ReadyPlanet.com


ข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว


ข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร

ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป โดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ

ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล

ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ

(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้

(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

 



ผู้ตั้งกระทู้ ลีนนท์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-07 22:51:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1992464)

การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโดยอ้างข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8  ในเบื้องต้นโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ต้องข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นต้วตามที่โจทก์ฟ้องก่อน หากโจทก์สืบไม่ได้ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-07 22:58:18


ความคิดเห็นที่ 2 (1992466)

 โจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(4) ข้อ ข. บัญญัติเพื่อให้คาดคะเนไว้ก่อนว่าหากจำเลยมีพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้แสดงว่าจำเลยน่าจะไม่สามารถจะชำระหนี้ของตนได้ และตกเป็น ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าจำเลยกระทำการโดยเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้หรือไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าไปรษณีย์ตอบรับแจ้งว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ และทราบความ จากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ยังไม่พอฟังตามข้อสันนิษฐาน ดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย

          จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เงินต้นและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 409,205 บาท นายปกภพ ปานทองเสม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปทวงถามจำเลยที่บ้านไม่พบจำเลย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามทางไปรษณีย์ตอบรับส่งไปที่บ้านจำเลย เลขที่ 51/37 หมู่ที่ 1 ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านเลขที่ 198 ถนนเจริญรัก ตำบลคลองต้นไทร อำเภอคลองสาน กรุงเทพมหานครปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวส่งให้แก่จำเลยที่บ้านทั้งสองแห่งไม่ได้โดยไปรษณีย์ให้เหตุส่งไม่ได้ว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.14 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบจากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายรายไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปที่บ้านจำเลยตามสำเนาทะเบียนบ้านและภูมิลำเนาที่จำเลยให้ไว้แก่ธนาคาร แต่ส่งไม่ได้ไปรษณีย์ให้เหตุผลว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ จึงต้องตามข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8(4) ข้อ ข. แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติเพื่อให้คาดคะเนไว้ก่อนว่าหากจำเลยมีพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้แสดงว่าจำเลยน่าจะไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ และตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนี้โจทก์จึงต้องนำข้อเท็จจริงมาสืบให้เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า การมีพฤติการณ์หรือการกระทำของจำเลยตามมาตรา 8(4) ข้อ ข. นั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ ลำพังข้อเท็จจริงที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าไปรษณีย์ตอบรับแจ้งกลับมาว่า ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่และพยานทราบจากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายรายไม่สามารถชำระหนี้โจทก์ได้นั้น ยังไม่พอฟังตามข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4) ข้อ ข. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  429/2542

มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

....(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

....ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป โดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ


ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-07 23:07:07


ความคิดเห็นที่ 3 (1993184)

ไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งมีระยะห่างกันสามสิบวัน

โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวมสามครั้ง แต่ในการทวงถามสองครั้งแรก ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวมสามครั้ง แต่ในการทวงถามสองครั้งแรก ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น จำเลยชอบที่จะ ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามหนังสือทวงถามทั้งสองครั้งได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียวยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9)

  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ที่ให้นางอรุณช่วยทอง ชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีถ้านางอรุณไม่ชำระให้จำเลยชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ส่งคำบังคับให้นางอรุณและจำเลยทราบแล้ว แต่นางอรุณได้ถึงแก่กรรมโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ แต่ทายาทนางอรุณไม่ชำระ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันมากกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

          จำเลยให้การว่า โจทก์เพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้สืบหาทรัพย์หรือบังคับคดีเอาจากกองมรดกนางอรุณก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย จำเลยมีอาชีพการงานดีและมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลย ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าทนายความตามจำนวนที่เห็นสมควร

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 2ตุลาคม 2538 เอกสารหมาย จ.9 ครั้งที่สองตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2539 เอกสารหมาย จ.11 และครั้งที่สามลงวันที่ 22 ตุลาคม2539 เอกสารหมาย จ.7 หนังสือทวงถามครั้งแรกระบุว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 ให้นางอรุณชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทนายความของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังนางอรุณแล้วแต่นางอรุณไม่ยอมชำระและได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนำเงินตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่านางอรุณได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้โจทก์สามารถเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นอกจากนี้สำเนารายงานการเดินหมายเอกสารหมาย จ.16 ที่พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้นางอรุณก็ปรากฏว่านางอรุณได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายให้นางอรุณทราบคำบังคับแล้ว จึงถือไม่ได้ว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์ยังเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามครั้งแรก และทวงถามซ้ำตามหนังสือทวงถามครั้งที่สอง จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้ส่วนหนังสือทวงถามครั้งที่สามซึ่งเป็นการทวงถามหลังจากที่โจทก์ทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ และทายาทของนางอรุณไม่ชำระ แม้โจทก์จะปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาและจำเลยจะปฏิเสธการชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียว กรณีจึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-09 20:17:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล