ReadyPlanet.com


ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายคืออะไร?


เมื่อมี การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ในคดีความผิดส่วนตัวเช่น ยักยอกทรัพย์ การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฏหมาย คืออะไร? และต้องทำอย่างไร?บ้างคะ (หากมีตัวอย่างได้ก็ดีนะคะ)

   สุดท้ายขอให้ทนาย มีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไปนะคะ...



ผู้ตั้งกระทู้ ลินดา :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-24 16:08:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1998524)

การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเป็นการยอมความกันในคดีอาญา

โดยผู้เสียหายสละสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องผู้ต้องหาหรือจำเลยในทางอาญา

 

อ่านบทความประกอบ

..... การยอมความกันในส่วนแพ่ง ถ้าไมมีความว่าตกลงยอมความในส่วนของอาญาด้วย ย่อมไม่ทำให้คดีอาญาระงับไป

 ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ วรรคสองที่ว่า

 "คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย"

 และความในมาตรา ๓๗ ที่ว่า

 "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้...........

 (๒) ในความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือ ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย"

 การยอมความในที่นี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาเท่านั้นเพราะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา หาใช่เป็นการยอมความในคดีแพ่งไม่

 ดังนั้น เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ตามกฎหมาย การที่คู่กรณีได้ยอมความกันทางอาญา โดยอาจตกลงยอมระงับคดีกัน ต้องถือว่าคดีอาญาย่อมระงับไป และรวมไปถึงบทอื่นอันเป็นกรรมเดียวกันนั้น ก็ระงับไปด้วย (ฎีกาที่ ๔๔/๒๔๘๕,ที่ ๗๔/๒๔๙๒,ที่๑๖๕๕/๒๔๙๙,ที่ ๒๗๐/๒๕๐๒, ที่๑๔๓๓/๒๕๐๖, ที่๒๕๓/๒๕๒๐,ที่๙๘๒/๒๕๒๐, ที่ ๗๓/๒๕๒๓, ที่๖๗/๒๕๒๔, ที่๓๕๑๖/๒๕๒๕,๓๕๒/๒๕๓๒ ๒๕๓๒ ฎส. ๕๓, ที่ ๙๘๐/๒๕๓๓ ๒๕๓๓ ฎส. ๓๑)แต่ต้องตกลงยอมความทางอาญาโดยชัดแจ้ง หากไม่ชัดแจ้งก็ถือว่ายังไม่ยอมความกัน เช่น เพียงแต่พูดขอโทษไม่ให้เอาเรื่อง ก็ว่าแล้วกันไปอย่าพูดให้เสียหายยังไม่ถือว่ายอมความกัน เพราะมิได้พูดว่าจะไม่ดำเนินคดี สิทธินำคดีอาญาฟ้องจึงไม่ระงับ (ฎีกาที่ ๓๐๓๘/๒๕๓๑ ๒๕๓๑ ฎส. ๙๘)

 หากคู่สัญญาทำการยอมความกันในคดีแพ่ง ต้องมีความมุ่งหมายจะให้ระงับคดีในทางอาญาด้วย สิทธิจะนำคดีอาญามาฟ้องจึงจะระงับไป (ฎีกาที่ ๓๖๑/๒๕๐๓)ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหลักฐานเป็นหนังสือ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเหมือนกัน (ฎีกาที่ ๔๗๖/๒๕๐๘)และแม้ในสัญญายอมจะมิได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ข้อหาทางอาญาไปก็ตาม แต่ตามรูปคดีพอถือได้ว่า ได้ทำสัญญากันโดยมุ่งประสงค์ให้ข้อหาทางอาญาระงับไป เมื่อคดีความผิดต่อส่วนตัว ก็มีผลทำให้สิทธิที่จะนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป (ฎีกาที่ ๑๖๐๕/๒๕๐๘) ถือว่าเป็นการยอมความทางอาญาโดยปริยาย เหมือนกับในอีกเรื่องหนึ่งที่ว่า เป็นหนี้กันหลายราย มีอยู่รวมหนึ่งที่รับมอบไปแล้วยักยอกเสีย ต่อมาถึงทำสัญญากันโดยฝ่ายยักยอกยอมโอนโรงงานให้และอีกฝ่ายยอมยอเลิกเงินที่เป็นหนี้ทั้งหมดรวมทั้งเงินยักยอกด้วย เช่นนี้จะฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกหรือคดีแพ่งอีกไม่ได้ เพราะเป็นการยินยอมไม่ว่ากล่าวในเงิน รายนี้ต่อกันแล้ว (ฎีกาที่ ๑๐๒๒/๒๔๙๑)หรือออกเช็คชำระหนี้ให้ เท่ากับ มีพฤติการณ์ไม่ดำเนินคดีฉ้อโกงแล้ว (ฎีกาที่ ๓๕๓/๒๕๓๒ ๒๕๓๒ ฎส. ๑๑, ที่ ๓๖๓๐/๒๕๓๒ ๒๕๓๒ ฎส. ๑๙๕)

 แต่หากการประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่ง โดยไม่ปรากฏว่าได้แสดงความประสงค์ ที่จะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญา จะถือว่าสิทธิดำเนินคดีอาญาระงับได้ด้วยหาได้ไม่ การยอมความในคดีแพ่งนี้จะมีผลให้คดีอาญาระงับไปนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อกันด้วย (ฎีกาที่ ๔๘๐/๒๕๑๘) ดังนั้นในความผิดฐานยักยอก เพียงแต่ได้ส่งเงินไปใช้ให้โดยไม่ปรากฏว่ามีการทำความตกลงระงับข้อพิพาทต่อกัน ถือว่ายังมิใช่การยอมความ กันโดยถูกต้องตามกฎหมายไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป (ฎีกาที่ ๑๖๓๓/๒๕๑๔)หรือยินดีที่จะชดใช้น้ำตาลที่ขาดหายไป ก็ไม่มีลักษณะเป็นการยอมความในคดีอาญา (ฎีกาที่ ๓๔๔/๒๔๙๕)หรือบิดามารดาเพียงแต่ยอมรับขมา ๒,๐๐๐ บาท เพื่อให้ได้ตัวหญิงคืนมาและเพื่อล้างอายถือไม่ได้ว่าได้ยอมความในความผิดข่มขืนกระทำชำเราหญิง (ฎีกาที่ ๒๐๐/๒๕๐๘)

 ดังนั้นการที่จะถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญานั้นจะต้องมีความแน่นอนชัดเจน แม้จะเป็นเรื่องยอมความทางอาญาโดยปริยายก็ต้องมีความชัดเจนจนเห็นได้ว่าไม่มีการยอมความ กันในทางอาญาอย่างแท้จริง โดยดูความประสงค์ของคู่กรณีเป็นสำคัญ แต่หากยังไม่ชัดเจนที่จะถือว่าเลิกคดีอาญาต่อกันแล้วก็ต้องถือว่าคดีอาญานั้นหาได้ระงับไปไม่ ทั้งนี้ต้องคำนึงเสมอว่า คดี อาญานั้นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จะให้ระงับไป จะต้องมีความชัดเจน แน่นอนเพียงพอ เรียกได้ว่าต้องได้ "ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย" ตามที่เป็นถ้อยคำ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒)ทีเดียว หากไม่ได้ตกลงกันแน่นอนว่าเลิกคดีอาญากัน ก็ต้องถือว่ายังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากการวินิจฉัยต่อไปนี้

 ได้ทำบันทึกตกลงกันไว้ว่า ถ้าจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายภายในกำหนดผู้เสียหาย ก็จะไม่เอาเรื่องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา มิใช่เป็นการยอมความโดยสิ้นเชิงหากแต่เป็นการยอมความโดยมีเงื่อนไข การยอมความในลักษณะเช่นนี้จะมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปต่อเมื่อจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว (ฎีกาที่ ๑๕๐๐/๒๕๓๖,๒๕๓๖ ฎส.๑๐๐)หรือ.

 การที่โจทย์ร่วมตกลงว่าไม่ประสงค์ที่จะให้พนังกานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด ๒ เดือนถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมิได้ตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป แต่จะไม่ดำเนินคดีต่อเมื่อจำเลยออกไปจามที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ (ฎีกาที่ ๔๐๓๔/๒๕๓๔ ๒๕๓๔ ฎส.๒๐๙)

 เหล่านี้ก็พอจะเห็นได้ว่า การยอมความโดยมีเงื่อนไขนั้น ต้องถือว่า หากไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการยอมความก็ยังไม่สำเร็จลงเท่ากับว่า ยังไม่มีการยอมความกันโดยถูกต้อง ตามกฎหมายนั่นเอง เพราะเมื่อเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ สัญญาก็ยังไม่มีผลเรียกได้ว่า ยังไม่เกิดสัญญายอมความขึ้น ต้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นจึงจะถือได้ว่าเป็นสัญญายอมความทางอาญาโดยสมบูรณ์

 การแปลความเช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ตรงกับเจตนารมณ์ของคู่กรณีซึ่งถือว่าเจตนาอันแสดงความประสงค์ของคู่กรณีมีความสำคัญยิ่งมิฉะนั้นแล้วก็จะหาทางเลี่ยงการยอมความโดยมีเงื่อนไขนี้ให้ต้องหลุดพ้นจากคดีอาญาไปอันไม่ใช่ความประสงค์ของกฎหมายในเรื่องนี้

 สภาพของการยอมความทางอาญาที่มีความชัดเจนนี้ จึงเป็นบทเรียนของผู้ยอมความว่า หากจะให้พ้นคดีอาญาแล้ว การชดใช้เงินในทางแพ่งต่อกัน เมื่อไมใช่ความผิดเกี่ยวกับ เช็คแล้วจะต้องตกลงเลิกคดีสัญญาต่อกันให้ชัดเจนไว้ การเลิกคดีอาญาต่อกันโดยชัดเจนนี้ควรจะต้องทำเป็นหนังสือบันทึกให้ชัดในเรื่องเลิกคดีอาญาต่อกันด้วย แต่หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือ การยอมความในทางอาญาก็อาจจะพูดจากันว่าตกลงเลิกคดีอาญาต่อกัน เมื่อมีพยานรู้เห็นยืนยันได้ชัดเจน ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกันเพราะการยอมความในทางอาญา กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงสามารถยอมความกันด้วยวาจาได้ ซึ่งก็ทำให้คดีอาญาเลิกกันได้เหมือนกัน

 เรื่องการยอมความในทางอาญานี้มีลักษณะที่ซับซ้อนมาก และมีปัญหาในรายละเอียด อยู่เสมอ จึงต้องพิเคราะห์ดูข้อเท็จจริงให้ชัดเจนและการวินิจฉัยก็มีแนวโน้มที่มุ่งไปในทางเจตนา อันแท้จริงของคู่กรณีเป็นสำคัญ ซึ่งต่อไปอาจจะมีการขยายขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้นอีก เมื่อคดีอาญาเกิดขึ้นมากในขณะนี้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-25 10:37:25


ความคิดเห็นที่ 2 (1998531)

ยังไม่ถือว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3038/2531


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้าย ใช้มือจับนมนางสาววรรณา การะเกตุ ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278

           จำเลยให้การปฏิเสธ

           ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 3 เดือน

           จำเลยอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

           โจทก์ฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้เสียหายพูดว่าแล้วกันไปแต่อย่าไปพูดให้เสียหาย และเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตอนแรกผู้เสียหายให้อภัยจำเลยแล้วไม่อยากเอาเรื่อง และตอบโจทก์ถามติงว่า เดิมผู้เสียหายไม่ตั้งใจจะเอาเรื่องจำเลยเนื่องจากจำเลยขอโทษผู้เสียหายและเกรงจะเป็นเรื่องทำให้ผู้เสียหายอับอายเป็นการส่อแสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้เสียหายพูดกับจำเลยดังกล่าวเป็นการให้อภัยแก่จำเลยเมื่อจำเลยได้ขอโทษผู้เสียหายแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ยังไม่ถือว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผู้เสียหายมิได้พูดว่าจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยตลอดไปแต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้เสียหายจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยต่อเมื่อจำเลยไม่ไปพูดให้เสียหายดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

           พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากจำเลยอายุยังน้อย ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและกำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นคนดีต่อไป สมควรรอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี.

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-10-25 10:58:15


ความคิดเห็นที่ 3 (1998534)

ในคดีความผิดต่อส่วนตัวถ้าได้มีการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  361/2503

ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมจำเลยออกเช็คเงิน 64,000 บาท ให้ผู้เสียหาย 1 ฉบับ กำหนดยื่นเช็คต่อธนาคารขอรับเงินใน 10 เดือนครั้นถึงกำหนดผู้เสียหายเอาเช็คไปขึ้นเงินธนาคารไม่จ่ายเงินผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลยนายย่งตุ้นมาเจรจาขอให้ผู้เสียหายประนีประนอม ผู้เสียหายให้โอกาสจำเลยผัดไป 6 เดือน โดยจำเลยออกเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหายแต่ถึงกำหนดเช็คฉบับใหม่นี้ก็ขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้อีกเนื่องจากจำเลยไม่มีเงินในธนาคาร ผู้เสียหายจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เรียกเงินตามเช็ค ในคดีแพ่งคู่กรณีได้ประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำยอมแต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ผู้เสียหายก็ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและแล้วอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในเรื่องนี้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานออกเช็คไม่มีเงินตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

           ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างให้ปรับ 2 เท่าราคาเงินที่ระบุในเช็คเป็นเงิน 128,000 บาทถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขัง แทนค่าปรับมีกำหนด 1 ปี 6 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยได้ประนีประนอมยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ได้บัญญัติว่า ในคดีความผิดต่อส่วนตัวถ้าได้มีการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้เกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา แต่ก็ปรากฏว่า ผู้เสียหายเคยร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ตกลงให้จำเลยออกเช็คให้ใหม่ ครั้นไม่ได้รับชำระอีกผู้เสียหายก็ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ไม่ได้ดำเนินทางอาญา ต่อมาได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน ให้จำเลยชำระเงินภายใน 15 วัน นับจากวันทำยอมในคดีแพ่งดังกล่าวเสียแล้ว แม้ในสัญญายอมตามที่ผู้เสียหายและจำเลยกระทำกันในคดีแพ่งนี้ จะไม่ได้พูดถึงทางอาญาเลย แต่ตามพฤติการณ์ต่าง ๆที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ปฏิบัติต่อกันมาดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า มุ่งหมายจะให้ระงับคดีในทางอาญาด้วย ฉะนั้น แม้ผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเช็ครายนี้แก่จำเลยอีกก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติว่า เป็นความผิดต่อส่วนตัวการที่ผู้เสียหายกับจำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันในกรณีนี้จึงมีผลทำให้สิทธิที่จะนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ศาลฎีกาพิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-10-25 11:27:20


ความคิดเห็นที่ 4 (1998608)

   ขอบคุณมากคะ ที่ให้ความรู้และคำแนะนำ ขอให้ผู้แนะนำมีความสุขและสมหวังตลอดไปนะคะ....

ผู้แสดงความคิดเห็น ลินดา วันที่ตอบ 2009-10-25 18:25:52


ความคิดเห็นที่ 5 (2000385)

เรียน คุณลีนนท์ ที่เคารพ

ขอถามว่า คดีเช็ค ที่ฟ้องทั้งอาญา และแพ่ง  ต่อมาถึงเวลาสืบพยานในชั้นศาล จำเลยยอมคืนเงินให้โดยทำข้อตกลงกันว่าจะผ่อนให้เป็นรายเดือน แต่จะให้โจทก์ถอนฟ้อง ทั้งแพ่งและอาญา  โจทก์ควรทำอย่างไรให้รัดกุม เพราะศาลเลื่อนเวลาให้ตกลงกัน 2 เดือน

ถามว่า ถ้าโจทก์ถอนฟ้องแล้ว  จำเลยจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง  จะยกคดีขึ้นมาฟ้องใหม่ได้หรือไม่

ขอขอบคุณ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น 99999 วันที่ตอบ 2009-10-29 09:30:34


ความคิดเห็นที่ 6 (2000426)

ขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในตคดีอาญาไปก่อน หากชำระเสร็จก็ถอนในวันอ่านคำพิพากษาครับ ส่วนคดีแพ่งก็ไม่ต้องถอนเพราะเมื่อเป็นหนี้จริง และได้ชำระตามข้อตกลงในคดีอาญาแล้ว หนี้ดังกล่าวก็ระงับไปโดยปริยายครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-29 10:46:00


ความคิดเห็นที่ 7 (2000516)

เรียน คุณ ลีนนท์ ที่เคารพ

ขอทวนคำตอบ คำว่าขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในตคดีอาญาไปก่อน หากชำระเสร็จก็ถอนในวันอ่านคำพิพากษาครับ

ศาลจะมีคำพิพากษาได้อย่างไร ในเมื่อระหว่างที่โจทก์สาบานตนเสร็จ (ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์) ทนายฝ่ายจำเลยก็ขอไกล่เกลี่ย และตกลงกันต่อหน้าศาล โดยศาลลงบันทึกว่า ภายใน 2 เดือน จะนำหนี้มาชำระ 20% ของเงินต้น  ที่เหลือจะผ่อนให้หมดภายใน 10 ปี (คำถามที่ถามตอนแรก ความเห็นที่5 อาจไม่ละเอียดพอ)

ขอทวนคำตอบ  ส่วนคดีแพ่งก็ไม่ต้องถอนเพราะเมื่อเป็นหนี้จริง และได้ชำระตามข้อตกลงในคดีอาญาแล้ว หนี้ดังกล่าวก็ระงับไปโดยปริยายครับ   ถามว่าถ้าไม่ถอนคดีแพ่ง เงินค่าวางศาล จะได้คืนหรือไม่

ขอขอบคุณ

ผู้แสดงความคิดเห็น 99999 วันที่ตอบ 2009-10-29 13:53:42


ความคิดเห็นที่ 8 (2000831)

คำถามคุณถามประเด็นเดียวว่า

ค่าวางเงินศาลจะได้คืนหรือไม่

ตอบว่า   ค่าธรรมเนียมศาล เป็นอำนาจของศาล ไม่เกี่ยวกับคู่ความ หากเสียให้ศาลแล้ว หากศาลมีคำสั่งอย่างไร ก็เป็นไปตามคำสั่งศาลครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-10-29 22:28:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล