ReadyPlanet.com


วานช่วยตอบเรื่องกฎหมายปกครองให้ด้วยครับ


นางสาวดาวได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลตำบลหนองใหญ่ และสถานีตำรวจภูธรหนองใหญ่ ทราบว่าที่ดินสาธารณะหน้าบ้านของตนและเป็นที่ห้ามจอดตามป้ายจราจร ได้ถูกประชาชนที่มาซื้อของในตลาดนัด ใช้เป็นที่จอดรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถขับรถยนต์เข้าบ้านได้ จึงได้ขอให้เทศบาลฯ ดำเนินการจัดการดูแลและจัดระเบียบจราจร ให้ที่ห้ามจอดดังกล่าว และให้จัดหาที่จอดให้แก่ประชาชน ตามทีเห็นสมควรและให้สภ. หนองใหญ่ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาดำเนินการจับกุมผู้จอดรถในที่ห้ามจอดด้วย ต่อมาเทศบาลฯ ได้มีหนังสือแจ้งแก่นางสาวดาวว่า เรื่องการจอดยานยนต์ในทางหลวงหรือทางสาธารณะนั้น เทศบาล จะต้องตราเป็นเทศบัญญัติจัดระเบียบการจอดยานยนต์บนถนนสาธารณะรอบตลาดนัดก่อน จึงจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ส่วน สภ.หนองใหญ่ก็ได้ส่ง ด.ต.ทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาดูแล แต่ ด.ต.ทองก็มิได้จับกุมผู้จอดรถในที่ห้ามจอดแต่อย่างใดเพราะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยากจน มาซื้อสินค้าราคาถูกเพื่อลดค่าครองชีพ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า น.ส.ดาว จะฟ้องเทศบาล และด.ต.ทองเป็นคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

-ยังไงๆวานช่วยตอบให้ด้วยนะครับโดยเฉพาะในเคสของตำรวจเนี่ยแหละครับที่ผมงง ระหว่างการละเว้น(ป.อาญา 157) กับ ละเลย(ตามความมาตรา 9(2) พ.ร.บจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง)

-แล้วถ้าเป็นในเรื่องของการที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์อย่างนี้เป็นความผิดที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองในฐานละเลยได้รึเปล่าครับ

ยังไงๆวานช่วยตอบให้ด้วยนะคับถือว่าทำบุญทำทานเถอะครับผมเหลือตัวเดียวจะจบแล้วครับขอบพระคุณล่วงหน้าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษาที่สับสน :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-21 13:39:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1976236)

การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเมื่อกฎหมายมอบหมายให้มีหน้าที่กระทำการใด ๆโดยเฉพาะ

อ่านคำพิพากษาประกอบจะเข้าใจครับ

 

http://www.admincourt.go.th/52/s52-0162-jt01.pdf

 

สำหรับ ป.อาญา มาตรา 157

 

เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต เช่น

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลย นายสุรเดช อินหนองฉาง นายอุทัย แสงหล้าและนายน้อย ไม่ทราบนามสกุลร่วมกันเล่นการพนันไพ่รัมมี่พนันเอาทรัพย์สินและจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยนายสุรเดชนายอุทัย และนายน้อย ได้ร่วมเล่นการพนันไพ่รัมมี่ที่บ้านนายน้อย เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิดแต่จำเลยกลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยการร่วมเล่นการพนันไพ่รัมมี่แล้วจำเลยไม่จับกุมผู้ร่วมเล่นไพ่รัมมี่นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมเล่นการพนันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836 - 7837/2544)

 

 

การที่จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ได้ลงลายมือชื่อออก น.ส.3 ก. ระบุชื่อ ต. เป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองตามเรื่องราวเท็จ เอกสารปลอมที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำเสนอ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นการละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษละเว้น ไม่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่กรมที่ดิน ต. หรือผู้หนึ่งผู้ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2543)

 

 

จำเลยที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำโดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152,157อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเสนอประธานกรรมการสุขาภิบาลว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างถนนลาดยางแบบ 2 ชั้น เสร็จเรียบร้อยและถูกต้องตามสัญญาแล้ว เห็นควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอันเป็นการผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2528แม้ว่าการตรวจการก่อสร้างถนนลาดยางจะต้องอาศัยผู้มีความรู้เป็นพิเศษเนื่องจากมองดูด้วยตาจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการลาดยาง 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น แต่ถ้าจำเลยทั้งสี่ออกไปควบคุมดูแลและเอาใจใส่ในการตรวจสอบตามขั้นตอนก็ย่อมสามารถให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและแบบแปลนได้ การที่ปล่อยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโดยลาดยางเพียงชั้นเดียว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้สุขาภิบาลอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างไปมากกว่าปริมาณของงาน ที่ได้รับ จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540)

 

 

คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงองค์ประกอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 การเพิ่มเติมเฉพาะบทมาตรา 200 ในคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่มีผลทำให้ศาลลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ จำเลยละเว้นไม่จับกุมผู้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรแม้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่จำเลยมิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส.บอกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจว่าโจทก์หยิบอาวุธปืนสั้นออกมาจากรถ การที่จำเลยตรวจค้นรถโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันสมควรที่จะตรวจค้น มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2534)

 

 

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทราบจากผู้เสียหายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ผู้เสียหายแล้วจำเลยพูดว่าเรื่องนี้พอสืบได้แต่ต้องไถ่ทรัพย์คืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือรับของโจรรายนี้ และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งความออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดีหรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157.

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2530)

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-21 21:31:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล