ReadyPlanet.com


เรื่องการซื้อขายที่ดินครับ


ท่านครับ อากรณ์แสตมป์ในการซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดไว้เลยหรือป่าวครับ ว่าต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้ขาย ถ้าเราจะตกลงกันให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ซื้อได้ไหมครับ แต่ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี่เปนความรับผิดชอบของผู้ขายใช่ไหมครับ รบกวนท่านด้วยครับ


ผู้ตั้งกระทู้ solo :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-28 17:22:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1978512)

มาตรา 457    ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย

แต่กฎหมายไม่ห้ามที่จะมีข้อตกลงกันเป็นอย่างอื่น

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-28 20:31:08


ความคิดเห็นที่ 2 (1978532)

ป.พ.พ. มาตรา 457 ใช้บังคับแก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ต้องชำระตาม ป.ที่ดินนั้น เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎร ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 104 บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายและมีลักษณะเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าในระหว่างผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วยกันนั้นฝ่ายใดตกลงเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนชำระค่าธรรมเนียมที่ขาดอยู่ทั้งหมด

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินจำนวน 259,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 129,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 1,300 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 259,800 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อ ผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย" บทกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งหากไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องออกเงินชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่ากันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ต้องชำระตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎรในการให้ราษฎรได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยบริบูรณ์ทางทะเบียน ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 104 บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยคำนวณตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามมาตรา 105 เบญจ อันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย และมีลักษณะเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าในระหว่างผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วยกันนั้นฝ่ายใดตกลงเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ดังนั้น จำเลยและบริษัททองหล่อแมนชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยหรือบริษัททองหล่อแมนชั่น จำกัด คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนชำระค่าธรรมเนียมที่ยังขาดอยู่ทั้งหมดได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 ที่จำเลยยกขึ้นอ้างไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมที่ขาดอยู่ทั้งหมดแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6315/2549)

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6315/2549 วันที่ตอบ 2009-08-28 21:22:45


ความคิดเห็นที่ 3 (1978534)

หากผู้ซื้อและผู้ขายมิได้ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ดินกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องออกค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 457 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขาย ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ โดยตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าให้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวคนละครึ่ง โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมตามฟ้องไม่ได้

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินคนละ 45,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองต่างชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์คนละครึ่ง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ในระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายวิวัฒน์สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ดินนั้น หากผู้ซื้อและผู้ขายมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 457 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย อันเป็นการกำหนดหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระค่าฤชาธรรมเนียมของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายไว้ ซึ่งต้องใช้บังคับแก่คู่สัญญาทุกฝ่ายและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย ดังนี้ โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการแก่ประชาชน จึงหามีอำนาจกำหนดให้ประชาชนต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ไม่ ส่วนกฎกระทรวงฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2522) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 (7) (ก) ที่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์เรียกตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ 2 ซึ่งใช้อยู่ในขณะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องในคดีนี้นั้น เป็นเพียงให้อำนาจทางราชการที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์ในอัตราเท่าใดเท่านั้น โจทก์จะนำมากล่าวอ้างเพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขาย ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ โดยตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าให้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวคนละครึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. 2 โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามฟ้องหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สมชาย จุลนิติ์ - มานะ ศุภวิริยกุล - ชาลี ทัพภวิมล )

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2548)

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2548 วันที่ตอบ 2009-08-28 21:30:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล