ReadyPlanet.com


ยาเสพติด


ถ้ามียาบ้า 10 เม็ดในครอบครองติดคุกกี่ปี



ผู้ตั้งกระทู้ หนูหริ่ง :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-28 14:40:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2011238)

รับสารภาพ ประมาณ 2 ปี ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-28 15:33:56


ความคิดเห็นที่ 2 (2011505)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่คัดลอกมาให้อ่านนี้ศาลได้ชี้ขาดตัดสินตามกฎหมายเดิม

 

 

คำพิพากษาที่  2646/2532


พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา13 บัญญัติห้ามผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 หรือประเภท 2 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ซึ่งมาตรา 4 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ว่าหมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพ.ร.บ. ฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน.

          จำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์ อัน เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครอง 18 เม็ด และจำเลยขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ ดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อไป 3 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่ตัวจำเลย 15 เม็ด แอมเฟตามีนคลอไรด์ ทั้ง 18เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยครอบครองและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน การครอบครองในลักษณะเช่นนี้ก็คือการมีไว้เพื่อขายนั่นเอง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ประกอบด้วยมาตรา 106 อีกกรรมหนึ่ง.

 

    โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์จำนวน 18 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อจำนวน 3 เม็ด โดยไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา4, 6, 13, 62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ริบแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรให้เจ้าของ

          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13, 89, 116ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และริบแอมเฟตามีนของกลาง ธนบัตรฉบับละ50 บาท ที่ใช้ล่อซื้อให้คืนเจ้าของ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม คือฐานมีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองกรรมหนึ่งกับฐานขายแอมเฟตามีนอีกกรรมหนึ่ง โดยความผิดฐานมีแอมเฟตามีนได้สำเร็จสมบูรณ์ตั้งแต่จำเลยรับแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จะมีการขาย ซึ่งเป็นความผิดมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 และโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษฐานนี้โดยบรรยายฟ้องไว้ในข้อ ก. ความผิดฐานนี้โจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ได้บัญญัติห้าม ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 หรือประเภท 2 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์อันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองจำนวน 18 เม็ด และจำเลยได้ขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ดังกล่าวให้แก่สิบตำรวจเอกนิพัฒน์ ทองไชยผู้ล่อซื้อไป 3 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่ตัวจำเลย 15 เม็ดแอมเฟตามีนคลอไรด์ทั้ง 18 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยได้ครอบครองและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน การครอบครองในลักษณะเช่นนี้ก็คือการมีไว้เพื่อขายนั่นเองเมื่อศาลลงโทษฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ จึงต้องถือว่าจำเลยถูกลงโทษตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 62 ประกอบด้วยมาตรา 106 อีกกรรมหนึ่ง และการที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็น 2 ข้อ คือฐานครอบครองแอมเฟตามีนคลอไรด์ข้อหนึ่ง และฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์อีกข้อหนึ่งนั้น หาทำให้การกระทำของจำเลยซึ่งกฎหมายมุ่งลงโทษเพียงกรรมเดียวกลายเป็นความผิด 2 กรรมไปไม่ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษเป็นหลายกรรมตามที่โจทก์ฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์เพียงกรรมเดียว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

 

 

( สุวรรณ ตระการพันธุ์ - ศักดิ์ สนองชาติ - กู้เกียรติ สุนทรบุระ )

 

 

หมายเหตุ


การที่จำเลยมีแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์หรือแอมเฟตามีนคลอไรด์อันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวนหนึ่ง และได้ขายไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยยังคงเหลืออยู่ที่ตัวจำเลยอีกส่วนหนึ่ง การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือสองกรรมต่างกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ได้บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1หรือประเภท 2...ฯลฯ" และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 89 ซึ่งมาตรา4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้คำจำกัดความหรือวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ไว้ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย ดังนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์หรือแอมเฟตามีนคลอไรด์ อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 จึงถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวคือการขายนั่นเอง เพราะการมีไว้เพื่อขายก็คือการขายตามคำจำกัดความหรือบทวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วคือ

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2531 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่ง พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันเมื่อปรากฏว่าจำเลยมีแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้เพื่อขายจำนวน 5 เม็ด และจำเลยขายไป 4 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่ตัวจำเลยอีก 1 เม็ด แอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์จำนวน 5 เม็ดดังกล่าว จึงเป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยขายและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายในเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวคือการขายนั่นเอง หาใช่เป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อขายอีกกระทงหนึ่งไม่

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2532 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์เพื่อขาย 5 เม็ด ขายไปแล้ว 2 เม็ด ดังนี้การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวฐานขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ชนิดแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ (โดยศาลฎีกาอ้างถึงคำจำกัดความหรือบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ตามความในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว)

           ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่บันทึกหมายเหตุไว้นี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยตามแนวเดิมซึ่งเป็นการชอบแล้ว อย่างไรก็ดีเรื่องทำนองเดียวกันนี้ในกรณีความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ฐานมีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษ...ฯลฯ" และมีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายอันเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามมาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย" ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ได้ให้คำจำกัดความหรือวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "จำหน่าย" ไว้ว่าหมายความว่า ขาย จ่ายแจก แลกเปลี่ยน ให้ ไม่เหมือนคำจำกัดความหรือวิเคราะห์ศัพท์คำว่า"ขาย" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งบัญญัติให้รวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย โดยเหตุนี้กรณีที่จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวนหนึ่งและได้ขายหรือจำหน่ายไปแล้วบางส่วนยังคงเหลืออยู่ที่ตัวจำเลยอีกส่วนหนึ่งการกระทำของจำเลยในกรณีดังกล่าวจึงแยกเป็นสองกรรมต่างหากจากกัน มิใช่กรรมเดียวเหมือนดังกรณีความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้เพราะการมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเฮโรอีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำผิดแตกต่างแยกจากกันได้ดังเช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2525 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครอง เพื่อจำหน่ายจำนวนหนึ่ง ได้จำหน่ายไปแล้วส่วนหนึ่ง ยังคงเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม คือมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีน

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995/2526 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่สายลับของตำรวจ และยังเหลือเฮโรอีนอยู่อีกจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน กระทงหนึ่ง และฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2526 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายกับฐานจำหน่ายกัญชาเป็นความผิดต่างฐานกัน การที่โจทก์แยกฟ้องเป็นข้อ ก. ว่าจำเลยมีกัญชาไว้ในความครอบครอง 6 แท่ง เพื่อจำหน่ายและข้อ ข. ว่าภายหลังจากจำเลยกระทำผิดในฟ้องข้อ ก. จำเลยได้จำหน่ายกัญชาให้แก่ผู้มีชื่อที่เข้าล่อซื้อ 1 แท่ง อันเป็นยาเสพติดให้โทษส่วนหนึ่งที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าว ในข้อ ก. ก็เห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าขอให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องย่อมหมายความว่ารับว่าได้กระทำผิดทั้ง 2 กรรม จึงต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปรวม 2 กระทง

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2529 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยจำหน่ายเฮโรอีนให้สายลับไป 3 ห่อแล้ว ยังมีเฮโรอีนเหลืออยู่อีก 1 หลอดจำเลยจึงมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 3 ห่อกับ 1 หลอดแม้เฮโรอีนที่จำเลยจำหน่ายให้สายลับเป็นส่วนหนึ่งของเฮโรอีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยก็แยกได้เป็น2 กรรมต่างหากจากกัน มิใช่กรรมเดียว เพราะการมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเฮโรอีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำผิดแตกต่างแยกจากกันได้

           แต่ถ้ายาเสพติดให้โทษที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายกับยาเสพติดให้โทษที่จำหน่ายให้แก่ผู้มีชื่อเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกัน ไม่มียาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นที่จำเลยอีก ดังนี้ การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดกรรมเดียวมิใช่สองกรรมดังเช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2523 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย และจำหน่ายให้แก่ผู้อื่นเป็นจำนวนเดียวกัน มิใช่สองจำนวนการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791/2526 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนของกลางอันเป็นเฮโรอีนจำนวนเดียวกัน แม้จำเลยจะมีเฮโรอีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายแต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลประการเดียวที่จะนำเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรถึงโจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็นสองตอนก็ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2527 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อนสั้น ๆ เป็นการผลิตเฮโรอีนตามความหมายของ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 แต่เฮโรอีนดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกับเฮโรอีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย การที่จำเลยแบ่งบรรจุใส่หลอดก็เพื่อสะดวกในการจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายอันเป็นบทหนัก

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2527 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนจำนวนเดียวกัน จำเลยถูกจับพร้อมเฮโรอีนของกลางขณะจะขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศ ดังนี้ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลประการเดียวที่จะนำเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยออกเป็นสองตอนและจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4662/2529 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ขายกัญชาที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายทั้งหมดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ กัญชาที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นจำนวนเดียวกับที่ขายไป และเมื่อขายไปแล้วก็ไม่มีกัญชาเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 75 บทเดียว

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2530 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยซุกซ่อนเฮโรอีนไว้ในขนมปังแล้วนำไปมอบให้สิบเวรเพื่อมอบให้แก่ จ. ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องควบคุม สิบเวรได้ตรวจค้นขนมปัง พบเฮโรอีนของกลางเสียก่อนยังไม่ทันได้ส่งมอบขนมปังนั้นให้แก่ จ. ดังนี้จำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมุ่งประสงค์จะให้แก่ จ. เป็นข้อสำคัญ และเฮโรอีนของกลางมีจำนวนเดียว มิใช่เฮโรอีนของกลางมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายขาดตอนจากการพยายามจำหน่าย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

           เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฯ กับ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ ดังกล่าวแล้ว จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงข้อแตกต่างเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดกรรมเดียวหรือความผิดสองกรรมต่างกันได้ชัดเจนขึ้น

           กิติบูรพรรณ์


 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-11-29 19:58:58


ความคิดเห็นที่ 3 (2011626)

ก็ต้องดูด้วยว่าขึ้นศาลไหนเพราะแต่ละศาลมีบรรทัดฐานในการลงโทษไม่เหมือนกัน 10 เม็ดถ้าจำหน่าย ก็ติดครับโดยไม่รอการลงอาญาไว่ก่อนแต่จะก็ปีก็อย่างที่บอกว่าแล้วแต่ศาลไหน

แต่โจทก์ฟ้องเพียงมีไว้ในครอบครอง ก็จะก็ศาลก็ลงโทษจำคุกเหมือนกันหมด แต่มีโอกาสที่ศาลอาจรอการลงอาญาไว้ได้ หากว่ามีเหตุบรรเทาโทษ เช่นรับสารภาพ และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

**สรุปแล้วอย่าไปสนับสนุนให้ผู้ผลิตเขารวยแต่ฝ่ายเดียว และสร้างความเดิอดร้อนให้สังคมเลยครับ

**ครั้งนี้คุณอาจรอด หากได้ใจคราวหน้าเพื่อน ๆ ในเรือนจำรอคุณอยู่ครับพี่น้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น รอยเปลื้อน วันที่ตอบ 2009-11-30 09:54:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล