ReadyPlanet.com


ปรึกษาปัญหาเรื่องการหย่า


แต่งงานอยู่กินกับสามีโดยจดทะเบียนสมรสเป็นเวลา 8 ปีแล้ว เหตุเพิ่งเกิดเมื่อต้นปีที่แล้วเรื่อยๆมาหลายต่อหลายครั้งที่เรามีปากเสียงกัน หลายครั้งที่เขาทำร้ายร่างกายดิฉัน แต่ก็ทนอยู่ด้วยกันมาตลอด เพราะเห็นแก่ลูกที่เพิ่งเกิด ตอนนี้บุตรอายุ 1 ขวบแล้ว จนดิฉันและลูกต้องหนีมาอยู่บ้านแม่ดิฉัน แต่เขาก็ตามมาอยู่ด้วย นานวันเข้าก็เกิดมีปากเสียงกันอีก หลายต่อหลายครั้งที่ถูกเขาทำร้ายร่างกาย แต่พ่อกับแม่ของดิฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะถือว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา จนมีอยู่วันหนึ่งสามีทำร้ายร่างกายจนดิฉันเลือดคลั่งบริเวณดวงตาด้านซ้าย พ่อกับแม่ทนไม่ไหวจึงด่าว่าเขาไปหลายคำ และเขาก็ดูหมิ่นเหยียดหยามด่าว่าพ่อแม่ดิฉันเป็นประจำ จนดิฉันคิดว่าจะเลิกกับเขาและบอกกับเขาว่าให้แยกกันอยู่ไปสักพักหนึ่งก่อน แต่สามีไม่ยอมกลับมาด่าว่าและทำร้ายร่างกายดิฉันอีก ดิฉันสุดทนแล้ว ขอคำปรึกษาด้วยค่ะ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีแล้วค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ณัฐ :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-15 11:35:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2286383)

 การเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิที่จะทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่มีความผิด ดังนั้นคุณควรที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และอาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เพราะการทำร้ายถึงขนาดเลือดคลั่งบริเวณดวงตาถือว่าเป็นการร้ายแรงแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-12 15:16:51


ความคิดเห็นที่ 2 (2286388)

 1) ภรรยา ถูกสามีทำร้าย  ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ มีบาดแผลต่างๆ   ให้คุณไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และนำผลตรวจ  มาแจ้งความที่สถานีตำรวจ     ตำรวจร้อยเวรผู้รับเรื่อง  จะให้คำแนะนำ และ เรียกสามีของคุณมาให้เปากคำ และดำเนินการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นก่อน หากยอมความกันได้ก็ปิดคดี...   กรณีที่คุณต้องการตั้งข้อเรียกร้องใดๆ  จากสามีของคุณ  เช่น  การไปจดทะเบียนหย่า  การชดใช้ค่าทำขวัญ   การห้ามสามีเข้าใกล้คุณในระยะ 300 เมตรเพื่อความปลอดภัย หรือ อื่นๆ ...  ให้คุณ กล่าวถึงในช่วงที่ตำรวจดำเนินการไกล่เกลี่ย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ลงรายละเอียดทุกอย่างไว้ในบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องต่อศาล และมีผลคุ้มครองสิทธิสตรี รวมถึง เสรีภาพในอนาคตของคุณ  ต่อไป 

 
กรณีของคุณ  เป็นเหตุให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตสมรส ได้โดยปกติสุขต่อไปได้  หากสามีไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่าให้คุณดี ๆ  คุณสามารถดำเนินการ ฟ้องหย่าได้ดังนี้
 
2)  คุณถูกสามีทำร้ายร่างกาย   ซึ่งตามกฎหมายเพ่งฯ  ถือเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้   หากคุณประสงค์จะฟ้องหย่า   ให้ดำเนินการโดย  ตั้งทนายความ (เพื่อเป็นตัวแทนคุณ)  ทำหน้าที่ดำเนินการส่งสำนวนยื่นฟ้องไปยัง ศาลครอบครัวและเยาวชน  ต่อไป 
 
ทั้ง 2 ขั้นตอน  ขอให้คุณ เตรียมพยานหลักฐานประกอบสำนวนคดี   เช่น  ใบรับรองการตรวจร่างกายจากแพทย์   พยานบุคคลที่รู้เห็นในเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย   เป็นต้น     
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 15:31:42


ความคิดเห็นที่ 3 (2286389)

 สามีทำร้ายร่างกายภริยา หมิ่นประมาทบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 15:34:05


ความคิดเห็นที่ 4 (2286391)

 คำถาม  ดิฉันอยู่กินกับสามีมา 5 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน  เวลาที่สามีกินเหล้าเมาก็มักจะด่าว่าดิฉัน บางครั้งก็ลงมือทุบตีดิฉันเป็นประจำ  แรกๆ ดิฉันก็ไม่ว่าอะไร พยายามอดทน แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหวค่ะ  ดิฉันจึงไปแจ้งความ  แต่ตำรวจกลับไม่รับแจ้ง และบอกว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย เดี๋ยวก็ดีกัน  ดิฉันอยากทราบจริง ๆ ว่าการทำร้ายร่างกายระหว่างสามีภริยานั้นไม่มีความผิดใดๆ เลยหรือ ค่ะ  และในกรณีแบบนี้ดิฉันสามารถที่จะฟ้องหย่าได้หรือไม่

 
คำตอบ-   ตามปัญหาที่ปรึกษาเข้ามานั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวได้มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ "ตามกฎหมายอาญา มาตรา 295 ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ดังนั้นการที่สามีหรือภริยาได้ทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น อาจมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ซึ่งมีโทษถึงขั้นจำคุกหรือทั้งจำคุกและปรับด้วย รวมทั้งในกรณีที่สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องหย่าได้ ไม่มีบทยกเว้นสำหรับกรณีที่สามีทำร้ายร่างกายภริยาแล้วไม่มีความผิด ความเป็นสามีภริยาไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่จะทำร้ายคู่สมรสของตนได้โดยไม่มีความผิด
 
    การที่เจ้าพนักงานตำรวจเขาไม่รับแจ้งความหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจเป็นเพราะตำรวจอาจหวังดีกับคุณเห็นว่าเป็นเรื่องครอบครัว สามีภริยาทะเลาะกันเดี๋ยวคงดีกันเอง ไม่ต้องการให้ครอบครัวมีปัญหาแตกแยกกันส่วนใหญ่เจ้าพนักงานตำรวจมักจะไกล่เกลี่ยไม่ต้องการให้เป็นคดีความกันขึ้นครับ
 
    แต่หากคุณเห็นว่าการที่สามีทะเลาะทุบตีท่านบ่อยๆ เป็นประจำและเห็นว่ามันอดมันทนไม้ทนมือไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว ชาตินี้มันคงอยู่ร่วมกันไม่ได้อย่างนี้มันต้องเลิก เป็นไงเป็นกัน ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้เป็นแน่แท้แล้ว ผมแนะนำว่าควรดำเนินการดังนี้     หลังจากโดนตบตี มีร่องรอยฟกช้ำดำเขียวหรือเป็นแผลตามลำตัวหรือที่แห่งใดก็ควรถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน และเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้าน ให้คุณหมอตรวจและทำแผลให้ พร้อมกับให้คุณหมอออกใบรับรองแพทย์ลักษณะของแผลเหล่านั้น เพื่อนำมาประกอบการแจ้งความดำเนินคดีกับสามี และยืนยันกับเจ้าพนักงานตำรวจว่าไม่ขออยู่ร่วมกับสามีตัวแสบคนนี้อีกต่อไป  และต้องการเลิก โดยต้องการให้ตำรวจดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เมื่อคุณแจ้งความประสงค์และยืนยันอย่างนี้แล้วหากเจ้าพนักงานตำรวจเขาไม่รับแจ้งความถือได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ครับ
 
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 15:37:56


ความคิดเห็นที่ 5 (2286401)

 อายุความอ้างเหตุฟ้องหย่าเรื่องหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยาม

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5664/2551
 
มาตรา1529  สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง
เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น
 
          แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2517 มีบุตรด้วยกัน 2 คน บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อปี 2542 โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันโดยจำเลยดุด่าเหยียดหยามโจทก์ต่อหน้าสาธารณชนหลายครั้ง ได้ทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงจึงได้ไปทำบันทึกที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก หลังจากนั้นจำเลยยังคงเข้าไปด่าดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงหลายครั้งต่อหน้าผู้ร่วมงาน ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติและเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นการกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยดุด่าเหยียดหยามโจทก์ มีแต่โจทก์ดุด่าเหยียดหยามและทำร้ายร่างกายจำเลย บันทึกที่สถานีตำรวจที่ว่าคู่สัญญาตกลงว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันนั้น โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติ โจทก์ไม่มีสิทธินำหนังสือดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องหย่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์อย่างไร หรือจำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอย่างไร ทำให้จำเลยหลงต่อสู้และเสียเปรียบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งโจทก์อาจยกขึ้นกล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า เหตุในการฟ้องหย่าคดีนี้ขาดอายุความ เพราะโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้างถือว่าสิทธิดังกล่าวระงับไปแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดแจ้งถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิฟ้องร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) ไว้ คือสามีหรือภริยาหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง และสามีหรือภริยาทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าโจทก์และจำเลยทะเลาะกันมาตั้งแต่ปี 2542 ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2544 โจทก์และจำเลยไปทำบันทึกที่สถานีตำรวจว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกันอีก แต่หลังจากนั้นจำเลยยังไปด่าโจทก์ ดูหมิ่นและเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2544 โจทก์จึงไปตักเตือนจำเลยว่าอย่าทำอีก ซึ่งโจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จนถึงปี 2546 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง ซึ่งเหตุดังกล่าวจำเลยยกขึ้นอุทธรณ์และกล่าวในคำแก้ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้สั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - กีรติ กาญจนรินทร์ )
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 16:12:09


ความคิดเห็นที่ 6 (2286406)

 ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือไม่???

 เมื่อภริยาทราบว่าสามีได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้ว ก็มิได้ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าสามีเสียแต่แรกทั้งยังแสดงกริยาไม่เอาเรื่องเอาความ ยอมรับสถานการณ์มีสองภริยาของสามี จึงถือได้ว่าภริยาให้อภัยในการกระทำผิดของสามีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เพียงพฤติการณ์ของภริยาตามข้อต่อสู้ของสามีดังกล่าว ภริยามิได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงออกให้ปรากฏโดยชัดแจ้งพอที่จะเห็นเจตนาของว่ายินยอมหรือให้อภัยแล้ว 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3190/2549
 
 มาตรา 1518  สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว
 
 
          การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า
          โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้
          การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2534 ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาในเดือนเมษายน 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพร ป๋าเมืองมูล ฉันภริยาและมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยแสดงออกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปว่านางสุภาพรเป็นภริยาของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความดูถูกเกลียดชัง โจทก์ขอหย่า แต่จำเลยไม่ยินยอม กลับทำร้ายร่างกายโจทก์และหมิ่นประมาทบุพการีโจทก์เป็นการร้ายแรง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ ความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ถ้าไม่ไปให้เอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
          จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาและมีบุตรด้วยกัน โจทก์เพียงแต่ตัดพ้อต่อว่าเล็กน้อย ในที่สุดก็ยอมรับความจริงทั้งให้อภัยในความผิดที่จำเลยทำ และยินยอมให้จำเลยอยู่กินกับนางสุภาพรเพราะโจทก์มีบุตรไม่ได้ โจทก์ทราบว่าจำเลยไปนอนค้างที่บ้านนางสุภาพรแต่ก็ไม่ได้ว่ากล่าวเอาความอะไร จำเลยมิได้กระทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ญาติพี่น้อง เพื่อนของโจทก์และจำเลยทราบถึงสภาพการมีสองครอบครัวของจำเลยและโจทก์ การอยู่กินกับนางสุภาพรเป็นไปในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นไม่ได้แสดงต่อสังคมทั่วไปว่าเป็นภริยา จำเลยยังให้เกียรติและยกย่องว่าโจทก์เป็นภริยา ทั้งนี้ได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์มาโดยตลอด ไม่เคยทำร้ายร่างกายโจทก์และหมิ่นประมาทโจทก์กับบุพการีของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุที่จำเลยมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ทราบเหตุดังกล่าว และโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
          ก่อนสืบพยาน จำเลยแถลงว่า จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูนางสุภาพรฉันภริยาตั้งแต่ต้นปี 2531 หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน โจทก์ทราบเรื่องและไม่ติดใจที่จำเลยจะมีนางสุภาพรเป็นภริยาและให้อภัยจำเลยตลอดมา ส่วนโจทก์แถลงว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนางสุภาพรในปี 2539 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพรหรือไม่ เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อเดือนเมษายน 2545 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกัน โจทก์ไม่เคยอภัยจำเลยและรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยมีหญิงอื่น ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 กันยายน 2546
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครับวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้กันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา จำเลยได้นางสุภาพร ป๋าเมืองมูล เป็นภริยาและมีบุตรด้วยกัน 1 คน อันเป็นการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาจนปัจจุบัน ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องคำให้การและข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2546 แล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 นั้น ไม่ชอบ เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรตามที่จำเลยให้การต่อสู้หรือไม่ ทั้งการที่มิได้มีการสืบพยานจึงไม่อาจทราบได้ว่าพยานที่งดสืบเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็นอย่างไร เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด คดีนี้เมื่อพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 แล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่า มีเหตุฟ้องหย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลายเหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์และจำเลย ซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพฉันภริยาแล้ว โจทก์จึงจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และสิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามมาตรา 1518 หรือไม่ เห็นว่า การยินยอมและให้อภัยตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า คดีนี้จำเลยให้การและฎีกาอ้างว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้ว โจทก์มิได้ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยเสียแต่แรกทั้งยังแสดงกริยาไม่เอาเรื่องเอาความ ยอมรับสถานการณ์มีสองภริยาของจำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่า เพียงพฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าว โจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงออกให้ปรากฏโดยชัดแจ้งพอที่จะเห็นเจตนาของโจทก์ว่ายินยอมหรือให้อภัยแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏจากคำแถลงของโจทก์จำเลยในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 ว่า โจทก์มิได้ยินยอมและให้อภัยในการกระทำของจำเลยแต่เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพร เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับนางสุภาพร เนื่องจากขณะนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยจะอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา ข้อเท็จจริงจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น           ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุหย่าในมาตรา 1516 (1) ระงับไปเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุหย่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 หรือไม่ เห็นว่า การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา เหตุฟ้องหย่ามาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยดังกล่าวมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
 
 
( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - วิชา มหาคุณ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ )
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 16:21:46


ความคิดเห็นที่ 7 (2286409)

 ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่(ระหว่างสมรส)จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวเพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม 

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3786/2546
 
 
          ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
           ที่ดินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท 2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง
           โจทก์นำเงินของโจทก์ไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสองว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสรถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
           ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538โจทก์จำเลยอยู่กันที่บ้านเลขที่ 35/2 ซึ่งเป็นบ้านบิดามารดาโจทก์ ระหว่างอยู่กินไม่มีบุตรด้วยกันและมีสินสมรสเป็นที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 80253 และที่ดินโฉนดเลขที่ 80354 จำนวนเนื้อที่แปลงละ 17 ตารางวา ต่อมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2539จำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จำเลยกระทำการทรมานจิตใจหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง โดยนำความเท็จไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา คือจำเลยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพญาไท กล่าวหาว่าโจทก์ใช้กำลังประทุษร้าย ใส่กุญแจข้อมือจำเลยทั้งสองข้างและใช้เทียนไขหยดน้ำตาเทียนลงบนร่างกายของจำเลยหลายแห่งขณะจำเลยอยู่ในสภาพเปลือยเปล่า จนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับบาดเจ็บพุพองตามร่างกายหลายแห่ง กล่าวหาว่าโจทก์ใช้กำลังตบตีทำร้ายร่างกายและบังคับข่มขืนใจให้จำเลยยืนเปลือยกายอยู่หน้าเครื่องปรับอากาศเป็นเวลา 7 ชั่วโมงกล่าวหาว่าโจทก์บังคับขืนใจให้จำเลยเปลื้องผ้าขณะนั่งอยู่ในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ที่บริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว และกล่าวหาว่าโจทก์พกพาอาวุธปืนขนาด .38 ซึ่งเป็นอาวุธของโจทก์ติดตัวไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กับแจ้งข้อหาอื่นอีก 3 กระทงซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา นอกจากนี้จำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์ที่สถานีตำรวจภูธรศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยกล่าวหาว่าโจทก์ใช้อาวุธปืนพยายามฆ่าจำเลยจนทำให้โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหา อีกทั้งจำเลยยังหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับกล่าวหาว่าครอบครัวโจทก์เป็นครอบครัวชั่วช้าเลวทราม อยู่ในครอบครัวของโจทก์เหมือนตกอยู่ในขุมนรก โจทก์เป็นคนกักขฬะอันเป็นการดูถูกหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ไม่สามารถอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยได้ โจทก์ได้บอกกล่าวขอหย่าและแบ่งสินสมรสกับจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยินยอม โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 80353 และเลขที่80354 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหรือหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชำระราคาเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยอมรับว่าได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์และอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่บ้านบิดามารดาของโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตัวเป็นสามีที่ดี ไม่รับผิดชอบในการอุปการะเลี้ยงดูจำเลย ไม่ยกย่องให้เกียรติจำเลยในฐานะภริยา ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยตลอดมา ที่ดินสองแปลงที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้นความจริงแล้วเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่รับการยกให้จากนางสุกัญญา นาควิเชียรเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 โดยจำเลยเป็นเจ้าของรวมกับนายวุฒิชัย จตุทอง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 80358 ต่อมาเมื่อนางนวลนิตย์ จตุทอง มารดาจำเลยมีความประสงค์จะสร้างอาคารอพาร์ตเมนต์บนที่ดินดังกล่าวเพื่อให้คนเช่าอาศัย จึงได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 80358 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่นางนวลนิตย์แล้ว นางสาวนิรมล จตุทอง พี่สาวจำเลยได้โอนที่ดินสองแปลง โฉนดเลขที่ 80353 และ80354 รวมเนื้อที่ 34 ตารางวา ให้แก่จำเลยโดยทำเป็นสัญญาซื้อขาย แต่ความจริงแล้วไม่มีการชำระราคาที่ดินกัน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง นอกจากนี้จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยประพฤติตนอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ไม่เคยดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์โดยการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าครอบครัวของโจทก์เป็นครอบครัววิปริตชั่วเลวทราม แต่จำเลยยอมรับว่าเคยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโจทก์ได้ใช้กำลังประทุษร้ายและทรมานจำเลยตามคำฟ้องจริง จำเลยได้ยื่นฟ้องหย่ากับโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไป จำเลยขอฟ้องแย้งว่าระหว่างอยู่กินกับโจทก์ โจทก์ไม่เคยประกอบอาชีพใดและไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูจำเลย ระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยามีทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสร่วมกันคือรถยนต์จี๊ปเชโรกี หมายเลขทะเบียน 1 ษ - 5225 กรุงเทพมหานคร ราคาประมาณ 500,000 บาท รถยนต์วอลโว่ รุ่น 960 หมายเลขทะเบียน 6 ษ - 5797กรุงเทพมหานคร ราคาประมาณ 1,500,000 บาท และกล้องถ่ายรูปไลก้า 1 กล้องพร้อมอุปกรณ์ราคาประมาณ 200,000 บาท นอกจากนี้ยังมีของหมั้นคือ แหวนเพชร1 วง ราคาประมาณ 250,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคาประมาณ 10,000บาท ซึ่งฝ่ายโจทก์มอบให้แก่จำเลย แต่โจทก์เก็บไว้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนให้จำเลยขอให้บังคับโจทก์แบ่งสินสมรสให้แก่จำเลยครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 1,100,000 บาท และคืนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นให้แก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนคิดเป็นเงิน 310,000บาท
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งจำเลยเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 984/2539 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีดังกล่าวจำเลยฟ้องหย่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ขอแบ่งสินสมรส ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นความเท็จทั้งสิ้น รถยนต์จี๊ปและรถยนต์วอลโว่ไม่ใช่สินสมรส บิดามารดาโจทก์เป็นผู้ผ่อนชำระเพียงแต่ยืมชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองแทน บิดามารดาโจทก์ได้ขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จี๊ป ให้แก่บุคคลภายนอกก่อนที่จำเลยจะหนีออกไปจากบ้านโจทก์ ส่วนกล้องถ่ายรูปไลก้าไม่มีทรัพย์สินนี้แต่อย่างใด รถยนต์วอลโว่ปัจจุบันบิดามารดาโจทก์ยังเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นตามฟ้องแย้งเป็นความเท็จ โจทก์ไม่เคยนำมาจากจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนให้ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งพิพากษาให้โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6 ษ-5797 กรุงเทพมหานครให้จำเลยครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินสินสมรสจำนวน 928,211.83 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปี 2538 ต่อมาเมื่อปี 2540 จำเลยได้ฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก่อนที่โจทก์จะฟ้องหย่าขอหย่าจากจำเลยในคดีนี้ และคดีดังกล่าวนั้นคู่ความตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมหย่าขาดจากกันและศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า คำฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าคดีทั้งสองเป็นคู่ความเดียวกันและฟ้องหย่าเหมือนกัน จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสก็เกี่ยวกับการฟ้องหย่า จึงมีมูลคดีเดียวกันที่จำเลยจะต้องฟ้องไปพร้อมกับคดีที่จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เห็นว่า ประเด็นเรื่องฟ้องหย่านั้นในคดีที่จำเลยเป็นฝ่ายฟ้องหย่า คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมหย่าขาดจากกันและศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมจนคดีถึงที่สุด และในคดีนี้คู่ความได้ตกลงสละประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องหย่าในคดีนี้ คงมีข้อพิจารณาเรื่องคำฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสว่าเป็นมูลคดีเดียวกันที่จำเลยจะต้องฟ้องไปพร้อมกับคดีที่จำเลยเป็นฝ่ายฟ้องขอหย่าหรือไม่เห็นว่า ประเด็นในการฟ้องหย่ามีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกัน แม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่า แต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ นอกจากนี้ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่าดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ฟ้องแย้งของจำเลยขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
 
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 80353 และ 80354เอกสารหมาย จ.3 จ.4 และรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสหรือไม่ สำหรับที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว โจทก์มีพลตรีปัญญา วิวัฒนชาต และนางสุรัชนา วิวัฒนชาต บิดามารดาของโจทก์มาเบิกความว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว มารดาจำเลยเป็นผู้บอกขาย บิดามารดาโจทก์จึงรับซื้อไว้โดยตั้งใจยกให้เป็นสินสมรสแก่โจทก์และจำเลย แต่ในวันทำการโอนกลับมีการใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเพราะในวันดังกล่าวตัวโจทก์ป่วยจึงไม่ได้ไปร่วมรับโอนด้วยฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยและมารดาจำเลยมานำสืบว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยโดยมีความเป็นมาว่าที่ดินทั้งสองแปลงเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 27832 เอกสารหมาย ล.20 ซึ่งนางเพ็ง แซ่ตัน ยายจำเลยซื้อจากผู้อื่นเพื่อแบ่งให้แก่บุตรทุกคน ในชั้นแรกได้ใส่ชื่อนางสาวสุกัญญาน้าจำเลยเป็นผู้ถือครอง ครั้นปี2519 จึงได้มีการตกลงแบ่งแยกโฉนดเป็นหลายแปลง มารดาจำเลยได้สิทธิมารวม 5แปลง คือโฉนดเลขที่ 80353, 80354, 80355, 80356 และ 80358 ตามเอกสารหมาย ล.21 ถึง ล.25 ซึ่งมารดาจำเลยได้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือครองที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 ร่วมกับนายวุฒิชัย จตุทอง ผู้เป็นพี่ชายจำเลย ส่วนอีก4 แปลงได้ใส่ชื่อเป็นของเด็กหญิงนิรมล จตุทอง พี่สาวจำเลย ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน2538 มารดาจำเลยได้นำโฉนดเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 ไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อกู้เงินมาทำธุรกิจสร้างอพาร์ตเมนต์ให้คนเช่าบนที่ดินแปลงดังกล่าวหลังจำเลยแต่งงานอยู่กินกับโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมาเรียกร้องให้มารดาจำเลยจ่ายค่าผลประโยชน์ เฉพาะโจทก์ยังมาทำการข่มขู่หลายครั้ง บางครั้งยังกล่าวหาว่ามารดาจำเลยโกงจำเลย มารดาจำเลยเกรงจะเกิดปัญหาจึงประสงค์จะถอนชื่อจำเลยจากโฉนดที่ดินเลขที่ 80358 เอกสารหมาย ล.25 แต่เมื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของธนาคารเจ้าหนี้แล้วได้รับคำแนะนำว่าให้ทำนิติกรรมอำพรางเป็นการซื้อขายแทนการแลกเปลี่ยน จึงได้มีการดำเนินการตามที่ได้รับคำแนะนำโดยไม่มีการชำระเงินกันจริง เห็นว่า จำเลยนำสืบถึงความเป็นมาของที่ดินอย่างเป็นเรื่องราวและมีหลักฐานเมื่อพิจารณาประกอบสัญญาขายที่ดิน 2 ฉบับ เกี่ยวกับที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งทำการโอนกันในวันเดียวกัน คือวันที่ 25มิถุนายน 2539 แล้ว กรณีมีเหตุน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบ คือ เป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 80358 ที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ทั้งนี้ ตามนัยแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1427 วรรคหนึ่ง..... ส่วนเรื่องรถยนต์วอลโว่ตามที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น โจทก์มีบิดามารดาโจทก์มาเบิกความถึงเรื่องราวความเป็นมาว่า ก่อนโจทก์จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลย บิดาโจทก์ได้ซื้อรถยนต์มิตซูบิชิให้โจทก์ไว้ใช้ขับไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายหลังโจทก์ได้ขายรถคันดังกล่าวไป แล้วนำเงินที่ขายได้ไปวางเงินดาวน์เป็นค่าเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกีโดยมารดาโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและผ่อนชำระค่างวด ตามเอกสารหมาย จ.5 เพราะโจทก์ยังไม่มีงานทำ ต่อมาโจทก์ขับรถคันดังกล่าวไปประสบอุบัติเหตุ เมื่อซ่อมแล้วจึงได้ขายต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2539 แล้วนำเงินที่ขายได้กับที่โจทก์ได้รับการคืนเงินจากการซื้อที่ดินที่จังหวัดสระบุรีจำนวน 250,000 บาท ไปวางเป็นเงินดาวน์ ค่าเช่าซื้อรถยนต์วอลโว่ เงินดังกล่าวบิดามารดาโจทก์มอบให้โจทก์ก่อนที่โจทก์จะพบกับจำเลยจำนวน 500,000 บาท โดยเงินอีกครึ่งหนึ่งโจทก์นำไปซื้อแหวนหมั้นให้กับจำเลย ส่วนผู้ชำระค่างวดและค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์วอลโว่คงเป็นมารดาโจทก์เช่นเดิม ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความว่า เป็นผู้ซื้อรถจี๊ปเซโรกีตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายล.14 และจะเป็นผู้ผ่อนชำระค่างวดปัจจุบันทางบริษัทให้ผู้เช่าซื้อได้ฟ้องโจทก์และจำเลยให้ชำระราคารถจี๊ปเซโรกีดังกล่าว เห็นว่า นอกจากเหตุผลดังที่ศาลล่างทั้งสองได้กล่าวแล้วโดยมีหลักฐานตามที่จำเลยอ้างส่งหาใช่สันนิษฐานเอาเองไม่ จากหลักฐานตามบัญชีธนาคารที่โจทก์จำเลยเปิดร่วมกันตามเอกสารหมาย ล.17 ปรากฏมีรายการถอนเงินจากบัญชีจ่ายเมื่อสิ้นเดือนตามจำนวนที่ใกล้เคียงกับค่างวดรวม 3 งวด ถือได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมชำระค่าเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกี ทั้งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ และรถจี๊ปเซโรกีเช่าซื้อมาในระหว่างสมรสแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นอีกว่า บิดามารดาโจทก์มาเบิกความเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถจี๊ปเซโรกีแต่เพียงลอย ๆ ที่สำคัญคือบิดาโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่ามารดาโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและชำระค่าเช่าซื้อรถจี๊ปคันดังกล่าวต่อเมื่อทนายจำเลยนำหลักฐานมาถามค้านจึงได้ยอมรับว่าความจริงแล้ว ผู้ค้ำประกันคือจำเลย ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนมารดาโจทก์ก็เบิกความเพียงว่าโจทก์ขายรถยนต์มิตซูบิชิแล้วไปดาวน์รถจี๊ป จำนวน 300,000 บาท ผ่อนชำระอีกเดือนละ 27,000บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่มีรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ค้ำประกัน และใครเป็นผู้ชำระค่างวดอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ในประการนี้จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์ว่าโจทก์นำเงินที่ขายรถจี๊ปเซโรกีไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง ว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส รถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่ชอบเพราะพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแทนการนำรถยนต์วอลโว่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยมิได้เป็นฝ่ายอุทธรณ์ เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งเมื่อรับฟังว่ารถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง แม้จะปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไป 1,856,423.66 บาท แต่จำเลยเรียกร้องมูลค่ารถยนต์เพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า 1,500,000 บาท จึงเห็นควรใช้ราคาตามคำขอที่จำเลยฟ้องแย้งเป็นเกณฑ์ เมื่อแบ่งกันคนละครึ่งแล้ว ส่วนของจำเลยจึงคิดเป็นเงินจำนวน 750,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งสินสมรสรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6 ษ-5797กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันให้นำรถยนต์คันดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำรถยนต์มาแบ่งกันได้ให้โจทก์คืนสินสมรสส่วนนี้เป็นเงิน 750,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
 
 
( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - ประสพสุข บุญเดช - สมชัย เกษชุมพล )
 
 
หมายเหตุ 
          คดีแรกจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขอหย่าส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอหย่าเช่นกัน แต่ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 เพราะจำเลยคดีแรกกลับมาเป็นโจทก์คดีนี้ แต่ต่อมาคดีแรกได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงหย่าขาดจากกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ย่อมถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว คดีนี้จึงน่าจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแรกเพราะคู่ความเป็นคนเดียวกันและประเด็นเป็นอย่างเดียวกันแม้จะกลับกันเป็นโจทก์จำเลยก็ตามศาลต้องยกฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 144 และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 เนื่องจากขณะที่ยื่นฟ้องคดีหลังคดีแรกยังไม่ถึงที่สุด แต่ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเพราะคู่ความได้สละประเด็นเรื่องฟ้องหย่าไปตั้งแต่ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว
           อย่างไรก็ตามถึงหากศาลจะต้องยกฟ้องคดีหลังในส่วนของประเด็นเรื่องฟ้องหย่าเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่ฟ้องแย้งของจำเลยก็ไม่น่าจะตกไปด้วยเพราะยังมีโจทก์เป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ ศาลจึงต้องพิจารณาคดีในส่วนของฟ้องแย้งต่อไป และกรณีไม่ถือว่าฟ้องแย้งเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรก แต่เหตุผลที่ว่าไม่เป็นฟ้องซ้อนไม่น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นคนละมูลคดีกันและไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกับการฟ้องหย่า แต่น่าจะเป็นเพราะจำเลยขอแบ่งสินสมรสภายหลังหย่าแล้วโจทก์ไม่ยอมแบ่งซึ่งเท่ากับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันนั่นเอง
           ไพโรจน์ วายุภาพ
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-12 16:32:33



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล