ReadyPlanet.com


ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่มีเจ้าหนี้รายอื่นมาฟ้องลูกหนี้อีก


ในกรณีที่ ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องในคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว  และต่อมา ลูกหนี้คนเดิมนี้ ถูกเจ้าหนี้รายอื่นนำหนี้คนละรายมาฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง อย่างนี้ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ พิชัยดาบ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-09 00:04:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2004562)

ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้รายอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้

ก่อนเจ้าหนี้รายนี้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าหนี้อื่นได้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดในคดีดังกล่าวแล้ว ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีของเจ้าหนี้รายหลังนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้แล้วหรือไม่ของโจทก์หรือไม่

คำพิพากษาที่  5358/2534

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์อยู่จำนวน542,472.48 บาท จำเลยเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิพากษาให้จำเลยล้มละลาย

          จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า จำเลยได้ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.749/2531 ของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกเสียจากสารบบความ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15หมายความว่า กรณีที่ศาลสั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ให้จำหน่ายคดีซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องไว้เสียโดยมิต้องคำนึงถึงว่าคดีอื่นนั้นศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเวลาต่อมาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยได้ถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่งและคดีนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า มาตรา 15 ดังกล่าวก็หาได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า คำว่าเจ้าหนี้อื่นนั้นหมายความรวมถึงเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบด้วย ทั้งมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหนี้อื่น ๆ นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 15 ดังกล่าวมิได้บัญญัติยกเว้นถึงเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและจังกอบไว้เป็นพิเศษ จึงต้องรวมอยู่ในความหมายของคำว่า "เจ้าหนี้อื่น" ทั้งบทบัญญัติในมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็เป็นกรณีที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องและคนละขั้นตอนกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 08:22:37


ความคิดเห็นที่ 2 (2004563)

ผลของการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ขณะเจ้าหนี้ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายในคดีนี้  ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในอีกคดีหนึ่ง ของศาลชั้นต้นไปก่อนแล้ว  คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังกล่าวก็ยังมีผลอยู่ และใช้ยันแก่แจ้าหนี้ได้ จึงต้องจำหน่ายคดีลูกหนี้ในคดีนี้ออกจากสารบบความตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15

มาตรา 15 ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

 คำพิพากษาที่  279/2538

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำนวน 14,688,949.70 บาท และจำเลยที่ 1ยังเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 6 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยทั้งสี่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์จำนวนทั้งสิ้น 115,399,477.71 บาทจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 100,710,528.01 บาทขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลาย

          จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การ

          ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์แถลงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.7/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความและให้พิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 4 ต่อไป

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายจะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2และที่ 3 ออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันไม่ใช่ลูกหนี้หนี้ค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ไม่ใช่หนี้ประธาน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีนี้ คือ บริษัทยางพาราไทยกิจร่วมทุน จำกัดสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7/2536ของศาลชั้นต้น คือ บริษัทยางพาราเทพส่ง จำกัด ซึ่งเป็นคนละคนกันและเจ้าหนี้ในคดีนี้กับเจ้าหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7/2536 ของศาลชั้นต้นเป็นคนเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงควรพิจารณาคดีของโจทก์ต่อไป ไม่ชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความนั้น เห็นว่า ขณะโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ล้มละลายในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7/2536 ของศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2536 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ในคดีนี้กับโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7/2536 จะเป็นคนเดียวกัน คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังกล่าวจึงยังมีผลอยู่ และใช้ยันแก่โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จึงต้องจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15 ส่วนที่โจทก์จะดำเนินการขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อย่างใดและความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอยู่ในฐานะใดเป็นคนละเรื่องและคนละขั้นตอนกับคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความชอบแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-09 08:23:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล