให้ความยินยอมหรืออนุญาตกันได้ เพราะหากเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมหรือไม่อนุญาตเมื่อใดก็จะต้องขุดศพออกจากที่ดินเมื่อนั้น ซึ่งจำเลยทั้งห้ารู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว การที่จำเลยทั้งห้ารับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 และ บ. ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และยินยอมให้โจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ที่ 2 และ บ. ฝังไว้ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าสละการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 2 และ บ. โดยเด็ดขาด โจทก์ที่ 2 และ บ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้เป็นสุสานฝังศพหรือฮวงซุ้ยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาท เนื้อที่ 2 ไร่ เป็นของโจทก์ทั้งสองโดยสัญญาซื้อขายและครอบครองปรปักษ์ ให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับจำเลยทั้งห้าในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 864 เลขที่ดิน 99 ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม แล้วให้จำเลยทั้งห้ารังวัดและแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งห้าส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 864 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การและแก้ไขคำให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งในทำนองเดียวกันขอให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงิน 175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ทั้งสองขุดศพบิดามารดาและญาติของโจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทแล้วส่งมอบที่ดินคืน คิดเป็นเนื้อที่สำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 45 ตารางเมตร หรือประมาณ 12 ตารางวา สำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 30 ตารางเมตร หรือประมาณ 8 ตารางวา พร้อมกับปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้องแย้ง

โจทก์ที่ 1 ไม่ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำขอให้ศาลสั่งว่าโจทก์ที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

โจทก์ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามกรอบเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาท ในโฉนดเลขที่ 864 ตำบลบ่อพลับ (พระปฐมเจดีย์) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 2 ไร่ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า... โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เมื่อปี 2506 โจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยบิดาโจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งห้าตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจำเลยทั้งห้าให้การยอมรับว่าจำเลยทั้งห้าทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยจริงแต่นำสืบบ่ายเบี่ยงว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าว เห็นว่า หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นพยานเอกสาร โดยเฉพาะสัญญาข้อ 3 ระบุไว้ชัดว่าผู้จะซื้อได้ชำระและผู้จะขายได้รับเงินไปแล้วในวันทำหนังสือสัญญานี้เป็นเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) และในตอนท้ายของสัญญาก็ระบุว่าทั้งสองฝ่ายต่างทราบข้อความตามหนังสือสัญญานี้ดีตลอดแล้ว มิได้บังคับขู่เข็ญหรือสำคัญผิดแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งห้าไม่ได้รับเงิน 10,000 บาท ตามสัญญาแล้ว จำเลยทั้งห้าคงไม่ยอมลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายเป็นแน่เพราะเป็นการกระทำให้ตนต้องเสียผลประโยชน์ และเป็นการนำสืบขัดกับพยานเอกสารจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยชำระราคาค่าซื้อที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งห้าครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา แม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ข้อ 1 ตอนท้ายระบุว่าผู้จะขายจะไปยื่นคำขอแบ่งขายให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนดสองปีนับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยกับจำเลยทั้งห้าปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานโดยมิได้ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด แสดงว่าคู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ข้อเท็จจริงได้ความจากข้อนำสืบของจำเลยทั้งห้าว่า ก่อนทำหนังสือสัญญาดังกล่าว จำเลยทั้งห้านำศพมารดาและบิดาไปฝังไว้ในบริเวณที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยนำศพญาติของโจทก์ทั้งสองจำนวน 15 ศพ ไปฝังไว้เป็นแนวเดียวกัน เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ข้อ 1 ระบุไว้ชัดว่า จำเลยทั้งห้าแบ่งขายที่ดินทางด้านทิศใต้เฉพาะตามที่ทำฮวงซุ้ยไว้แล้วอยู่ตรงกลางใกล้กับทางด้านทิศตะวันตก (ไม่สุดแนวเขต) จำนวน 2 ไร่ถ้วน แสดงว่าก่อนหน้านี้จำเลยทั้งห้าใช้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นสุสานฝังศพบิดามารดาจำเลยทั้งห้าหรือฮวงซุ้ยอยู่แล้ว หนังสือสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงได้ระบุว่าจำเลยทั้งห้าแบ่งขายเฉพาะตรงที่ทำฮวงซุ้ยไว้แล้ว ทั้งตามลักษณะบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งทำฮวงซุ้ยไว้แล้วนั้นเป็นที่ฝังศพเฉพาะคนในตระกูลของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้า โดยฝังศพไว้ในลักษณะถาวร ส่วนบนหลุมฝังศพมีการก่อปูนซีเมนต์ไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง เมื่อถึงวันเช็งเม้งอันเป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ญาติผู้ตายคือฝ่ายโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าต่างไปเคารพศพทุกปี อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาวจีนทั่วไปต้องปฏิบัติตลอดไป โดยสภาพย่อมไม่มีการขุดศพออกจากที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่อาจให้ความยินยอมหรืออนุญาตกันได้เพราะหากเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมหรือไม่อนุญาตเมื่อใดก็จะต้องมีการขุดศพออกจากที่ดินเมื่อนั้น ซึ่งจำเลยทั้งห้ารู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว การที่จำเลยทั้งห้ารับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และยินยอมให้โจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยนำศพญาติของโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยฝังไว้ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้าดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยโดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์ที่ 2 และนายบุญชัยเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หาใช่เป็นการครอบครองตามสัญญาจะซื้อจะขายดังที่จำเลยทั้งห้าฎีกาไม่ เมื่อนายบุญชัยถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้เป็นสุสานฝังศพหรือฮวงซุ้ยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ส่วนคำพิพาษาศาลฎีกาที่มีจำเลยทั้งห้าอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( เรวัตร อิศราภรณ์ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - วีระชาติ เอี่ยมประไพ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7780/2551

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-08-30 01:30:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล