ReadyPlanet.com


แยกกันอยู่ไม่ได้หย่า


ดิฉันกับสามีแยกกันอยู่ได้สองปีแล้วแต่ยังไม่ได้หย่า สามีดิฉันยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่เป็นสินสมสร ส่วนดิฉันหนีมาพักกับแม่ที่บ้านแม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ดิฉันทราบว่า สามีนำรถชอปเปอร์ ซึ่งสามีได้ซื้อหลังจดทะเบียนสมรสโดยไม่ได้รับความยินของดิฉัน เงินก็ไม่รู้ว่าใช้ไปหมดหรือยัง สอบถามก็ไม่พูดอะไร ดิฉันจะฟ้องให้แบ่งเงินที่ขายรถมอเตอร์ไซต์ชอปเปอร์ได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นารีส์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-15 09:21:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2006685)

การแบ่งสินสมรสก่อนจดทะเบียนหย่า

 


1. แม้จะแยกกันอยู่ แต่ไม่ได้จดทะเบียนหย่า สามีภริยาก็ยังเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ ดังนั้นหากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำสินสมรสไปขาย โดยไม่ได้รับความยินอมของอีกฝ่ายหนึ่ง (หากกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อน) หรือได้ขายไปทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย  กฎหมายให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ และหากคู่สมรสจดทะเบียนหย่าก็ต้องนำมาจัดการแบ่งกันโดยให้ฝ่ายที่ขายสินสมรสไปชดใช้จากสินสมรสส่วนของตน


----มาตรา 1534 สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประ โยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย ก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่ กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตาม มาตรา 1533 และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วน แบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่าย หรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว

2. ขณะที่เป็นคู่สมรสกันอยู่ตราบใดก็ไม่อาจมีการแบ่งสินสมรสกันได้ แม้สามีจะได้ขายรถจักรยานยนต์ไปเป็นประโยชน์ตนเองฝ่ายเดียวเพราะกฎหมายให้แบ่งสินสมรสกันเมื่อหย่ากันเท่านั้น ดังนั้น ภริยาจึงไม่อาจฟ้องสามีให้แบ่งเงินที่ขายสินสมรสไปแล้วได้ แต่สามารถเรียกส่วนแบ่งนี้จากส่วนของสามีได้เมื่อมีการหย่ากัน

----มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

 
3. ภริยามีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายสินสมรสระหว่างสามีกับผู้ซื้อได้นั้นได้ เว้นแต่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3961/2535

 

 

 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ไปในราคา 50,000 บาท โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์หรือให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 25,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ เพราะรถยนต์พิพาทเป็นเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 25,000 บาท จากการจำหน่ายรถยนต์พิพาทเพราะเป็นการฟ้องแบ่งสินสมรส ซึ่งโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อได้มีการหย่ากันเสียก่อน ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์พิพาทไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซื้อจากตลาดนัดรถยนต์ด้วยความสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน25,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ย

          จำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์และจำเลยที่ 1ในเรื่องทรัพย์สินนั้นจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน และมาตรา 1534บัญญัติว่า สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องรับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จะแบ่งสินสมรสได้เมื่อมีการหย่ากันเท่านั้น และแม้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวหรือในกรณีอื่นตามที่มาตรา 1534บัญญัติไว้กฎหมายก็ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส แสดงว่ากฎหมายมิได้มุ่งประสงค์ให้แบ่งสินสมรสกันได้หากคู่สมรสยังเป็นสามีภริยากันอยู่และกรณีตามคำฟ้องของโจทก์แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ก็ตาม แต่ปัญหาชั้นฎีกาก็มีเพียงคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งเป็นคำขอแบ่งสินสมรสเท่านั้น เมื่อกฎหมายให้ถือเสมือนว่ารถยนต์ยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาท

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

 

 

( เธียรไท สุนทรนันท - นำชัย สุนทรพินิจกิจ - สุชาติ สุขสุมิตร )

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-15 09:46:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล