ReadyPlanet.com


การขายเผื่อชอบ


คืออยากรูว่าความหมายของการขายเผื่อชอบคืออะไรเหรอค่ะ

อาจารย์ ใช้ให้มาหาแต่เราไม่เข้าใจอ่ะ

หาในกูเกิ้ล ก็ไม่เจอมีแต่ข้อความอธิบายสั้นๆไม่เข้าใจอ่ะค่ะ ช่วยด้วยน่ะค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ปาล :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-12 16:07:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2005974)

สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ

1. การซื้อขายสินค้าที่มีข้อตกลงกันว่า อนุญาตให้ผู้ซื้อ รับสินค้าจากผู้ขายไปพิจารณาหรือตรวจดูมีระยะเวลาตามที่ได้ตกลงกันเมื่อพ้นกำหนดตามที่ตกลงกัน ผู้ซื้อไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ซื้อสินค้าแล้ว การซื้อขายย่อมสมบูรณ์  อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบมีผลบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 508

2. เมื่อการซื้อขายเผื่อชอบมีผลสมบูรณ์แล้ว ผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระราคาแก่ผู้ขาย หากผู้ซื้อไม่ชำระ ผู้ขายก็ต้องไปว่ากล่าวแก่ผู้ซื้อในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ

3. การที่ผู้ซื้อไม่ชำระราคาสินค้า และไม่คืนสินค้าให้แก่ผู้ขาย ดังนี้ผู้ซื้อไม่มีความผิดฐานยักยอก

มาตรา 505    อันว่าขายเผื่อชอบนั้นคือการซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์สินก่อนรับซื้อ

มาตรา 508    เมื่อทรัพย์สินนั้นได้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเพื่อให้ตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ในกรณีต่อไปนี้คือ
(1) ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อ ภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญาหรือโดยประเพณีหรือโดยคำบอกกล่าว หรือ
(2) ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในกำหนดเวลาดั่งกล่าวมานั้นหรือ
(3) ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนหรือ
(4) ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นหรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น

คำพิพากษาที่  3889/2548

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยยืมนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ จำนวน 5 เรือน นาฬิกาข้อมือยี่ห้อปาเต็กฟิลลิปป์ จำนวน 1 เรือน และนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโซปาร์ดจำนวน 1 เรือน รวม 7 เรือน ราคา 1,443,500 บาท ของบริษัทเดอะ อาวร์ กลาส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายไว้ในความครอบครองของจำเลย โดยจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้สามีคัดเลือกเพื่อจะซื้อ ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน ผู้เสียหายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบนาฬิกาดังกล่าวคืน ทั้งนี้เมื่อระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยครอบครองนาฬิกาจำนวนและราคาดังกล่าวของผู้เสียหายไว้แล้ว เบียดบังเอานาฬิกาดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,443,500 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ข.3015/2540 ของศาลแขวงพระนครเหนือ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2364/2541 ของศาลชั้นต้นด้วย

          จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 8 เดือน และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ข.3015/2540 ของศาลแขวงพระนครเหนือและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,443,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2364/2541 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยรับมอบนาฬิกาข้อมือไปจากผู้เสียหาย จำนวน 7 เรือน ราคา 1,443,500 บาท ตามรายการรับมอบสินค้าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ต่อมาผู้เสียหายทวงถามให้จำเลยคืนนาฬิกาดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า การค้าขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยซึ่งมีการซื้อขายนาฬิกากันมาแล้วหลายครั้ง นั้นผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเจตนามุ่งประสงค์จะซื้อขายนาฬิกากันทุกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เสียหายให้จำเลยมีโอกาสตรวจดูนาฬิกาเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ก่อนตกลงซื้อหรือนำนาฬิกามาคืนอันเป็นลักษณะการซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505 พฤติการณ์ในกรณีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือจำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อก็จะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ซึ่งเมื่อครบกำหนด 14 วัน ดังกล่าวแล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืนจึงย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน นั้น อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยมีผลบริบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากจำเลยไม่ชำระผู้เสียหายย่อมต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ หาใช่เป็นเรื่องจำเลยยืมนาฬิกาดังกล่าวไปให้สามีดูเพื่อจะเลือกซื้อไม่ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีนี้มีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ หรือเป็นกรณีที่มีการตกลงไปตรวจดูเผื่อชอบกันแล้ว จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้เสียหายที่จะต้องเป็นผู้เสียหายในมูลหนี้คือไม่ได้รับชำระราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 โดยต้องฟังว่า ผู้เสียหายให้จำเลยยืมนาฬิกาไปเพื่อตรวจดูก่อนซื้อแล้วจำเลยอุทธรณ์ทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ดังนั้น ถึงแม้จะมีข้อสงสัยตามข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบจำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-12 18:48:29


ความคิดเห็นที่ 2 (2006626)

สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ , ผิดสัญญาในทางแพ่ง  ไม่ใช่การยักยอกทรัพย์

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจากมูลหนี้ที่จำเลยไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าการที่จำเลยไม่ชำระราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการซื้อขายเผื่อชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8032/2547

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนวาล์วประตูน้ำขนาด 3.4 นิ้ว ยี่ห้อโวก แรงดัน 800 ปอนด์ แบบเอ็ม (เอสดับบลิว) เอ็กซ์ เอฟ เอ็น ที พี หมายเลขฮีท ดี 00.8/เอ็ม เอ็กซ์ ซี จำนวน 120 ตัว แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 414,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 26,980 บาท

          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนวาล์วประตูน้ำขนาด 3.4 นิ้ว ยี่ห้อโวก แรงดัน 800 ปอนด์ แบบเอ็ม (เอสดับบลิว) เอ็กซ์ เอฟ เอ็น ที พี หมายเลข ฮีท ดี 00.8/เอ็ม เอ็กซ์ ซี จำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 414,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้รับวาล์วประตูน้ำจากโจทก์ 622 ตัว แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งคืนแก่โจทก์ 502 ตัว ส่วนอีกจำนวน 120 ตัวตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังมิได้ส่งคืนแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญายืมและกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนง จากมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 849/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 5360/2543 ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายเผื่อชอบ คดีถึงที่สุดแล้ว ในการพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งเป็นคดีส่วนอาญานั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมโดยอาศัยมูลหนี้ในเรื่องยืม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ และในคดีนี้โจทก์มีนายอุดม จิระสิริกุล กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มาติดต่อขอยืมสินค้าประเภทวาล์วประตูน้ำจากโจทก์และได้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 มารับสินค้าดังกล่าวไป โดยมีสำเนาใบยืมของมาแสดงเป็นหลักฐาน พร้อมทั้งเบิกความอธิบายว่า เหตุที่โจทก์ออกใบยืมสินค้าเพราะฝ่ายจำเลยแจ้งว่าขอนำสินค้าทั้งหมดไปตรวจสอบ ยังไม่มีการตกลงซื้อขายกัน หากฝ่ายจำเลยตกลงจะซื้อก็ต้องตกลงเรื่องราคากับโจทก์และทำใบสั่งซื้อมาให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่าวาล์วประตูน้ำทั้งหมดจำนวน 622 ตัว มีหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน ราคาวาล์วประตูน้ำที่ระบุไว้ในสำเนาใบยืมของตัวละ 950 บาท นั้น เป็นราคาเฉลี่ยของวาล์วประตูน้ำทั้ง 622 ตัว ทั้งยังยอมรับด้วยว่า วาล์วประตูน้ำที่จำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัวนั้น ไม่เสียทุกตัว เหตุที่คืนเนื่องจากนายอุดมขอคืนเอง แสดงให้เห็นแจ้งชัดว่าสินค้าวาล์วประตูน้ำทั้งหมดจำนวน 622 ตัวยังมิได้มีการตกลงซื้อขายกันเพราะยังมิได้ตกลงราคากัน ทั้งเหตุที่คืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัวก็มิใช่วาล์วประตูน้ำส่วนใหญ่ชำรุดฝ่ายจำเลยจึงติดต่อขอคืนแก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ โดยได้นำไปขายเสียก่อนแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญายืมซึ่งทำผูกพันต่อโจทก์ และการที่ฝ่ายจำเลยนำสินค้าวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวที่ไม่คืนไปจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองว่า วาล์วประตูน้ำพิพาทมีราคาเท่าใด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อไร โจทก์นำสืบว่า วาล์วประตูน้ำพิพาทที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์มีหลายชนิดยี่ห้อมีราคาแตกต่างกันที่ระบุไว้ในใบยืมสินค้าจำนวน 622 ตัว ตัวละ 950 บาท เกินราคาเฉลี่ยขายเหมารวม จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า ราคาวาล์วประตูน้ำที่ระบุไว้ ตัวละ 950 บาท เป็นราคาเฉลี่ยของวาล์วประตูน้ำทั้ง 622 ตัว ซึ่งมีหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน เจือสมด้วยข้อนำสืบของโจทก์ วาล์วประตูน้ำจำนวน 120 ตัว ที่พิพาทเป็นวาล์วประตูน้ำที่มีแรงดันสูงสุดในบรรดาวาล์วประตูน้ำที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์คือ 800 ปอนด์ จำเลยที่ 1 อ้างว่าขายไปตัวละ 1,720 บาท โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ส่งหลักฐานการขายสินค้าไปให้โจทก์ตรวจดู โดยโจทก์ยินยอมจะให้ส่วนลดแก่จำเลย 15 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่ขายไป แต่จำเลยที่ 1 กลับไม่ส่งหลักฐานให้โจทก์ตรวจดู คงส่งให้แต่ฉบับสำเนาและภาพถ่ายซึ่งย่อมไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ จำเลยที่ 1 นำไปขายโดยยังไม่ได้ตกลงราคาที่แท้จริงกับโจทก์ ทั้งพยานหลักฐานที่อ้างเป็นเพียงภาพถ่าย บางฉบับเป็นภาษาต่างประเทศไม่มีคำแปล โดยเฉพาะใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรและเอกสารการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นภาพถ่ายไม่มีผู้เกี่ยวข้องรับรอง ส่วนโจทก์มีพยานเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อและประทับตราเป็นสำคัญไว้ มีคำแปลชัดเจนระบุให้เห็นว่าเป็นสินค้ายี่ห้อและประเภทเดียวกับสินค้าพิพาททั้งมีแรงดัน 800 ปอนด์เช่นเดียวกัน เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักกว่า เชื่อได้ว่าวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัว มีราคาตัวละ 3,450 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสินค้าแล้ว จำเลยที่ 1 นำสินค้ามาคืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.6 ส่วนอีก 120 ตัว จำเลยที่ 1 ไม่ได้คืนและไม่ใช้ราคาจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ตกลงจะชำระราคาให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ยินยอมรับชำระนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 เสนอชำระราคาที่ไม่ถูกต้องโจทก์ย่อมสามารถปฏิเสธไม่รับได้ ไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา หนี้สินค้าวาล็วประตูน้ำ 120 ตัว ราคา 414,000 บาท เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 414,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-14 23:40:10


ความคิดเห็นที่ 3 (2015266)

ช่วยคิดเรื่อง  การซื้อขายเผื่อชอบ  เป็นละครให้น่อยน๊า

ช่วยหนูน่อยนะค่ะ   จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น หนูตาต้า วันที่ตอบ 2009-12-12 13:55:03


ความคิดเห็นที่ 4 (3598743)

จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22267/2555
 
          กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

            โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-03-26 17:13:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล