ReadyPlanet.com


อยากทราบอายุความลูกหนี้เพื่อตัดหนี้สูญ


ทางบริษัทได้ขายสินค้าให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ค้าส่งนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าอีกต่อหนึ่งแล้วลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้อยากทราบว่าอายุความของลูกหนี้ค้าส่งนี้กี่ปีและต้องไปดูประมวลอ้างอิงข้อไหนคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ สไบศรี :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-24 22:38:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2009786)

มาตรา 193/33    สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

 

มาตรา 193/34    สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2)......


ตามคำถามนั้นเป็นการคุณเป็นผู้ประกอบการค้าเรียเอาค่าของที่ได้ส่งมอบไปแล้ว ซึ่งปกติมีอายุความ 2 ปี เว้นแต่การส่งมอบของนั้นเพื่อกิจการของลูกหนี้ของคุณที่นำของหรือสินค้าไปขายต่อจึงไม่อยู่ในอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี

 


คำพิพากษาที่  1343/2551

 

 กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่

          จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอรกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

 


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีซื้อสินค้าจากโจทก์ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้ง คิดเป็นเงิน 3,496,123.49 บาท จำเลยที่ 5 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ สำหรับหนี้ที่เกิดจากการซื้อสินค้าในช่วงระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2540 ภายในวงเงิน 2,000,000 บาท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระค่าสินค้า จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าเพียงบางส่วน ยังค้างค่าสินค้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,677,556.19 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งห้าแล้วจำเลยทั้งห้าเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยในค่าสินค้าที่ค้างอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 485,746.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 2,163,302.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,677,556.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2540 อันเป็นวันสั่งซื้อสินค้าครั้งสุดท้าย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 5 ให้การว่า หนี้ค่าสินค้าตามฟ้องมีอายุความ 2 ปี โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 17 มกราคม 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 5 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ทุกชนิดเพื่อจำหน่ายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายปูนซีนเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จ จำเลยที่ 5 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ สำหรับหนี้ที่เกิดจากการซื้อสินค้าในช่วงระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2540 ภายในวงเงิน 2,000,000 บาท

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 มีเพียงว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 5 ฎีกาสรุปความว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อนจากพยานหลักฐานในท้องสำนวน เพราะการที่จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เป็นการค้าที่เป็นประโยชน์แก่กิจการอุตสาหกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายส่ง มิใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกเพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าในลักษณะซื้อมาขายไปตามปกติกรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ใช้อายุความ 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) นั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยปัญหานี้โดยมิได้พิจารณาว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการค้าขายกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็หาใช่เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อนจากพยานหลักฐานในท้องสำนวนไม่ กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาห-กรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา การที่จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง และชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ ดังนี้ จึงชอบที่จะเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เป็นเงิน 200 บาท แต่ศาลอุทธรณ์สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์


 

 

( ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ - ชาลี ทัพภวิมล - คำนวน เทียมสอาด )

 


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-24 22:53:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล