ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




มารดาขายที่ดินซึ่งผู้เยาว์มีส่วนแบ่งไม่ต้องขอศาล

   -ปรึกษากฎหมาย นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ

     โทร.085-9604258

   -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์   

   (1) @leenont 

   (2) @peesirilaw  

   (3) 0859604258 เพิ่มด้วยหมายเลขโทรศัพท์

  -Line Official Account : เพิ่มเพื่อน QR CODE

 มารดาขายที่ดินซึ่งผู้เยาว์มีส่วนแบ่งไม่ต้องขอศาล

การจัดการทรัพย์มรดก ซึ่งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนเป็นผู้เยาว์ มีปัญหาว่าการจัดการในส่วนของผู้เยาว์นั้นผู้จัดการมรดกจะต้องขออนุญาตศาลเช่นกรณีเรื่องที่ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องขออนุญาตศาล หรือไม่ การจัดการทรัพย์มรดาซึ่งมีผู้เยาว์เป็นทายาทอยู่ด้วย ผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องขออนุญาตต่อศาล ตัวอย่างเช่น มารดาและบุตรผู้ตายเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ศาลตั้งมารดาเป็นผู้จัดการมรดา จะเห็นว่า มารดาเป็นทั้งผู้จัดการมรดกและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่มารดาขายที่ดินมรดาซึ่งผู้เยาว์มีส่วนแบ่งอยู่ด้วย เมื่อมารดา กระทำในขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ใช่ฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์จึงเป็นเรื่องผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกย่อมกระทำได้ และไม่ต้องขออนุญาตศาล 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8207/2544

   ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้

  แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง

   เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก

มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา 1719  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

มาตรา 1736  ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ
ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่นๆ อนึ่งผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก
 
  โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1360, 1356, 609, 604, 612, 608, 1357,1362, 1352, 613, 607, 614,1361, 1353, 1358, 606, 610, 1359, 1354, 1355, 611 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวม 21 แปลง และให้จำเลยที่ 7 จดทะเบียนเป็นชื่อของผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจแทน หากไม่สามารถจดทะเบียนเพิกถอนได้ก็ให้บังคับจำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,786,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อนำเข้ากองมรดกแบ่งปันให้ทายาทต่อไปและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึง 6 พร้อมทั้งบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้ง 21 แปลง

 จำเลยที่ 1 ถึง 6 จำเลยที่ 8 ที่ 9 และจำเลยที่ 15 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

  จำเลยที่ 7 ที่ 10 ที่ 16 ถึง 22 ให้การขอให้ยกฟ้อง
  จำเลยที่ 11 ถึง 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

   ระหว่างพิจารณา โจทก์และนางสมศรี อุดมทรัพย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลื้มหรือโปจ๋วน อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 12 ถึงแก่กรรม นางอรนุช อุดมทรัพย์ ทายาทโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวเย็นฤดีอุดมทรัพย์ ทายาทจำเลยที่ 12 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

  ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา

 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขุนวิเศษนุกูลกิจมีภรรยาหลายคนมีบุตรชาย 19 คน และบุตรหญิง19 คน ขุนวิเศษนุกูลกิจมีอาชีพทำเหมืองแร่อยู่ที่ตำบลเชิงทะเลอำเภอถลาง และที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2503 ขุนวิเศษนุกูลกิจถึงแก่กรรมและวันที่31 พฤษภาคม 2503 ศาลมีคำสั่งตั้งนายอภิชาติ อุดมทรัพย์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจ ผู้จัดการมรดกได้แบ่งทรัพย์ให้แก่ทายาทและจัดตั้งบริษัทวิเศษนุกูลกิจ จำกัด จำเลยที่ 8 ขึ้นมาเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ในที่ประทานบัตรเดิมของเจ้ามรดกและนำทรัพย์มรดกจำนวนหนึ่งมาเป็นทุนของบริษัทโดยแบ่งเป็นหุ้นจำนวน 1,200 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 2,500 บาท ทายาทที่เป็นชายถือหุ้นคนละ 56 หุ้น ทายาทที่เป็นหญิงถือหุ้นคนละ 7 หุ้นกรรมการเริ่มแรกของบริษัท 3 คน ได้หุ้นเพิ่มอีกคนละ 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นทั้งหมดไม่ต้องชำระเงินสดเป็นค่าหุ้นหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 แล้ว จำเลยที่ 9 กรรมการบริษัทกับพวกได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)สำหรับที่ดินประทานทำบัตรเหมืองแร่รวม 21 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 8จำเลยที่ 8 ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมาและแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกเดือน จนกระทั่งจำเลยที่ 8 เลิกกิจการและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นมีการโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยอื่น ๆ อีกหลายทอดในที่สุดที่ดินพิพาทตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ตให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าเจ้ามรดกแบ่งปันทรัพย์สินอย่างอื่นให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วเว้นแต่ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ดังกล่าวที่ยังไม่ได้แบ่งให้ทายาทโดยมีนายอภิชาติเบิกความสนับสนุนว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองได้ปรึกษากับนายเปรมแล้วตกลงให้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ต่อไป โดยนำอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มาเป็นทุนของจำเลยที่ 8ส่วนที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเลจะยังไม่แบ่งให้ทายาทเพราะถ้าแบ่งปันให้ทายาทแล้วจะทำเหมืองไม่ได้แต่จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งและเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เบิกความประกอบคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิว่า จำเลยที่ 8มีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นทั้งหมด 1,200หุ้น มูลค่าหุ้นละ 2,500 บาท ทายาทที่เป็นชาย 19 คน ถือหุ้นคนละ56 หุ้น ทายาทที่เป็นหญิงอีก 19 คน ถือหุ้นคนละ 7 หุ้น กรรมการของจำเลยที่ 8 ชุดแรก 3 คน ได้หุ้นเพิ่มอีกคนละ 1 หุ้น โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดไม่ต้องชำระค่าหุ้นเพราะได้นำที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นทุนของจำเลยที่ 8ในเรื่องนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 8 และที่ 9 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามพินัยกรรม 1 ใน 19 ส่วนหรือเท่ากับ63 หุ้น โจทก์ถือหุ้นไว้เอง 56 หุ้นนางสาวทัศนีย์พี่โจทก์ถือหุ้นไว้ 7 หุ้น โจทก์และผู้ถือหุ้นทุกคนไม่ได้ชำระค่าหุ้นเพราะได้รับแจ้งจากกรรมการจำเลยที่ 8 ว่า จำเลยที่ 8 ได้เอาทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตีราคาเป็นค่าหุ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอภิชาติที่ตอบคำซักค้านทนายจำเลยที่ 8 ว่ามรดกเฉพาะที่เป็นบ้านอาศัยประมาณ 10 หลัง มีราคารวมกัน1,000,000 บาทเศษ แก้วแหวนเงินทองมีราคา 500,000 บาท ส่วนที่เหลือคือที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มีราคาประมาณ 1,500,000 บาท รวมแล้วขุนวิเศษนุกูลกิจมีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 3,000,000 บาท ตรงกับที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดกท้ายคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งนายอภิชาติและจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 9 เบิกความว่า ได้นำที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มาเป็นทุนของจำเลยที่ 8 จึงมีเหตุผลรับฟังได้ นอกจากนี้นายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และจำเลยที่ 15 ถึงเหตุที่ไม่ได้แบ่งที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ให้แก่ทายาทตอนหนึ่งว่าขณะที่เจ้ามรดกตายที่ดินประทานบุตรทำเหมืองแร่มีราคาถูกมากและไม่สามารถแบ่งเป็นส่วนสัดได้เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่ติดทะเลหากจะแบ่งกันก็ต้องขายที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน สำหรับอุปกรณ์ทำเหมืองแร่นั้น นายอภิชาติเบิกความว่าไม่แบ่งให้ทายาทเพราะถ้าแบ่งก็จะได้คนละเล็กคนละน้อย และเมื่อจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาแล้วนายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 9 ว่า จำเลยที่ 8 ไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพราะมีแต่ทรัพย์มรดกจึงต้องไปยืมเงินสดมาจากนายจุติ บุญสูง ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายเปรม อุดมทรัพย์ ต่อมาจำเลยที่ 8 ได้ขายที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลฉลองนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่นายจุติ ด้วยเหตุนี้ที่โจทก์อ้างว่าเฉพาะอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มีราคาสูงถึง 10,000,000 บาท จึงรับฟังไม่ได้ เพราะถ้ามีราคาสูงขนาดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินนายจุติมาใช้หมุนเวียนเนื่องจากสามารถขายอุปกรณ์บางส่วนมาใช้ได้ ประกอบกับเมื่อปี 2507 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการจำเลยที่ 8 ขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามเอกสารหมาย ล.8 และทำหน้าที่เป็นเลขานุการจดบันทึกรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2507 ซึ่งในรายงานการประชุมดังกล่าว นายอภิชาติประธานที่ประชุมแจ้งว่าที่ดินที่เจ้ามรดกได้ทิ้งไว้ให้พวกเราส่วนมากเป็นที่ดี ถ้าเราไม่รีบฉวยโอกาสขยายงานในเวลานี้ ต่อไปจะทำลำบาก คำว่าที่ดินที่เจ้ามรดกได้ทิ้งไว้ให้พวกเรานายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 15 ว่า คือที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเล ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกทั้งสองนำมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก ทั้งนี้ตามรายงานการประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย จ.57 ถึง จ.60 การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาแล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ในที่ดินดังกล่าว เป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสองเนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่อยู่ติดกับทะเลดังที่นายอภิชาติเบิกความไว้ ดังนั้น แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(เดิม)ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นหรือมาตรา 1574(ใหม่) เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนเป็นประจำทุกเดือนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นายปลื้ม อุดมทรัพย์และนายอภิชาติในราคา 350,000 บาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม2509 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้ว ถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

  พิพากษายืน
 
 หมายเหตุ

 กรณีศึกษาเรื่องนี้คือการจัดการทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกบางคนเป็นผู้เยาว์อยู่ มีปัญหาว่าการจัดการในส่วนของผู้เยาว์นั้นผู้จัดการมรดกจะต้องขออนุญาตศาลโดยอาศัยหลักการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องที่ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องขออนุญาตศาลตามมาตรา 1574 หรือไม่ เรื่องนี้เป็นปัญหาทางกฎหมายซึ่งยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายต้องศึกษาแนะนำความเข้าใจพอสมควร กล่าวคือต้องพิจารณาจากเรื่องหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องอะไรเสียก่อนแล้วจึงนำมาปรับแก่บทกฎหมายในเรื่องนั้น

  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เฉพาะกรณีที่หยิบยกมาหมายเหตุนี้มีว่าในขณะที่เจ้ามรดกตายเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้นำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้ เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่อยู่ติดกับทะเลซึ่งทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอม แต่มีทายาทบางคนเป็นผู้เยาว์อยู่ด้วยในขณะที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการดังกล่าว จึงมีปัญหาว่าในกรณีของผู้เยาว์นั้น ผู้จัดการมรดกจะต้องขออนุญาตศาลตามความในมาตรา 1574 หรือไม่

     เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจในเรื่องอำนาจหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก กล่าวคือผู้ใช้อำนาจปกครองได้แก่บิดามารดาของบุตรผู้เยาว์ซึ่งสมรสกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457,1566) หรือกรณีที่บิดามารดาเด็กมิได้สมรสกัน มารดาย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่ผู้เดียว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546และ 1566) การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ย่อมชอบด้วยเหตุผล เพราะบิดามารดาเป็นผู้ก่อให้เกิดบุตรและดูแลบุตรมานับแต่บุตรปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้ว ดังนั้นเมื่อเขาเกิดมามีสภาพบุคคล (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15) ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของบิดามารดาจะต้องดูแลปกป้องคุ้มครองและเลี้ยงดูเขาจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ โดยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566) ขอให้พึงสังเกตว่าตามบทบัญญัติข้างต้นใช้ว่า "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา" อำนาจนี้กฎหมายให้เฉพาะแต่บิดามารดาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีความรักและห่วงใยบุตรของตนเป็นสำคัญ ดังนั้น ตามบทบัญญัติว่าด้วยการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดา จึงมุ่งคุ้มครองส่วนได้เสียและสิทธิประโยชน์ของผู้เยาว์ โดยถือเอาบิดามารดาเป็นหลักสำคัญในการรับผิดชอบดูแลผู้เยาว์ซึ่งการใช้อำนาจปกครองนี้ก็รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ด้วย ทั้งนี้ต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่น วิญญูชนจะพึงกระทำด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1571) และนอกจากนี้ในการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ประเภทสำคัญเท่านั้นที่กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นพิเศษว่าผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เช่น ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อจำนอง ปลดจำนองหรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ฯเป็นต้น (มาตรา 1574)

   ขอให้สังเกตว่าอำนาจปกครองของบิดามารดานั้นมีลักษณะสำคัญ 2 ประการกล่าวคือเป็นอำนาจที่เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองตัวเด็กทางกายภาพและจิตใจมิให้ได้รับภยันตราย อบรมเลี้ยงดูให้เป็นคนดี รวมทั้งลงโทษได้ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567) ทั้งอุปการะเลี้ยงดูเขาจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564) และอีกหน้าที่หนึ่งคือ การจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ด้วยซึ่งสามารถกระทำได้ทุกอย่างเว้นแต่กรณีที่กฎหมายกำหนดว่าต้องขออนุญาตศาลเท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574) หรือเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์กระทำเองตามที่กฎหมายระบุไว้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 22 ถึง 27) เช่น เมื่อผู้เยาว์อายุสิบห้าปีบริบูรณ์ย่อมทำพินัยกรรมได้ด้วยตนเอง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 25) ผู้ปกครองไม่มีอำนาจกระทำแทนได้

   ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ต้องขออนุญาตจากศาลโดยผู้ปกครองเป็นผู้เสนอเรื่องสู่ศาลนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการให้ศาลช่วยปกป้องคุ้มครองส่วนได้เสียและสิทธิประโยชน์ของผู้เยาว์อีกชั้นหนึ่ง แม้ว่าโดยธรรมชาตินั้นบิดามารดาย่อมรักบุตรของตน มีความห่วงใยในบุตรของตนอยู่แล้วก็ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้เป็นการกรองอำนาจการจัดการทรัพย์สินประเภทสำคัญของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งใกล้เคียงกับการจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้จัดการมรดก ซึ่งมุ่งหมายถึงการจัดการทรัพย์มรดกของบุคคลที่ตายแล้ว ผู้จัดการมรดกอาจถูกตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1711 และ 1713) มีตัวอย่างคดีที่พิพาทเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้จัดการมรดกถึงศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดของศาลยุติธรรมในคดีนั้นศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543 ได้วินิจฉัยเป็นหลักไว้ว่าผู้จัดการมรดกมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันมรดกและเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเองจะให้ผู้ใดดำเนินการแทนไม่ได้เว้นแต่กรณีข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำได้ตามอำนาจหน้าที่ที่ให้ไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหากแต่มีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้ไม่ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาท โดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ส่วนบทบัญญัติบางเรื่องก็เป็นเพียงกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเอง ทายาทและศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาทได้ หลักการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นแนวทางที่จะต้องพิจารณาประกอบบทกฎหมายวิเคราะห์การจัดการมรดกด้วย การจัดการมรดกโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ให้อำนาจแก่ผู้จัดการมรดกว่าผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือไม่โดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามบทบัญญัติดังกล่าวได้มุ่งถึงการจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกรวมถึงการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมและตามคำสั่งศาลเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงลักษณะทางกายภาพหรือความบกพร่องทางสติปัญญาว่าเป็นผู้เยาว์ หรือเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถหรือเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ หรือมีคู่สมรสแล้วหรือไม่ เมื่อทายาทมีสิทธิตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรมอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นภายใต้ขอบเขตอำนาจของตน

   อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกกับของผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์จึงมีข้อแตกต่างกันในบางประการโดยธรรมชาติและในทางกฎหมายแม้จะมีส่วนเหมือนกันในการมุ่งรักษาประโยชน์ของผู้เยาว์และกองมรดกก็ตาม เช่น การดูแลจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ กฎหมายมุ่งถึงการดูแลรักษาไว้ให้คงอยู่และเพิ่มพูน จะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อให้เกิดภาระผูกพันก็ต่อเมื่อจำเป็นและบางกรณีก็ต้องให้ศาลช่วยกลั่นกรอง คือศาลต้องอนุญาตจึงจะกระทำได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574) ส่วนการจัดการตามทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เป็นการดำเนินการแบ่งปันให้แก่ทายาทติดตามหนี้กองมรดกและชำระหนี้กองมรดกหรือการอื่น ๆ ที่จำเป็น แล้วในที่สุดก็ต้องแบ่งปันให้แก่ทายาท แนวทางและวัตถุประสงค์ที่สำคัญจึงแตกต่างกัน

  ดังนั้น การจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งมีผู้เยาว์อยู่ด้วยผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจจัดการได้ภายใต้ขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมแล้วแต่กรณี โดยมิต้องขออนุญาตต่อศาล มีตัวอย่างคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2539 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของผู้ตาย ทั้งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งผู้เยาว์ในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำในขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ใช่ฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์จึงเป็นเรื่องผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกย่อมกระทำได้ จะนำหลักเกณฑ์เรื่องการทำนิติกรรมสำคัญซึ่งต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 มาใช้บังคับไม่ได้คดีนี้มีปัญหาว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจะโอนขายที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่ผู้เยาว์โดยไม่ขออนุญาตศาลได้หรือไม่ เพราะตามปกติแล้วบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์จะทำนิติกรรมสำคัญของผู้เยาว์บางกรณี เช่น ขายที่ดินของผู้เยาว์ ดังนี้ ต้องขออนุญาตศาลก่อนเมื่อศาลอนุญาตแล้วจึงจะทำได้ (มาตรา 1574)แต่เรื่องนี้เป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีนี้มารดาของผู้เยาว์กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกจึงขายที่ดินนั้นได้ ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่าคดีนี้มารดาของบุตรผู้เยาว์มีสองฐานะคือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์และผู้แทนโดยชอบธรรมฐานะหนึ่ง(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 และ 1569) และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งผู้เยาว์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกอีกฐานะหนึ่ง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และต่อ ๆ ไป) จึงมีปัญหาการตีความในทางกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วซึ่งเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีแล้วการขายที่ดินมรดกดังกล่าวนั้นกระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะมรดกของผู้ตายยังอยู่ในระหว่างการจัดการ ผู้จัดการมรดกจึงสามารถกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าคดีจัดการมรดก ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติว่าด้วยการจัดการมรดก มาตรา 1719 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัด หรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกการที่กฎหมายให้อำนาจไว้เช่นนี้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยรวดเร็ว เพราะมีทั้งการรวบรวมทรัพย์มรดก ติดตามหนี้กองมรดกและรวมทั้งชำระหนี้กองมรดกด้วย นอกจากนี้ก็อาจต้องฟ้องคดีเมื่อมีความจำเป็น ในที่สุดก็ต้องดำเนินการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมายต่อไป ดังความในมาตรา 1736 ในขณะซึ่งทรัพย์มรดกอยู่ในระหว่างจัดการ ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ อนึ่งผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดกบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นอำนาจผู้จัดการมรดก แม้ว่าอาจมีข้อความคล้ายคลึงกับเรื่องการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ก็มีข้อแตกต่างกันแห่งวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เนื่องจากเป็นการปกป้องคุ้มครองส่วนได้เสียและสิทธิประโยชน์ของผู้เยาว์ แต่การจัดการมรดกนั้นมุ่งหมายที่จะให้มีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมายในที่สุด

 อย่างไรก็ดีถ้ามิใช่การดำเนินการโดยผู้จัดการมรดกแล้ว บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองหาทำได้ไม่ หากเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเท่านั้น เช่นบิดาของผู้เยาว์ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรต้องเสียค่าทำศพไป จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด ถือว่าผู้เยาว์ได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองก็จะต้องขออนุญาตก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(12))เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาไปโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189-1193/2521 และโปรดศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2526 และ 1072/2527 ประกอบ)

     สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544 ตามหัวข้อหมายเหตุซึ่งได้สรุปข้อเท็จจริงซึ่งได้ความเป็นข้อยุติไว้ข้างต้นแล้วก็เดินตามแนวทางเดิมที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว กล่าวคือเป็นการดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง เมื่อทายาทซึ่งรวมถึงผู้เยาว์ด้วยไม่โต้แย้งคัดค้าน ผู้จัดการมรดกจึงกระทำได้ โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2491,587/2522 และ3094/2528

     จากคำพิพากษาศาลฎีกาตามหัวข้อหมายเหตุและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องเรื่องกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 และเรื่องการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกกรณีที่มีผู้เยาว์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก โดยผู้จัดการมรดกมีสองฐานะคือ ฐานะผู้จัดการมรดกและฐานะบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร คงได้แนวทางในการดำเนินการเกี่ยวแก่ทรัพย์สินดังกล่าวแล้วแต่กรณีตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายต่อไป
           พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา
 




คดีมรดก ร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดก

การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายจึงขาดความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย article
แม้กองมรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้อง
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้ทำต่อหน้าพยานตกเป็นโมฆะ
บุตรนอกสมรสและบิดานอกกฎหมายมีสิทธิรับมรดกต่อกันอย่างไร
ผู้จัดการมรดก | ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
ผู้จัดการมรดกเรียกให้เจ้าของรวมส่งมอบโฉนดที่ดิน
การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอายุความ 5 ปียังไม่เริ่มนับ
สิทธิรับมรดกก่อนหลัง
คำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ
อายุความฟ้องคดีแพ่งอันเนื่องจากคดียักยอกทรัพย์มรดก
เมื่อแบ่งมรดกเสร็จแล้วความเป็นทายาทสิ้นสุดลง-อายุความมรดก
การแบ่งมรดกที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ
คดีมรดกต้องเป็นคดีที่ทายาทด้วยกันพิพาทกันเรื่องสิทธิในส่วนแบ่งมรดก
ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ตาย
แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จปิดบังจำนวนทายาท
อายุความคดีมรดกสะดุดหยุดลง การแบ่งทรัพย์มรดกไม่ชอบ
ไม่มีกฎหมายบังคับให้ฟ้องเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี
สัญญาว่าจ้างติดตามทรัพย์กองมรดกเรียกส่วนแบ่งเป็นโมฆะ
คดีฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมปลอมและถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป
โจทก์ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี
ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันฟังคำสั่งศาล
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกอายุความ 5 ปี
การแจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว
การที่จะเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น
พินัยกรรมเอกสารลับทำผิดแบบเป็นโมฆะ
การจัดการมรดกไม่ชอบไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว
การจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกตามหน้าที่ที่จำเป็น
คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกปิดบังทรัพย์มรดกมีผลอย่างไร
ทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 1 ปี
ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้มีส่วนได้เสีย
สามีไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกได้
ทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาททุกคน-การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น
บุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร?
ฟ้องผู้จัดการมรดกนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงเกินห้าปีขาดอายุความ
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลถูกเพิกถอนได้
อายุความคดีมรดก เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดกเกินหนึ่งปี
คดีของโจทก์ขาดอายุความการจัดการมรดก
บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย
บุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดาน
นายอำเภอคือผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
ความรับผิดของผู้จัดการมดกภายหลังการเสียชีวิต
ผู้จัดการมรดกร่วมนำทรัพย์มรดกหาประโยชน์แก่ตน
ผู้จัดการมรดกปฏิบัติผิดหน้าที่-ทายาทผู้มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้
ผู้สืบสันดาน คือใคร? ต่างกับทายาท อย่างไร?
คู่สมรสและการแบ่งมรดกของคู่สมรส | การสมรสเป็นโมฆะ
อายุความคดีมรดก และอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก
เหตุอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก
การปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้วการถอนผู้จัดการมรดกย่อมพ้นกำหนดเวลา
สามีมิได้จดทะเบียนสมรสไม่ถือเป็นทายาทของภริยาผู้ตาย
อำนาจหน้าที่จัดการศพพระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สิน
สามีไม่จดทะเบียนสมรสขอถอนผู้จัดการมรดก มีกรรมสิทธิ์รวม
ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก
อำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ทายาททุกคนมอบหมายให้ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วม
ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300
ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความแล้ว
ทายาทมีส่วนเท่ากันออกค่าใช้จ่ายจัดการทำศพ
ความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย
หนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่?
อำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพและลำดับก่อนหลัง
พินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน
ผู้จัดการมรดกฟ้องแทนทายาทโดยธรรมอื่น
คู่สมรสที่จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่