ReadyPlanet.com


การจ่ายค่าชดเชยการลิกจ้างแบบมีระยะเวลา


เรียนท่านผู้มีความรู้ดานกฎหมาย

รบกวนให้คำปรึกษาและแนะนำในข้อกฎหมายด้วยครับ

พนักงานได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในโครงการก่อสร้างที่มีระยะเวลา โดยทำการต่อสัญญาเป็นช่วงๆ ละ 3 -6 เดือน แต่มีการต่อสัญญาต่อเนื่องมากกว่า 12 เดือน โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน (เงินได้1) และทางบริษัทได้ให้เงินตอบแทนกรณีพิเศษ สำหรับพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมและสอบผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน โดยผ่านการรับรองจากหน่วยงานภายนอก เป็นรายเดือน(เงินได้2) เท่ากันทุกเดือนหลังจากสอบผ่าน เนื่องจากเป็นความต้องการของเจ้าของงานที่ว่าจ้าง. แต่ไม่ได้นำเงินได้2 มาคิดในการคำนวณค่าตอบแทนล่วงเวลา.

คำถาม

1. บริษัทต้องการบอกเลิกจ้างพนักงาน  บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ในกรณีทำงานต่อเนื่องกันเกิน 1 ปีหรือไม่

2. การคิดรายได้สุดท้ายก่อนการเลิกจ้าง รวมเงินได้1 + เงินได้2 สำหรับจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

โฆสิต ทิพปภานาท



ผู้ตั้งกระทู้ kosit :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-21 11:51:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1997407)

1.  กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่เลิกจ้าง

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
 

การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
 

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
 

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

 

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
 

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

2. เงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนเพื่อตอบแทนในการทำงานถือเป็นค่าจ้างต้องนำมาคำนวณในการจ่ายค่าชดเชยด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-21 15:05:58


ความคิดเห็นที่ 2 (1998791)

ขอบคุณมากครับคุณลีนนท์ ผมขอถามเพิ่มเติมหน่อยนะครับ กรณีงานโครงการก่อสร้างที่มีการต่อสัญญาเป็นช่วงๆ ถือเป็นการว่าจ้างตามมาตรา118 วรรค3 ใช่ไหมครับ.

กรณีนี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้านายจ้างยินดีจ่ายค่าชดเชยจะต้องคำนวณตามข้อ 2 หรือ แล้วแต่ความกรุณาของนายจ้างใช่ไหมครับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น Kosit (kosit-at-stpi-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2009-10-26 10:41:37


ความคิดเห็นที่ 3 (1999113)

นายจ้างทำงานเป็นโครงการ ที่ต้องเสร็จภายใน 2 ปี ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ แต่หากเกิน 2 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 118 วรรค 4 แต่หากนายจ้างจงใจที่จะทำสัญญาเป็นช่วง ๆ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยครับ

แต่หากนายจ้างตกลงจ่ายค่าชดเชยให้แสดงว่านายจ้างทราบว่า นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่าย และจะต้องนำเงินได้ (2) มาคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยด้วย หากไม่ปฏิบัติก็ติดต่อพนักงานตรวจแรงงานได้เลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-26 22:58:22


ความคิดเห็นที่ 4 (1999119)

สัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ


นายจ้างมีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วง โดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่ามีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย  หากไม่ปรากฏว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลโดยจ้างในช่วงฤดูกาลนั้น จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสาม และวรรคสุดท้ายที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ๆ จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย


โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓

          จำเลยให้การว่า โจทก์จ้างนางสาวสุวรรณา ศักดิ์ศรีประดู่ชัย เป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๘ ตำแหน่งพนักงานธุรการ ปฏิบัติงานที่กองการเงิน การประปานครหลวง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕,๑๖๐ บาท โจทก์หมดสัญญากับการประปานครหลวงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ ประมาณปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ โจทก์บอกเลิกจ้างนางสาวสุวรรณาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ แต่เนื่องจากการประปานครหลวงต่อสัญญากับโจทก์จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ โจทก์จึงให้พนักงานของการประปานครหลวงเรียกนางสาวสุวรรณาซึ่งหยุดงานไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ กลับไปทำงานอีกตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ แล้วเลิกจ้างนางสาวสุวรรณา จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การที่โจทก์เลิกจ้างนางสาวสุวรรณาโดยที่นางสาวสุวรรณาไม่ได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่เคยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่นางสาวสุวรรณา โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ๓๐,๙๖๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕,๑๖๐ บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒,๐๖๔ บาท ให้แก่นางสาวสุวรรณา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างเพราะการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสุวรรณาตามคำสั่งที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓ ของจำเลยนั้น เห็นว่า สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาข้อ ๑ กำหนดว่า นายจ้างตกลงจ้างและลูกจ้างตกลงรับจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ เมื่อนางสาวสุวรรณาทำงานให้โจทก์ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างข้อ ๑ ดังกล่าว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสุวรรณา ส่วนค่าชดเชยนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณา โจทก์มีเจตนาที่จะจ้างนางสาวสุวรรณาให้ทำงานให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ แต่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วง โดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า นางสาวสุวรรณาไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่าโจทก์มีเจตนาไม่ให้นางสาวสุวรรณาลูกจ้างของโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๐ และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสุวรรณาไม่ปรากฏว่าเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลโดยจ้างในช่วงฤดูกาลนั้น จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสาม และวรรคสุดท้ายที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง เมื่อรวมระยะเวลาทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันแล้ว นางสาวสุวรรณาทำงานกับโจทก์ครบสามปี แต่ยังไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามมาตรา ๑๑๘ (๓) จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นางสาวสุวรรณาเป็นเงิน ๓๐,๙๖๐ บาท จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่นางสาวสุวรรณาเพราะพยานหลักฐานของจำเลยไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพยานจำเลยรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้จัดให้นางสาวสุวรรณาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สรุปแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๓ เฉพาะในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นางสาวสุวรรณา ศักดิ์ศรีประดู่ชัย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

 

 

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายจักรกฤช เจริญเลิศ

ศาลอุทธรณ์

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1821/2545
 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-26 23:29:45


ความคิดเห็นที่ 5 (1999128)

สัญญาจ้างงานในโครงการ

 

งานในโครงการเฉพาะที่กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จเกิน 2 ปีไม่ได้รับการยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย

จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท โดยในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี คำว่า งานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่

 

 

 

 คดีทั้งยี่สิบแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีอื่นอีกสองสำนวน ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไปแล้ว โดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 30 ตามลำดับ

          โจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหมด และจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งยี่สิบแปดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 162,900 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 73,800 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 75,000 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 60,000 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 14, 580 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 19,800 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 7,200 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 38,250 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 16,200 บาท โจทก์ที่ 18 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 27,000 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 22 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน 14,580 บาท โจทก์ที่ 24 จำนวน 18,000 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 14,850 บาท โจทก์ที่ 26 จำนวน 35,100 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน 31,500 บาท โจทก์ที่ 28 จำนวน 30,600 บาท โจทก์ที่ 29 จำนวน 14,580 บาท และแก่โจทก์ที่ 30 จำนวน 14,580 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 24 จำนวน 6,000 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 4,860 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า งานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำเป็นงานในโครงการเฉพาะ ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยทั้งสี่ และอุทธรณ์ว่าความในกฎหมายที่ว่า กำหนดระยะเวลางานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสี่ หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างไม่ได้หมายถึงงานที่นายจ้างจะต้องทำให้แล้วเสร็จนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ในวรรคสามบัญญัติว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น” และวรรคสี่บัญญัติว่า “การจ้างที่มีกำหนดเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง” จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท โดยในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี คำว่า งานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่ หากหมายถึงระยะเวลาการจ้างก็ต้องระบุไว้ในวรรคสามซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง การนำระยะเวลางานมากำหนดไว้ในวรรคสี่จึงทำให้เห็นได้ว่าหมายถึงระยะเวลาของงานทั้งสามประเภทนั่นเอง เมื่องานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จเกิน 2 ปี แม้จะเป็นงานในโครงการเฉพาะ จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้รับการยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่างานที่จำเลยทั้งสี่รับจ้างมาทำเป็นงานในโครงการเฉพาะหรือไม่

          ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 (ที่ถูกเป็น 2541) โดยไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสี่และไม่ได้ให้โอกาสจำเลยทั้งสี่คัดค้าน แล้วนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 อ้างในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับว่าได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ในอัตราดังกล่าวจริง จึงคิดเป็นค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 จำนวน 702,900 บาท แต่จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 540,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 อีก 162,900 บาท โดยไม่ให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่ 1 ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำสั่งและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การขอแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ไม่อาจกระทำได้แต่ฝ่ายเดียว ศาลแรงงานกลางจึงต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสคัดค้านเสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งอนุญาต และเมื่ออนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องได้แล้วก็จะต้องให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน จึงจะพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่โจทก์ที่ 1 ได้แก้ไขคำฟ้องได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21,181 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางนำข้ออ้างตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 มาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การปฏิเสธถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ยอมรับ แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 โดยคิดคำนวณจากค่าจ้างสุดท้ายตามอัตราดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้อง และยกคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เฉพาะประเด็นเรื่องจำนวนค่าชดเชย ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสคัดค้านก่อนที่จะพิจารณาสั่ง และดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นจำนวนค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 ใหม่ โดยให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่ 1 ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.


 

 

( จรัส พวงมณี - สละ เทศรำพรรณ - กมล เพียรพิทักษ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายนิรัตน์ จันทพัฒน์

 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2403 - 2430/2543

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-26 23:50:27


ความคิดเห็นที่ 6 (2004019)

กรณีที่จะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอนได้จะต้องเป็นงานเป็นโครงการที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสดได้ เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาว่าจ้างที่กำหนดไว้แล้วสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ในกรณีของ ผู้ถาม ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจ้างมีการต่อสัญญาว่าจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาคั้งละ 3 เดือน บ้าง 6 เดือนบ้างหลายครั้ง เช่นนี้ศาลแรงงานเห็นว่าสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนที่ทำกันไว้ ระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้นไม่ใช่สาระของสัญญาจ้างอีกต่อไป กลายเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เมื่อจะเลิกสัญญาจึงต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฏหมายด้วยครับ 

 

ส่วนประเด็นที่สองเรื่องจะนำเอาเงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นนำมาคำนวนเป็นค่าชดเชยด้วยเรือไม่นั้น
ถ้าเงินที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นนั้นเป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการมาทำงานตามปกติของลูกจ้างแล้ว ต้องนำมาคำนวนในการจ่ายเงินชดเชยด้วยครับ 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ปู่แรงงาน วันที่ตอบ 2009-11-07 09:17:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล