ReadyPlanet.com


จะซื้อบ้านมือสองพร้อมที่ดิน


ดิฉันกำลังจะซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ราคา 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) ทางผู้ขายเรียกให้วางเงินมัดจำ ยังไม่ทราบจำนวนเงินมัดจำค่ะ แต่ดิฉันจะต้องนำเอกสารต่างๆไปทำเรื่องกู้กับธนาคาร ประมารหนี่งเดือน ถ้ากู้ไม่ผ่านทางผู้ซื้อจะคืนเงินมัดจำให้เราไหมคะ



ผู้ตั้งกระทู้ แอม :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-09 02:36:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2004575)

เข้าใจว่าขณะนี้คุณยังไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายใช่หรือไม่ หากจะทำสัญญาจะซื้อจะขายก็ระบุให้ชัดเจนว่า หากผู้จะซื้อไม่สามารถกู้เงินหรือหาแหล่งเงินได้ ผู้จะขายยินยอมที่จะคืนเงินมัดจำคืนทั้งหมด

แต่ในทางปฏิบัติ ผู้จะขายเขาคงไม่ยอมครับ เพราะการหาเงินมาซื้อบ้านไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้จะขาย ดังนั้นส่วนใหญ่ ทางผู้จะขายจะระบุไว้ในสัญญาว่าให้ริบเงินมัดจำครับ เพราะเหตุผู้จะซื้อผิดสัญญาจะซื้อขายครับ

แต่อย่างไรก็ตามหากว่าเงินที่เรียกชื่อว่า มัดจำนั้น ผู้จะซื้อและผู้จะขายมีเจตนาให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเงินชำระค่าราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน ซึ่งอาจจะเป็นเงินดาวน์ อย่างนี้หากผู้จะซื้อพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าคู่สัญญามีเจตนากันดังกล่าว ผู้จะขายก็ต้องคืนบางส่วนหรือทั้งหมด แต่ไม่ตัดสิทธิผู้จะขายที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากการผิดสัญญาของอีกฝ่ายหนึ่งครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-09 08:52:02


ความคิดเห็นที่ 2 (2004582)

ข้อตกลงให้ริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้

 แม้ผู้จะซื้อ จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของผู้จะซื้อและผู้จะขายปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่ผู้จะซื้อผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้จะซื้อผิดสัญญาผู้จะขาย จะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้

 คำพิพากษาที่  9514/2544

   โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 147,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

      ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 มกราคม 2540)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน82,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

         จำเลยฎีก

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า เงินจำนวน 5,000 บาทเป็นเงินมัดจำ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า เงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายจำนวน 55,000 บาทและเงินดาวน์ที่ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท เป็นเงินมัดจำหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาทในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 ก็ตามแต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้นอกจากนี้ตามข้อ 9ของสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่า หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินชำระไว้แล้วทั้งหมดกับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวและโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลอื่นได้ด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินโจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิม ข้อตกลงให้ริบเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ โจทก์ผิดสัญญาหลังจากชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วถึง 147,000 บาท การที่จำเลยจะริบเงินจำนวนนี้ทั้งหมดทั้งที่จำเลยเพิ่งสร้างทาวน์เฮ้าส์ที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมจะโอนได้เมื่อเดือนกันยายน 2539 ที่เลิกสัญญานั้นเอง และประมาณต้นปี2540 จำเลยก็โอนกรรมสิทธิ์ขายให้บุคคลอื่นไปได้ เห็นว่า การกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับจำนวน 147,000 บาท นั้น มากเกินสมควรไป เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 60,000 บาท เท่ากับที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9ในเรื่องเดียวกันนี้อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหาก เป็นเงินครั้งละ 10,000 บาทก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อนจึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 09:09:19


ความคิดเห็นที่ 3 (2004613)

การบอกเลิกสัญญากับ การให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม

1. เมื่อตามสัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะซื้อขายและผู้จะซื้อมีหน้าที่รับโอนและชำระราคา หากคู่สัญญาฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา

2. เมื่อผู้จะขายมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จะซื้อชำระราคาที่ค้างกันอยู่ภายในเวลาอันสมควร มิฉะนั้นให้ถือเป็นการเลิกสัญญาต่อกัน  และผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวภายในระยะเวลาอันสมควรนั้น ดังนั้นหนังสือดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน มีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เสมือนไม่มีสัญญาเกิดขึ้น

3. เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากลูกหนี้เพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ได้   


4. การชำระเงินดาวน์ของผู้จะซื้อในวันทำสัญญา โดยไม่ใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญา แต่เป็นส่วนหนึ่งในการชำระราคาทรัพย์ล่วงหน้า จึงไม่ใช่มัดจำ ดังนั้นผู้จำขายจึงไม่มีสิทธิริบเงินดังกล่าวได้

คำพิพากษาที่  1336/2545

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2539 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายตึกแถวสามชั้นครึ่งหนึ่งคูหา เลขที่ 420/4 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 35823 ในราคา 3,200,000 บาท โจทก์ชำระเงินดาวน์จำนวน300,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา และชำระเงินให้แก่จำเลยอีก3 ครั้ง คือวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท วันที่30 มิถุนายน 2539 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท และวันที่ 3 ตุลาคม2539 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,200,000บาท ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถาม หากพ้นกำหนดดังกล่าวจำเลยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยริบเงินที่โจทก์ชำระไว้แล้ว ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ จำเลยต้องให้เวลาแก่โจทก์ตามสมควร การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 2,000,000 บาท ภายใน15 วัน ไม่เป็นการให้เวลาพอสมควรแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วเพราะไม่ใช่เงินมัดจำ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาและโจทก์ตกลงสนองรับ สัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกัน ทำให้คู่สัญญากับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่รับไว้จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 113,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,313,600 บาทขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 1,313,600 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ


          จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะตามสัญญามีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า เมื่อจำเลยสร้างตึกแถวเสร็จแล้วโจทก์ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยทันที จำเลยสร้างตึกแถวเสร็จตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539 และบอกกล่าวให้โจทก์ชำระราคาตามสัญญาหลายครั้งแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 จำเลยจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา แต่โจทก์เพิกเฉย ไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,100,000 บาท จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว ขอให้ยกฟ้อง


          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2539 จากต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน2539 จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 และจากต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2540 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 113,600 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2539 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 35823 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมตึกแถวสามชั้นครึ่งหนึ่งคูหากับจำเลยในราคา 3,200,000 บาท โจทก์ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 300,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อจำเลยปลูกสร้างตึกแถวเสร็จแล้ว แต่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หลังจากนั้นจำเลยได้ลงมือปลูกสร้างตึกแถวดังกล่าว ในระหว่างนั้นโจทก์ได้ชำระราคาตึกแถวพร้อมที่ดินแก่จำเลยอีก 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ชำระ200,000 บาท วันที่ 30 มิถุนายน 2539 ชำระ 300,000 บาท และวันที่3 ตุลาคม 2539 อันเป็นช่วงเวลาที่ตึกแถวแล้วเสร็จชำระอีก 400,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่ชำระราคาอีกเลยต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จประมาณ 10 เดือน จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจำเลยขอถือเอาหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วเสียทั้งสิ้นโจทก์ได้รับหนังสือฉบับนั้นแล้วเพิกเฉยไม่ชำระเงินแก่จำเลย แต่กลับมอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 แจ้งแก่จำเลยว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญากับจำเลยและขอให้จำเลยคืนเงิน 1,200,000 บาทแก่โจทก์


          คดีมีประเด็นข้อพิพาทมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้" และมาตรา 391 บัญญัติว่า "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่..." และความในวรรคสุดท้ายว่า "การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่" เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยตรงกันว่า จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์หาได้ชำระเงินจำนวนนั้นไม่ที่โจทก์แก้ฎีกาว่า การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ชำระเงินจำนวนสูงถึง 2,000,000 บาท แก่จำเลยโดยให้เวลาเพียง15 วัน ไม่เป็นการให้เวลาตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เบิกความรับว่านอกจากโจทก์ไม่ได้ชำระราคาตึกแถวพร้อมที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์ยังขอร้องให้จำเลยช่วยบอกขายตึกแถวดังกล่าวให้ด้วย คำเบิกความของโจทก์ในตอนนี้ตรงกับคำเบิกความของจำเลยที่ยืนยันว่า ในช่วงปลายปี 2539 หรือต้นปี 2540ไม่ได้ความชัด โจทก์ขอร้องให้จำเลยช่วยขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นซึ่งจำเลยรับปากว่าจะดำเนินการให้อีกทั้งรับว่าหากขายได้จำเลยจะคืนเงินที่ได้รับไว้แล้ว 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์ คำเบิกความของโจทก์และจำเลยในข้อนี้เป็นเครื่องชี้เจตนาของโจทก์ให้เห็นเด่นชัดว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลยมาตั้งแต่แรกที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จ หาใช่โจทก์ประสงค์จะปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเพราะจำเลยไม่ให้เวลาตามสมควรดังที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในคำแก้ฎีกาไม่ เมื่อพิเคราะห์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายเพิกเฉยไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นมา แม้จะได้ความว่าในช่วงเวลานั้นทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยจะสามารถจัดการขายตึกแถว พร้อมที่ดินให้เป็นผลสำเร็จได้โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินให้พร้อมเพื่อชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระอยู่อีก 2,000,000 บาท แก่จำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จและพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์เกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความระบุชัดว่า หากล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วันแล้วโจทก์ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือจำเลยขอถือเอาหนังสือฉบับนั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญา ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000บาท ภายในเวลาที่จำเลยกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายตึกแถวพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมเป็นอันเลิกกัน เมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น อันเป็นผลจากการที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจตกลงเลิกสัญญาต่อกันในภายหลังดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แม้โจทก์จะได้ชำระเงินดาวน์จำนวน 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน1,200,000 บาท ดังกล่าวให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นการให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นการประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ แล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลานั้น โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "...ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด โดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว" โดยผลแห่งการนี้ จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215การที่จำเลยให้การและฎีกาว่า จำเลยไม่จำต้องคืนเงิน 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ส่วนปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวไว้ทั้งจำนวนหรือไม่นั้น จำเลยเบิกความว่า การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หรือเท่ากับปีละ 350,000 บาท แต่ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามมาตรา 222 วรรคสอง เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงความเสียหายที่จำเลยจะได้รับจากการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีในหนี้เงิน 2,000,000 บาทไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของหนี้เงินในระหว่างที่ลูกหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี และเห็นสมควรให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 900,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 10:37:36


ความคิดเห็นที่ 4 (2004636)

มาตรา 378    มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 11:20:07


ความคิดเห็นที่ 5 (2004647)

การซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านโดยสัญญาแลกเปลี่ยนและชำระส่วนต่าง

1.  ผู้จะซื้อจะบอกเลิกสัญญาโดยถือเหตุว่าธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ให้ตนไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ขาย เว้นแต่จะมีข้อความระบุในสัญญาชัดแจ้ง

2.  เมื่อผู้จะซื้อไม่อาจชำระราคาค่าบ้านและที่ดินให้แก่ผู้จะขายได้ ดังนี้ผู้จะซื้อจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้จะขายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากผู้ซื้อผิดสัญญาได้

3.  การที่ผู้จะซื้อได้ได้มอบหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาแลกเปลี่ยนนั้น ดังนั้นการรับโอนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่ผู้รับโอนก็มีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าบ้านและที่ดินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งด้วย

4. ในสัญญาซื้อขายระบุว่าผู้จะซื้อมอบบ้านและที่ดินของตนเป็นค่ามัดจำในการซื้อบ้านและที่ดิน แต่ในความเป็นจริงยังไม่ได้มีการส่งมอบบ้านและที่ดินกัน บ้านและที่ดินจึงไม่ใช่มัดจำที่ฝ่ายผู้รับมัดจำจะริบได้

5. มาตรา 519    บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วยโดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบและเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น

คำพิพากษาที่  1056/2541

 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งกันและกัน โดยโจทก์จะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7225 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 196834 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่จำเลยจำนวน 1,075,000 บาท ต่อมาปรากฏว่าธนาคารที่จำเลยติดต่อขอกู้ยืมเงินและนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง ได้มีคำสั่งไม่อนุมัติวงเงินให้โจทก์ โจทก์จึงขอโฉนดคืนจากจำเลย แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำการโอนที่ดินไปเป็นชื่อของจำเลยแล้ว โดยอ้างว่าโจทก์ขายให้จำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 7225คืนแก่โจทก์ ให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเป็นชื่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7225 เป็นของจำเลยขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 7225ให้จำเลย ให้โจทก์และบริวารย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าวและบ้านเลขที่ 1952/90 หรือ 189 และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยเดือนละ 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยโอนบ้านและที่ดินเป็นของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำ จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์และจำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 7225เลขที่ดิน 3361 ตำบลคลองต้นไทร (บ้างไส้ไก่ฝั่งเหนือ)อำเภอคลองสาน กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7225 โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สำหรับคำขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นโจทก์ขอคัดคำพิพากษาที่รับรองถูกต้องไปดำเนินการได้อยู่แล้วจึงไม่บังคับให้ สำหรับฟ้องแย้งจำเลยให้ยกเสีย

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7225 เลขที่ดิน 3361ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสานกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1952/90 หรือ189 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 196834 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 27/526หมู่บ้านนภาลัย แขวงสี่แยกบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครวันที่ 27 พฤษภาคม 2535 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินและบ้านของจำเลยดังกล่าวในราคา 1,900,000 บาท ได้ทำสัญญาซื้อขายไว้โดยระบุในสัญญาว่าโจทก์ได้นำที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 1952/90ของโจทก์ซึ่งตีราคา 825,000 บาท มาวางเป็นมัดจำการซื้อขายดังกล่าว พร้อมกันนั้นโจทก์ก็ได้มอบโฉนดที่ดิน หนังสือมอบอำนาจสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยไว้วันที่ 11 มิถุนายน 2535 จำเลยได้ไปจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเป็นของจำเลย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า จำเลยทำการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า ในการที่โจทก์ทำสัญญาซื้อบ้านและที่ดินจากจำเลยนั้นได้มีการตกลงกันหรือไม่ว่า หากโจทก์กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันเลิกกันเห็นว่าหากมีการตกลงกันดังกล่าวจริงข้อตกลงดังกล่าวนี้นับว่าเป็นสาระสำคัญซึ่งคู่ความน่าจะได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายแต่ตามสัญญาซื้อขายไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุว่าหากโจทก์กู้ยืมเงินจากธนาคารไม่ได้ สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกัน ในการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าปลอมใบมอบอำนาจ โจทก์ก็ไม่ได้เบิกความเลยว่าได้ตกลงกับจำเลยว่าหากโจทก์กู้เงินจากธนาคารไม่ได้สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกันนางสิริกุล บุญปรีดา บุตรสาวโจทก์ซึ่งเป็นพยานในการซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์แต่เพียงว่าเมื่อโจทก์กู้เงินไม่ได้โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา โดยไม่ได้เบิกความเลยว่า มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าถ้าโจทก์กู้เงินไม่ได้สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกันดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่า มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยว่าหากโจทก์กู้เงินไม่ได้ การซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันยกเลิกกัน การที่จำเลยพาโจทก์ไปติดต่อกู้เงินจึงเป็นเพียงการช่วยเหลือแนะนำโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงอ้างเหตุที่กู้เงินไม่ได้มาบอกเลิกสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินกับจำเลยไม่ได้การที่จำเลยโอนบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยโดยอาศัยใบมอบอำนาจและหลักฐานที่โจทก์มอบไว้ให้โดยชอบ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้องได้หรือไม่เห็นว่า การที่จำเลยโอนบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยก็โดยโจทก์ได้มอบอำนาจให้โอนได้ จึงเป็นการกระทำโดยชอบ และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด กลับปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองที่ไม่อาจชำระค่าบ้านและที่ดินให้จำเลยได้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทไม่ได้ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น มีปัญหาว่าจำเลยจะริบบ้านและที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นมัดจำได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ในสัญญาซื้อขายเอกสาร จ.4 จะระบุว่ามอบบ้านและที่ดินพิพาทเป็นมัดจำโดยตีราคา825,000 บาท แต่โจทก์ก็ยังมิได้ส่งมอบบ้านให้จำเลยแต่อย่างใดบ้านและที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่มัดจำซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงริบบ้านและที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมัดจำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการที่โจทก์จำเลยต่างจะต้องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้กันและกันนั้นเข้าลักษณะเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันซึ่งจะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 518 ถึงมาตรา 520 โดยให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดินพิพาทส่วนโจทก์เป็นผู้ขาย ดังนั้น เมื่อจำเลยโอนบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่ที่จะต้องชำระราคาบ้านและที่ดินพิพาทให้โจทก์เช่นกัน

          ปัญหาว่าจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ตามฟ้องแย้งได้หรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปโอนบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยนั้นก็เพื่อเป็นการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วนที่โจทก์ซื้อจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แต่ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่อาจหาเงินมาชำระราคาบ้านและที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยได้โจทก์จึงไม่ยอมซื้อบ้านและที่ดินจำเลย ดังนั้นจึงนำราคาบ้านและที่ดินพิพาทหักชำระราคาบ้านและที่ดินที่โจทก์จะซื้อจากจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงต้องชำระราคาบ้านและที่ดินพิพาทให้โจทก์ ซึ่งคู่ความตีราคาบ้านและที่ดินพิพาทเป็นเงิน 825,000 บาทเมื่อจำเลยไม่ชำระราคาบ้านและที่ดินพิพาทให้โจทก์ การที่โจทก์ไม่ส่งมอบบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยจึงฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาทไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ไม่ไปโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาซื้อขาย และไม่ชำระราคาบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยนั้น จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายส่วนนี้มาด้วยศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 12:13:35


ความคิดเห็นที่ 6 (2004707)

สิทธิริบเงินมัดจำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

1.  ผู้ขายรถยนต์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อรถยนต์ที่ระบุว่า ผู้ซื้อรับโทรศัพท์มือถือฟรี พร้อมประกันภัยชั้น 1เพราะข้อความตามแผ่นปลิวโฆษณาดังกล่าวถือว่าเป็นเงื่อนไขในการเสนอขาย

2.  การที่ผู้ขายไม่ส่งมอบโทรศัพท์มือถือและจัดให้มีประกันภัยชั้น 1 ตามแผ่นปลิว จึงเป็นการที่ผู้ขายไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องจึงเป็นการผิดสัญญาต่อผู้ซื้อ ดังนี้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และเมื่อสัญญาซื้อขายเลิกกันแล้วมีผลทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ขายรถยนต์ต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ซื้อ

3. การที่ผู้ขายรับรถยนต์ไว้แก้ไขความชำรุดบกพร่องแล้วไม่ส่งคืนให้ผู้ซื้อโดยผู้ขายจะอ้างว่า มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์เพราะเหตุ ผู้ซื้อยังไม่ชำระเงินดาวน์นั้นไม่ชอบ หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ขายที่จะก่อให้ผู้ขายมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ได้นั้นต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบ แม้ผู้ซื้อจะเป็นผู้ผิดสัญญาไม่ชำระเงินดาวน์ก็ตาม หากผู้ซื้อผิดนัดดังกล่าว ผู้ขายก็มีสิทธิริบเงินมัดจำตามกฎหมายได้อยู่แล้ว เว้นแต่จะได้กำหนดไว้ในสัญญา

4.  การที่ผู้ซื้อได้ครอบครองและใช้รถยนต์ก่อน ผู้ขายได้ยึดหน่วงแล้วเป็นเวลา 1 เดือนนั้น ผู้ซื้อต้องชำระค่าใช้ทรัพย์ (รถยนต์) ให้ตามสมควร ตามมาตรา 391 วรรคสาม ......"ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น" 

5. เมื่อไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ ผู้ขายก็ต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ซื้อตามมาตรา 378 (3)   มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
    ....(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาที่  7705/2544

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ตกลงขายรถยนต์ยี่ห้อ บี เอ็ม ดับเบิลยู รุ่น 525 ไอ เอ สีน้ำเงิน ให้แก่โจทก์ในราคา1,970,000 บาท โจทก์ตกลงชำระเงินดาวน์ 590,000 บาท โดยวางเงินมัดจำ300,000 บาท ในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลืออีก 290,000 บาท โจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง ให้แก่จำเลยทั้งสามราคาส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันที่จำเลยทั้งสามจัดการให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัดได้สำเร็จ การซื้อขายดังกล่าวจำเลยทั้งสามตกลงติดตั้งอุปกรณ์ภายในรถยนต์ พร้อมทั้งส่งมอบโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และจัดทำประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่งให้โจทก์ฟรีเป็นเวลา1 ปี ให้เสร็จสิ้นก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์แล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสามดำเนินการตามข้อตกลง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ประกอบกับรถยนต์คันดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์และสี โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามแก้ไขข้อบกพร่อง จำเลยทั้งสามรับรถยนต์กลับไปแก้ไขเมื่อวันที่ 28 มกราคม2540 แล้วไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์อีกเลย โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสามและให้คืนเงินมัดจำ 300,000 บาท จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 301,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามคืนเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง หมายเลข 2469830 ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม2540 (ที่ถูก 3 มกราคม 2540) จำนวนเงิน 290,000 บาท แก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 301,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 8 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 คืนเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง หมายเลขเช็ค 2469830 ฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540สั่งจ่ายเงิน 290,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

          จำเลยที่ 3 อุทธรณ์       ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน182,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์

        จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่าจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์และต้องคืนมัดจำให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 3 ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท ตามเอกสารหมาย จ.3และโจทก์ได้รับมอบรถยนต์พิพาทไว้ในครอบครองในวันทำสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.7 ที่ว่า "จองวันนี้รับฟรีโทรศัพท์มือถือโทรฟรีทั่วไทย บี.เอ็ม.ดับบลิว/เปอโยต์ ลักกี้เดย์ ทุกรุ่นทุกแบบผ่อนฟรีไม่มีดอกเบี้ย แถมประกันภัยชั้น 1 ฟรี" ซึ่งข้อความตามแผ่นปลิวโฆษณาดังกล่าวถือว่าเป็นเงื่อนไขในข้อเสนอขายของจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์เข้าสนองตอบตามข้อเสนอขาย โดยเข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 จึงต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือและทำสัญญาประกันภัยชั้นหนึ่งให้แก่รถยนต์พิพาททั้งต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ด้วย การผ่อนชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในข้อเสนอขายดังกล่าวและต้องส่งมอบรถยนต์พิพาทในสภาพที่ไม่มีความชำรุดบกพร่อง แต่เมื่อโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ให้ถูกต้องครบถ้วน ในวันที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทตามข้อเสนอเชิญชวนที่กำหนดไว้ในแผ่นปลิวโฆษณาแต่อย่างใด ทั้งต่อมายังนำรถยนต์พิพาทกลับไปไว้ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 ไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์ได้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาทตามสัญญาซื้อขาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์และต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาททั้งฟ้องคดีนี้จึงถือได้ว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทเลิกกันโดยปริยาย อันมีผลให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งเมื่อจำเลยที่ 3 รับรถยนต์พิพาทกลับคืนมาไว้ในความครอบครองแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อเสนอเชิญชวนไว้ในแผ่นปลิวโฆษณาให้แก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(3)ส่วนการที่โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาทก่อนที่จำเลยที่ 3 จะนำกลับคืนไปเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร และจำเลยที่ 3 เสียค่าจ้างในการซ่อมแซมรถยนต์พิพาทให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าใช้ทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และค่าเสียหายอันเกิดจากจำเลยที่ 3 ซ่อมแซมรถยนต์พิพาทเป็นเงิน 18,000 บาท นั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ผิดสัญญาในเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องของแถมและมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาทไว้เพื่อให้โจทก์ชำระเงินดาวน์จำนวน 290,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเสียก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์เข้าจองซื้อรถยนต์พิพาทตามข้อเสนอชวนเชิญให้จองซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 โดยทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว ก็เป็นที่เข้าใจตามแผ่นปลิวโฆษณาว่าจำเลยที่ 3 ต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และจัดทำประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่งให้แก่โจทก์ทันทีที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท หาใช่เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายกันอีกดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันทีที่โจทก์จองซื้อรถยนต์พิพาท และกรณีที่จำเลยที่ 3 นำรถยนต์คืนมาจากโจทก์เพื่อตรวจเช็คสภาพตามเวลาและระยะทางแต่ไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงเพื่อให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ส่วนที่เหลือนั้น เห็นว่า หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยรถยนต์พิพาทซึ่งครองอันจะก่อสิทธิแก่จำเลยที่ 3ที่จะยึดหน่วงรถยนต์พิพาทไว้ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 เท่านั้น การชำระเงินดาวน์ของโจทก์ต่อจำเลยที่ 3หาใช่หนี้ที่จะก่อให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาทไว้ดังที่จำเลยที่ 3ฎีกาไม่ เพราะการที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาทตามสัญญาหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญาซึ่งจำเลยที่ 3 มีสิทธิริบเงินมัดจำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หามีสิทธินำรถยนต์พิพาทกลับมาไว้ในครอบครองเพื่อบังคับให้โจทก์ชำระหนี้โดยที่ไม่มีข้อสัญญากำหนดให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 13:58:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล