ReadyPlanet.com


ผู้จัดการมรดกไม่แจ้งให้ทายาทรับรู้เรื่องมรดก


สวัสดีครับ สนง.พีศิริ ทนายความ
               
                ผมมีเรื่องเกี่ยวกับมรดกจะรบกวนถามหน่อยครับคือว่า พี่ชาย(เป็นข้าราชการ)ได้เสียชีวิตไปเมื่อกลางเดือน มิย. ผ่านมา โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ และมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก  4  คนคือ

1. ภรรยาคนที่ 1 ( จดทะเบียนสมรส)  

2. บุตรชาย (เกิดจากภรรยาคนที่ 1)

3. บิดา

4. บุตรสาว(จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตามลำดับดังนี้ครับ

- ปลายเดือนมิย.52  ภรรยาคนที่ 1 นำเอกสารเกี่ยวกับการขอรับเงินทดแทนเมื่อข้าราชการเสียชีวิตมาให้พ่อผมพิมพ์ลายนิ้วมือ คือพ่ออ่าน-เขียนหนังสือไม่ได้  (และได้แอบเอา“หนังสือให้ความยินยอมของทายาทให้ภรรยาคนที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก”แทรกเข้ามาด้วย ซึ่งวันนั้นก็ไม่มีใครรู้  เนื่องจากไว้ใจไม่ได้ตรวจดูเอกสารปล่อยให้พ่อพิมพ์ลายนิ้วมือไป โดยไม่คิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เพิ่งมาทราบเมื่อกลางเดือนพย.นี้เอง หลังจากไปขอดูเอกสารที่ศาลจังหวัดฯ คือไปเห็นหนังสือฯฉบับนี้ซึ่งมีลายนิ้วมือพ่อผมอยู่ด้วย ซึ่งแสดงว่า เค้าแอบเอามาให้พ่อพิมพ์ในคราวนั้นแน่นอน )

-  15 กค. 52  ภรรยาคนที่ 1 ได้แอบไปยื่นร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก

- สค. 52  เจ้าหน้าที่ศาลนำประกาศศาลเรื่อง ภรรยาคนที่1ขอเป็นผู้จัดการมรดก มาแจ้งให้ทราบที่บ้าน

   แต่พ่อบอกว่าไม่เป็นไร  เค้าอยากจะเป็นก็เป็นไป  จึงไม่ได้ไปยื่นคัดค้านแต่อย่างใด

- 11 กย. 52  ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ภรรยาคนที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก

- พย. 52 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฯ ภรรยาคนที่ 1 ยังคงปิดบังเรื่องการเป็นผจก.มรดกอยู่ ไม่แจ้งเรื่องนี้ให้ทายาทคนอื่นทราบแต่อย่างใด รวมถึงยังไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกมาให้ดูด้วย

 จึงอยากเรียนถามว่า

1. การที่ภรรยาคนที่ 1 ไม่บอกทายาทว่า ตัวเองเป็นผจก.มรดกแล้ว การแอบเอาหนังสือยินยอมฯ มาให้พ่อพิมพ์ลายนิ้วมือ และการไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกซึ่งเกิน 1 เดือนตามกม.กำหนดมานานแล้ว จะเป็นเหตุให้ยื่นฟ้องถอนเค้าออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่

2. ถ้าภรรยาคนที่ 1 อ้างว่าได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกแล้วโดยทำต่อหน้าทายาทอย่างน้อย 2 คนตามกฎหมายด้วย คือ ตัวภรรยาคนที่1 เอง และบุตรชาย  อยากทราบว่า ตัวภรรยาคนที่ 1 ซึ่งเป็นทั้งผจก.มรดก และเป็นทายาทด้วย จะสามารถใช้ตัวเองเป็นพยานในการทำบัญชีทรัพย์มรดกได้หรือไม่

3. จะสามารถตัดสิทธิในการรับมรดกของภรรยาคนที่ 1 ได้หรือไม่  และมีโทษทางอาญาด้วยหรือไม่

4. การตัดสิทธิฯจะตัดสิทธิเฉพาะส่วนที่เป็นมรดก หรือรวมส่วนที่เป็นสินสมรส ด้วยครับ

5. และถ้าถูกตัดสิทธิ ทายาท(บุตรชาย)ของภรรยาคนที่1 จะมารับมรดกส่วนที่ถูกตัดสิทธินั้นแทนได้หรือไม่ครับ

6. ถ้าจะให้พ่อมอบอำนาจให้ผมเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องหรือกระทำการอื่นๆแทนจะได้หรือไม่ครับ เนื่องจากพ่ออ่าน-เขียนหนังสือไม่ได้

7. อยากทราบว่า นอกจากวิธีการฟ้องร้องถอดถอนผู้จัดการมรดกแล้ว ยังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ครับที่จะทำให้การแบ่งมรดกเสร็จเรียบร้อย รวดเร็ว และยุติธรรมครับ

ขอขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ วิชัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-26 01:06:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2010512)

ข้อ1-2 ผู้จัดการไม่จำเป็นต้องเเจ้งให้ใครๆทราบว่าตนเองเป็นผู้จัดการมรดกครับ   แต่ถ้าไม่ทำบัญชีทรัพย์ให้เสร็จภายในเวลาที่กฏหมายกำหนด ผู้มีส่วนได้เสียร้องศาลให้ถอดถอนได้ครับ                                                                                                                                            ข้อ3-4 จะตัดสิทธิในเหตุใดครับ และถ้ามีเหตุที่จะตัดสิทธิรับมรดกได้ตามกฏหมาย ก็จะไม่เกี่ยวกับสินสมรสครับ ซึ่งในขณะนี้กลายเป็นสินส่วนตัวของภริยาคนที่1ไปแล้ว

ข้อ5. เหตุตัดสิทธิในการรับมรดก เป็นเหตุเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของผู้นั้นมีสิทธิรับมรดกเเทนที่ได้ครับ

ข้อ 6. ทำได้ครับ

ข้อ7.ปรึกษากันครับ และเเบ่งกันอย่างเป็นธรรมตามที่กฏหมายกำหนดไว้ครับ มีทายาทตามกฏหมายในกรณีนี้ 4คน แบ่งคนละเท่าๆกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรงภพ วันที่ตอบ 2009-11-26 17:13:14


ความคิดเห็นที่ 2 (2010582)

1. ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นถือว่า ภริยาคนที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การที่ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือว่าผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่ มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกได้

2. การจัดทำบัญชีทรัพย์ต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งไม่รวมผู้จัดการมรดกครับ 

3. ไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ไม่เป็นเหตุให้ภริยาคนที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก และไม่ถือว่ายักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดทางอาญา

4. สินสมรส ย่อมเป็นทรัพย์สินที่ภริยาคนที่ 1 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เป็นมรดกคืออีกกึ่งหนึ่งที่เหลือ ดังนั้นสินสมรสกึ่งหนึ่งจึงเป็นสินส่วนตัวของภริยาคนที่ 1 ดังที่คุณทรงภพ แสดงความเห็นไว้แล้ว ใน คคห ที่ 1

5.  ทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้สืบสันดานของผู้นั้นสืบมรดกของภริยาคนที่ 1 ได้

มาตรา 1607 การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบ สันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตาย แล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ทายาทที่ว่า นั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้ มาตรา 1548 บังคับ โดยอนุโลม

6. มอบอำนาจได้ครับ

7. หากตกลงกันไม่ได้ ก็ไม่มีทางอื่นครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-26 22:16:56


ความคิดเห็นที่ 3 (2010623)

ขอบคุณ คุณทรงภพ และคุณลีนนท์มากครับ ที่ช่วยตอบคำถาม

ผู้แสดงความคิดเห็น วิชัย วันที่ตอบ 2009-11-27 02:10:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล