ReadyPlanet.com


การชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย, สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เรียกคืนไม่ได้


การเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืน ข้อห้ามตามกฎหมาย ตามมาตรา 411 หมายความว่าอย่างไร เพราะกฎหมายบอกว่า เรียกร้องทรัพย์คืนไม่ได้

สงสัย สงสัย 



ผู้ตั้งกระทู้ จันทรา :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-03 08:13:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958506)

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืน ข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะ เรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

 

ในกรณีที่มีสัญญาต่างตอบแทนที่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้นเป็นเหตุให้ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

เช่น การจ่ายเงินเพื่อซื้อยาบ้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมส่งยาบ้าให้ เช่นนี้ ฝ่ายที่จ่ายเงินไปไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนนั้นคืนเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นต้น

หรือเช่นผู้ชายมีภริยาอยู่แล้วแต่ได้ให้ทรัพย์สินแก่ผู้หญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้หญิงคนนั้นจะยอมเป็นภริยาน้อย เมื่อผู้หญิงได้ทรัพย์สินไปแล้วก็ไม่ยอมไปอยู่กินด้วย ฝ่ายผู้ชายย่อมไม่มีสิทธิจะเรียกทรัพย์คืนได้เพราะเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอัน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-04 08:22:23


ความคิดเห็นที่ 2 (1958764)

สัญญารับประโยชน์ตอบแทนจากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน เป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ

เงินที่ได้ออกให้เขาสู้คดีกันเรียกคืนไม่ได้

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยโจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายช่วยจำเลยในการต่อสู้คดีที่ถูกนายทรัพย์ แก่นแก้ว ฟ้องขอแบ่งที่ดิน สิ้นเงินไป 30,000 บาท โดยตกลงกันว่า ถ้าจำเลยชนะคดีจำเลยจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยแพ้คดีจำเลยก็จะโอนที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกแล้วให้แก่โจทก์ เป็นการตอบแทนที่โจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายไป ปรากฏว่าจำเลยแพ้คดีต้องแบ่งแยกที่ดิน เหลือที่ดินส่วนของจำเลยอยู่ 20 ไร่เศษ ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ไปโอนก็ให้จำเลยคืนเงิน 30,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์ช่วยเหลือทางด้านการเงินในคดีตามฟ้อง ถ้าโจทก์ออกเงินให้จำเลยต่อสู้คดีก็เพื่อหวังเอาส่วนแบ่งในผลประโยชน์ของคดี เป็นโมฆะ เพราะโจทก์ไม่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินที่จำเลยรับไปจากโจทก์จำนวน 30,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีกับนายทรัพย์แก่นแก้ว โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดจำเลยชนะคดีจำเลยจะโอนที่ดิน น.ส. 3 ที่นายทรัพย์ฟ้องขอแบ่งทั้งหมดให้แก่โจทก์ถ้าจำเลยแพ้คดีจำเลยจะโอนที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกแล้วให้แก่โจทก์ ปรากฏว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับนายทรัพย์พิพาทกัน เป็นการออกเงินให้จำเลยต่อสู้คดีโดยหวังจะได้ที่ดินที่จำเลยพิพาทกับนายทรัพย์มาเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือน้องสาวให้ได้รับความยุติธรรมจากศาล จึงเป็นสัญญาให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จะฟ้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาไม่ได้ ทั้งจะเรียกเงินที่ออกไปคืนจากจำเลยก็ไม่ได้ เพราะการที่โจทก์ออกเงินไปนั้นเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จะเรียกร้องคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411

พิพากษายืน

( เสรี แสงศิลป์ - ทวี กสิยพงศ์ - สวัสดิ์ รอดเจริญ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2528

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-05 08:32:11


ความคิดเห็นที่ 3 (1959271)

การชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2543 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 227,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในวันกู้โจทก์หักดอกเบี้ยไว้จำนวน 6,000 บาท คงให้เงินจำเลยเพียง 194,000 บาท ส่วนข้อความในสัญญากู้ว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทำปลอมขึ้น ภายหลังกู้เงินจำเลยจ่ายดอกเบี้ยไปจำนวน 80,000 บาท คงเป็นหนี้เฉพาะต้นเงิน114,000 บาท เหตุที่จำเลยงดผ่อนชำระเนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย และขู่บังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้โจทก์แล้วเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท คงมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะนำเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวไปหักชำระหนี้ต้นเงินจากโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันมีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวคืน หรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงิน200,000 บาท หาได้ไม่อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( ดวงมาลย์ ศิลปอาชา - สมชาย จุลนิติ์ - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545

 

 

หมายเหตุ

 

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(ก) ห้ามมิให้บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในการกู้ยืมคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654เมื่อมีการทำสัญญากู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีย่อมเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายข้อตกลงในส่วนของดอกเบี้ย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 เมื่อเป็นโมฆะ จึงไม่อาจบังคับตามมาตรา 654 ตอนท้ายที่จะให้ลดดอกเบี้ยลงมาเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ ผู้กู้จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามที่ตกลงกับผู้ให้กู้

เมื่อไม่มีดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องรับผิด การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนทรัพย์นั้นตามมาตรา 407

 

แต่ที่ว่าเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้ เพราะว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 411 ด้วยนั้น น่าสงสัยอยู่ เพราะการชำระหนี้ที่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายจะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามลูกหนี้ชำระหนี้ แต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3 มิได้ห้ามผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชำระหนี้แต่อย่างใด จึงไม่น่าจะต้องด้วยมาตรา 411

ไพโรจน์ วายุภาพ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-06 19:24:12


ความคิดเห็นที่ 4 (1959480)

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งตกเป็นโมฆะ เพราะเหตุเป็นการซื้อขายที่ดินห้ามโอน การชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินให้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตามมาตรา 411 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่" ดังนั้นจะเรียกคืนเงินค่าที่ดินคืนไม่ได้ แม้ผู้ขายที่ดินจะได้ทำสัญญากู้ยืมเงินที่มีมูลหนี้จากค่าที่ดินให้ไว้ก็ตาม แต่เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ด้วย ผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินนั้น

 

 

 

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2532 จำเลยขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้โจทก์ 1 แปลง ในราคา 150,000 บาทโดยจำเลยยืนยันว่าจะดำเนินการให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบ แต่จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2537 จำเลยได้ทำหนังสือตกลงที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์โดยทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 150,000 บาท ให้โจทก์ไว้ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระคืนโจทก์ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระเงินคืนตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาทและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 172,872 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีกำหนดตลอดอายุของจำเลย เป็นเงิน 150,000 บาทโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ประมาณ 5 ปี แต่ไม่ได้ผลโจทก์ขอให้จำเลยคืนค่าเช่าครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยินยอมโจทก์จึงนำหนังสือสัญญากู้เงินปลอมมาฟ้องจำเลยโดยจำเลยไม่มีหนี้กับโจทก์ และหากโจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่ซื้อที่ดินก็ถือเป็นลาภมิควรได้แต่มิได้ฟ้องร้องเอาคืนภายใน 1 ปีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แปลงหนี้มาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าว หนังสือสัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ใช้บังคับได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวว่าเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 150,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเป็นโมฆะนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง แต่จำเลยไม่มีเงินชำระคืนให้แก่โจทก์ทันทีจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ฐานลาภมิควรได้มาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 411 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่" โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้ หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์

พิพากษายืน

( จำรูญ แสนภักดี - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2009-07-07 14:04:40


ความคิดเห็นที่ 5 (2228342)

ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเรียกคืนไม่ได้
โจทก์รู้ดีว่าที่ดินซื้อขายมีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยังทำสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งต้องห้ามโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ แม้ได้ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท ก็เป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ว่าด้วยลาภมิควรได้ หาอาจจะเรียกร้องคืนเงินมัดจำได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6399/2551

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-28 19:36:11


ความคิดเห็นที่ 6 (2399366)

สัญญาหมั้นที่เป็นโมฆะเพราะชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเสียเปล่าเสมือนไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้นเลย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนอย่างเช่น มิได้เข้าทำสัญญาหมั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมได้ มาตรา 172 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ" - เมื่อถือว่าไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้นจึงไม่มีการที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนโมฆียะกรรมที่ถูกบอกล้าง หากมีการให้ของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายหญิงก็ถือว่าเป็นการกระทำอันปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาของหมั้นและสินสินสอดคืนได้ ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 412 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน"   ---หรือ ตามมาตรา 413 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย
ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"  ----- แต่ทั้งนี้ฝ่ายชายจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกของหมั้นและสินสอดคืน ศาลจะสั่งคืนเองไม่ได้ แม้สัญญาหมั้นจะเป็นโมฆะก็ตาม นอกจากนี้ แม้ชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิง หรือหญิงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับชาย ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะเรียกค่าทดแทนอย่างใด ๆ จากกันมิได้ อย่างไรก็ดีการที่ฝ่ายชายจะเรียกร้องเอาของหมั้นและสินสอดคืนในเหตุที่สัญญาหมั้นเป็นโมฆะเพราะคู่หมั้นอายะไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายชายไม่รู้ว่าหญิงคู่หมั้นอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หากตัวชายคู่หมั้นอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือฝ่ายชายก็รู้ดีว่าหญิงคู่หมั้นอายุไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ แต่ทำสัญญาหมั้นและให้ของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายหญิง เช่นนี้ ต้องถือว่าฝ่ายชายได้ทำการชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม มาตรา 411 ซึ่งบัญญัติว่า "มาตรา 411  บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่"  ฝ่ายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน นอกจากนี้ หากชายและหญิงคู่หมั้นที่อายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์นี้ได้ทำการสมรสตามประเพณี และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้วไดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ทรัพย์ที่ฝ่ายชายให้แก่ฝ่ายหญิงดังกล่าวไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย ฝ่ายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเช่นเดียวกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 12:56:37


ความคิดเห็นที่ 7 (4401353)

จ่ายเงินค่าวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ-ชำระหนี้โดยตนไม่มีความผูกพันต้องชำระจึงเรียกคืนไม่ได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562

จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

 
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
 
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
 
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
 
จำเลยอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
 
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
 
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใดอยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้งที่ต้องพิจารณาจากคุณสมบัติและความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ตามระบบคุณธรรม เพื่อให้ได้ข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น เพื่อให้ภารกิจของทางราชการสัมฤทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ แม้โจทก์จะมีอาวุโสอยู่ในลำดับที่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับการอยู่แล้ว ก็ไม่แน่ว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรบางบาลตามความต้องการของโจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรบางบาล โดยมีค่าวิ่งเต้น 500,000 บาท โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์เข้ามาแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคม ทั้งยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเหมาะสม แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน ย่อมจะต้องทราบดีว่าการวิ่งเต้นเพื่อให้ตนเองได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามที่ต้องการเป็นการกระทำที่มิชอบ ไม่อาจบังคับกันได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และ 411 ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จริงตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
 
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2020-09-26 11:27:01



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล