ReadyPlanet.com


มีปัญหาเกี่ยวกับเงินกู้


ดิฉันไปกู้เงินมา 50,000 บาท โดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญา เพียงแต่รับปากว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้ร้อยละ 5 ต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันหากนับเงินที่ผ่อนไปทั้งหมดก็เท่ากับจ่ายชำระเงินต้นหมดแล้ว 50,000 บาท แต่เจ้าหนี้เงินกู้ต้องการให้จ่ายชำระดอกเบี้ยส่วนที่เหลือด้วย ซึ่งเจ้าหนี้ต้องการเงินอีก 20,000 บาท โดยบอกว่าเงินที่ผ่อนจ่ายไปตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 52 เป็นดอกเบี้ย ไม่ถือเป็นเงินต้น ดังนั้นผู้กู้จะต้องจ่ายเงินอีก 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยจะต้องจ่ายสัปดาห์ละ 5,000 บาทจนครบจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ถ้าไม่ยอมจ่ายให้ก็จะไปแจ้งความข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ (ซึ่งทางผู้กู้ไม่ได้มีเจตนาจะโกง เพียงแต่จะขอเว้นระยะในการจ่ายเงินหรือลดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายในแต่ละสัปดาห์) ซึ่งผลการเจรจาก็ออกมาในเงื่อนไขเดิม คือ ต้องจ่ายสัปดาห์ละ 5,000 บาทจนกว่าจะครบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในกรณีเช่นนี้ดิฉันควรทำอย่างไร และเจ้าหนี้เงินกู้สามารถไปแจ้งความจับผู้กู้ในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ได้หรือไม่ รบกวนช่วยแนะนำด้วยนะคะ เพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-ต.ค. 52) ดิฉันทำงานได้เงินเท่าไหร่ก็ทยอยผ่อนจ่ายให้เจ้าหนี้รายนี้เพียงรายเดียว ไม่ได้จ่ายชำระค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินอื่นๆ หรือแม้แต่จะจ่ายเงินให้ supplier ของร้านเลย (ดิฉันทำธุรกิจส่วนตัวค่ะ)



ผู้ตั้งกระทู้ นันทา :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-16 13:27:51


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2007106)

มาตรา 653    การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 

เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ทางเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำคดีไปฟ้องบังคับคดีครับ

ส่วนคำถามว่า เขาจะแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงนั้น หากคุณไม่ได้ไปหลอกลวงอะไรเขา ก็จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-16 17:35:47


ความคิดเห็นที่ 2 (2007123)

ขอบคุณสำหรับการตอบคำถามของดิฉันนะคะ ในเรื่องการหลอกลวง ดิฉันไม่ได้หลอกลวงใดๆ แก่เจ้าหนี้ค่ะ และปัจจุบันถ้าคิดจำนวนเงินที่ผ่อนส่งไปก็เท่ากับดิฉันได้จ่ายชำระเงินต้นหมดแล้ว ยอดที่เป็นปัญหาขณะนี้คือเป็นยอดเงินในส่วนของดอกเบี้ยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นันทา (noi_nr-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-16 18:21:34


ความคิดเห็นที่ 3 (2007182)

หนี้ที่มีอยู่จริงแต่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย

 

1. การกู้ยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ จึงเป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้แม้จะเป็นหนี้กันจริงก็ตาม

2.  การสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ มูลหนี้นั้นต้องบังคับได้ตามกฎหมาย จึงจะมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค หากหนี้ที่สั่งจ่ายชำระด้วยเช็คไม่ได้ทำสัญญากู้ยืม จึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว

 

 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5326/2550

 

 


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีกหลายฉบับเปลี่ยนเช็คฉบับเดิมคืนไป ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ลงวันที่ 6 เมษายน 2541 สั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท เปลี่ยนเช็คชำระต้นเงินฉบับก่อนหน้านั้นคืนไป เมื่อเช็คดังกล่าว ถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2542 สั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อเปลี่ยนเช็ค เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์แลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม 3,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมไปจากโจทก์ และได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ดังนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น...ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด...” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็ค บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน


 

 

( ชัช ชลวร - วีระศักดิ์ เสรีเศวตรัตน์ - บวร กุลทนันทน์ )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-16 21:36:48


ความคิดเห็นที่ 4 (2014932)

มีใครพอจะทราบไหมค่ะ ว่าพระภิกษุสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้ เป็นผู้กู้ยืมเงินได้หรือเปล่าค่ะ ถ้าใครทราบรบกวนช่วยตอบหน่อย ขอบคุณมากค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นุชซี่ วันที่ตอบ 2009-12-11 09:57:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล