ReadyPlanet.com


คู่สมรสรวมหมายถึงสามีภรรยาที่แต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนใช่หรือไม่


อยากทราบคำตอบตามกระทู้ครับ ขอบคุณครับ


ผู้ตั้งกระทู้ สมชาย :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-20 10:32:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1975731)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้ จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

กฎหมายรับรองว่า การจดทะเบียนสมรสเท่านั้นจึงจะถือว่ามีการสมรส ดังนั้นชายหญิงที่อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่มีการสมรส เมื่อไม่มีการสมรส กฎหมายจึงไม่รับรองว่าเป็นคู่สมรสกัน

ตอบคำถามได้คือ คู่สมรสไม่รวมถึงการแต่งงานโดยมิได้จดทะเบียนสมรสครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-20 12:45:34


ความคิดเห็นที่ 2 (1975732)

การสมรส

ความหมาย

การสมรส หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า "แต่งงาน" นั้นก็คือ การที่ชายหญิง ๒ คน ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งตาม กฏหมายปัจจุบันนั้น กำหนดว่า การสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส จึงจะมี ผลตามกฏหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดงาน พิธีมงคลสมรสใหญ่โตเพียงใด กฏหมายก็ไม่ถือว่า ชายหญิงคู่นั้นได้ทำการ สมรสกันเลย

การจดทะเบียนสมรสนั้น ให้ไปจดกับนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เลย และต้องมีการแสดงถึง ความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ว่าต้องการที่จะทำการสมรสกันต่อหน้านาย ทะเบียนด้วย แล้วให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้

ปกติแล้ว การสมรสจะมีผลตามกฏหมายเมื่อได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่ในกรณีพิเศษ เช่น ถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ทำให้ชายหญิงไม่สามารถไป จดทะเบียนที่อำเภอได้ ในกรณีนี้ ชายหญิงคู่นั้นอาจตกลงที่จะสมรสกัน ต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์) ที่อยู่ในที่นั้น และ ต่อมาเมือสงครามสงบ ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องไปทำการจดทะเบียนสมรสภายใน ๙๐ วัน ซึ่งกรณีนี้ กฏหมายถือว่า ชายหญิงคู่นี้ ได้ทำการสมรสกันมาตั้งแต่ วันแรกที่ได้ตกลงสมรสกัน

ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส

 

การจดทะเบียนสมรสนั้น นอกจากกฏหมายจะถือว่า ชายหญิงคู่นั้น ได้เป็นสามีภริยากันตามกฏหมายแล้ว ยังมีผลที่ตามมาอีกหลายประการ เช่น

(๑) เป็นหลักประกันความมั่นคงได้ว่า ถ้าได้มีการจดทะเบียนแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนไปทำการจดทะเบียนเข้า ผลคือ การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ กฏหมายถือว่า เป็น โมฆะ (ใช้ไม่ได้) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งให้นายทะเบียนเพิกถอน หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ นอกจากนี้ คู่สมรสฝ่ายที่ไปจดทะเบียนซ้อน ก็อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

(๒) ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้

(๓) ในกรณีที่เป็นความผิดที่กระทำระหว่างสามีภรรยา เช่น สามี หรือภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลักทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในความผิดฐานอื่น เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก ซึ่งมีผลคือ สามีหรือภริยา นั้นไม่ต้องรับโทษตามกฏหมาย

(๔) ในเรื่องอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน ถ้าสามีภริยาถูก ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถฟ้องคดีได้เอง ภริยาหรือสามีที่ยังมีชีวิตอยู่ (ที่ได้จดทะเบียนตามกฏหมาย) สามารถร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อตำรวจหรือฟ้องศาลแทนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ ในคดีหมื่นประมาทที่กระทำต่อสามีหรือภริยา ถ้าต่อมาสามีหรือภริยานั้นได้ตาย ก่อนร้องทุกข์ (แจ้งความ) ภริยาหรือสามีที่ยังมีขีวิตอยู่ก็ร้องทุกข์หรือ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เองด้วย เพราะกฏหมายให้ถือว่า เป็นผู้เสียหาย

(๕) ถ้าคู่สมรสเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว กฏหมายถือว่า ผู้นั้นได้บรรลุนิติภาวะแล้ว และสามารถทำกิจการงานต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องเป็นได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง และแม้จะหย่ากันก่อนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ยังคงเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอยู่

เงื่อนไขการสมรส

การที่จะสมรสกันได้นั้น กฎหมายยังได้กำหนดเงื่อนไขไว้ดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องอายุของชายหญิงที่จะทำการสมรสกัน กฎหมายกำหนดว่าต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์เหตุผลที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ก็ เพราะการสมรสนั้นทำให้เกิดมีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย และเกิดสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัวมาก การที่จะให้เด็กทำการสมรสกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้ กฎหมายจึงกำหนดอายุของคู่สมรสเอาไว้โดยเอาเกณฑ์ที่พอจะเข้าใจถึงการกระทำของตนเองได้
(๒) เรื่องความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ในกรณีที่คู่สมรสเป็นผู้เยาว์ เหตุผลที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขนี้ก็เพราะว่า เพื่อที่จะให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยตัดสินใจเลือก แนวทางชีวิตครอบครัวของผู้เยาว์ ความยินยอมนี้อาจทำเป็นหนังสือ ระบุชื่อคู่สมรสของทั้ง ๒ ฝ่าย และลงลายมือชื่อผู้ให้ความยินยอมหรืออาจทำโดยวิธีอื่น เช่น ให้ความยินยอมด้วยวาจา
(๓) กฎหมายห้ามชายหญิงที่มีคู่สมรสอยู่แล้วไปทำการสมรสกับคนอื่นอีก ซึ่งเรียกกันว่าการสมรสซ้อน เหตุผลก็คือ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นภายในครอบครัว เพราะกฎหมายในปัจจุบันรับรองความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น
(๔) ในกรณีที่หญิงที่สามีเดิมตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น เช่น หย่าขาดจากกันจะทำการสมรสครั้งใหม่ได้ต้องกระทำหลังจากที่การสมรสเดิมสิ้นสุดไป แล้ว ๓๑๐ วัน เหตุผลที่กฎหมายห้ามก็เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับบุตรที่เกิดมาว่าจะถือว่า เป็นบุตรของใคร (สามีใหม่หรือสามีเก่า)
(๕) กฎหมายห้ามคนวิกลจริต หรือ ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำการสมรส เหตุผลก็เพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตที่สงบสุข ถ้าให้แต่งงานกับคนบ้าแล้วก็อาจเกิดปัญหาได้
(๖) กฎหมายห้ามชายหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือโดยตรงลงมาทำการสมรสกัน เช่น พ่อสมรสกับลูก และรวมถึงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันด้วยเหตุผลก็เพราะในทางการแพทย์นั้น เขาพิสูจน์ได้ว่าถ้าคนที่มีสายเลือดเดียวกันสมรสกัน บุตรที่เกิดมาจะรับเอาส่วนที่ไม่ดีของทั้ง ๒ ฝ่ายมาทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นเด็กที่ผิดปกติ นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลทางสังคมด้วย คือ สภาพสังคมไทยเราก็ไม่ยอมรับการสมรสแบบนี้ด้วย
(๗) กฎหมายห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมทำการสมรสกัน เหตุผลที่กฎหมายห้าม ก็เพื่อมิให้เกิดความสับสนของสถานะของแต่ละฝ่ายว่า จะเป็นบุตรบุญธรรมหรือสามีภริยานั่นเอง

ผลของการฝ่าผืนเงื่อนไขการสมรส

ถ้ามีการจดทะเบียนสมรสไปโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขต่าง ๆ นี้ จะมีผลต่อการสมรส ดังนี้

(๑) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๑, ๒ การสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ (สมบูรณ์จนกว่าจะถูกเพิกถอน)
(๒) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๓, ๕, ๖ การสมรสนั้นตกเป็นโมฆะ
(๓) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๔, ๗ การสมรสนั้นยังมีผลสมบูรณ์ทุกประการแต่จะมีผลทางกฎหมายอย่างอื่น คือ

๓.๑ ถ้าเป็นการฝ่าฝืนในเงื่อนไขข้อ ๔ การสมรสสมบูรณ์และกฎหมายก็สันนิษฐานว่า เด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีใหม่

๓.๒ ถ้าเป็นการฝ่าฝืนในเงื่อนไขข้อ ๗ จะมีผล คือ ทำให้การเป็นบุตร บุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

ถ้าการสมรสได้ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว ผลคือชายหญิงคู่นั้นก็เป็น สามีภริยากันตามกฎหมาย ทำให้เกิดความผูกพันทางครอบครัวหลายประการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

การสมรสที่เป็นโมฆียะ

คำว่า "โมฆียะ" หมายถึง การกระทำนั้นยังคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกเพิกถอน ดังนั้นการสมรสที่เป็นโมฆียะ จึงเป็นการสมรสที่ยังคงมีผลอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการเพิกถอน

๑. เหตุที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

เหตุที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะก็ได้กล่าวมาบ้างแล้ว คือ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส และ เงื่อนไขในเรื่องความยินยอมของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีเหตุอื่นอีกที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ คือ

- การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล หมายถึง การสมรสนั้นทำไปเพราะถูกคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้อุบายหลอกลวงให้ทำการสมรส เช่น หลอกว่าตนเป็นคนมีฐานะดี แต่แท้จริงแล้วเป็นคนยากจน ดังนี้เป็นต้น แต่การใช้กลฉ้อฉลนี้จะต้องถึงขนาด คือถ้ามิได้มีการหลอกลวงแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ทำการสมรสด้วย แต่ถ้ากลฉ้อฉลนั้นไม่ถึงขนาดการสมรสก็ ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่ถ้ากลฉ้อฉลเกิดเพราะบุคคลที่ ๓ การสมรสจะตกเป็นโมฆียะ เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะรู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นอยู่แล้วในขณะที่ทำการสมรส

- การสมรสได้ทำไปโดยถูกข่มขู่ การข่มขู่ หมายถึง การกระทำที่ในลักษณะบังคับ ให้เกิดความกลัวภัยจนทำให้อีกฝ่ายยอมทำการสมรสด้วย เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายถ้าไม่ยอมไป จดทะเบียนด้วย เป็นต้น การข่มขู่นั้นจะต้องถึงขนาดด้วย กล่าวคือถ้าไม่มีการข่มขู่แล้วจะ ไม่มีการสมรสนั่นเอง และนอกจากนี้การข่มขู่ไม่ว่าคู่สมรสหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ข่มขู่ ถ้าถึงขนาดแล้วการสมรสย่อมเป็นโมฆียะทั้งนั้น

- การสมรสที่ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดตัว กรณีนี้หมายความว่าตั้งใจจะสมรส กับคนคนหนึ่งแต่ไปทำการสมรสกับคนอีกคนหนึ่ง โดยเข้าใจผิด เช่น กรณีฝาแฝด

๒. ผลของการสมรสที่เป็นโมฆียะ

ดังที่กล่าวมาแล้วคือตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอน การสมรสนั้นก็ยังมีผลตามกฎหมายทุกประการ และถ้าต่อมามีการเพิกถอนการสมรสแล้ว การสมรสนั้นก็สิ้นสุดลงนับแต่เวลาที่เพิกถอนเป็นต้นไป

๓. ใครเป็นคนเพิกถอน

ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ศาลเท่านั้นที่จะเพิกถอนการสมรสได้โดยมีเหตุผลว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของบุคคลที่มีผลกระทบต่อสังคมมาก การที่จะปล่อยให้คนทั่วไปเพิกถอนการสมรสได้เองแล้วย่อมจะเกิดปัญหาแน่ ๆ กฎหมายจึงให้องค์กรศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่า การสมรสกรณีใดบ้างที่จะต้องถูกเพิกถอน แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนได้ก็ต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลก่อน ศาลจะยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ซึ่งผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดตัวบุคคลไว้ ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

๔. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

๔.๑ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีความหมายรวมถึงบิดามารดาหรือผู้ปกครองของชายหญิงคู่สมรส และยังรวมถึงผู้มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรสด้วย เพราะถ้าการสมรสมีผลอยู่ตนจะได้รับมรดกน้อยลง แต่ในกรณีบิดามารดานั้น ถ้าหากเป็นผู้ให้ความยินยอมเองด้วยแล้ว กฎหมายก็ห้ามร้องขอต่อศาล

๔.๒ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะขาดความยินยอมของบิดามารดาหรือ ผู้ปกครองแล้ว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองเท่านั้น

๔.๓ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ผู้มีสิทธิร้องขอคือคู่สมรสฝ่ายที่ถูก หลอกเท่านั้น

๔.๔ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการข่มขู่ ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่าย ที่ถูกข่มขู่เท่านั้น

๔.๕ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิดตัว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่ายที่สำคัญผิดเท่านั้น

๕. ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน

๕.๑ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุต้องร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ ถ้าไม่ร้องขอภายในเวลาดังกล่าวการสมรสย่อมสมบูรณ์มาตลอด และไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อไป

๕.๒ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องความยินยอม ต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ นอกจากนี้ในเรื่องนี้กฎหมายยังกำหนดอายุความไว้อีกด้วยคือ ต้องใช้สิทธิในอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการสมรสนั้น (อายุความ คือ ระยะเวลาที่จะต้องใช้สิทธิถ้าไม่ใช้ภายในกำหนด ก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว)

๕.๓ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ระยะเวลาการขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉลแต่ต้องไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันทำการสมรส

๕.๔ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะ เพราะถูกข่มขู่ ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอนคือ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกข่มขู่

๕.๕ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการสำคัญผิดในตัวคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันทำการสมรส

 

๖. ผลของการที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน

ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน ดังนั้น ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างสามีภริยาก็เป็นอันสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเพิกถอนเป็นต้นไป และถ้าคู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องเพิกถอนนั้นรู้ถึงเหตุแห่งโมฆียะ ก็ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่อีกฝ่ายหนึ่งในความเสียหายที่ได้รับด้วย นอกจากนี้ ถ้าการเพิกถอนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ไม่มีทรัพย์สินพอเลี้ยงชีพ คู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่อีกฝ่ายด้วย

การสมรสที่เป็นโมฆะ

คำว่า "โมฆะ" นี้หมายความว่า เสียเปล่า ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายเลย ดังนั้น การสมรสที่เป็นโมฆะจึงไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมายเลย แต่เนื่องจากกฎหมายครอบครัว เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคล และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อ ยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กฎหมายจึงกำหนดว่า การสมรสที่เป็นโมฆะนั้นโดยทั่วไปแล้ว บุคคลใดจะนำขึ้นมากล่าวอ้างไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะได้แสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะเสียก่อน ยกเว้นกรณีการสมรสซ้อนกฎหมายกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการกล่าวอ้างและศาลยังไม่พิพากษา แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสชายหญิงคู่นั้นก็ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ตามปกติ

๑. เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

๑.๑ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสซ้อน
๑.๒ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสกับบุคคลวิกลจริต
๑.๓ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการสมรสระหว่างญาติสนิท
๑.๔ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องความยินยอมของคู่สมรสเอง

๒. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ

กฎหมายให้สิทธิแก่ "ผู้มีส่วนได้เสีย" หรือ "อัยการ" ก็ได้ คำว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าหากการสมรสนั้นยังไม่ถูกศาลสั่งแสดงความเป็นโมฆะ
เช่น ตัวคู่สมรสเอง หรือภริยาเดิมกรณีจดทะเบียนซ้อน

๓. ผลเมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะแล้ว

เมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสแล้ว คำพิพากษามีผลดังนี้

๓.๑ ในเรื่องทรัพย์สิน ถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตั้งแต่สมรส

๓.๒ ในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา กฎหมายเห็นว่าไม่มีทางที่จะให้กลับสู้สภาพเดิมได้ คือจะถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลยตั้งแต่แรกไม่ได้ ดังนั้นจึงให้มีผลนับแต่วันที่ศาลได้แสดงความเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตาม หากคู่สมรสฝ่ายที่สุจริตได้สิทธิใด ๆ มาจากการสมรสก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ไม่เสียสิทธินั้นไป เช่น สิทธิในการรับมรดกของสามีที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะย่อมไม่เสียไป หากตนสมรสโดยสุจริต

นอกจากนี้ถ้าหากชายหรือหญิงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายสมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายที่ไม่สุจริตได้ เช่น ชายมาหลอกหญิงว่าตนไม่เคยมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน กรณีนี้เมื่อศาลแสดงความเป็นโมฆะแล้ว หญิงสามารถเรียกค่าทดแทนจากชายได้ และถ้าฝ่ายที่สุจริตนั้นยากจนลง ไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากงานที่เคยทำ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลคู่สมรสฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

๓.๓ ผลต่อบุตร เด็กที่เกิดระหว่างการสมรสที่เป็นโมฆะหรือเกิดภายใน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายสันนิษฐานว่า เป็นลูกของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

เมื่อการสมรสนั้นมีการจดทะเบียนและไม่เข้าข้อห้ามตามกฎหมายข้ออื่นแล้ว การสมรสนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันต่าง ๆ ดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งมีผลแยกได้ ๒ ประการคือ ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ส่วนตัว

๑. ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน

เมื่อชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกันตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่ก่อนสมรสหรือจะมีขึ้นภายหลังจากการสมรสก็ต้องมีการจัดระบบใหม่ ซึ่งกฎหมายก็ได้แยกทรัพย์สินออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.๑ สินส่วนตัว (สินเดิม)
๑.๒ สินสมรส

๑.๑ สินส่วนตัว กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

(ก) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน แก้ว แหวน เงิน ทอง ถ้ามีอยู่ก่อนสมรสกันแล้ว กฎหมายถือว่าก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น

(ข) ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่น แว่นตา แปรงสีฟัน เป็นต้น
เครื่องประดับกาย เช่น สร้อยคอ แหวน กำไล ต่างหู แต่ต้องพิจารณาถึง ฐานะด้วย
ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพก็ต้องดูว่าอาชีพนั้นจำเป็นต้อง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เช่น เป็นหมอก็ต้องมีเครื่องมือตรวจโรค เป็นชาวนาก็ต้องมีเคียว เป็นต้น

(ค) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสไม่ว่าโดยการรับ มรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น กฎหมายจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคนไป เช่น ถ้านายแดงเอ็นดูนางดำ ซึ่งเป็นภริยาของนายขาว ก็เลยยกที่ดินให้ ๑ แปลง กรณีเช่นนี้ การที่นายแดงให้ที่ดินแก่นางดำเป็น เพราะความถูกใจเฉพาะตัวของนายแดงกับนางดำ ไม่เกี่ยวกับนายขาวเลย ดังนั้นที่ดินแปลงนี้จึงเป็นสินส่วนตัว

(ง) ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นกฎหมายให้ถือเป็นสินส่วนตัวของหญิง

นอกจากนี้ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพไปเช่น ขายไปได้เงินมา เงินนั้นก็กลายมาเป็นสินส่วนตัวเช่นกัน หรือเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวไปซื้อของของนั้นก็กลายเป็นสินส่วนตัวด้วย

๑.๒ สินสมรส กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

(ก) ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่เป็นสินส่วนตัวแล้ว ถ้าคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มาก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น

(ข) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือแต่พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรสด้วย กรณีนี้ต่างกับในเรื่องสินส่วนตัว เพราะว่าการให้หรือพินัยกรรมนั้นต้องระบุชัดว่า ให้เป็นสินสมรส ถ้าไม่ระบุก็ถือเป็นสินส่วนตัว

(ค) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว คำว่า "ดอกผล" หมายถึงผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์นั้นซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฎหมายก็ได้ เช่น มีแม่วัว ลูกวัวก็เป็นดอกผลธรรมชาติ มีรถแล้วเอารถไปให้เขาเช่าค่าเช่าก็เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น

การจัดการทรัพย์สินของสามีภริยา

เมื่อทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแบ่งเป็น ๒ ประเภทดังกล่าวแล้วก็ต้องมาพิจารณา ว่าทรัพย์สินประเภทใด ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซึ่งอำนาจจัดการนี้รวมถึงอำนาจในการจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์สินนั้นรวมถึงการฟ้องคดี และต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้นด้วย ซึ่งแยกพิจารณได้ดังนี้

(๑) สินส่วนตัว กฎหมายถือว่า สินส่วนตัวของใครคนนั้นก็เป็นผู้มีอำนาจจัดการ

(๒) สินสมรส เนื่องจากกฎหมายเห็นว่า สินสมรสเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างสามีภริยา จึงกำหนดให้ทั้ง ๒ ฝ่ายจัดการร่วมกัน แต่ก็อาจตกลงกันไว้ก่อนทำการสมรสก็ได้ ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ต้องจัดการร่วมกัน หากคนใดคนหนึ่งทำไปเองก็อาจให้อีกฝ่าย หนึ่งให้ความยินยอมได้ แต่ถ้าทำไปเองโดยพลการนิติกรรมที่ทำไปนั้นก็ไม่สมบูรณ์ และคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้

การให้ความยินยอมนี้กฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ดังนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้านิติกรรมที่จัดทำนั้น กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การให้ความยินยอมก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เช่น การทำสัญญาซื้อขายที่ดินกฎหมายบังคับว่า ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ความยินยอมในกรณีนี้ จึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย

๒. ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา

เมื่อมีการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย คือ

(๑) ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
(๒) ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตามความสามารถและฐานะของตน
(๓) ภริยามีสิทธิใช้นามสกุลของสามีได้
(๔) ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้
ความสามารถอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และบุตร

คือ เด็กที่เกิดมาในระหว่างที่พ่อแม่ ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายใน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย ผู้เป็นสามี

สิทธิหน้าที่ระหว่างบิดามารดา และบุตรชอบด้วยกฎหมาย

๑. พ่อแม่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร ในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์) ถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร เว้นแต่บุตรจะเป็นคนพิการ และหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป

๒. บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่

๓. บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของพ่อ

๔. บุตรจะฟ้องบุพการีของตน เป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาไม่ได้ แต่สามารถร้องขอให้อัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนได้ กฎหมายห้ามเฉพาะการฟ้องแต่ไม่ห้ามในกรณีที่บุตรถูกฟ้อง แล้วต่อสู้คดี กรณีนี้ย่อมทำได้

๕. บุตรผู้เยาว์จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่โดยพ่อแม่มีอำนาจ ดังนี้
๕.๑ กำหนดที่อยู่ของบุตร
๕.๒ เมื่อบุตรทำผิดก็ลงโทษได้ตามสมควร
๕.๓ ให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
๕.๔ เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรของตนไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๕.๕ มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง

การสิ้นสุดการสมรส

เมื่อมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วการสมรสนั้นจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้

๑. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย

๒. เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนเพราะการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ (ขอให้ดูเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆียะ)

๓. โดยการหย่าซึ่งการหย่านั้น ทำได้ ๒ วิธี

๓.๑ หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากันได้เอง กฎหมายบังคับว่าการหย่าโดยความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน และถ้าการสมรสนั้นมีการจดทะเบียนสมรส (ตามกฎหมายปัจจุบัน) การหย่าก็ต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอด้วย มิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์

๓.๒ หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งประสงค์จะหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่าจึงต้องมีการฟ้องหย่าขึ้น เหตุที่จะฟ้องหย่าได้คือ
(๑) สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นความผิด อาญาหรือไม่ ถ้าความประพฤติเช่นนั้นเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
- ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
- ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หากยังคงสถานะของความเป็นสามีภริยากันต่อไป
- ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา มาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

คำว่า "ประพฤติชั่ว" เช่น สามีเป็นนักเลงหัวไม้ เที่ยวรังแกผู้อื่น เล่นการพนัน หรือสูบฝิ่น กัญชา เป็นต้น

(๓) สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหมิ่นประมาทหรือ เหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร้ายแรงด้วย อีกฝ่ายจึงจะฟ้องหย่าได้

(๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิด ๑ ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

การละทิ้งร้างนี้ หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากไม่เป็นการจงใจ เช่น ต้องติดราชการทหารไปชายแดน เช่นนี้ไม่ถือเป็นการทิ้งร้าง

(๕) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกจำคุกเกิน ๑ ปี โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนในความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเห็นใจ และการเป็นสามีภริยากันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อยเกินควร อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้

(๖) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ ตามคำสั่งเป็นเวลาเกิน ๓ ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๗) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน ๓ ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๘) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง แต่การกระทำนั้นต้องถึงขนาดที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนโดยเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙) สามีหรือภริยาเป็นบ้าตลอดมาเกิน ๓ ปี และความเป็นบ้านนั้น มีลักษณะยากที่จะหายได้ และความเป็นบ้าต้องถึงขนาดที่ จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๑๐) สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เช่น สามีขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ย่อมทำหนังสือทัณฑ์บนไว้กับภริยาว่าตนจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก แต่ต่อมากลับฝ่าฝืน เช่นนี้ ภริยาฟ้องหย่าได้

(๑๑) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้โรคดังกล่าว ต้องมีลักษณะเรื้อรัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๑๒) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจ ร่วมประเวณีได้ตลอดกาล คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผลของการหย่า

๑. ผลของการหย่าโดยความยินยอม

การหย่าโดยความยินยอมนั้น ถ้าการสมรสเป็นการสมรสที่ไม่ต้องจดทะเบียน (การสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย) การหย่าโดยความยินยอมก็มีผลทันทีที่ทำเป็นหนังสือถูกต้อง และลงลายมือชื่อทั้ง ๒ ฝ่าย พร้อมทั้งมีพยานรับรอง ๒ คน แต่ถ้าการสมรสนั้นเป็นการสมรสที่ต้องจดทะเบียน (ตามบรรพ ๕) การหย่าโดยความยินยอมนั้นนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ยังต้องไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภออีกด้วย การหย่าจึงจะมีผลตามกฎหมาย

๑.๑ ผลของการหย่าต่อบุตร คือ
(๑) ใครจะเป็นผู้ปกครองบุตร ตามกฎหมาย ให้ตกลงกันเองได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรือไม่ได้ตกลง ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
(๒) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ใครจะเป็นคนจ่ายก็เช่นกันคือให้ตกลงกันเองว่า ใครจะเป็นผู้จ่าย ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

๑.๒ ผลเกี่ยวกับสามีภริยา ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาสิ้นสุดลงทันที และไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต่อกันเลย

๑.๓ ผลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ให้แบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาคนละครึ่ง โดยเอาจำนวนทรัพย์ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่าเป็นเกณฑ์

๒. ผลของการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้จะยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ตาม ดังนั้น ความเป็นสามีภริยาจึงขาดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

๒.๑ ผลเกี่ยวกับบุตร
(๑) ใครเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ปกติแล้วฝ่ายชนะคดีจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ศาลอาจกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้
(๒) เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ศาลเป็นผู้กำหนด
๒.๒ ผลเกี่ยวกับคู่สมรส แม้กฎหมายจะถือว่า การสมรสสิ้นสุดลงนับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ตาม แต่ในระหว่างคู่สมรสก็เกิดผลทางกฎหมายบางประการคือ

(๑) มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้
- ค่าทดแทนจากสามีที่อุปการะหญิงอื่นหรือจากภริยาที่มีชู้และจากชายชู้หรือหญิงอื่นแล้วแต่กรณี
- ค่าทดแทนเพราะเหตุหย่าตามข้อ ๓.๒ (๓), (๔), (๘) โดยเป็นเพราะความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

(๒) มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์คือ
- เหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงอย่างเดียว และ
- การหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สิน หรือการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพนี้กฎหมาย กำหนดว่า จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งมาในคดีที่ฟ้องหย่าด้วย มิฉะนั้นก็หมดสิทธิ

การสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายในปัจจุบัน

ถ้าการสมรสนั้นไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว แม้จะมีการจัดการแต่งงานใหญ่โตเพียงไร กฎหมายก็ไม่รับรู้ด้วย จึงไม่เกิดผลใด ๆ ตามกฎหมาย แต่ถ้าชายหญิงนั้นอยู่กินกันเองจะมีผลดังนี้

๑. ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคู่นั้น กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันจึงไม่มี
สิทธิและหน้าที่ใด ๆ ต่อกัน และยังเกิดผลประการอื่นอีก คือ
- เรื่องการใช้นามสกุล หญิงก็คงใช้นามสกุลเดิมของตน และเรื่องสถานะตามกฎหมายก็ยังคงถือว่า หญิงนั้นเป็นนางสาวอยู่
- เรื่องความผิดอาญา การที่ชายหญิงหลับนอนด้วยกัน กรณีนี้ถ้าหญิงยินยอมกัน ก็ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืน แต่ถ้าหญิงไม่ยินยอมแล้วชายใช้กำลังบังคับก็มีความผิดฐานข่มขืน
ส่วนความผิดอื่นที่กระทำต่อกัน เช่น ชายลักทรัพย์ของหญิง ก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมาย

๒. ในเรื่องทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินของใครมีอยู่ก่อนเป็นเป็นของคนนั้น แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของที่หามาได้ร่วมกัน แม้กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ก็ถือว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นของทั้ง ๒ คนร่วมกัน คือเป็นกรรมสิทธิ์รวม ทั้งคู่ต่างมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละเท่า ๆ กัน

๓. ผลเกี่ยวกับบุตรที่เกิดมา เมื่อกฎหมายไม่ถือว่ามีการสมรสเกิดขึ้น เด็กที่เกิดมาในส่วนของหญิง ย่อมถือว่า เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนอยู่ แต่ในด้านชายนั้น กฎหมายถือว่า ชายนั้นมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กคนนั้น แต่ยังมีวิธีการที่จะทำให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้นั้นได้ มี ๓ วิธีคือ

๓.๑ เมื่อบิดามารดาของเด็กนั้นสมรสกันภายหลังโดยชอบด้วยกฎหมาย คือจดทะเบียนสมรสกัน และทำตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย เด็กนั้นจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นทันที นับแต่วันที่บิดามารดาทำการสมรสกัน หรือ

๓.๒ โดยการจดทะเบียนรับเด็กนั้นเป็นบุตร แต่ตัวเด็กนั้นหรือมารดาเด็กต้อง ไม่คัดค้านว่าชายผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดา ถ้ามีการคัดค้านก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ขั้นตอนการจดทะเบียนก็คือ ชายจะไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนที่อำเภอ และนายทะเบียนจะแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดาเด็กว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าหากคัดค้าน ต้องคัดค้านภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่การแจ้งความนั้นไปถึง ถ้าไม่มีการคัดค้านนายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ แต่ถ้ามีการคัดค้านนายทะเบียนก็จะยังไม่รับจดทะเบียน และชายนั้นก็ต้องดำเนินคดีทางศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าศาลตัดสินให้จดทะเบียนได้ชายต้องนำคำพิพากษามาแสดงต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะจดทะเบียนให้ เมื่อมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแล้ว แม้ชายนั้นจะมิได้ทำการสมรสกับหญิงก็ตาม ให้ถือว่าชายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น และมีสิทธิหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย

๓.๓ โดยการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร กรณีนี้ ตัวเด็ก หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องชาย เพื่อให้ศาลพิพากษาชายนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องมีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะฟ้องศาลได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

(๑) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยว กักขังหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในช่วงเวลาที่หญิงนั้นอาจจะตั้งครรภ์ได้

(๒) เมื่อมีการลักพาหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวง ร่วมหลับนอนกับผู้หญิงผู้เป็นแม่เด็กในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(๓) เมื่อมีเอกสารของพ่อแสดงว่า เด็กนั้นเป็นลูกของตน เช่น พ่อยื่นคำร้องแจ้งเด็กเกิดในทะเบียนบ้าน โดยแจ้งว่าเป็นบุตรของตน หรืออาจเป็นกรณีลงชื่อฝากเด็กเข้าโรงเรียน โดยระบุว่าเป็นบุตรของตนก็ได้

(๔) เมื่อปรากฎในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชาย โดยชายเป็นผู้ไปแจ้งการเกิดเอง หรือการจดทะเบียนนั้นได้กระทำโดยรู้เห็นยินยอมของชาย

(๕) เมื่อพ่อแม่ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้

(๖) เมื่อชายได้มีการหลับนอนกับหญิงผู้เป็นแม่ในระยะเวลาที่อาจตั้งครรภ์ ได้และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชายอื่น

(๗) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นลูก ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรื่อง ๆ ไป เช่น ชายนั้นให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของตน เป็นต้น

เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเพียงประการเดียว ก็สามารถฟ้องคดีได้แล้ว แต่การฟ้องคดีต้องฟ้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายคือ ถ้าเด็กบรรลุนิติภาวะแล้วต้อง ฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ (๒๐ ปีบริบูรณ์) แต่ถ้าเด็กตายในระหว่างที่ยังมีสิทธิฟ้องคดีอยู่ ก็ให้ผู้สืบสันดานของเด็กฟ้องแทน ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กรู้ข้อเท็จจริงที่จะ ฟ้องคดีได้ก่อนวันที่เด็กตาย ก็ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่เด็กตาย แต่ถ้ามารู้หลังจากที่เด็กตายแล้วก็ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รู้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง คือ ในกรณีที่เด็กอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เด็กสามารถฟ้องคดีได้เอง แต่ถ้าเด็กยังอายุไม่ถึง ๑๕ ปี ก็สามารถให้ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องแทนได้ และผลของการฟ้องคดีนี้ถ้าฝ่ายเด็กเป็นผู้ชนะคดี เด็กนั้นก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายนับตั้ง แต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ค้นมาให้อ่าน วันที่ตอบ 2009-08-20 12:46:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1975753)
ขอบคุณทุกท่านมากครับที่ให้ข้อมูล
ผู้แสดงความคิดเห็น สมชาย วันที่ตอบ 2009-08-20 13:47:53


ความคิดเห็นที่ 4 (1975756)
ขอบคุณทุกท่านมากครับที่ให้ข้อมูล
ผู้แสดงความคิดเห็น สมชาย วันที่ตอบ 2009-08-20 13:58:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล