ReadyPlanet.com


ลูกชายถูกฟันแต่ฟันผิดตัวจะเรียกค่าจาก ก. ยุติธรรมได้ไหม



ลูกชายไปรับจ้างกับพี่สาวเขาที่แต่งงานอีกหมู่บ้านหนึ่ง ญาติเลยพาไปคุยสาวที่เป็นแฟนของญาติ ซึ่งญาติคนนี้เคยมีเรื่องกับหนุ่มบ้านนี้มาก่อน เขาเลยมาฟันทั้งญาติและลูกผมอาการสาหัส โชคดี แม่ของสาวตะโกนเรียกให้คนช่วยเลยรอดตาย ผมแจ้งความเพราะเขามา 8 คนที่มาฟันลูกผม  ตำรวจจับได้ เขายอมรับว่าไม่รู้จักลูกผม แต่ที่ฟันเพราะมากับต้อม ลูกญาติผมเขาจึงฟัน....เมื่อเป็นอย่างนี้ลูกผมถูกฟันไหล่ด้านหลังซ้าย กระดูกแตก ลึกถึงเอ็นขาด ผมสามารถไปร้องขอค่าชดเชยจาก กระทรวงได้ไหมครับ...ขอบคุณท่านทนายมากครับ...ลุงน้อย บ้านหนองโก 



ผู้ตั้งกระทู้ ลุงน้อย :: วันที่ลงประกาศ 2009-12-26 09:17:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2019561)

ลูกของคุณถือว่าเป็นผู้เสียหายแล้ว และหากเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คือไม่ได้ร่วมเป็นผู้ก่อภัยด้วย ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับค่าทดแทนความเสียหายครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-12-26 10:03:26


ความคิดเห็นที่ 2 (2019562)

หลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทน ค่าทดแทน 

หลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทน ค่าทดแทน ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา   พ.ศ 2544                           

โดยที่มาตรา 245  และมาตรา 246  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้ผู้เสียหายใน          คดีอาญาได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ  และจำเลยในคดีอาญาได้รับค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรจากรัฐนั้น  เพื่อให้การรองรับสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ       แห่งราชอาณาจักรไทย  จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  พ.ศ.2544 ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว  ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน             พ.ศ. 2544  และผลของกฎหมายนี้ทำให้มีผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย 2 ประเภท คือ                        

1.  ผู้เสียหายในคดีอาญา                        

2.  จำเลยในคดีอาญาซึ่งต้องขังในระหว่างการพิจารณาคดี

1.ผู้เสียหายในคดีอาญา  ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้        เป็นผู้ที่ถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เช่นถูกทำร้ายร่างกายหรือฆ่า เพื่อชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือถูกข่มขืนกระทำชำเราเป็นต้น       

ผู้ที่ถูกกระทำต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น หมายถึงไม่ใช่คู่กรณี คือไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดนั้น หรือไม่ได้เป็นผู้สมัครใจเข้าร่วมในการกระทำความผิดนั้น        การกระทำดังกล่าวนั้นต้องเป็นความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้                                     

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาตน  ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี  ความผิดฐานกระทำอนาจารผู้อื่น  ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารของผู้อื่นหรือของตนเอง   ความผิดฐานค้าวัตถุลามก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276  ถึงมาตรา 287                                    

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ความผิดฐานกระทำทารุณบุคคลซึ่งต้องพึ่งตนในการดำรงชีพ หรือการอื่นใดให้ฆ่าตนเอง ความผิดฐานช่วยหรือยุยงส่งเสริมเด็กอายุไม่เกิน 16 ปีให้ฆ่าตนเอง ความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย   ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ถึงมาตรา 294                               

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ความผิดฐานกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ถึงมาตรา 300                          

ความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ถึงมาตรา305                       ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก  คนป่วยเจ็บ หรือคนชรา  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 306  ถึงมาตรา 308

2. จำเลยในคดีอาญา   ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.1  ต้องเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ

1.2  และถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ

1.3  ต่อมาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หมายถึงเมื่อศาลพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิอย่างแท้จริง

วิธีการยื่นคำขอรับสิทธิ                            ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทผู้ได้รับความเสียหาย(กรณีผู้เสียหาย หรือจำเลยถึงแก่ความตาย)  ต้องยื่นคำขอด้วยตนเอง ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาตามแบบที่สำนักงานกำหนด  ณ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา อาคารกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่ 4 ชั้น 25    ถนนแจ้งวัฒนะ  อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์  11120   โทรศัพท์ 0 2502 8225-30  โทรสาร  0 2502 8226  0 2502 8226     หรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัด  เรือนจำจังหวัด ทัณฑสถาน คุมประพฤติจังหวัด และสถานพินิจจังหวัด  ทุกจังหวัด
ทั่วประเทศ  ในกำหนดเวลาดังนี้                      

ในกรณีผู้เสียหาย ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด                        

ในกรณีจำเลย ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏ          หลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด  หรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  แล้วแต่กรณี              

คณะกรรมการ

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย  และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ  ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด        ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกห้าคน เป็นกรรมการ ในจำนวนนี้ต้องเป็น                  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์อย่างน้อย   ด้านละหนึ่งคนให้ประธานกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการและอาจแต่งตั้ง ผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน ก็ได้ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทน  ค่าทดแทน  หรือค่าใช้จ่ายตาม           พระราชบัญญัตินี้ การอุทธรณ์  กรณีผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ  มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

การยื่นอุทธรณ์                    

การยื่นอุทธรณ์จะยื่นต่อสำนักงาน หรือศาลจังหวัด หรือศาลอุทธรณ์ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจก็ได้   คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด 

บทลงโทษ

มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่แสดงข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ   เพื่อแสวงหาประโยชน์ อันมิชอบจากพระราชบัญญัตินี้ไว้ด้วย ซึ่งมีโทษจำ และโทษปรับ  และเพื่อให้    ผู้มีสิทธิที่ขอรับ ค่าตอบแทน  ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย ตามพระราชบัญญัตินี้ได้รับความคุ้มครองสิทธิ อย่างรวดเร็ว และเป็นธรรม จึงได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่บุคคล หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ไม่ให้ความสะดวกในการให้ถ้อยคำ  ไม่ส่งหนังสือ  เอกสาร  หลักฐาน  หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็น       ตามคำสั่งของ คณะกรรมการคณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควร มีโทษทั้งจำ และปรับ  ด้วย      

               

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-12-26 10:04:15


ความคิดเห็นที่ 3 (2019629)

ต้องนำหลักฐานอะไรส่งไปให้ครับผม ลูกผมถูกฟันวันที่ 5 พ.ย.52 นี้เองครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงน้อย วันที่ตอบ 2009-12-26 15:25:29


ความคิดเห็นที่ 4 (2019671)

โทรศัพท์  0 2502 8225-30  โทรสาร   0 25028226  0 25028226   

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-12-26 18:22:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล