ReadyPlanet.com


เรื่องระยะเวลา


ผมขอเรียนสอบถามเพื่อเป็นความรู้หน่อยครับ (เนื่องจากผมจำหลักไม่ได้ครับ)

การนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 และ 193/5 ต่างกันหรือไม่อย่างไร และใช้กับกรณีใหนบ้างครับ

เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผมศึกษาหากมีฎีกาประกอบผมขอขอบพระคุณมากครับ

ตัวอย่าง 1. พรบ.หรือข้อบังคับ กำหนดว่าให้ผู้รับใบอนุญาต "ให้ชำระค่าธรรมเนียมภายในสามเดือนก่อนวัน สิ้นสุดของปี"

คำถาม        กรณีนี้วันสุดท้ายตรงกับวันที่ 31 เป็นวันสิ้นปี ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นชำระค่าธรรมเนียมในวันใหนได้ครับ ตามกฎหมายมาตราใหนครับใช้บังคับบ้างครับ

ตัวอย่างที่ 2.

                  2.1 ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง (กรณีมีคำสั่งวันที่ 31 มีนาคม 2552 )

คำถาม 15 วันเริ่มนับแต่วันใหนถึงวันใหนครับ (กรณีนี้ใช้มาตรา 193/3 หรือ 193/5 ครับ มีฏีกาประกอบหรือเปล่าครับ)

                  2.2 ยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง (กรณีได้รับคำสั่งวันที่ 1 ธันวาคม 2552 )

คำถาม 1 เดือน เริ่มนับแต่วันใหนถึงวันใหนครับ  (กรณีนี้ใช้มาตรา 193/3 หรือ 193/5 ครับ มีฏีกาประกอบหรือเปล่าครับ)

 



ผู้ตั้งกระทู้ เอกวิทย์ :: วันที่ลงประกาศ 2010-01-14 11:50:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2025163)

คำถาม        กรณีนี้วันสุดท้ายตรงกับวันที่ 31 เป็นวันสิ้นปี ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นชำระค่าธรรมเนียมในวันใหน

                    ได้ครับ ตามกฎหมายมาตราใหนครับใช้บังคับบ้างครับ

-----"ให้ชำระค่าธรรมเนียมภายในสามเดือนก่อนวันสิ้นสุดของปี"

ก่อนวันสิ้นสุดของปีคือภายในวันที่ 31 ธันวาคม ดังนั้น ภายในสามเดือนคือเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม

ที่ถามว่ากฎหมายมาตราไหนใช้บังคับ คงไม่มีครับเพราะเป็นการนับให้ครบ 3 เดือนเท่านั้นครับ

 

คำถาม 15 วันเริ่มนับแต่วันใหนถึงวันใหนครับ (กรณีนี้ใช้มาตรา 193/3 หรือ 193/5 ครับ มีฏีกาประกอบหรือเปล่าครับ)

-----มาตรา 193/3 ไม่ให้นับวันแรก ก็ต้องนับ1 เมษายน เป็นวันแรก จึงครบ 15 วันในวันที่ 15 เมษายนครับ

 

  2.2 ยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง (กรณีได้รับคำสั่งวันที่ 1 ธันวาคม 2552 )

---รับคำสั่งวันที่ 1 ธันวาคม เริ่มนับวันที่ 2 ธันวาคม ครบกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันสุดท้าย หากตรงกับวันหยุดก็ให้เลื่อนไปเป็นวันทำการวันแรกครับ

เทียบเคียง

 

พิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2548


ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือนกำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา มิใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน

 

 

คำถาม 1 เดือน เริ่มนับแต่วันใหนถึงวันใหนครับ  (กรณีนี้ใช้มาตรา 193/3 หรือ 193/5 ครับ มีฏีกาประกอบหรือเปล่าครับ)

อ่านฎีกาที่ยกมาให้คงไม่ต้องตอบแล้วนะครับ หากสงสัยก็ถามมาใหม่นะครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-01-15 17:14:25


ความคิดเห็นที่ 2 (2025164)

อ่านคำพิพากษาฉบับย่อยาวครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8659/2548
การนับระยะเวลา
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือนกำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา มิใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน

          การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ส่วนคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

          เหตุที่จำเลยอ้างขอขยายระยะเวลาเนื่องจากจำเลยไม่สามารถตรวจพยานหลักฐานคำคู่ความซึ่งมีจำนวนมากและพยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ จำเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและอยู่ระหว่างสอบประจำภาคที่กรุงเทพมหานคร ทนายจำเลยไม่สามารถพบจำเลยและสอบถามรายละเอียดได้ทันระยะเวลายื่นอุทธรณ์ กับทนายจำเลยมีภาระต้องดำเนินคดีต่อเนื่องอีกหลายคดีนั้น เมื่อคดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนมากเป็นพิเศษ ทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนจนทนายจำเลยไม่อาจตรวจหรือทำคำฟ้องอุทธรณ์ได้ทัน หรือต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยอีก จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะมีคำขอภายหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์

 

  คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547

          ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2547 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 14 วัน

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ได้อ่านคำพิพากษา คดีนี้ศาลอ่านคำพิพากษาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 วันสุดท้ายที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์คือวันที่ 18 มีนาคม 2547 หากจำเลยจะยื่นคำขอขยายระยะเวลาดังกล่าวต้องมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลา เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันนี้จึงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ทั้งตามคำร้องไม่ใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงให้ยกคำร้อง

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นการยื่นอุทธรณ์หนึ่งเดือนต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นเดือนให้คำนวณตามปีปฏิทิน วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งเดือน ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือน กำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา หาใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ดังที่จำเลยฎีกาไม่ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ส่วนคำว่า “เหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เหตุที่จำเลยอ้างขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยไม่สามารถตรวจพยานหลักฐานคำคู่ความซึ่งมีจำนวนมากและพยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ จำเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและอยู่ระหว่างสอบประจำภาคที่กรุงเทพมหานคร ทนายจำเลยไม่สามารถพบจำเลยและสอบถามรายละเอียดได้ทันระยะเวลายื่นอุทธรณ์ กับทนายจำเลยมีภาระต้องดำเนินคดีต่อเนื่องอีกหลายคดีนั้น เห็นว่า คดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนมากเป็นพิเศษ ทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนจนทนายจำเลยไม่อาจตรวจหรือทำคำฟ้องอุทธรณ์ได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยอีก จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะมีคำขอภายหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-01-15 17:15:30


ความคิดเห็นที่ 3 (2025955)

ขอขอบพระคุณมากครับ และขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติมอีกหน่อยครับ

คำถาม กรณี 1. หลักทั่วไปการนับระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็น วัน ( 30 วัน 50 วัน 60 วัน 120 วัน) สัปดาห์ (1 สัปดาห์) หรือเดือน ( 1 เดือน 2 

                         เดือน 5 เดือน )  ปี  ( 1 ปี  2 ปี ) ตามมาตรา 193/3 วรรค 2  รวมถึงกรณีตามมาตรา 193/5 วรรค 2 ด้วยใช่หรือไม่ครับ คือ

                          ไม่ให้นับวันแรก 

                          เช่นอุทธรณ์ผลสอบภายในเวลา 15 วัน หรือ 30 วัน หรือ 1 เดือน หรือ 1 ปี  นับจากวันประกาศผลการดดสอบ              

                           เช่นประกาศผลสอบวัน ที่ 31 ตุลาคม 2552 ก็ต้องนับวันรุ่งขึ้นทุกครั้ง คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552  ไม่ว่าวันรุ่งขึ้น

จะเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ ใช่หรือไม่ ครับ  และ

                          1.1       15 วัน คือ  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2552

                          1.2       1 เดือน คือ วันที่  30 พฤศจิกายน 2552

                          1.3        1 ปี      คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2553  (ซึ่ง 31 ตุลาคม 2553 เป็นวันอาทิตย์ ต้องขยายเวลาเป็นวันที่ 1 พ.ย. 53 ตามมาตรา 193/8 ใช่หรือไม่ครับ )

คำถาม กรณี 2. ตามตัวอย่างกรณีที่ 1 ผู้อุทธรณ์สามารถอุทธรณ์ผลสอบในวันที่ 31 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันประกาศผลสอบ (ประกาศ

                          ผลช่วงเช้าอุทธรณ์ช่วงบ่าย) ได้หรือไม่

                       

คำถาม  กรณี 3. แต่กรณีที่เป็น สัปดาห์ เดือน หรือ ปี   ก็เช่นเดียวกันใช่หรือไม่ครับ คือไม่นับวันแรก ตามมาตรา 193/3 ว.2  โดยนับวันรุ่งขึ้น

              แต่หากวันรุ่งขึ้นเป็นวันต้นแห่งสัปดาห์ (วันอาทิตย์)  วันต้นแห่งเดือน (วันที่ 1 ของทุกเดือน ) วันต้นแห่งปี (วันที่ 1 มกราคม)  กรณีนี้

              จะต้องบังคับตามมาตรา 193/5 วรรค 1 ใช่หรือไม่ครับ

              เช่น ตัวอย่างตามคำถาม กรณี 3. วันประกาศผลสอบวันเสาร์ ที่ 30 เมษายน 2548        ดังนั้น

              3.1 1 สัปดาห์ คือ วันเสาร์ ที่ 7 พฤษภาคม 2548  ใช่หรือไม่ครับ     ผู้อุทธรณ์ผลสอบมีสิทธิ์ยื่นถึงวันจันทร์ ที่ 9 เมษายน 2548

                                           ด้วยตาม 1933/8 ใช่หรือไม่ครับ

             3.2  1 เดือน    คือ  วันอังคาร ที่ 31 พฤษภาคม 2548 ใช่หรือไม่ครับ

             3.3  1 ปี         คือ  วันเสาร์ ที่ 1 เมษายน 2549 ใช่หรือไม่ครับ    ผู้อุทธรณ์ผลสอบมีสิทธิ์ยื่นถึงวันจันทร์ ที่ 3 เมษายน 2548

                                          ด้วย ตาม 193/8 ใช่หรือไม่ครับ  

 

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกวิทย์ วันที่ตอบ 2010-01-18 15:57:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล