ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่น

สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่น

ข้อ 9. ข้อเท็จจริงในคดี รับขนของทางทะเล เรื่องหนึ่งฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการรับขนของทางทะเล จำเลยประกอบกิจการผลิตถ่านไม้ ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ จำเลย ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าถ่านไม้ จำนวน 1,000 กล่อง จากท่าเรือกรุงเทพ ไปมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ ประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลย ได้นำสินค้าถ่านไม้ซึ่งเป็นสินค้าอันตราย แบ่งบรรจุใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงด้วยหนังยางบรรจุใส่กล่องกระดาษ จำนวน 1,000 กล่อง อันเป็นการบรรจุในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากอากาศสามารถผ่านเข้าได้ ถ่านไม้ จึงอาจติดไฟได้ในตัวเอง และกล่องกระดาษไม่มีสัญลักษณ์แสดงว่าเป็น สินค้าอันตรายประทับอยู่ ไปส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยมิได้แจ้งให้ทราบถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้ โจทก์นำสินค้าดังกล่าว บรรจุเข้าในตู้สินค้า และออกใบตราส่งให้แก่จำเลย 2 ฉบับ ระบุรายละเอียดของสินค้าว่าเป็นสินค้าถ่านไม้ (Charcoal) จำนวน 1,000 กล่อง และระบุคุณสมบัติที่เป็นอันตรายของสินค้าไว้ด้วย ต่อมาขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ในทะเลมีไฟลุกไหม้ขึ้นที่ตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ของจำเลย และได้ลุกลามไหม้ตู้สินค้าตู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหาย โดยไฟไหม้เกิดจากสภาพโดยธรรมชาติของสินค้าถ่านไม้ เนื่องจากสินค้านี้สามารถทำให้เกิดความร้อนขึ้นอย่างช้า ๆ และสามารถติดไฟได้เองในอากาศ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามจำเลย ให้ชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ชำระ

ให้วินิจฉัยว่า จำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้อันจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่

ธงคำตอบ

จำเลย ผู้ส่งของนำสินค้าถ่านไม้ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ มาส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยมิได้ทำเครื่องหมาย หรือปิดป้ายอันแสดงว่า เป็นสินค้าอันตราย ที่ข้างกล่องกระดาษ ทั้งมิได้แจ้งให้โจทก์ ผู้ขนส่งสินค้าได้ทราบถึงสภาพอันตราย ของถ่านไม้นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งสินค้าอันตราย จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงเป็นผู้ปฏิบัติผิดหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ส่งของไว้โดยเฉพาะ ในกรณีละเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ไว้ว่า "ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น…" ซี่งหมายความว่าผู้ส่งของจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 34 (2) ประกอบด้วยมาตรา 33 ก็ต่อเมื่อผู้ขนส่ง ไม่ทราบถึงสภาพอันตราย แห่งของนั้น แต่หากผู้ขนส่งรู้ถึงสภาพอันตราย ของสินค้าของผู้ส่งของอยู่แล้ว ผู้ขนส่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้อง ให้ผู้ส่งของรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 33 เมื่อใบตราส่งที่โจทก์เป็นผู้ออกระบุไว้ชัดเจนถึง คุณสมบัติที่เป็นอันตราย ของสินค้าถ่านไม้ไว้ แสดงว่า โจทก์ทราบถึงคุณสมบัติที่มีสภาพอันตรายของสินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว แม้จำเลยไม่ติดป้ายแสดงถึงสินค้าอันตราย อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 33 ก็ตาม ความเสียหายก็มิได้เกิดจากการที่ โจทก์ไม่ทราบถึง สภาพอันตรายแห่งสินค้า อันเนื่องมาจากการที่จำเลย ไม่ทำเครื่องหมาย หรือปิดป้ายตามสมควร หรือไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้านั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สินค้าถ่านไม้เป็นสินค้าอันตราย การบรรจุสินค้าประเภทนี้จะต้องบรรจุไม่ให้อากาศเข้าไปในหีบห่อได้ จะใช้หนังยางรัดไม่ได้ จำเลยบรรจุสินค้าถ่านไม้ลงในถุงพลาสติกแล้วรัดด้วยหนังยาง จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย โดยจำเลยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น การที่ถ่านไม้ในตู้สินค้าตามคำฟ้องเกิดลุกไหม้และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผลจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย อันเป็นการผิดหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจำเลยผู้ส่งของจะต้องรับผิดตาม มาตรา 31 (คำพิพากษาฎีกาที่ 5970/2545)

 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534

 มาตรา 33 ของใดที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไวไฟ หรืออาจเกิดระเบิด หรืออาจเป็นอันตรายโดยประการอื่น ผู้ส่งของต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย

เมื่อส่งของตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น ผู้ส่งของต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น และในกรณีที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นร้องขอ ให้ผู้ส่งของแจ้งข้อควรระวังและวิธีป้องกันอันตรายให้ทราบด้วย

 มาตรา 34 ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่นมีดังต่อไปนี้

(1) ไม่ว่าเวลาใดๆ ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นอาจขนถ่ายของนั้นขึ้นจากเรือ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ ตามความจำเป็นแห่งกรณี โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

(2) ผู้ส่งของยังคงต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายตาม (1)

 มาตรา 31 ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5970/2545

 ป.พ.พ. มาตรา 223

พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 33, 34(2), 37

ขณะจำเลยนำสินค้าถ่านไม้ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษขนาดใหญ่มาส่งมอบให้แก่ตัวแทนของโจทก์ที่ท่าเรือกรุงเทพ จำเลยผู้ส่งของมิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายอันแสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายที่ข้างกล่องกระดาษดังกล่าว ทั้งมิได้แจ้งให้โจทก์ผู้ขนส่งสินค้าได้ทราบถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้นั้น อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 33 ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งสินค้าอันตรายจะต้องปฏิบัติ และมาตรา 34 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ส่งของไว้โดยเฉพาะในกรณีละเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ดังนั้นผู้ส่งของจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 34(2) ประกอบด้วยมาตรา 33

แม้จำเลยไม่ติดป้ายแสดงสินค้าอันตราย แต่เมื่อโจทก์ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าแล้ว ความเสียหายจึงมิได้เกิดจากการที่โจทก์ไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าอันเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรหรือไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความเสียหายตามมาตรา 34(2) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ ได้

การที่ผู้ขนส่งไม่บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งแก่จำเลยหรือตัวแทนว่าได้เกิดความเสียหายพร้อมแจ้งถึงสภาพโดยทั่วไปของความเสียหายดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่วันที่เกิดความเสียหายแก่ผู้ส่งของเป็นเพียงเหตุให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งไม่ได้รับความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 37ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้

สาเหตุที่ทำให้ถ่านไม้เกิดลุกไหม้จนเกิดความเสียหายขึ้นนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยในการบรรจุสินค้าดังกล่าวแล้วยังมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการจัดวางตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ที่ไม่เหมาะสม โดยวางปะปนกับตู้สินค้าอื่นและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้ถ่านไม้เกิดความร้อนสะสมขึ้นอย่างช้า ๆ และลุกไหม้ขึ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ขนส่งด้วย ดังนั้น ในการที่จะให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยคำนึงถึงข้อสำคัญว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าถ่านไม้จากประเทศไทยไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลยเป็นผู้บรรจุสินค้าถ่านไม้ในตู้สินค้าจำนวน 2 ตู้ แต่จำเลยมิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายแสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายและมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเป็นสินค้าอันตราย นอกจากนี้จำเลยยังปิดผนึกถุงพลาสติกที่บรรจุถ่านบกพร่อง ทำให้อากาศเข้าไปภายในได้เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีแล้วเกิดไฟลุกไหม้ระหว่างเรือกำลังแล่นอยู่กลางทะเล โจทก์เสียหายต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง ค่าซ่อมระวางเรือ และค่าสี กับค่าตู้สินค้าและค่าซ่อมตู้สินค้ารวมค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 765,123.75 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุไฟไหม้เป็นต้นไปถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 55,812.11 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน820,935.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน765,123.75 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเรือและตู้สินค้าที่เสียหาย ตามสัญญารับขนโจทก์มีหน้าที่เป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าก่อนส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงรายละเอียดของสินค้า เช่น ชนิด ปริมาณ น้ำหนัก จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้า โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเหตุไฟไหม้เกิดมาจากสินค้าของจำเลย ทั้งโจทก์ควรจะติดตั้งป้ายเครื่องหมายแสดงให้ชัดแจ้งว่าตู้สินค้าใดเป็นสินค้าอันตราย แต่โจทก์มิได้จัดทำ ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง และโจทก์ไม่ได้แจ้งความเสียหายให้จำเลยทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่เกิดความเสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ดินแดนไต้หวัน โจทก์ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลและเป็นเจ้าของเรือขนส่งสินค้าชื่อ ยูนิ-เมอร์ซี่ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยจดทะเบียนในประเทศไทย จำเลยประกอบกิจการผลิตถ่านไม้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เมื่อประมาณต้นปี 2537 จำเลยได้ติดต่อเพื่อว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าถ่านไม้ไปมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์ได้ทำใบเสนอราคาซึ่งระบุถึงสินค้าที่จำเลยจะว่าจ้างให้โจทก์ขนส่งว่า ถ่านไม้อิมโก 4.2 ยูเอ็น 1362 ตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน 2537 จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าถ่านไม้จำนวน1,740 กล่อง จากท่าเรือกรุงเทพไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นการขนส่งโดยใช้ตู้สินค้าระบบแอลซีแอล (LCL) ซึ่งจำเลยจะนำสินค้ามาส่งให้แก่โจทก์ที่ท่าเรือกรุงเทพเพื่อให้โจทก์บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้า แล้วนำขึ้นบรรทุกบนเรือเพื่อขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น วันที่ 14 มิถุนายน 2537 จำเลยได้นำสินค้าถ่านไม้ซึ่งแบ่งบรรจุใส่ถุงพลาสติกน้ำหนักถุงละประมาณ 3 กิโลกรัม รัดปากถุงด้วยหนังยางบรรจุใส่กล่องกระดาษ ข้างกล่องมีคำภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ว่า CHARCOAL ซึ่งแปลว่า ถ่าน และมีสัญลักษณ์รูปไฟอันแสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายประทับอยู่ จำเลยนำกล่องบรรจุถ่านไม้ดังกล่าวจำนวน 4 กล่องหรือ 6 กล่อง บรรจุลงในกล่องกระดาษสีน้ำตาลขนาดใหญ่ 1 กล่อง อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกล่องกระดาษสีน้ำตาลขนาดใหญ่มีเครื่องหมายการค้าของลูกค้าประทับอยู่ แต่ไม่มีสัญลักษณ์รูปไฟหรือสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายประทับอยู่ จำเลยนำสินค้าถ่านไม้ซึ่งบรรจุกล่องกระดาษสีน้ำตาลขนาดใหญ่ปิดผนึกเรียบร้อยแล้วจำนวน 1,740 กล่องไปส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำลองยุทธ 79 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ในการนำสินค้าดังกล่าวบรรจุเข้าในตู้สินค้าที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ สินค้าถ่านไม้ของจำเลยจำนวน 1,740 กล่อง ถูกบรรจุลงในตู้สินค้าจำนวน 2 ตู้ คือตู้สินค้าหมายเลขอีไอเอสยู 1336896 จำนวน 960 กล่อง และตู้สินค้าหมายเลขอีไอเอสยู 1167461 จำนวน 780 กล่อง ตู้สินค้าทั้งสองตู้ไม่ได้มีการปิดป้ายแสดงว่าเป็นสินค้าอันตราย ตู้สินค้าทั้งสองตู้ถูกขนขึ้นบรรทุกบนเรือสินค้ายูนิ-เมอร์ซี่ โดยถูกจัดวางไว้ในระวางเรือเรียงซ้อนกับตู้สินค้าอื่น ๆ กับมีตู้สินค้าอื่นวางซ้อนทับไว้ด้วย และโจทก์ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลย 2 ฉบับ โดยระบุรายละเอียดของสินค้าว่าเป็นสินค้าถ่าน (charcoal) ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เรือสินค้ายูนิ-เมอร์ซี่ ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2537 ต่อมาวันที่ 23 เดือนเดียวกันขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ในทะเลใกล้ดินแดนไต้หวัน ปรากฏว่ามีไฟลุกไหม้ขึ้นที่ตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ของจำเลยทั้งสองตู้ดังกล่าวและได้ลุกลามไหม้ตู้สินค้าตู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทไชน่า มารีนเซอร์เวย์-เยอร์ส แอนด์ สวอน เมชัวเรอร์ส คอร์ป จำกัด สำรวจความเสียหาย บริษัทผู้สำรวจทำความเห็นว่า ไฟไหม้เกิดจากสภาพโดยธรรมชาติของสินค้า เนื่องจากสินค้านี้สามารถทำให้เกิดความร้อนขึ้นอย่างช้า ๆ และสามารถติดไฟได้เองในอากาศ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระค่าเสียหายครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะปฏิบัติหน้าที่ผู้ส่งของไม่ถูกต้องและเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ขณะจำเลยนำสินค้าถ่านไม้ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษขนาดใหญ่มาส่งมอบให้แก่ตัวแทนของโจทก์ที่ท่าเรือกรุงเทพ จำเลยผู้ส่งของมิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายอันแสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายที่ข้างกล่องกระดาษดังกล่าว ทั้งมิได้แจ้งให้โจทก์ผู้ขนส่งสินค้าได้ทราบถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้นั้นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งสินค้าอันตรายจะต้องปฏิบัติเช่นนั้นอย่างไรก็ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ส่งของไว้โดยเฉพาะในกรณีละเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ไว้ว่า ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่นมีดังต่อไปนี้ (1)... (2) ผู้ส่งของยังคงต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้น ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งของจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 34(2) ประกอบด้วยมาตรา 33 ดังกล่าว เมื่อผู้ขนส่งไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น หากโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายของสินค้าของจำเลยผู้ส่งของอยู่แล้ว โจทก์ก็สามารถใช้ความระมัดระวังในการขนส่งสินค้าดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพอันตรายของสินค้านั้นได้ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ทราบว่าสินค้าที่โจทก์รับขนเป็นถ่านไม้เป็นของแข็งลุกติดไฟได้ตามข้อกำหนดของไอเอ็มดีจี โค้ด (IMDG CODE) เอกสารหมาย จ.10 และประกาศกรมเจ้าท่าเรื่องการกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ตามเอกสารหมาย จ.11 แต่โจทก์ไม่ทราบว่าถ่านไม้สามารถดูดซับความร้อนสะสมในตัวจนลุกติดไฟได้เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงสภาพอันตรายของสินค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 นั้น เห็นว่า ตามใบเสนอราคาค่าขนส่งที่โจทก์เสนอต่อจำเลยเอกสารหมาย ล.1โจทก์ระบุว่า สินค้าเป็นถ่านไม้อิมโก 4.2 ยูเอ็น 1362 ซึ่งตามไอเอ็มดีจี โค้ด เอกสารหมาย จ.10 ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า สินค้าถ่านไม้ตามรหัสหมายเลขดังกล่าวมีคุณสมบัติสามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ อันเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงอันตรายของสินค้านี้ แสดงว่าโจทก์ทราบถึงคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว และตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 8(3) บัญญัติให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่ง การที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 33 บัญญัติกำหนดหน้าที่ให้ผู้ส่งของต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตรายและต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น ก็เพื่อให้ผู้ขนส่งใช้ความระมัดระวังจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่ตนรับขนนั้น และที่นาวาตรีปัญญา วงษ์วิจารณ์ หัวหน้าฝ่ายตรวจท่า กรมเจ้าท่า ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางเรือมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า การจัดวางสินค้าที่เป็นสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ต้องจัดวางในที่ไม่อับอากาศและมีความชื้นในระดับที่เหมาะสมตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ที่จัดวางไว้โดยมีตู้สินค้าอื่นวางทับอยู่ 2 ถึง 3 ชั้น และจัดไว้ในที่อับอากาศ เป็นการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง เว้นแต่ภายในเรือจะมีระบบถ่ายอากาศที่ดีก็เจือสมกับคำเบิกความของนาวาตรีปัญญา สินธุสิริ วิทยากรพิเศษ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า ที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า วิธีป้องกันไม่ให้ถ่านไม้ติดไฟคือ ต้องนำตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ไปวางไว้ในพื้นที่ส่วนที่จัดไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุหรือสินค้าอันตราย หรือตามข้อกำหนดขององค์การเดินเรือทะเลโลกที่ระบุให้จัดสินค้านั้นไว้บนดาดฟ้าเปิด เห็นได้ว่าการที่โจทก์ทราบว่าสินค้าที่โจทก์รับขนส่งเป็นถ่านไม้ซึ่งเป็นของแข็งติดไฟได้เองในอากาศ เป็นของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ตามประกาศกรมเจ้าท่า และข้อกำหนดไอเอ็มดีจี โค้ด ย่อมเป็นข้อมูลเพียงพอในการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพขนส่งสินค้าจะต้องนำมาพิจารณาในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยโดยจัดวางตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและไม่ปะปนกับตู้สินค้าอื่น ซึ่งเป็นหลักสากลหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นตามความหมายในมาตรา 34 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ดังนั้น แม้จำเลยไม่ติดป้ายแสดงสินค้าอันตรายก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าโจทก์ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าดังกล่าวแล้ว ความเสียหายจึงมิได้เกิดจากการที่โจทก์ไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าอันเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรหรือไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความเสียหายตามมาตรา 34(2) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยบรรจุสินค้าถ่านไม้ลงในถุงพลาสติกแล้วปิดปากถุงโดยใช้หนังยางรัดเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นสาเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยบรรจุถ่านไม้ในถุงพลาสติกโดยใช้หนังยางรัดปากถุงทำให้อากาศเข้าไปในถุงได้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในไอเอ็มดีจี โค้ด เป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อและเป็นสาเหตุทำให้ถ่านไม้ลุกไหม้จนเกิดความเสียหาย เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สินค้าถ่านไม้เป็นสินค้าอันตรายตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 353/2529 เรื่อง การกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 เพื่อให้สอดคล้องกับไอเอ็มดีจี โค้ดอันเป็นที่ยอมรับของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งถ่านไม้เป็นสินค้าอันตรายในไอเอ็มดีจี โค้ด ประเภทอิมโก 4.2 ยูเอ็น 1362 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว และโจทก์มีนายประมวล จันทร์ชีวะ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญของอนุกรรมการประกันภัยและขนส่งทางทะเล สมาคมประกันวินาศภัย มาเบิกความเป็นพยานว่า ไอเอ็มดีจี โค้ด เป็นเอกสารซึ่งรวบรวมขั้นตอนและวิธีการขนส่งสินค้าอันตรายโดยระบุถึงวิธีการที่เจ้าของสินค้าจะต้องปฏิบัติ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อ ถือเป็นมาตรฐานที่ต้องกระทำสำหรับสินค้าอันตราย และสินค้าถ่านไม้จัดเป็นสินค้าอันตรายชั้นที่ 4 จำพวกของแข็งซึ่งจะดูดซับความร้อนและสามารถลุกไหม้ได้ในตัวเองซึ่งข้อกำหนดไอเอ็มดีจี โค้ด ตามเอกสารหมาย จ.10 ระบุถึงการบรรจุสินค้าประเภทนี้ว่าจะต้องบรรจุไม่ให้อากาศเข้าไปในหีบห่อได้ หากเป็นการบรรจุในถุงพลาสติกต้องมีการหลอมละลายปากถุงให้สนิท จะใช้หนังยางรัดไม่ได้ และได้ระบุถึงการบรรจุสินค้าอันตรายประเภทถ่านไม้ว่า ปิดผนึกแน่น อากาศเข้าไม่ได้ (hermetically sealed) โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งข้อกำหนดในไอเอ็มดีจี โค้ด ตามเอกสารหมาย จ.10 และจำเลยมิได้นำสืบว่าการใช้หนังยางรัดปากถุงนั้นทำให้อากาศเข้าไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยบรรจุสินค้าถ่านไม้ลงในถุงพลาสติกแล้วรัดด้วยหนังยาง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของไอเอ็มดีจี โค้ด ที่ให้ใช้วิธีการปิดผนึกจนอากาศเข้าไม่ได้ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยแห่งชีวิตและทรัพย์สินในการขนส่งสินค้าทางทะเล จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการที่ถ่านไม้ในตู้สินค้าตามคำฟ้องเกิดลุกไหม้และเกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นผลจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่นั้น แม้ได้ความจากคำเบิกความของนาวาตรีปรีชา สินธุสิริ พยานจำเลยซึ่งเป็นวิทยากรพิเศษสอนวิชาเกี่ยวกับหลักการเดินเรือในทะเลรวมถึงหลักการรักษาความปลอดภัยในทะเล โดยที่โจทก์มิได้นำสืบเป็นอย่างอื่นว่า สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในทุกกรณีจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัตถุเชื้อเพลิง อุณหภูมิหรือความร้อนและก๊าซออกซิเจน หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งจะไม่มีการติดไฟขึ้นก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ใช้วิธีบรรจุสินค้าถ่านไม้ในลักษณะปิดผนึกจนอากาศเข้าไม่ได้ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมเป็นโอกาสให้มีก๊าซออกซิเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเคยบรรจุถ่านไม้ในถุงพลาสติกรัดด้วยหนังยางในการขนส่งสินค้าดังกล่าวไปต่างประเทศมาแล้วประมาณ 10 ครั้ง ก็ไม่เคยเกิดปัญหาไฟลุกไหม้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าในการขนส่งสินค้าครั้งก่อน ๆ ดังกล่าวผู้ขนส่งจัดวางสินค้าไว้ไม่เหมาะสมดังเช่นเหตุครั้งนี้ที่โจทก์จัดวางสินค้าไม่ถูกต้องอันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟไหม้ด้วย ดังนี้ ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยจึงเชื่อได้ว่าเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบรรจุถ่านไม้โดยไม่ใช้วิธีปิดผนึกจนอากาศเข้าไม่ได้ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยเป็นเหตุที่จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ ส่วนปัญหาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยมา แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานมาในสำนวนแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ปัญหานี้ที่จำเลยให้การและนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งไม่ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งแก่จำเลยหรือตัวแทนว่าได้เกิดความเสียหายพร้อมแจ้งถึงสภาพโดยทั่วไปของความเสียหายดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันที่เกิดความเสียหายนั้น เห็นว่า การที่ผู้ขนส่งไม่บอกกล่าวเป็นหนังสือดังกล่าวแก่ผู้ส่งของ เป็นเพียงเหตุให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งไม่ได้รับความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 37 เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้ และโจทก์นำสืบพยานหลักฐานโดยมีรายงานการสำรวจความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งจัดทำโดยบริษัทไชน่า มารีนเซอร์เวย์เยอร์ส แอนด์ สวอน เมชัวเรอร์ส คอร์ป จำกัด ผู้รับจ้างสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งภาพถ่ายประกอบรายงานดังกล่าวปรากฏว่ามีตู้สินค้าเสียหาย 20 ตู้ และโจทก์ยังมีนายเหรียญ วรพิพัฒน์กำธร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทกรีนสยาม จำกัดเบิกความว่า บริษัทกรีนสยาม จำกัด เป็นตัวแทนในการรับสินค้าและบรรจุสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จากเหตุไฟไหม้คดีนี้ มีค่าตู้สินค้า 2 ตู้ จำนวน 16,596.95 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ลดราคาให้แล้วคงเหลือเป็นเงินจำนวน 12,447.72 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าซ่อมระวางเรือจำนวน 11,277.78 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าซ่อมตู้สินค้าตู้อื่นที่ยังซ่อมได้เป็นค่าซ่อมที่กระทำในต่างประเทศจำนวน 6,562.33 ดอลลาร์สหรัฐและที่ซ่อมในประเทศไทยจำนวน 7,928 บาท รายละเอียดปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.19และ จ.20 คิดเป็นเงินบาทรวมทั้งสิ้นจำนวน 765,123.75 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันที่สินค้าเสียหายถึงวันฟ้องได้เป็นเงินจำนวน 55,812.11 บาท และจำเลยไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 765,123.75 บาทจริง อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ก็มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย กล่าวคือ โจทก์จัดระวางบรรทุกสินค้าอันตรายไม่เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งสินค้าอันตราย โดยจัดวางตู้สินค้าบรรจุถ่านไม้ไว้ในระวางเรือปะปนกับตู้สินค้าอื่น โดยมีตู้สินค้าอื่นวางทับซ้อนไว้ 2 ถึง 3 ชั้น ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ทั้งปรากฏตามรายงานการสำรวจของบริษัทไชน่า มารีนเซอร์เวย์เยอร์ส แอนด์ สวอน เมชัวเรอร์ส คอร์ป จำกัด เอกสารหมาย จ.16 ว่า ตู้สินค้าที่เกิดเหตุคือตู้สินค้าเลขที่อีไอเอสยู 1336896 และอีไอเอสยู 1167461 ถูกจัดวางไว้ในระวางเรือหมายเลข 3ส่วนหน้า ช่องหมายเลข 5 เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายสภาพของตู้สินค้าขณะมีการสำรวจความเสียหายหมาย จ.18 จะเห็นได้ว่าตู้สินค้าที่เกิดเหตุทั้งสองตู้ถูกจัดวางไว้เกือบชั้นล่างสุดของระวางเรือ ซึ่งตามสภาพจะถูกตู้สินค้าอื่นวางทับซ้อนอีก 2 ถึง 3 ชั้น จึงจะถึงปากระวางเรือ และด้านข้างกับด้านท้ายของตู้สินค้าที่เกิดเหตุจะมีตู้สินค้าอื่นวางเรียงเป็นแถวเป็นแนวจนเต็มพื้นที่ของระวางเรือหมายเลข 3 โดยวางทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆจนถึงปากระวางเรือ ช่องว่างของตู้สินค้าแต่ละตู้และแต่ละแถวจะห่างกันประมาณ 1 คืบจากสภาพดังกล่าวเชื่อได้ว่าอากาศไม่สามารถไหลเวียนถ่ายเทได้โดยสะดวก ดังนั้น ภายในระวางเรือที่มีตู้สินค้าซึ่งเป็นเหล็กจัดวางไว้จนเต็มพื้นที่และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ย่อมเกิดความร้อนขึ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะตู้สินค้าที่เกิดเหตุทั้งสองตู้ซึ่งถูกจัดวางไว้ด้านล่างของระวางเรือ ย่อมมีอุณหภูมิสูงกว่าตู้สินค้าที่วางอยู่ตอนบนของระวางเรือ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้อีกว่า เรือยูนิเมอร์ซี่ ซึ่งบรรทุกตู้สินค้าที่เกิดเหตุแล่นออกจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2537 และเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เดือนเดียวกันขณะแล่นอยู่ในทะเลใกล้ดินแดนไต้หวัน ทั้งนี้โดยถ่านไม้มีคุณสมบัติสามารถสะสมความร้อนได้อย่างช้า ๆ ในระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 6 วัน ที่เรือแล่นอยู่กลางทะเลย่อมสะสมความร้อนได้สูงเพียงพอที่จะลุกไหม้ขึ้นได้ จึงเห็นได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถ่านไม้เกิดลุกไหม้จนเกิดความเสียหายขึ้นนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยในการบรรจุสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการจัดวางตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ที่ไม่เหมาะสม โดยวางปะปนกับตู้สินค้าอื่นและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้ถ่านไม้เกิดความร้อนสะสมขึ้นอย่างช้า ๆ และลุกไหม้ขึ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ขนส่งด้วย ดังนั้น ในการที่จะให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยคำนึงถึงข้อสำคัญว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์กับความร้ายแรงแห่งการกระทำของโจทก์และจำเลยซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกันแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่งคิดเป็นต้นเงินค่าเสียหายจำนวน 382,561.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 382,561.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

มาตรา 37 ถ้าผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายเนื่องจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของ ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นนั้นต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ส่งของหรือตัวแทนว่าได้เกิดความเสียหายพร้อมทั้งแจ้งให้ทราบถึงสภาพโดยทั่วไปของความเสียหายดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้เกิดความเสียหาย หรือวันที่ส่งมอบของตามมาตรา 40 แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง มิฉะนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ได้รับความเสียหายนั้น

 มาตรา 223 ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้
หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ
ลำดับส่วนแบ่งมรดกระหว่างคู่สมรสกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ การละเมิดลิขสิทธิ์
ที่งอกริมตลิ่ง สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิทธิไล่เบี้ย
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา
ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด