ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ 3. นายเหี้ยมหาญ เป็นครูสอนวิชาพลศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง นักเรียนของนายเหี้ยมหาญ มีอายุระหว่าง 11 - 13 ปี ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลา 13 - 14 นาฬิกา นายเหี้ยมหาญ สั่งให้นักเรียนในชั้นทั้งหมด 30 คน วิ่งรอบสนามซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร จำนวน 12 รอบ เพื่อลงโทษที่นักเรียนกลุ่มนั้นทำผิดระเบียบ ในระหว่างวิ่งรอบที่ 11 เด็กชายอ่อน ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วเป็นลมล้มลง และเสียชีวิตเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ทั้งนี้โดยนายเหี้ยมหาญ มิได้รู้มาก่อนว่าเด็กชายอ่อน ป่วยเป็นโรคหัวใจ


ให้วินิจฉัยว่า นางแข็งมารดาของเด็กชายอ่อนผู้ตายจะฟ้องนายเหี้ยมหาญ และเจ้าของโรงเรียนผู้เป็นนายจ้างเพื่อให้รับผิดในความตายของเด็กชายอ่อน ได้หรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้หรือไม่


หากโรงเรียนที่เกิดเหตุมิใช่โรงเรียนเอกชน แต่เป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร บุคคลที่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยจะแตกต่างออกไปหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

การที่นายเหี้ยมหาญ ลงโทษเด็กนักเรียนอายุเพียง 11-13 ปี โดยสั่งให้วิ่งรอบสนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร เป็นจำนวนมากถึง 12 รอบ ในช่วงเวลาบ่ายนั้น ถือเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่กรณี โดย นายเหี้ยมหาญ สามารถคาดเห็นได้ว่าการลงโทษเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายแก่เด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษได้ จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เด็กชายอ่อน ถึงแก่ความตาย เป็นการทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง ดังนั้น นางแข็ง จึงฟ้อง นายเหี้ยมหาญ ในฐานะลูกจ้าง และเจ้าของโรงเรียนในฐานะนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของ นายเหี้ยมหาญ ที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อมีผลโดยตรงต่อความตายของเด็กชายอ่อน และเป็นการกระทำในทางการที่จ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 425 ค่าเสียหายที่เรียกได้ คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ตามมาตรา 443 ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของนางแข็ง มารดาของ เด็กชายอ่อน ตามมาตรา 443 วรรคสาม แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446 มิได้ เพราะมิใช่เป็นการกระทำละเมิดแก่ร่างกาย อนามัย หรือเสรีภาพ การที่เด็กชายอ่อนเป็นโรคหัวใจเป็นพฤติการณ์ที่อาจนำมาใช้ในการกำหนดค่าเสียหายให้ลดลงได้ตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง คือพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงของการละเมิด แต่จะนำมายกเว้นความรับผิดของนายเหี้ยมหาญ และเจ้าของโรงเรียน โดยอ้างว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5129/2546)

หากโรงเรียนที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่นายเหี้ยมหาญ เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ครูสอนพละเท่านั้น ในกรณีนี้นางแข็งจะฟ้องนายเหี้ยมหาญเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5

 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 " ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

 มาตรา 425 "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น "

 มาตรา 443 "ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้นค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฏหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

 มาตรา 446 "ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่ สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้ "

 มาตรา 438 "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย"

 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

 มาตรา 5 "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546

 จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพลศึกษาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายนับเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้วิ่งต่ออีก 3 รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วแต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยแบบเดิมอีก จำเลยที่ 1 ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่น การที่สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบและเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันอากาศร้อนและมีแสงแดดแรงนับเป็นการใช้วิธีการลงโทษที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนซึ่งอายุระหว่าง 11 ปี ถึง 12 ปีได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ ทั้งการออกกำลังกายโดยการวิ่งย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ จำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติจนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว จึงเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย

การที่จำเลยที่ 1 ทำการสอนวิชาพลศึกษาของโรงเรียนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อทำให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชาย พ. ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้

การที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะถูกทำละเมิดโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตกเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในปัจจุบันและในอนาคตภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เด็กชายจะสามารถทำงานมีรายได้มาอุปการะโจทก์ได้หรือไม่

จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม 3 รอบ เพื่ออบอุ่นร่างกายและการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นักเรียนวิ่งต่อไปอีก 3 รอบ เพราะนักเรียนวิ่งกันไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบ เป็นวิธีการสอนและลงโทษนักเรียนตามสมควรแก่เหตุและเหมาะสม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้วิ่งอีก 3 รอบสนาม ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 เป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหวังให้นักเรียนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจำเลยที่ 1 ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เหมือนดังวิสัยของครูทั่วไป แม้เป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือกระทำการประมาทอย่างร้ายแรง เพียงแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบและไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพครูสอนพลศึกษาจะพึงปฏิบัติและสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของเด็กชาย พ. ไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างความไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้ แต่ศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของการทำละเมิดได้

แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่ขณะที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วสิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

 โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นมารดาของเด็กชายพงศกร สังฆมณี จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการครู สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลา13.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาพลศึกษาออกคำสั่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้อง 1/4 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต วิ่งรอบสนามบาสเกตบอล เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการสอนจำนวน 11 รอบ จนเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรนักเรียนในชั้นดังกล่าวซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจล้มลงขณะวิ่งรอบที่ 11 และหมดสติไป จำเลยที่ 1 กลับนิ่งเฉยไม่ให้ความช่วยเหลือในทันทีทันใดต่อมามีอาจารย์อื่นได้นำเด็กชายพงศกรส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเด็กชายพงศกรก็ถึงแก่ความตาย การตายของเด็กชายพงศกรสืบเนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ตรวจสอบดูว่าเด็กชายพงศกรป่วยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ และให้เด็กชายพงศกรวิ่งกลางแดดในเวลาบ่ายโมงจำนวนหลายรอบจนทำให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำตามหน้าที่ของผู้แทนจำเลยที่ 2 ความเสียหายเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1 โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ทำโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนามบาสเกตบอลเกินกว่าปกติ เป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตาย ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ หลังเกิดเหตุโรงเรียนวชิรธรรมสาธิตได้ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และค่าจัดงานศพทั้งหมดแทนโจทก์แล้ว ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ฟ้องเรียกมานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต และเป็นข้าราชการครูในสังกัดของจำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้อง 1/4 ซึ่งมีจำนวน 53 คนวิ่งรอบสนามของโรงเรียนซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบเมื่อครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้วิ่งอีก 3 รอบ เมื่อครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 สั่งให้วิ่งอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนวิ่งครบแล้ว จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้นักเรียนทั้งหมดวิ่งอีก 3รอบ เป็นครั้งที่ 4 เด็กชายพงศกร สังฆมณี บุตรของโจทก์ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบ ได้วิ่งถึงรอบที่ 11 ก็ล้มลง ต่อมามีอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาคนอื่นซึ่งอยู่ใกล้เคียงได้อุ้มเด็กชายพงศกรไปทำการปฐมพยาบาล แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงนำเด็กชายพงศกรไปส่งที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียน เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเด็กชายพงศกรก็ถึงแก่ความตายเนื่องจากระบบหัวใจล้มเหลว โจทก์ซึ่งเป็นมารดาได้จัดงานศพเด็กชายพงศกรที่วัดราษฎร์ศรัทธาธรรมบรรดาครูและนักเรียนของโรงเรียนวชิรธรรมสาธิตได้ไปร่วมและช่วยงานศพโดยตลอด และออกค่าใช้จ่ายให้หลายรายการโจทก์ได้รับเงินช่วยงานศพประมาณ 60,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่คณะกรรมการสอบสวนยังมิได้มีคำวินิจฉัยโดยให้รอฟังผลของคำพิพากษาในคดีนี้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า เหตุเกิดในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้อง 1/4 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวแก่นักเรียนในชั้นนี้ ดังนั้นนอกจากจำเลยที่ 1 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาพลศึกษาแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายอย่างใด ๆ แก่ผู้อื่นในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร ต่อ 1 รอบจำนวน 3 รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัตินับเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามต่ออีก 3 รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษนักเรียนที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วก็ตาม แต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบแบบเดิมอีก จำเลยที่ 1 ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่นการที่สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้นักเรียนวิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย ซึ่งได้ความตามคำเบิกความของเด็กชายกวิน กาญจนไพโรจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนักเรียนห้องเดียวกับเด็กชายพงศกรในขณะเกิดเหตุว่า ขณะเกิดเหตุอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสม เพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าสภาพอากาศและแสงแดดในขณะนั้น การลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ปี ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ แม้ก็จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีนักเรียนคนใดได้รับอันตรายแก่กายในการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ยกเว้นเด็กชายพงศกร ก็ไม่อาจถือได้ว่าคำสั่งลงโทษนักเรียนของจำเลยที่ 1 เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม คำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม 3 รอบ ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ การออกกำลังกายโดยการวิ่งรอบสนามย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ นักเรียนวิ่งรอบสนามจำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้นย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติจนทำให้เด็กชายพงศกรซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 แม้จะมีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาลทันทีก็ไม่สามารถทำให้อาการของเด็กชายพงศกรดีขึ้น และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชายพงศกรจึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชายพงศกรเป็นโรคหัวใจก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตาย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชายพงศกรนักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1กระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ความข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ยกขึ้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อสุดท้ายว่า ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาสูงเกินสมควรหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือค่าปลงศพจำนวนประมาณ 60,000 บาทจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนวชิรธรรมสาธิตแล้ว ควรนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ นอกจากนี้จากสภาพร่างกายของเด็กชายพงศกรซึ่งมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบปัญหาคนว่างงาน การที่เด็กชายพงศกรจะสามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้หรือไม่เพียงใดจึงเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งยังไม่แน่นอน ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลกำหนดให้แก่โจทก์จึงสูงเกินไปนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งตามฟ้องได้แก่ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย ดังนั้นแม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชายพงศกร ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพจำนวนประมาณ 60,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนวชิรธรรมสาธิตมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้นั้นเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนการที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะถูกทำละเมิดโดยถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตกเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในปัจจุบันและในอนาคตภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เด็กชายพงศกรจะสามารถทำงานมีรายได้มาอุปการะโจทก์ได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา สั่งให้นักเรียนทั้งชั้นวิ่งรอบสนาม 3 รอบ เพื่ออบอุ่นร่างกายและการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นักเรียนทั้งชั้นวิ่งต่อไปอีก 3 รอบ เพราะนักเรียนวิ่งกันไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบ เป็นวิธีการสอนและลงโทษนักเรียนตามสมควรแก่เหตุและเหมาะสม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นักเรียนวิ่งอีก 3 รอบสนาม ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ย่อมเป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 สั่งการดังกล่าวโดยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนักเรียนคนใดเป็นการส่วนตัวหรือโดยมุ่งหวังให้นักเรียนทั้งชั้นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เหมือนดังวิสัยของครูทั่วไป จำเลยที่ 1 เพียงแต่ต้องการให้นักเรียนทั้งชั้นได้รับความทุกข์เพราะเหน็ดเหนื่อยจากการวิ่งกลางแดดจำนวนหลายรอบสนาม เพื่อเป็นการลงโทษจากการประพฤติตนไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากกรณีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีนักเรียนคนอื่นได้รับบาดเจ็บหรือเกิดเจ็บป่วยเพราะการวิ่งรอบสนามตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ไม่เข้าไปช่วยเหลือดูแลเมื่อเด็กชายพงศกรล้มลงน่าจะเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่คาดคิดว่าเด็กชายพงศกรจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตและมีอาจารย์อื่นเข้าช่วยเหลือแล้ว แม้การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตาย แต่พฤติการณ์แห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ก็มิได้เกิดจากความจงใจหรือกระทำการประมาทอย่างร้ายแรง เพียงแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบและไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพครูสอนพลศึกษาจะพึงปฏิบัติและผลร้ายที่เกิดขึ้นสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของเด็กชายพงศกรไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างความไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้ดังกล่าวมาแล้ว แต่ศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของการทำละเมิดได้ ศาลฎีกาเห็นว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมายังสูงเกินไปกว่าพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 สมควรแก้ไขให้น้อยลง โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 600,000 บาทฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วสิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ฉะนั้นเมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 600,000 บาท แก่โจทก์ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ"




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 57(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
ผู้ทรงเช็คสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลัง
ใช้เงินค่าหุ้นโดยหักกลบลบหนี้
ค่าทดแทนสัญญาหมั้นไม่โอนแก่กันได้
ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
ความเสียหายที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิด
ทางจำเป็นสิ้นความจำเป็น-ไม่ใช่ทรัพยสิทธิ
สัญญาต่างตอบแทน การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย
การเช่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือฟ้องขับไล่ไม่ต้องบอกกล่าวก่อน