ReadyPlanet.com


สัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำไปกรอกข้อความเอง


การที่ผู้ให้กู้นำสัญญากู้ยืมเงินที่ผู้กู้ลงชื่อไว้ไปกรอกข้อความเองและเขียนจำนวนเงินที่มากกว่าความเป็นจริง เช่นกู้กันจริง 50,000 บาท แต่ เจ้าหนี้นำไปกรอกจำนวนเงินว่าเป็นหนี้ 500,000 บาท อย่างนี้ศาลจะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อย่างไร


ผู้ตั้งกระทู้ ลูกหนี้ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-09 09:08:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948573)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548

 

จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวมกับเงินที่ทำสัญญากู้เงินไปก่อนหน้านี้หลายครั้งทำเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียว เป็นเงิน 300,000 บาท ยินยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 10 เมษายน 2542 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 363,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้และรับเงินจำนวน 300,000 บาท จากโจทก์สัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม ข้อความในสัญญาเป็นเท็จทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตามฟ้องแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สุรพล เอกโยคยะ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ )

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 17:28:47


ความคิดเห็นที่ 2 (1948574)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2547

 

จำเลยได้กู้เงินไปเพียง 30,000 บาท แต่โจทก์กลับไปกรอกข้อความในสัญญาเงินกู้เป็นเงินถึง 109,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีได้ เมื่อเงินกู้จำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ได้

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 109,000 บาท จำเลยรับเงินครบถ้วนแล้ว ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างมาชำระ ทำให้โจทก์เสียหาย ดอกเบี้ยคิดจากวันกู้ถึงวันฟ้อง 17,914.07 บาท รวมเป็นหนี้คิดถึงวันฟ้อง 126,914.07 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 126,914.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 109,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้ท้ายฟ้องโดยไม่มีการกรอกข้อความใดๆ หลังจากนั้นจำเลยได้ผ่อนชำระไปแล้วเดือนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท คงค้างต้นเงินจำนวน 12,000 บาท โจทก์กับสามีสมคบกันไปกรอกจำนวนเงินเองเป็น 109,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นและยินยอม สัญญากู้ท้ายฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 126,914.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 109,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 จริง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญากู้ฉบับดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์กับนายถวิล สมบูรณ์ เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2541 จำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 109,000 บาท โจทก์ตกลงให้กู้และได้มอบเงินให้จำเลยรับไปแล้วได้ทำสัญญากู้ไว้ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 นายถวิลเบิกความยืนยันว่าตนเป็นทำสัญญาดังกล่าวโดยเป็นผู้กรอกข้อความลงในช่องว่างแล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 30,000 บาท เท่านั้น และได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 จริง แต่สัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้กรอกข้อความไว้ โจทก์มากรอกข้อความภายหลัง เห็นว่า พยานบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างเบิกความไปคนละทาง จึงเป็นการยากที่จะเชื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ แต่เมื่อได้พิเคราะห์หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฏว่าสีหมึกที่ใช้เขียนข้อความในช่องทำที่กับข้อความในช่องว่างในข้อ 2 แตกต่างกับสีหมึกที่ใช้เขียนข้อความในช่องว่างต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้กู้สีของหมึกที่ใช้เขียนก็แตกต่างออกไปอีก แสดงให้เห็นว่าใช้ปากกาคนละด้ามเขียน ดังนั้น ที่นายถวิลเบิกความข้อความที่เขียนในเอกสารและที่จำเลยลงลายมือชื่อใช้ปากกาด้ามเดียวกัน จึงรับฟังไม่ได้เป็นพิรุธ นอกจากนี้ในสัญญากู้ดังกล่าวระบุว่า นายสุทัศน์สามีจำเลยเป็นผู้กู้แต่จำเลยกลับลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ด้วยตนเองซึ่งหากมีการเขียนสัญญากู้ในวันที่จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจริงก็ไม่น่าจะเกิดการผิดพลาดได้เช่นนี้ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพิรุธน่าสงสัยมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สัญญากู้ดังกล่าวมีการกรอกข้อความในภายหลังตามที่จำเลยนำสืบ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์นำสืบว่า จำเลยกู้ยืมเงินไป 109,000 บาท แต่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ากู้ยืมเงินไปเพียง 30,000 บาท ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีแต่พยานบุคคลเบิกความยันกันเท่านั้น ส่วนหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นพยานเอกสารนั้นข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า เป็นการกรอกข้อความภายหลัง จึงไม่อาจใช้เป็นพยานเอกสารสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ได้ แต่เมื่อได้พิเคราะห์ฐานะของโจทก์ในขณะที่ให้จำเลยกู้ยืมเงินแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในขณะนั้นโจทก์ยังเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาห้วยยอด อีกหลายจำนวน ซึ่งรวมกันแล้วโจทก์เป็นหนี้ถึง 430,000 บาท และยังเป็นลูกหนี้ของบรษัทสหมิตรธุรกิจอีกถึง 30,000 บาท หนี้ทั้งหมดโจทก์ยังมิได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีเงินถึงจำนวน 109,000 บาท มาให้จำเลยกู้ได้ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อได้ว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง 30,000 บาท ตามที่จำเลยนำสืบเท่านั้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้จำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินไปเพียง 30,000 บาท แต่โจทก์กลับไปกรอกข้อความในสัญญากู้เป็นจำนวนเงินถึง 109,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในฟ้องคดีได้เมื่อเงินกู้จำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

( องอาจ โรจนสุพจน์ - ประชา ประสงค์จรรยา - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 17:29:59


ความคิดเห็นที่ 3 (1948576)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2544

 

การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยลงลายมือชื่อ แต่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดว่าได้มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้เงินและการค้ำประกันที่ฟ้องจึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 และมาตรา 680

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 100,000 บาทจากโจทก์ ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้แก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินถึงวันฟ้องรวม 119,560 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันนั้นเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความในช่องจำนวนเงินที่ขอกู้ยืมไป แต่โจทก์กรอกข้อความเป็นตัวหนังสือคำว่า "หนึ่งแสนบาท" และตัวเลข "100,000" ลงในช่องจำนวนเงินในสัญญาดังกล่าวในภายหลังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความจริงแล้ว จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง20,000 บาท จำเลยที่ 2 ก็มีความประสงค์ที่จะค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ภายในวงเงิน 20,000 บาท เท่านั้น สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง(วันที่ 18 กันยายน 2540) ให้ไม่เกิน 19,460 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 โดยมีจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใดโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มีอาชีพจำหน่ายทองรูปพรรณโดยมีร้านชื่อห้างทองจารุชัย โจทก์รู้จักจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกค้าของโจทก์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 ได้พาจำเลยที่ 1 มาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ 100,000 บาท โจทก์ตกลงให้กู้ จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือน ส่วนต้นเงินนั้นไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืนไว้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปในวันทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ในการนี้มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 หลังจากจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองเบิกความต่อสู้ทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 ได้พาจำเลยที่ 1ไปที่ร้านโจทก์พบมารดาโจทก์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจำนวน 20,000บาท โดยได้นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อเดือน หรือเดือนละ 1,000 บาท ชำระทุกเดือนโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ให้โดยขณะนั้นยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากมารดาโจทก์บอกว่าขอให้ไว้ใจไม่มีการโกงกันและโจทก์ยังให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นเงินรวม 9,000บาท แล้วไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์อีกเลย ดังนี้ เห็นว่าโจทก์มีเพียงลำพังโจทก์เพียงปากเดียวเท่านั้นที่มาเบิกความต่อศาล ส่วนฝ่ายจำเลยทั้งสองก็คงมีจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่มาเบิกความต่อศาล และก็ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเบิกความยันกันปากต่อปากยากที่จะฟังว่าฝ่ายใดเบิกความเป็นความจริงเมื่อจำเลยทั้งสองต่างให้การอ้างว่าโจทก์ให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ ซึ่งโจทก์ทราบแล้วและโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าในการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นั้น นอกจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นในการทำสัญญาแล้วยังมีมารดาโจทก์คือนางสุพัตรา จิรกวินสถิตกุล รู้เห็นด้วยนางสุพัตราเห็นเหตุการณ์ในขณะที่โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตลอดจนเห็นจำเลยที่ 1รับเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ด้วย ดังนั้น นางสุพัตรามารดาโจทก์จึงเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เห็นโจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในวันที่จำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์และเห็นจำเลยที่ 1 รับเงินกู้จำนวน100,000 บาท ไปจากโจทก์ หากว่าเป็นความจริงดังโจทก์อ้าง โจทก์ก็น่าจะอ้างนางสุพัตรามารดาโจทก์มาเป็นพยานให้โจทก์เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ในการที่จะให้ศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังโจทก์อ้าง แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำนางสุพัตรามารดาโจทก์มาเป็นพยานให้โจทก์จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่งและจากการเปรียบเทียบสีหมึกที่กรอกในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 แล้วเห็นว่าสีหมึกแตกต่างไม่เหมือนกัน หากโจทก์กรอกข้อความในวันเดียวกันต่อเนื่องกันสีหมึกก็น่าจะเหมือนกันทั้งสองสัญญา ส่วนโฉนดที่ดินจำนวนเนื้อที่ 2 งาน 11 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 นำมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้นก็ปรากฏว่ามีราคาที่ดินประเมินไร่ละ 10,000 บาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างไม่ทราบราคาซึ่งคิดคำนวณหลักประกันแล้วมีราคาต่ำกว่าเงินกู้ 100,000 บาท มาก การที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพค้าขายทองแล้วยังประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วย ยอมรับหลักประกันเช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้อย่างโจทก์ ส่วนพยานของจำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลเมื่อเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และพยานหลักฐานจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดเลยมอบให้แก่โจทก์ไว้ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินลงในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 100,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้จำนวนดังกล่าว ซึ่งเป็นยอดเงินที่เกินไปกว่าจำนวนเงินที่ได้กู้และค้ำประกันไว้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจึงสมตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานมาฟ้องจำเลยทั้งสองคือ การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันว่าได้มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารปลอมโจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้เงิน 100,000 บาทและการค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 และมาตรา 680 จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( วิชัย วิสิทธวงศ์ - พิชัย เตโชพิทยากูล - สมชัย เกษชุมพล )

 

หมายเหตุ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้วินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2542 ที่วินิจฉัยว่า ขณะกู้ยืมและขณะจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยังไม่ได้กรอกข้อความโจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินกู้ขึ้นเองในภายหลังเป็นจำนวนมากกว่าที่กู้จริงโดยจำเลยไม่รู้เห็นและยินยอมสัญญากู้เงินนี้เป็นสัญญากู้ปลอมถือว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2542 ที่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 30,000 บาทโจทก์แก้ไขเป็น 60,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินนี้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่เห็นว่าสัญญากู้เงินนี้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นไม่ทำให้หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดเท่าที่กู้ไปจริงจำนวน 30,000 บาทคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับนี้ต่างวินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินที่พิพาทปลอม โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2542 ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์เลย แม้จำเลยจะให้การว่าได้กู้เงินจากโจทก์จริง โดยจำเลยได้รับเงินเพียง 22,000 บาท ไม่ใช่ 60,000 บาทตามสัญญากู้ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2542 กลับวินิจฉัยตรงกันข้ามเป็นว่าให้จำเลยรับผิดตามจำนวนเงินเท่าที่จำเลยกู้ไปจริงคือ30,000 บาท ไม่ใช่ 60,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง เห็นว่า สัญญากู้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2542 เป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับโดยที่ไม่สามารถนำมาฟ้องต่อศาลให้จำเลยรับผิดได้เลยตั้งแต่ต้นแต่สัญญากู้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2542 นั้น หากไม่มีการแก้ไขจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท แล้ว สัญญากู้นี้ก็บังคับได้เนื่องจากมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653กรณีจึงเป็นสัญญากู้ปลอมบางส่วนไม่ใช่เป็นสัญญากู้ปลอมทั้งฉบับคำพิพากษาทั้งสองฉบับนี้จึงไม่ขัดกัน นอกจากนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2540 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 30,000 บาท และจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ แต่มีการกรอกข้อความให้จำนวนเงินที่กู้สูงขึ้นเป็น 230,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้เงินนี้เป็นเอกสารปลอม และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 230,000 บาท ตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยแล้วจำเลยจึงฎีกาขอให้ชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลฎีกา พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ ก็เห็นว่าไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2542 ที่เห็นว่าเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับเช่นกัน โดยหลักตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าเป็นปลอมทั้งฉบับแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินนั้นเลย แต่ที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2540 ที่พิพากษาให้จำเลยรับผิดเนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยผิดพลาดจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ แล้วจำเลยเพิ่งมาฎีกาขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ เห็นว่าเฉพาะประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงยุติแล้ว เพราะจำเลย ไม่ได้อุทธรณ์นั้นเอง ซึ่งอาจจะดูไม่ถูกต้องในความเห็นของบุคคลภายนอก แต่ถือเป็นข้อผิดพลาดของจำเลยในการที่ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติ แห่งวิธีพิจารณาความ ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2542 จึงไม่ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2540 แต่อย่างใด โดยยังวินิจฉัย ไปในแนวทางเดียวกันอยู่

ปราโมทย์บุนนาค

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 17:30:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล