ReadyPlanet.com


สละมรดกตีใช้หนี้


อยากทราบว่า มรดกส่วนของตนที่จะได้รับในอนาคต หรือที่ยังไม่ได้แบ่งแก่ทายาทนั้น จะตกลงสละเพื่อตีใช้หนี้ให้กับทายาทอื่นที่เป็นเจ้าหนี้ได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ สุบัน :: วันที่ลงประกาศ 2009-12-18 09:34:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2017145)

ข้อตกลงที่จะนำมรดกส่วนของตนตีใช้หนี้เจ้าหนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับได้ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเช่นการกู้ยืมเงิน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-12-18 09:56:44


ความคิดเห็นที่ 2 (2017146)

ยกทรัพย์มรดกส่วนของตนตีใช้หนี้

ข้อตกลงยกทรัพย์มรดกของมารดาส่วนของตนตีใช้หนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนสามารถใช้บังคับกันได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเช่นการกู้ยืมเงิน

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า นางแก่นกับนายอ่อน นามวิชัย อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 6 คน ได้แก่ นางเปลี่ยน นายสอน นายเสาร์ จำเลย นายเสริม และนายทองสา โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายเสาร์กับนางหนูเพียร นามวิชัย ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 6 คน โดยนายเสาร์ให้การรับรองบุตรทุกคน ให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายเสริมกับนางหนูจันทร์ นามวิชัย ซึ่งจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน นายเสาร์และนายเสริมถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2515 นางแก่นถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด ขณะนางแก่นยังมีชีวิตอยู่มีที่ดิน 5 แปลง และมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งรวมถึงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 32 สารบบ หมู่ที่ 5 หน้า 158 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันจังหวัดยโสธร) ต่อมาจำเลยขอออกเป็นโฉนดเลขที่ 29763 เล่ม 298 หน้า 65 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา ทายาทได้ตกลงครอบครองทรัพย์มรดกของนางแก่นเป็นส่วนสัดของตนเอง โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 32 สารบบ หมู่ที่ 5 หน้า 158 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี และตกลงจะแบ่งปันในภายหลังเมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดินแล้ว ทายาททุกคนยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางแก่นเพื่อความสะดวกในการยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอออกโฉนดที่ดินและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยครอบครองอยู่ให้แก่นายทองสา นามวิชัย 5 ไร่ และนางเปลี่ยน พรมหูต ส่วนที่ดินแปลงอื่นได้โอนมาเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว โจทก์ทั้งสองขอแบ่งปันทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะทายาทผู้ได้รับมรดกแทนที่ จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าอยู่ในระหว่างการขอออกโฉนด ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ไปตรวจสอบสารบบที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขามหาชนะชัย จึงทราบว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยครอบครองอยู่ได้ออกโฉนดเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยแบ่งปันที่ดินดังกล่าว จำเลยปฏิเสธและไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป อ้างว่านายเสาร์บิดาโจทก์ที่ 1 ขณะมีชีวิตได้มาขอเงินจำเลยและขอสละสิทธิในการรับมรดกของนางแก่นเจ้ามรดกซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการแบ่งปันที่ดินโฉนดเลขที่ 29763 หน้า 65 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ให้แก่โจทก์ทั้งสอง 2 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
          จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรของนายอ่อนและนางแก่น นามวิชัย นางแก่นถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2515 และถึงแก่ความตายก่อนบิดาโจทก์ทั้งสองประมาณ 10 ปีเศษ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของบิดาตนเองก่อนที่นางแก่นถึงแก่ความตาย นายเสาร์บิดาโจทก์ที่ 1 ได้ขอเงินจากจำเลย 6,000 บาท เพื่อนำไปไถ่ถอนที่นาของนางคำตาเนื้อที่ 6 ไร่ ที่นำไปจำนองไว้หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตาย นายเสาร์ได้มาขอเงินจำเลยอีก 1,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่นาโนนหนองแฝกจากนางเสียง เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เมื่อรับเงินแล้วนายเสาร์บอกว่าไม่ประสงค์จะขอรับมรดกของนางแก่นและยกให้จำเลย หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตายนายเสาร์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในทรัพย์มรดกของนางแก่นเลย สำหรับนายเสริมบิดาโจทก์ที่ 2 นั้น นายเสริมได้มาขอเงินจากจำเลย 7,000 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลเนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับนางหมุน และนายเสริมแจ้งว่าขอยกมรดกของนางแก่นให้จำเลย นายเสริมไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้น โดยมีการแบ่งทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนางเปลี่ยนกับนายทองสาเท่านั้น บางปีลูกหลานของจำเลยขอเข้าทำกินเพราะที่นาแปลงอื่นถูกน้ำท่วม จำเลยก็อนุญาตให้ทำกินประมาณ 1 ถึง 2 ไร่ หลังจากจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ปัจจุบันที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงไม่ใช่มรดกที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องขอแบ่งได้ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 29763 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ให้แก่โจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 2 งาน 97.5 ตารางวา และโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 1 ไร่ 46.2 ตารางวา หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นางแก่น นามวิชัย กับนายอ่อน นามวิชัย อยู่กินฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 6 คน ได้แก่นางเปลี่ยน นายสอน นายเสาร์ จำเลย นายเสริม และนายทองสา โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายเสาร์กับนางหนูเพียร ซึ่งบิดามารดาโจทก์ที่ 1 อยู่กันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 6 คน บิดาโจทก์ที่ 1 ให้การรับรองบุตรทุกคนโดยให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุล และแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายเสริมกับนางหนูจันทร์ นามวิชัย ซึ่งบิดามารดาโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน ตามบัญชีเครือญาติ สำเนาทะเบียนบ้าน ใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.12 และ จ.13 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2515 นางแก่นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายเสาร์และนายเสริมบิดาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ มีสิทธิได้รับมรดกของนางแก่น นางแก่นมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 29763 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 โดยที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีชื่อนางแก่นเจ้ามรดกเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.11 หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตายแล้ว แต่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก นายเสาร์และนายเสริมก็ถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิสืบมรดกดังกล่าวในส่วนของนายเสาร์และนายเสริมตามลำดับ และศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแก่น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 ตามคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2536 จำเลยได้โอนที่ดินดังกล่าวซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันก็โอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.11 จากนั้นจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปออกเป็นโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 จำเลยได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้นายทองสา นามวิชัย 5 ไร่ 98 ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า นายเสาร์และนายเสริมได้เอาเงินจากจำเลยคนละ 7,000 บาท โดยตกลงยกทรัพย์มรดกของนางแก่นส่วนที่นายเสาร์และนายเสริมมีสิทธิได้รับตีใช้หนี้แก่จำเลยหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความนางหนูเพียร นามวิชัย มารดาโจทก์ที่ 1 ว่า หลังจากนางแก่นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาททุกคนตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาท จำเลยจึงมายื่นคำร้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแก่นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 ตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.10 หลังจากนั้นจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทอื่นแต่ไม่ได้แบ่งให้เฉพาะนายเสาร์และนายเสริมเท่านั้น ส่วนนายสอนไปบวชเป็นพระภิกษุและมรณภาพไปโดยไม่มีทายาทจึงไม่ได้แบ่งมรดกให้ นายเสาร์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2534 ส่วนนายเสริมถึงแก่ความตายวันที่ 7 เมษายน 2536 ตามสำเนามรณบัตรหมาย จ.4 และ จ.14 หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตายแล้วเป็นเวลาร่วม 20 ปี โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าบรรดาทายาทตกลงกันต่างครอบครองทรัพย์มรดกนางแก่นเป็นส่วนสัดของตนเอง โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 3 หน้า 32 เอกสารหมาย จ.11 ซึ่งต่อมาได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 29763 เอกสารหมาย จ.5 คือที่ดินพิพาท แต่พยานโจทก์ทั้งสองที่นำสืบเบิกความอ้างลอย ๆ เพียงว่า หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับทายาทอื่นเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ก่อนทายาทตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแก่น นายเสาร์ และนายเสริมได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดอยู่ก่อนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านายเสาร์และนายเสริมหรือโจทก์ทั้งสองครอบครองส่วนใดของที่ดินพิพาท มีอาณาเขต แนวเขตหรือทิศติดต่อทุกด้านเป็นอย่างไร จำนวนเนื้อที่แน่นอนเท่าใด ทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ระบุเพียงว่าขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาท 2 ใน 5 ส่วน โดยมิได้ระบุว่าขอแบ่งส่วนใดของที่ดินพิพาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 เคยเบิกความไว้ในคดีอาญาซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทว่า หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งหลังจากนายเสาร์บิดาถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 โจทก์ที่ 1 ก็ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเช่นกัน ตามสำเนาคำเบิกความเอกสารหมาย ล.2 นายเพิ่มพูน นามวิชัย น้องโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรนายเสริมเบิกความไว้ในคดีดังกล่าวเช่นกันว่า นายเพิ่มพูนและนายเสริมเคยเข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทนาน 10 ปีเศษ และเลิกทำมาแล้วประมาณ 10 ปี คือประมาณปี 2531 ขัดกับคำเบิกความของนายอำนาจ จวบบุญ ผู้ใหญ่บ้านพยานโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา และเลิกทำเมื่อปี 2538 เนื่องจากจำเลยห้ามไม่ให้ทำอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ส่วนนางหนูเพียรเบิกความว่า หลังจากนางแก่นถึงแก่ความตาย นายเสาร์และครอบครัวเข้าทำกินในที่ดินพิพาทมาตลอดจนนายเสาร์ถึงแก่ความตาย และเมื่อจำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางแก่นในปี 2534 แล้ว จำเลยไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยซึ่งล้วนแตกต่างขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าหลังจากนางแก่นถึงแก่ความตาย นายเสาร์และนายเสริมหรือโจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดของตน จำเลยนำสืบว่า เหตุที่มิได้แบ่งทรัพย์มรดกให้นายเสาร์และนายเสริมเนื่องจากภายหลังนางแก่นถึงแก่ความตาย นายเสาร์มาขอเงินจำเลย 6,000 บาท เพื่อนำไปไถ่ที่นาของนางคำตา จวบบุญ แม่ยายซึ่งนำไปให้นายผานยึดไว้เป็นประกันเงินกู้เนื้อที่ 6 ไร่ เพราะกลัวว่านายผานจะยึดที่ดินดังกล่าว จำเลยก็ให้ไป ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ยังคงเป็นของนายเสาร์ นอกจากนี้นายเสาร์ยังมาเอาเงินจากจำเลยอีก 1,000 บาท ไปซื้อที่นาของนางเสียง ทิพย์จันทร์ บุตรนายจำปา กองแก้ว ที่บ้านโนนหนองแฝก เนื้อที่ 5 ไร่ ปัจจุบันที่นาดังกล่าวก็ยังมีอยู่ โดยนายเสาร์บอกว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางแก่นส่วนของตน จำเลยตกลงให้เงินไปทั้งสองครั้ง หลังจากนั้นนายเสาร์ไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอีก ส่วนนายเสริมเมื่อนางแก่นถึงแก่ความตายได้มาขอเงินจำเลยไป 7,000 บาท เพื่อไปต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่นากับนางหมุน กองทรัพย์ โดยบอกว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทส่วนของตนอีก จำเลยก็มอบเงินให้ไปเช่นกัน ต่อมานายเสริมชนะคดีได้ที่ดินมา 11 ไร่ และยังเป็นทรัพย์มรดกของนายเสริมอยู่ โดยนายเสริมไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก ซึ่งโจทก์ที่ 1 เบิกความในคดีนี้และคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดกรับว่า หลังจากนางแก่นถึงแก่นความตายนายเสาร์ได้ไปซื้อที่นาของนางคำตาและนายเหรียญ จวบบุญ ประมาณ 6 ไร่ และซื้อที่นาของนางเสียง ทิพย์จันทร์ ประมาณ 5 ไร่ ตามสำเนาคำเบิกความเอกสารหมาย ล.2 นางหนูเพียรมารดาโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความว่า นางหนูเพียรและนายเสาร์ร่วมกันซื้อที่ดินจากนางคำตาซึ่งเป็นมารดานางหนูเพียรเอง 6 ไร่ เป็นเงิน 5,000 บาท และซื้อที่ดินจากนายจำปา กองแก้ว ซึ่งเป็นบิดาของนางเสียง 5 ไร่ ในราคา 1,000 บาท นางหนูจันทร์มารดาโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ระหว่างนางหนูจันทร์อยู่กินกับนายเสริมได้เกิดคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินกับนางหมุน กองทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไปประมาณ 7,000 บาท จริง พยานโจทก์ทั้งสองจึงเจือสมพยานจำเลยพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเสาร์และนายเสริมเอาเงินจำเลยไปคนละ 7,000 บาท แล้วบุคคลทั้งสองตกลงยกทรัพย์มรดกของนางแก่นส่วนของตนตีใช้หนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง สามารถใช้บังคับกันได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเช่นการกู้ยืมเงิน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-12-18 09:57:36



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล