ReadyPlanet.com


ทรัพย์สินของสามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส


สามีได้รับบ้านและที่ดินจากบิดา ต่อมาสามีและดิฉันได้อยู่กินและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมา 15 ปีแล้ว โดยดิฉันได้จดทะเบียนสมรสกับสามีภายหลังได้ 8 ปี แล้วค่ะ  อยากทราบว่า ที่ดินดังกล่าวของสามีตกเป็นสินสมรสหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ จันทิรา :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-11 12:15:21


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2005507)

สินส่วนตัวก่อนจดทะเบียนสมรส

1.  บ้านและที่ดินที่บิดายกให้บุตรชายโดยเสน่หา ในขณะที่บุตรชายอยู่กินกับภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น บ้านและที่ดินที่ยกให้บุตรชายย่อมเป็นสินส่วนตัวของบุตรชายเพียงคนเดียวเท่านั้น แม้บ้านและที่ดินนั้นบุตรชายและภรรยาจะได้ทำกินและอยู่อาศัยร่วมกันตลอดมาก็ตาม

-----มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดย การให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น


2.  บ้านและที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะไม่มีโฉนด แต่มีเพียงสิทธิครอบครอง การอยู่กินฉันสามีภรรยา ย่อมไม่อาจถือได้ว่า ภรรยาได้เปลี่ยนเจตนาหรือลักษณะแห่งการครอบครองเป็นการยึดถือเพื่อตนอันทำให้ภรรยาเกิดสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินนั้นและไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมกัน

------มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

------มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบ ครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก


3.  สินสมรส นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น  ส่วนทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรส ก็ไม่อาจกลายเป็นสินสมรสได้ แม้คู่สมรสจะได้มีการจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็ตาม

-----มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว


ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส


คำพิพากษาที่  5736/2534

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงิน34,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้ผ่อนชำระเป็นรายปี จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 5388 ตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย และบ้านไม้ชั้นเดียวเลขที่ 23/1 หมู่ที่ 6 ตำบลเดียวกัน ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งเพื่อบังคับคดี

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยแต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โดยนายผัน ปราศัย บิดาผู้ร้องยกให้ผู้ร้องก่อนสมรสกับจำเลย หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และผู้ร้องมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

          โจทก์ให้การว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เพื่อให้ผู้ร้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และเลี้ยงดูครอบครัวทั้งผู้ร้องก็รู้เห็นและให้ความยินยอมโดยเป็นผู้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 5388 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยบ้านและที่พิพาท

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่า นายผัน ปราศัย บิดาผู้ร้องยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันย่อมถือได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามมาตรา 1471(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายผันยกที่ดินและบ้านพิพาทให้ผู้ร้องในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเป็นการยกให้ซึ่งการครอบครอง มิได้ทำเป็นหนังสือและผู้ร้องกับจำเลยก็ได้ทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมา จึงถือได้ว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอย่างเจ้าของร่วมกัน ที่ดินและบ้านพิพาทจึงตกเป็นของผู้ร้องกับจำเลยร่วมกัน เมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยมิได้จดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สิน ระบุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของใครก็ต้องถือว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 นั้น เห็นว่า การที่นายผันยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องในระหว่างที่ผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แม้ว่าจะเป็นเพียงการยกสิทธิครอบครองให้ โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และผู้ร้องกับจำเลยได้ทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้อง เพราะการที่จำเลยทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับผู้ร้องเนื่องจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเช่นนี้ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาหรือลักษณะแห่งการครอบครองเป็นการยึดถือเพื่อตน อันจักทำให้จำเลยเกิดสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่พิพาท ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ฎีกาอ้างข้อกฎหมายว่า เมื่อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ก่อนสมรส หลังจากที่จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 นั้น ก็เห็นว่ากรณีที่จะเป็นสินสมรสตามบทบัญญัติของมาตรา 1474 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้ทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรส กลายเป็นสินสมรสเมื่อได้มีการสมรสกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่าหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมนั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ได้

          พิพากษายืน.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-11 12:50:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล