ReadyPlanet.com


ชดใช้ค่าเสียหาย


ลูกชายอายุ 17 ปี ถูกฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ฐานพรากผู้เยาว์ ดิฉันได้ติดต่อผู้เสียหายขอชดใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาท โดยไปทำบันทึกกันที่สถานีตำรวจ แต่ขอต่อรองจ่าย 25,000 บาท ส่วนที่เหลือจะขอผ่อนให้จนครบ เพื่อนำบันทึกไปยื่นศาลในการลดโทษ ตอนนี้ผู้เสียหายนำบันทึกมาฟ้องเรียกเงิน 35,000 บาท ที่เหลือ อย่างนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องหรือไม่ การทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ญดา :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-21 10:36:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2008638)

การทำบันทึกที่สถานีตำรวจ ย่อมมีผลผูกพันต่อกันตามที่ตกลงกัน คุณต้องชำระค่าเสียหายส่วนที่เหลือตามข้อตกลงนั้น

ต้องดูบันทึกให้ดีว่าในบรรทึกมีข้อความว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อจำเลยหรือไม่ หากไม่มีก็ไม่เป็นการสละสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งตามสิทธิในบันทึกนั้นได้

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นเมื่อศาลได้ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่ใช่กรณีมีการตกลงกันเพื่อไม่ต้องการให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญา บันทึกดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ

ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนที่เหลือได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-21 11:16:27


ความคิดเห็นที่ 2 (2008639)

ค่าเสียหายฐานพรากผู้เยาว์

การทำบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่กระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ปกครอง โดยพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครอง โดยในบันทึกไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

"มาตรา 150   การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ"

คำพิพากษาที่ 1010/2551

 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 จำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท โจทก์ได้รับแล้วจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือ 20,000 บาท จำเลยชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน แต่ต่อมาจำเลยผิดนัดผิดสัญญา โจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นวันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 2,691 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 22,691 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยไม่เคยตกลงชดใช้ค่าเสียหายตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยมอบเงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ช่วยทำบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าวเพื่อนำไปใช้อ้างต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาในคดีอาญาที่จำเลยคดีนั้นถูกฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบาแต่โจทก์กลับเพิ่มจำนวนเงินเป็น 30,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม ลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 วันที่ 2 ธันวาคม 2545 วันที่ 2 มกราคม 2546 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 2,691 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อ 3 ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 654/2546 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น คู่ความคดีก่อนและคู่ความคดีนี้ต้องเป็นคู่ความเดียวกัน ปรากฏว่าคดีก่อนนางสาวกชกรเป็นโจทก์โดยมีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ได้ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ ดังนั้นโจทก์ในคดีก่อนและโจทก์ในคดีนี้มิใช่คู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายว่า บันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับคดีอาญาในความผิดต่อแผ่นดิน เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว”

          พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-21 11:23:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล