ReadyPlanet.com


โอนขายบ้านและที่ดินภายในเวลา 3 เดือนก่อนถูกฟ้อง


ภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้ได้ขายบ้านและที่ดินให้บุคคลภายนอกไปโดยมีค่าตอบแทน ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะตามไปยึดหรืออายัดเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ Mrs. Queenn :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-10 05:31:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2005002)

ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขออายัดที่ดินที่ได้โอนไปเป็นของบุคคลอื่นแล้ว เว้นแต่จะได้มีการเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวก่อน ตราบใดที่ยังมิได้มีการเพิกถอนการโอน ผู้รับโอนก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ตราบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดที่ดินดังกล่าวได้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-10 05:36:00


ความคิดเห็นที่ 2 (2005003)

การยึดหรืออายัดที่ดินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้


1.  การที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้บุคคลภายนอกภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนฟ้องฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินนั้นได้

2.  ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินที่ได้โอนไปให้บุคคลภายนอก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดที่ดินดังกล่าวเข้ากองมรดกของลูกหนี้ได้

3.  การได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนของบุคคลภายนอกได้รับการคุ้มครอง

มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้

ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

มาตรา 116 บทบัญญัติในมาตรา 115 ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย


คำพิพากษาที่  912/2524

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดที่พิพาทซึ่งเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ผู้ร้องขอให้เพิกถอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ถอนการอายัด
          ผู้ร้องร้องว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้ขายที่พิพาทให้ ข. ก่อนลูกหนี้ถูกฟ้อง เป็นการกระทำโดยสุจริต มีค่าตอบแทน มิได้มุ่งหมายให้ผู้ซื้อได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นผู้ร้องซื้อที่พิพาทจาก ข. โดยสุจริตหลังจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจอายัดที่พิพาท ขอให้เพิกถอนการอายัดที่พิพาท

          เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ข. ได้รับโอนที่พิพาทจากลูกหนี้ที่ 1 ภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและในขณะที่ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้อื่นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าลูกหนี้มุ่งหมายที่จะให้ ข. ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นผู้ร้องรับโอนที่พิพาทจาก ข. มิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116

         ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่พิพาทได้ตามมาตรา 115 ก็ย่อมมีอำนาจอายัดที่พิพาทมีคำสั่งยกคำร้อง

        ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่พิพาท

          เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ได้เฉพาะแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา 19 ประกอบด้วยมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขออายัดที่ดินที่ได้โอนไปเป็นของบุคคลอื่นแล้ว เว้นแต่จะได้มีการเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวเสียก่อนเมื่อที่พิพาทมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนี้ ตราบใดที่การโอนที่พิพาทมิได้ถูกเพิกถอน ผู้ร้องก็ยังคงเป็นเจ้าของอยู่ตราบนั้น ที่พิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดที่พิพาท


          พิพากษายืน

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-10 05:51:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล