ReadyPlanet.com


สัญญารับสภาพหนี้ กับสัญญาประนอมหนี้ ต่างกันอย่างไร


สัญญารับสภาพหนี้   กับสัญญาประนอมหนี้  ต่างกันอย่างไรคะ  และในกรณี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระเงินมาหลายปี(ยังไม่หมดอายุความ  และหมดอายุความ)  แล้วภายหลังยินยอมจะชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด เราควรทำสัญญารับสภาพหนี้  หรือสัญญาประนอมหนี้  คะ  เพื่อให้มีผลฟ้องร้องในภายหลังหากไม่ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย



ผู้ตั้งกระทู้ จำอวด :: วันที่ลงประกาศ 2013-11-08 18:56:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2433896)

โดยทั่วไปต้องพิจารณาถึงเนื้อความในหนังสือนั้นก่อนว่ามีวัตถุประสงค์ใด ใครต้องรับผิดอะไร ตามข้อความในหนังสือนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นสัญญาอะไร แต่สาระสำคัญของเนื้อความที่ผูกพันผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญานั้น ๆ ว่าผูกพันในเรื่องใด ดังนั้นตามคำถามว่า สัญญารับสภาพหนี้ กับสัญญาประนอมหนี้ ต่างกันอย่างไร

ถ้าพิจารณาจากชื่อแล้ว พอให้ความเห็นได้ดังนี้ คือ สัญญารับสภาพหนี้อาจทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ เคยเป็นหนี้กันมาก่อนแต่ไม่มีหลักฐานในการเป็นหนี้กัน ก็มาตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้กันว่า เคยเป็นหนี้กันจำนวนเท่าใด จะชดใช้กันอย่างไร คิดดอกเบี้ยกันหรือไม่ ซึ่งการทำสัญญารับสภาพหนี้นี้จะทำให้หนี้ที่ไม่เคยมีหลักฐานแต่เดิมกลายเป็นหนี้ที่มีหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ซึ่งเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้

หนังสือสัญญาประนอมหนี้ ที่ปรากฏมักจะเป็นเรื่องที่มีสัญญาเดิมกันอยู่แล้ว แต่ผิดสัญญาเดิม จึงมาทำสัญญาประนอมหนี้โดยอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมให้ผูกพันตามเงื่อนไขใหม่ก็ได้เช่น ระยะเวลาการชำระหนี้ จำนวนเงินผ่อนในแต่ละงวด อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

หนังสือรับสภาพหนี้ และ สัญญาประนอมหนี้ ปกติจะต้องทำภายในอายุความเดิม เมื่อได้ทำหนังสือดังกล่าวย่อมทำให้อายุความสดุดหยุดลงโดยต้องนับอายุความกันใหม่ แต่ในกรณีที่ หนี้ขาดอายุความแล้ว หากตกลงที่จะทำหนังสือรับผิดชดใช้หนี้กันก็อาจจะเรียกหนังสือนี้ว่า หนังสือรับผิดรับใช้, หนังสือยอมรับผิดชำระหนี้, ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า หนังสือรับสภาพความรับผิด จะมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือดังกล่าว

มาตรา 193/28  การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย  แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้

มาตรา 193/35  ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-11-30 10:26:42


ความคิดเห็นที่ 2 (2433933)

รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ

หนังสือขอชำระหนี้แทน  หนังสือรับสภาพหนี้  ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่?  มูลหนี้เดิมของหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนี้ตามเช็คมีอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ มีอายุความ 2 ปี แต่หนังสือรับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นั้น ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความแล้วลูกหนี้มารับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่กรณีในคดีนี้ ลูกหนี้ไม่เคยเป็นหนี้เจ้าหนี้มาก่อนจึงไม่ใช่กรณีที่ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้มีอายุความ 10 ปี  
 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-11-30 12:22:12


ความคิดเห็นที่ 3 (2434786)

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

นายจ้างนำค่าจ้างมาหักหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้
(การหักกลบลบหนี้)
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  16802/2555

ป.พ.พ. มาตรา 344

        โจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่จำเลยจริงและยินยอมชดใช้หนี้นั้น หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้แล้ว เมื่อค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยมีจำนวนน้อยกว่าค่าเสียหายตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยจึงมีสิทธินำค่าจ้างที่ต้องชำระแก่โจทก์มาหักกับหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ได้

( พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - พิทยา บุญชู )
ศาลแรงงานกลาง - นายอนันต์ โรจนเนืองนิตย์

มาตรา 344  สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่ อนึ่งอายุความย่อมไม่ตัดรอนการหักกลบลบหนี้ แม้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว แต่ว่าในเวลาที่อาจจะหักกลบลบกับสิทธิเรียกร้องฝ่ายอื่นได้นั้น สิทธิยังไม่ขาด

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-12-05 13:37:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล