ReadyPlanet.com


ต้องการหย่า แต่สามีไม่ให้ลูกทำอย่างไรดีคะ


สวัสดีค่ะ ดิฉันแต่งงานมาเกือบ 20 ปีมาลูกด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นผู้ชายอายุจะ 18 แล้ว ส่วนลูกสาว 8 ขวบ 20 ปีที่ผ่านมานี้มีเรื่องชู้สาวมาตลอด แต่ที่ดิฉันทนไม่ได้เลยก็คือรอบนี้ค่ะ เขาแอบคบกันมา4ปี โดยที่ฝ่ายหญิงก็มีสามีอยู่แล้ว ดิฉันต้องการจะหย่าแต่สามีไม่หย่าให้ เลยมีความคิดที่จะฟ้อง แล้วเอาลูกไปอยู่ด้วยทั้งสองคน ที่ดิฉันเป็นห่วงคือลูกสาวค่ะ อยากเอาเขาไปอยู่ด้วย แต่สามีไม่ยอมเลยจะฟ้อง ถ้าฟ้องดิฉันมีสิทธิ์จะชนะมากแค่ไหนคะ

1.สามีไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเพราะต้องทำงาน

2.ลูกสาวติดแม่มากกว่าพ่อ (หากดิฉันได้สิทธิ์ในตัวลูกสาว ดิฉันจะให้เขาไปอยู่กับยายค่ะ เพราะดิฉันต้องทำงาน แต่ลูกสาวของฉันสนิทกับยายค่อนข้างมาก ต่างจากฝั่งย่าที่แทบจะไม่คุ้นเคยเลย หากสามีได้ไปก็คงไปอยู่กับย่า)

3.ดิฉันไม่มีงานทำค่ะ เป็นแม่บ้าน กังวลเรื่องการตัดสินคดีว่าศาลจะตัดสินว่าไม่มีความพร้อมในการดูแลบุตร ( หากศาลให้สิทธิ์ดิฉัน ดิฉันจะไปทำงานกับน้องสาวที่ต่างประเทศค่ะ )

4.ถ้าดิฉันให้ลูกชายอยู่ในความดูแลของพ่อ แล้วลูกสาวอยู่ในความดูแลของแม่ เป็นไปได้ไหมคะที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแบบนี้



ผู้ตั้งกระทู้ ployy :: วันที่ลงประกาศ 2018-09-23 02:47:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4276361)

 ในกรณีที่หย่าโดยคำพิพากษาของศาล ศาลจะกำหนดให้ฝ่าย บิดา หรือฝ่ายมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติรายละเอียดไว้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

แต่ระบุไว้เพียงว่าศาลจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์

ปัญหาเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์นี้เป็นเรื่องระเอียดอ่อน เป็นปัญหาครอบครัวที่เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ศาลจะมีผู้ประนีประนอมหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้คู่ความได้มีโอกาสเจรจาตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ตกลงกันได้เป็นจำนวนมาก

แต่หากคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจะพิจารณารายงานสถานพินิจฯ ประกอบการชี้ขาดตัดสินคดี โดยคดีทุกคดีที่มีผู้เยาว์มาเกี่ยวข้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายและผู้เยาว์จะต้องไปให้ถ้อยคำที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และการให้ถ้อยคำดังกล่าว คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ต้องนำพยานไปด้วย

เมื่อสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้สอบถามถ้อยคำคู่ความ พยาน และเด็กแล้ว จะทำความเห็นรายงานไปยังศาล เพื่อศาลจะได้ใช้ประกอบการชี้ขาดตัดสินคดี

ถ้อยคำของผู้เยาว์ที่ได้ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะสามารถนตำวิเคราะห์ความประสงค์ของผู้เยาว์ได้ระดับหนึ่งว่าอะไรคือประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์

ตามคำถามที่สอบถามถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น

1.สามีไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเพราะต้องทำงาน
การที่พ่อเด็กต้องทำงานไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดก็เป็นเหตุผลประกอบการพิจารณาได้ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างพ่อเด็กกับแม่เด็กว่าประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์อยู่ที่เหตุผลของฝ่ายใด
 
2.ลูกสาวติดแม่มากกว่าพ่อ (หากดิฉันได้สิทธิ์ในตัวลูกสาว ดิฉันจะให้เขาไปอยู่กับยายค่ะ เพราะดิฉันต้องทำงาน แต่ลูกสาวของฉันสนิทกับยายค่อนข้างมาก ต่างจากฝั่งย่าที่แทบจะไม่คุ้นเคยเลย หากสามีได้ไปก็คงไปอยู่กับย่า)
เมื่อผู้เยาว์ไปให้ถ้อยคำที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แล้ว ย่อมปรากฏข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ว่าเด็กมีความสุขที่จะอยู่กับฝ่ายใด แต่จากข้อเท็จจริงของคุณก็ไม่ปรากฏว่าคุณมีเวลาให้กับผู้เยาว์ได้ดีไปกว่าบิดาของผู้เยาว์
 
3.ดิฉันไม่มีงานทำค่ะ เป็นแม่บ้าน กังวลเรื่องการตัดสินคดีว่าศาลจะตัดสินว่าไม่มีความพร้อมในการดูแลบุตร ( หากศาลให้สิทธิ์ดิฉัน ดิฉันจะไปทำงานกับน้องสาวที่ต่างประเทศค่ะ )
ข้อเท็จจริงว่าคุณจะไปทำงานต่างประเทศ ไม่น่าเป็นประโยชน์แก่คดีของคุณเพราะเด็กควรจะได้อยู่ใกล้ชิดกับบิดา หรือมารดา เมื่อคุณเองก็ไม่อาจอยู่ดูแลบุตร แต่ก็ยังอยากให้บุตรอยู่กับยายซึ่งเป็นฝ่ายของคุณ เห็นว่าพ่อเด็กอยู่ในประเทศไทยมีโอกาสได้ให้ความอบอุ่นแก่บุตรได้มากกว่าคุณ
 
4.ถ้าดิฉันให้ลูกชายอยู่ในความดูแลของพ่อ แล้วลูกสาวอยู่ในความดูแลของแม่ เป็นไปได้ไหมคะที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแบบนี้
การตกลงกันได้เป็นเรื่องที่ดีที่นสุดครับ ถามลูกๆ หรือยัง?
 
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2018-10-15 08:42:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล