ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉล

การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลจะต้องเกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น 

ข้อ 6. นายจันทร์ออกเช็คผู้ถือลงวันที่ล่วงหน้าเตรียมไว้สำหรับชำระหนี้ค่าสินค้าแล้วทำเช็คหายไป นายอังคารเก็บเช็คได้นำไปแลกเงินสดจากนายพุธ นายพุธไม่รู้ว่านายอังคารเก็บเช็คได้จึงรับแลกเช็คไว้โดยให้นายอังคารลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้ด้วยต่อมานายจันทร์ทราบว่าเช็คอยู่ที่นายพุธจึงไปขอเช็คคืน โดยแจ้งให้ทราบว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะตนทำหายไป นายพุธไม่ยอมคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายพุธได้ยื่นฟ้องนายจันทร์กับนายอังคารให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็ค ทั้งสองคนต่อสู้ว่า นายพุธรู้แล้วว่าเช็คไม่มีมูลหนี้แต่ยังรับแลกเช็คไว้เป็นการคบคิดกันฉ้อฉล นายพุธไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายจันทร์และนายอังคารฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

 การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น(คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2532, 4279/2536)

เมื่อขณะรับโอนเช็คมาจากนายอังคาร นายพุธไม่รู้ว่านายอังคารเก็บเช็คได้ นายพุธรับโอนเช็คมาโดยสุจริตจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคสาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 6005/2539, 480/2514)แม้ก่อนที่เช็คถึงกำหนดนายพุธจะรู้ว่าเช็คที่นายจันทร์สั่งจ่ายไม่มีมูลหนี้เพราะนายจันทร์ทำเช็คหายไปและนายอังคารเก็บเช็คได้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายพุธรับโอนเช็คมาจากนายอังคารแล้ว จึงมิใช่กรณีที่นายพุธคบคิดกับนายอังคาร ฉ้อฉลนายจันทร์ หรือมีความไม่สุจริตในขณะที่รับโอนเช็ค นายจันทร์ในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดตามเช็คต่อนายพุธส่วนนายอังคารลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ จึงเป็นประกัน (อาวัล) นายจันทร์ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921ประกอบมาตรา 989 และมีผลผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับนายจันทร์ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989

ข้อต่อสู้ของนายจันทร์และนายอังคารฟังไม่ขึ้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 มาตรา 916 "บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกัน เฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล"

 มาตรา 904 "อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน ไ

 มาตรา 905 "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลัง ไปอีกท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้นเป็นผู้ได้ซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่ง คำสลักหลัง เมื่อขีดฆ่าเสียแล้ว ท่านให้ถือว่าเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดั่งกล่าวมาใน วรรคก่อนนั้น หาจำต้องสลักตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย"

มาตรา 921 "การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อม เป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย"

มาตรา 989 "บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงิน ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับ สภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบท มาตรา 910,มาตรา 914 ถึง มาตรา 923,มาตรา 925,มาตรา 926,มาตรา 938 ถึง มาตรา 940, มาตรา 945,มาตรา 946,มาตรา 959มาตรา 967,มาตรา 971

ถ้าเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติดั่งต่อไปนี้ มาใช้บังคับด้วย คือบท มาตรา มาตรา 924,มาตรา 960 ถึง มาตรา 964,มาตรา 973 ถึง มาตรา 977,มาตรา 980 "

มาตรา 940 "ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคล ซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็น ใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อ ที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอัน จะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับ ผิดแทนตัวผู้นั้น"

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2532

 การคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตอันจะทำให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็ค

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยคบคิดกันฉ้อฉลศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 139,600 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 2 เป็นค่าซื้อหินและทรายจากจำเลยที่ 2 ฉบับแรกตามเอกสารหมายจ.1 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2525 จำนวนเงิน 69,000 บาท และฉบับหลังตามเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 15 มกราคม 2526 จำนวนเงิน 70,600 บาทต่างเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ ครั้นเมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาราชบุรีเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2525และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินโดยอ้างว่า ลายมือชื่อผู้รับของในบิลที่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 รับไว้มีการทุจริต มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงประการเดียวว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยคบคิดกันฉ้อฉลหรือโดยไม่สุจริตหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำสืบฟังได้ว่าเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2525 โจทก์ นายฮั้งเจียง แซ่จึงกับสามีจำเลยที่ 2 ได้ไปพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้นำบิลที่ปลอมกับที่ไม่ปลอมให้โจทก์ดู โจทก์จึงพูดว่าอย่างนี้ก็โกงกันซิ จึงให้สามีจำเลยที่ 2 เขียนเช็คใหม่ให้โจทก์เอาเช็คเดิมคืนไป จึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ว่าเช็คทั้งสองฉบับไม่มีมูลหนี้ โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงโดยไม่สุจริตสมรู้กับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าในข้อนี้จำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 กับนายฮั้งเจียง แซ่จึงเบิกความสอดคล้องต้องกันสมเหตุผลปราศจากพิรุธใด ๆ ส่วนโจทก์ไม่ได้นำสืบปฏิเสธอย่างใด คงเพียงแต่เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่าสามีจำเลยที่ 2 ไม่เคยพาโจทก์ไปพบนายฮั้งเจียง คดีจึงฟังได้ว่า เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2525 นายฮั้งเจียงกับสามีจำเลยที่ 2ได้พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 1 ได้ดูในบิลปลอมจนโจทก์รู้ว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้ออกชำระเงินตามใบบิลปลอมและเป็นเช็คไม่มีมูลหนี้แต่การคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริต อันจะทำให้ผู้สั่งจ่ายยกความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามข้อความตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็ค เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบอย่างใดว่าขณะที่จำเลยที่ 2 โอนเช็คทั้งสองฉบับให้โจทก์ได้มีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตอย่างใด ส่วนข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ได้พบจำเลยที่ 1 ได้ดูใบบิลปลอมและรู้ว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกชำระค่าหินทรายตามใบบิลที่ปลอมก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2525 หลังจากที่โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากจำเลยที่ 2 แล้ว โดยเฉพาะเช็คพิพาทฉบับแรกตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้นำไปขึ้นเงิน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วและการที่โจทก์นำเช็คพิพาทฉบับที่ 2ตามเอกสารหมาย จ.2 ไปขึ้นเงิน ภายหลังจากที่ทราบว่าเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกชำระค่าหินทรายตามใบบิลปลอม ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์รับโอนเช็คมาแล้ว มิใช่กรณีที่โจทก์คบคิดกับจำเลยที่ 2 ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หรือมีความไม่สุจริตในขณะที่รับโอนเช็คเช่นเดียวกัน คดีฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริต ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2536

การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีแล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ไม่ได้

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาชัยนาท รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่ผู้ถือ ต่อมาโจทก์ได้รับโอนเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวจากจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 สลักหลังเพื่อขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมหานครจำกัด สาขาปากคลองตลาด และที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานพุทธเพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินและคืนเช็คทั้งสองฉบับมา ให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย"โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 189,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 2เพื่อเป็นการประกันหนี้ค่าปุ๋ยของบุคคลภายนอกที่สั่งซื้อปุ๋ยของโจทก์ผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ และบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ตัวแทนของโจทก์เสร็จแล้ว แต่โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลนำเช็คพิพาทมาฟ้องด้วยเจตนาที่จะฉ้อโกงจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเพียงแต่สลักหลังเช็คพิพาทโอนชำระหนี้ให้โจทก์ ไม่ได้ค้ำประกันหรือรับรองจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 189,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2528และของต้นเงิน 89,800 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกิน8,303.75 บาท กับให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ1,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขอสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทั้งสองฉบับจริงไม่ติดใจสืบพยาน ส่วนจำเลยที่ 1 กับโจทก์แถลงร่วมกันว่า จะไปขอคัดคำเบิกความและพยานเอกสารของแต่ละฝ่ายในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1082/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 1303/2528 ของศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งหมดมาอ้างเป็นพยานในสำนวนคดีนี้โดยจำเลยที่ 1 และโจทก์หมดพยานเพียงเท่านี้

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เดิมจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีต่อมากลับสละประเด็นข้อต่อสู้ทั้งหมด และหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีแต่เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 เลย พฤติการณ์แห่งคดีพอฟังว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้นจะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว ไม่บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2ก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หาได้ไม่เมื่อตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1303/2528ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนเช็คให้โจทก์ได้มีการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 อย่างไรคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมจะต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับต่อโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 และมาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นและจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6005/2539

จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้จ.ต่อมาจ.ทำเช็คพิพาทหายไปจึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจและจำเลยได้แจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารไว้ต่อมาจ.ทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักไปและอยู่ที่โจทก์จ.แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์รับว่าจะคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังนี้คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมานั้นโจทก์รู้ว่าเป็นเช็คที่ถูกลักมาหรือโจทก์ได้มาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไรเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะต้องสละเช็คพิพาทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา905วรรคสองและวรรคสามจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2536 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ผู้มีชื่อได้นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาเฉลิมนคร ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2536 จำนวนเงิน560,950 บาท ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแก่ผู้ถือมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 22 มิถุนายน 2536โดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย" โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,526 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 560,590 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อเพชรให้แก่นายจูซาร์ การ์พาเดียหรืออีกชื่อหนึ่งว่านายซูซาร์ มูลาร์โมฮัมหมัด ต่อมานายจูซาร์ทำเช็คพิพาทหายไปและแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจแล้วนำแจ้งให้จำเลยทราบเพื่ออายัดเช็คจำเลยจึงแจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2536 ภายหลังนายจูซาร์ทราบว่าเช็คพิพาทถูกนายมานิชหรือมานิตย์ กุมาร์ลักไปและเช็คพิพาทอยู่ที่โจทก์ จึงแจ้งให้โจทก์ทราบและพากันไปแจ้งความที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2536โดยโจทก์รับว่าจะคืนเช็คพิพาทให้นายจูซาร์ แต่โจทก์ก็ไม่คืนให้และนำเช็คพิพาทมาฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 560,950 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 11,526 บาท

จำเลย อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลย ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำฟ้องและคำให้การจำเลยว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงิน 560,950 บาทซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาจริง ดังนั้นโจทก์จึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 704

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาในประการแรกว่า จำเลยให้การไว้ชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยให้การเพียงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้นายจูซาร์ การ์พาเดีย ต่อมานายจูซาร์ทำเช็คพิพาทหายไป จึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจและจำเลยได้แจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารไว้ ต่อมานายจูซาร์จึงทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักไปและอยู่ที่โจทก์ นายจูซาร์แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์รับว่าจะคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมานั้นโจทก์รู้ว่าเป็นเช็คที่ถูกลักมาหรือโจทก์ได้มาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไร เป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะต้องสละเช็คพิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905 วรรคสองและวรรคสาม จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2514

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คและโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดย จ. ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์ โจทก์นำเช็คนี้เข้าบัญชี แต่ธนาคารคืนเช็คมายังโจทก์ เพราะจำเลยได้สั่งอายัดไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริงโดยเตรียมไว้สำหรับชำระหนี้ให้แก่ผู้อื่น แต่ จ. ได้ลักเช็คดังกล่าวไปเสียก่อน จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดกับจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องประการใดจากจำเลย ดังนี้ เมื่อจำเลยมิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทนั้นมาโดยคบคิดกับ จ. เพื่อฉ้อฉลจำเลยก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริต การที่ จ. แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริตจึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ผู้ทรงได้ตาม มาตรา 905 และมาตรา 916 ฉะนั้น จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังที่ปรากฏในคำให้การไม่ เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2514)

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเงินสด 1 ฉบับ จำนวน 2,000 บาท และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวนี้โดยนายจิว (ไม่ทราบนามสกุล)ได้สลักหลังเช็คแล้วนำเช็คฉบับนี้มาแลกเงินสดของโจทก์ไปและมอบเช็คให้ไว้กับโจทก์ ครั้นถึงกำหนดวันสั่งจ่าย โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชี แต่ธนาคารคืนเช็คมายังโจทก์ โดยหมายเหตุในช่องใบคืนเช็คว่า ผู้สั่งจ่ายได้อายัดเช็คไว้ โจทก์ได้ติดต่อทวงถาม แต่จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง โดยเตรียมไว้สำหรับจะชำระค่าตึกแถวและที่ดินให้ผู้อื่น แต่นายจิว แซ่จิว ลักเช็คดังกล่าวไป จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีไว้แล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดกับจำเลย จึงหามีสิทธิเรียกร้องประการใดจากจำเลยไม่ โจทก์กระทำการโดยไม่สุจริต เพราะเมื่อโจทก์มาติดต่อกับจำเลยเนื่องจากธนาคารคืนเช็คให้โจทก์นั้น จำเลยก็ได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าเช็คฉบับดังกล่าวถูกลักไป ทั้งไม่เคยขอผัดผ่อนชำระเงินกับโจทก์ แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า จำเลยนี้ไม่ได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คนั้นมาโดยคบคิดกับนายจิวหรือผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อฉ้อฉลจำเลย จำเลยคงอ้างแต่เพียงว่า นายจิวเป็นคนลักเช็คมา ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจำต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริต การที่นายจิวฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริตลักเช็คไปโอนให้โจทก์ จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ได้ตามมาตรา 905 และ มาตรา 916 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลย เช็ครายพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรงเมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914

ที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

การปลดหนี้ให้แก่ผู้ค้ำประกัน
การถือเอาสิทธิแก่บุคคลภายนอกในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน
บันทึกเป็นหนังสือไม่เรียกร้องทรัพย์มรดก-การสละมรดก
ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่น-การซื้อขายแบบ CIF
ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ภาระจำยอมโดยอายุความ
การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณี
ผู้ทำละเมิดหลุดพ้นในมูลละเมิด
ทำสัญญาเช่าหกปีไม่ได้จดทะเบียนเช่ามีผลบังคับได้เพียงสามปี