ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
                 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
เป็นปีที่ 65 ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
 
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553”
 
มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา 3  ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534
(2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543
(3) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548
 
หมวด 1
บททั่วไป

มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์
“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
“คดีเยาวชนและครอบครัว” หมายความว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัตินี้
“คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว
“คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ” หมายความว่า คดีที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลในครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลในครอบครัว
“คดีธรรมดา” หมายความว่า คดีอื่น ๆ นอกจากคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
“ศาลเยาวชนและครอบครัว” หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว” หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวและศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“สถานพินิจ” หมายความว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“ศูนย์ฝึกและอบรม” หมายความว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน
“การแก้ไขบำบัดฟื้นฟู” หมายความว่า มาตรการที่กำหนดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสนับสนุนเด็กหรือเยาวชนให้สามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้โดยปกติสุข เช่น การรับคำปรึกษา แนะนำ การเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด การเข้าร่วมกิจกรรมทางเลือก การศึกษา หรือการฝึกอาชีพหรือวิชาชีพ
“การฝึกอบรม” หมายความว่า การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูโดยมีการควบคุม
“ผู้อำนวยการสถานพินิจ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
“ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม” หมายความว่า ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน
“พนักงานคุมประพฤติ” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และให้หมายความรวมถึงพนักงานคุมประพฤติตามกฎหมายอื่น
“ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรมหรือสถานแนะนำทางจิต เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือเป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ลงโทษ หรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
“คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 5  คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้นในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น
 
มาตรา 6  ให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 7  ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ประกาศ หรือระเบียบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน
กฎกระทรวง ข้อบังคับ ประกาศ หรือระเบียบ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด 2
ศาลเยาวชนและครอบครัว
                 
 
มาตรา 8  ให้จัดตั้ง
(1) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขึ้นในกรุงเทพมหานคร และให้มีเขตอำนาจตลอดกรุงเทพมหานคร
(2) ศาลเยาวชนและครอบครัวขึ้นในทุกจังหวัด และให้มีเขตอำนาจตลอดเขตจังหวัดนั้น
ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใดที่มีศาลจังหวัดมากกว่าหนึ่งศาล หากมีความจำเป็นจะเปิดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดที่ยังมิได้มีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวนั้นอีกก็ได้  ทั้งนี้ จะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกาและให้ระบุเขตอำนาจศาลเดิมหรือแผนกเดิมและแผนกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย
 
มาตรา 9  การจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติซึ่งจะต้องระบุเขตอำนาจของศาลนั้นไว้ด้วย และจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
เมื่อได้จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขึ้นในจังหวัดที่มีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเปิดทำการอยู่แล้ว ให้ถือว่าเป็นการยุบเลิกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวนั้น และให้โอนบรรดาคดีที่ค้างพิจารณาในแผนกดังกล่าวไปพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดที่จัดตั้งขึ้น
 
มาตรา 10  ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ดังต่อไปนี้
(1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
(2) คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง
(3) คดีครอบครัว
(4) คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
(5) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว
 
มาตรา 11  ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด
การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยานแต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว
คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกา ไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาของศาลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
 
มาตรา 12  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ว่าด้วยการโอนคดีในท้องที่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นใดในท้องที่นั้นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไว้พิจารณาพิพากษา
 
มาตรา 13  ในระหว่างการพิจารณาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวแม้จำเลยจะมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์สำหรับคดีอาญา หรือผู้เยาว์จะมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรสสำหรับคดีครอบครัว ให้ศาลนั้นคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จสำนวน และถ้าจะมีอุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว หรือศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้ศาลดังกล่าวคงมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 14  ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อเท็จจริงเรื่องอายุหรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้องผิดไป หรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 12 ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลดังกล่าวไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การดำเนินการในชั้นสอบสวนและการพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป
ถ้าข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลนั้น ๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป
 
มาตรา 15  ในศาลเยาวชนและครอบครัวทุกศาล ให้มีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด
 
มาตรา 16  การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้มีอัธยาศัยและความประพฤติเหมาะสมที่จะปกครองและอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชน และเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว
ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นอื่นด้วยก็ได้
 
มาตรา 17  ในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหนึ่งคน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางสองคน และเลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหนึ่งคนซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนก็ได้
ในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศาลละหนึ่งคน ในกรณีที่มีการจัดตั้งแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในศาลจังหวัดใด ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดนั้นหนึ่งคน และเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีฐานะเช่นเดียวกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด
 
มาตรา 18  เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางว่างลงหรือผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
เมื่อตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสสูงสุดในศาลหรือแผนกนั้นเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสสูงสุดในศาลหรือแผนกนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาศาลใดศาลหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้
 
มาตรา 19  อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้รับผิดชอบงานของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
 
มาตรา 20  ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมอบหมาย
 
มาตรา 21  ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับศาลเยาวชนและครอบครัวที่อยู่ในเขตอำนาจของตน และให้เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานธุรการของศาลเยาวชนและครอบครัวที่อยู่ในเขตอำนาจของตนตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมอบหมาย เมื่อมอบหมายแล้วให้ผู้มอบหมายรายงานไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม
 
มาตรา 22  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
 
มาตรา 23  ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้ส่วนการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งจะต้องทำโดยองค์คณะพิจารณาคดีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องบังคับตามคะแนนเสียงฝ่ายข้างมากของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีนั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวใดจะต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะหรือไม่ให้เป็นไปตามมาตรา 147
 
มาตรา 24  ในคดีซึ่งอยู่ในอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวคนใดคนหนึ่งตามมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เห็นว่าในการพิจารณาคดีนั้นมีเหตุอันสมควรจะสั่งให้ผู้พิพากษาสมทบคนใดคนหนึ่งนั่งพิจารณาร่วมกับตนหรือร่วมกับผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวก็ได้ หรือจะสั่งให้ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวคนใดคนหนึ่งร่วมเป็นองค์คณะด้วยก็ได้ และให้องค์คณะเช่นว่านี้มีอำนาจพิพากษาคดีตามมาตรา 25 หรือมาตรา 26 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
 
มาตรา 25  ผู้พิพากษาสมทบตามมาตรา 15 จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมกำหนดในระเบียบ และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(2) มีหรือเคยมีบุตร หรือเคยอบรมเลี้ยงดูเด็ก หรือเคยทำงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน หรือครอบครัว มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
(3) มีคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เว้นแต่พื้นฐานความรู้ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นผู้พิพากษาสมทบ
(4) มีความสุขุมรอบคอบ ทัศนคติ อัธยาศัย และความประพฤติเหมาะสมแก่การพิจารณาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว
(5) ไม่เป็นข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภาหรือทนายความ
ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ผู้พิพากษาสมทบจะต้องได้รับการอบรมความรู้และผ่านการทดสอบในเรื่องเจตนารมณ์และการพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา การสังคมสงเคราะห์การให้คำปรึกษาแนะนำ และการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตลอดจนหน้าที่ของตุลาการ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในระเบียบประธานศาลฎีกา และจะต้องปฏิญาณตนต่อหน้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งตนจะเข้าสังกัด แล้วแต่กรณี ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความเที่ยงธรรม และรักษาความลับในราชการ
ผู้พิพากษาสมทบให้ดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้ ผู้พิพากษาสมทบที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้พิพากษาสมทบคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่
 
มาตรา 26  ผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา 27  ผู้พิพากษาสมทบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ออกตามวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 25
(5) ขาดการปฏิบัติหน้าที่ตามเวรปฏิบัติการที่กำหนดถึงสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการตุลาการแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
การพ้นจากตำแหน่งตาม (2) หรือ (3) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ถ้าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตาม (4) หรือ (5) ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
 
มาตรา 28  ในกรณีที่ตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระตามมาตรา 27 (1) จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมคัดเลือกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนดำรงตำแหน่งแทน
 
มาตรา 29  ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว แล้วแต่กรณี กำหนดเวรปฏิบัติการของผู้พิพากษาสมทบซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่
ผู้พิพากษาสมทบที่นั่งพิจารณาคดีใด จะต้องพิจารณาคดีนั้นจนเสร็จ เว้นแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้มีอำนาจตามวรรคหนึ่งจัดให้ผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน
ผู้พิพากษาสมทบจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 30  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยสำหรับข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาสมทบด้วยโดยอนุโลม
 
มาตรา 31  ในระหว่างพิจารณาคดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ จิตวิทยา การให้คำปรึกษาแนะนำ การสังคมสงเคราะห์หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น มาให้คำปรึกษาแนะนำและให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพร่างกาย สภาพจิต สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว คู่ความ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญให้ได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พักและค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 32  ให้สถานที่ที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เด็ก เยาวชน บุคคลในครอบครัวคู่ความ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 33  ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีหน้าที่ในการรับจดแจ้งส่วนราชการและองค์การด้านเด็ก เยาวชน สตรี หรือครอบครัว ที่ประสงค์จะปฏิบัติงานด้านแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ด้านการสังคมสงเคราะห์ หรือด้านให้คำปรึกษาแนะนำร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวแห่งท้องที่นั้น ๆ
 
หมวด 3
สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
                 
 
มาตรา 34  สถานพินิจเป็นหน่วยงานในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีผู้อำนวยการสถานพินิจเป็นผู้บังคับบัญชา
ให้อธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการสถานพินิจ
 
มาตรา 35  ให้จัดตั้งสถานพินิจขึ้นในทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
วันเปิดทำการ เขตอำนาจ และการแบ่งแยกกิจการของสถานพินิจออกเป็นสาขาต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
มาตรา 36  ให้สถานพินิจมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นและโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) สืบเสาะและพินิจเรื่องอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต นิสัย อาชีพ และฐานะของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดและของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนนั้น รวมทั้งสาเหตุแห่งการกระทำความผิด เพื่อรายงานต่อศาลหรือเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
(2) ควบคุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี หรือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(3) ดำเนินการและประสานงานร่วมกับหน่วยงานและองค์การอื่นในการสงเคราะห์ แก้ไขและบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนในระหว่างที่ถูกควบคุมหรือภายหลังปล่อย
(4) ดำเนินการและประสานงานร่วมกับหน่วยงานและองค์การอื่นในการตรวจรักษาและพยาบาลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการสอบสวน การพิจารณาคดี หรือการควบคุมตัวในสถานพินิจ
(5) ดำเนินการและประสานงานร่วมกับหน่วยงานและองค์การอื่นในการจัดการศึกษา การฝึกอบรม หรือการดูแลอบรมสั่งสอนเด็กหรือเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุม
(6) สืบเสาะภาวะความเป็นอยู่ของครอบครัวในคดีครอบครัว รวมทั้งจัดให้แพทย์หรือจิตแพทย์ตรวจสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตของคู่ความในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 152
(7) ประมวลและรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งเสนอความเห็นต่อศาลในคดีครอบครัวตามมาตรา 167
(8) ศึกษาค้นคว้าถึงสาเหตุแห่งการกระทำของเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดโดยทั่ว ๆ ไป จัดทำสถิติการกระทำความผิดดังกล่าวของเด็กและเยาวชนและเผยแพร่วิธีป้องกันหรือทำให้การกระทำความผิดนั้นลดน้อยลง
(9) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลซึ่งสั่งตามกฎหมายอื่น
(10) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
 
มาตรา 37  ผู้อำนวยการสถานพินิจมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงตลอดจนการปกครองบังคับบัญชาพนักงานของสถานพินิจนั้น และให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานคุมประพฤติและนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
 
มาตรา 38  รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจเพื่อทำหน้าที่
(1) ให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการสถานพินิจ
(2) ช่วยเหลือกิจการสถานพินิจ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชน
(3) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการสรรหาและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา 39  ให้มีแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ ครู และพนักงานอื่นตามที่จะได้มีกฎกระทรวงระบุตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจตามสมควร
 
มาตรา 40  เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปอยู่ในความดูแลของสถานพินิจ ให้ศาลแจ้งไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว
 
มาตรา 41  ในระหว่างที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้เด็กหรือเยาวชน ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาสามัญ ฝึกอาชีพหรือวิชาชีพ รับบริการด้านสวัสดิการสังคม รับการอบรม หรือปฏิบัติการงานอื่นใดให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย สภาพจิต และสภาพแวดล้อมทางสังคมของบุคคลดังกล่าว  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลัก
(2) ออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัยของเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุม
(3) ลงทัณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แก่เด็กและเยาวชนที่ละเมิดกฎหมาย ประพฤติชั่วหรือกระทำผิดวินัย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) ส่งบุคคลที่อยู่ในความควบคุมซึ่งมิใช่เด็ก ที่มีความประพฤติเสียหายอย่างร้ายแรงอันจะเป็นภัยต่อเด็กหรือเยาวชนอื่นไปควบคุมไว้ในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะหรือเรือนจำโดยได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งอันจะเป็นภัยต่อบุคคลอื่น จะส่งบุคคลดังกล่าวไปยังเรือนจำก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว
(5) อนุญาตให้เด็กหรือเยาวชนออกนอกสถานพินิจเป็นครั้งคราวตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
(6) อนุญาตให้เด็กหรือเยาวชนในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเด็ดขาดแล้วออกไปศึกษาในสถานศึกษาประเภทไปมานอกสถานพินิจ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดและรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วถ้าศาลเห็นว่าการอนุญาตเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
(7) ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ในกรณีที่มีความจำเป็นโดยได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ถ้าศาลเห็นว่าการย้ายเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา 42  ทัณฑ์ที่จะลงแก่เด็กหรือเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ ให้มี ดังต่อไปนี้
(1) เข้าแผนฟื้นฟูพิเศษเพื่อปรับพฤติกรรม
(2) ตัดสิทธิประโยชน์และความสะดวกที่สถานพินิจอำนวยให้บางประการ
 
มาตรา 43  ให้มีคณะกรรมการสหวิชาชีพประจำสถานพินิจ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาชีพด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ สาธารณสุข และการศึกษา ด้านละหนึ่งคนมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้อำนวยการสถานพินิจในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) การจำแนกเด็กและเยาวชน
(2) การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่ละราย
(3) หน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้
คณะกรรมการสหวิชาชีพอย่างน้อยกึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจและในแต่ละสถานพินิจอาจมีคณะกรรมการสหวิชาชีพหลายคณะก็ได้
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการสหวิชาชีพให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสหวิชาชีพที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สถานพินิจ ให้ได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 44  สถานพินิจต้องจัดให้มีการแยกเด็กหรือเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุมดังต่อไปนี้
(1) แยกเด็กหรือเยาวชนหญิงและชายให้มีที่อยู่ต่างหากจากกัน
(2) แยกเด็กหรือเยาวชนตามอายุ พฤติการณ์ และความร้ายแรงของการกระทำความผิด
(3) แยกเด็กหรือเยาวชนซึ่งมีลักษณะที่อาจเป็นภัยต่อเด็กหรือเยาวชนอื่นไว้ต่างหาก
การแยกเด็กหรือเยาวชนในสถานที่อื่นนอกจากที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา 45  ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีหน้าที่รับเด็กหรือเยาวชนเข้ารับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูแบบเช้ามาเย็นกลับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
 
มาตรา 46  ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่รับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในความควบคุม รายงานความประพฤติ สภาพร่างกาย สภาพจิต นิสัย ผลการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและเรื่องอื่น ๆ ที่ศาลต้องการทราบหรือที่เห็นว่าศาลควรทราบต่อศาลไม่น้อยกว่าหกเดือนต่อครั้ง หรือภายในระยะเวลาเร็วกว่านั้นตามที่ศาลสั่ง
 
มาตรา 47  ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นและโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 36 (1) เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหาและบุคคลอื่น
(2) คุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนตามคำสั่งศาล ตลอดจนดูแลอบรมสั่งสอนเด็กหรือเยาวชนซึ่งอยู่ระหว่างคุมประพฤติ
(3) สอดส่องให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติตามที่ศาลกำหนด
(4) ให้คำแนะนำแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยในเรื่องการเลี้ยงดู อบรม และสั่งสอนเด็กหรือเยาวชน
(5) ประมวลและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจะต้องบังคับใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในคดีแพ่งที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย เพื่อรายงานต่อศาลตามที่ผู้อำนวยการสถานพินิจมอบหมาย
(6) ทำรายงานและความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม (1) และ (5) เพื่อเสนอต่อศาลตามที่ผู้อำนวยการสถานพินิจมอบหมาย
(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ศาลสั่งเกี่ยวกับคดีเยาวชนและครอบครัวหรือที่ผู้อำนวยการสถานพินิจมอบหมาย
ให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 48  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 47 ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และสอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในที่นั้น
(2) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งผู้เยาว์อาศัยอยู่ด้วยหรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และสอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในที่นั้นเกี่ยวกับคดีครอบครัว
(3) สอบถามครู อาจารย์ หรือผู้จัดการสถานศึกษาที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดศึกษาหรือเคยศึกษาอยู่ เกี่ยวกับความประพฤติ การศึกษา นิสัยและสติปัญญาของเด็กหรือเยาวชนนั้นและถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้บุคคลเช่นว่านี้ทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วยก็ได้
(4) เรียกบุคคลซึ่งสามารถให้ข้อเท็จจริงมาพบที่สถานพินิจหรือสถานที่อื่นตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดและสาบานหรือปฏิญาณตนและให้ถ้อยคำ
ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปในสถานที่ตาม (1) หรือ (2) ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น พนักงานคุมประพฤติจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาล
 
มาตรา 49  ให้มีผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่อย่างพนักงานคุมประพฤติเพียงเท่าที่อธิบดีได้มอบหมาย
ให้อธิบดีแต่งตั้งและถอดถอนผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 50  ให้นักสังคมสงเคราะห์มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นและโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) แก้ไข บำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนในระหว่างที่ถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจ หรือที่ได้ปล่อยไปแล้ว ตลอดจนให้คำแนะนำ ควบคุมดูแล และอบรมสั่งสอนเด็กหรือเยาวชนนั้น
(2) ให้คำแนะนำแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยเกี่ยวกับการเลี้ยงดู อบรม และสั่งสอนเด็กหรือเยาวชน เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน
(3) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการสืบเสาะภาวะความเป็นอยู่ของครอบครัวและไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทในคดีครอบครัว
(4) ทำรายงานและความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม (1) (2) และ (3) เพื่อเสนอต่อศาลหรือผู้อำนวยการสถานพินิจ
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งผู้อำนวยการสถานพินิจ
 
มาตรา 51  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 50 ให้นักสังคมสงเคราะห์มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และสอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในที่นั้น
(2) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งผู้เยาว์อาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง หรือเข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของคู่ความในคดีครอบครัวหรือของบุคคลซึ่งคู่ความอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และสอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในที่นั้น
(3) เรียกบุคคลซึ่งสามารถให้ข้อเท็จจริงมาพบที่สถานพินิจหรือสถานที่อื่นตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดและสาบานหรือปฏิญาณตนและให้ถ้อยคำ
(4) เรียกคู่ความหรือบุคคลใดมาพบเพื่อไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทในคดีครอบครัว
ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปในสถานที่ตาม (1) หรือ (2) ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น นักสังคมสงเคราะห์จะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาล
 
มาตรา 52  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ และนักสังคมสงเคราะห์ แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา 53  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ครู พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอื่นตามที่กฎกระทรวงระบุตำแหน่ง เพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด 4
ศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม และสถานแนะนำทางจิต
                 
 
มาตรา 54  ศูนย์ฝึกและอบรมเป็นส่วนราชการในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่ผู้อำนวยการสถานพินิจส่งตัวมา
 
มาตรา 55  ให้อธิบดีมีอำนาจออกใบอนุญาตให้ส่วนราชการดำเนินการ หรือให้เอกชนจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน และมีอำนาจควบคุมดูแลสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตที่ได้ออกให้นั้นด้วย
การออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา 56  ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 55 ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
ให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
หมวด 5
การฝึกอบรม
                 
 
มาตรา 57  การฝึกอบรมเด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เข้ารับการฝึกอบรม ให้กระทำโดยสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร
การจัดให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรใด ต้องจัดให้เหมาะสมกับอายุ สภาพร่างกาย สภาพจิต วุฒิภาวะ และประโยชน์ที่เด็กหรือเยาวชนจะได้รับในอนาคต โดยคำนึงถึงความประสงค์ของเด็กหรือเยาวชนประกอบด้วย
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมในสถานที่อื่นตามวรรคหนึ่ง ให้สถานที่ดังกล่าวได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 58  เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม ให้ศาลแจ้งไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมตามที่ศาลกำหนดในคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ในกรณีมีความจำเป็นต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังศูนย์ฝึกและอบรมอื่น ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจส่งไปได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน จะส่งเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปก่อนก็ได้แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ถ้าศาลเห็นว่าการส่งไปเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมในสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตตามที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร ให้ศาลแจ้งไปยังผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
 
มาตรา 59  เด็กหรือเยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสถานที่ที่เข้ารับการฝึกอบรม หากผลการฝึกอบรมก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ หรือได้ทำความชอบเป็นพิเศษ ให้คณะกรรมการสหวิชาชีพเสนอแนะต่อผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษาสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตพิจารณาให้เด็กหรือเยาวชนได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เลื่อนชั้น
(2) ลาเยี่ยมบ้าน
(3) ลดวันฝึกอบรม
(4) พักการฝึกอบรม
การเลื่อนชั้น การลาเยี่ยมบ้าน การลดวันฝึกอบรม และการพักการฝึกอบรมให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด แต่การลดวันฝึกอบรมและการพักการฝึกอบรมจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อเด็กหรือเยาวชนได้รับการฝึกอบรมมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของระยะเวลาการฝึกอบรมตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แล้วรายงานให้ศาลทราบภายในสิบห้าวัน  ทั้งนี้ ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้หากมีเหตุอันสมควร
 
มาตรา 60  เด็กหรือเยาวชนที่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 59 (2) (3) และ (4) ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด หากฝ่าฝืนระเบียบให้ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตมีอำนาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรืองดประโยชน์ที่ได้ให้นั้นแล้วรายงานให้ศาลทราบภายในสิบห้าวัน  ทั้งนี้ ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้หากมีเหตุอันสมควร
 
มาตรา 61  เด็กหรือเยาวชนที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของสถานที่ที่เข้ารับการฝึกอบรม ไม่ตั้งใจรับการฝึกอบรม หลบหนีหรือพยายามหลบหนี หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือขัดต่อความสงบสุขของเด็กหรือเยาวชนอื่น หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่ฝึกและอบรม ให้คณะกรรมการสหวิชาชีพเสนอแนะต่อผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 4 พิจารณาตัดประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ลดชั้น
(2) งดการลาเยี่ยมบ้านเป็นเวลาไม่เกินสองเดือน
(3) ลดการเข้าร่วมกิจกรรมบางประการที่ศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตแห่งนั้นจัดให้
(4) งดหรือเปลี่ยนแปลงประโยชน์ที่ได้รับตามมาตรา 41 (6) และมาตรา 59 (3) และ (4) แล้วรายงานให้ศาลทราบ ศาลอาจพิจารณามีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา 62  เมื่อเด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว หรือเมื่อผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสหวิชาชีพประจำศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต เห็นว่าเด็กหรือเยาวชนได้ประพฤติตนเป็นคนดีและไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ฝึกอบรมอีกต่อไป ให้ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตเสนอรายงานต่อศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อขอให้พิจารณาปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น หรือปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมขั้นต่ำตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล แล้วแต่กรณีได้
ระหว่างการฝึกอบรมถ้าปรากฏเหตุที่เด็กหรือเยาวชนสมควรได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในทางที่เป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชน ให้ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต เสนอรายงานต่อศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนรับการฝึกอบรมเพื่อขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
ในกรณีเด็กหรือเยาวชนที่พ้นการฝึกอบรมแล้วประสงค์เข้ารับการศึกษา ฝึกอาชีพหรือวิชาชีพต่อให้จบหลักสูตร ให้ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม มีอำนาจให้การสงเคราะห์เด็กหรือเยาวชนโดยจัดให้อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรม หรือสถานที่รับการฝึกและอบรมหรือให้เข้ารับการศึกษาหรือฝึกอาชีพหรือวิชาชีพแบบเช้ามาเย็นกลับก็ได้
 
มาตรา 63  ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปฝึกอบรมหรืออยู่ในความดูแลของสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตอื่นนอกจากสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ให้เด็กหรือเยาวชนยังคงมีสิทธิได้รับหรือถูกตัดประโยชน์ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 61 และมาตรา 62 โดยให้ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ดังกล่าวที่รับเด็กหรือเยาวชนไว้ในความควบคุมเป็นผู้ทำรายงานเสนอ และให้ศาลมีคำสั่งตามความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางกำหนด
 
มาตรา 64  ให้นำบทบัญญัติมาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 46 มาใช้บังคับกับสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควรตามมาตรา 57 ที่รับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในความควบคุมโดยอนุโลม  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา 65  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควรตามมาตรา 57 และพนักงานอื่นของสถานที่ดังกล่าวตามที่กฎกระทรวงระบุตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือบุคคลดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด 6
การสอบสวนคดีอาญา
                 
 
มาตรา 66  ห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล
การจับกุมเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
มาตรา 67  การพิจารณาออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด นอกจากต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชนที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง หากการออกหมายจับจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้พยายามเลี่ยงการออกหมายจับ โดยใช้วิธีติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วยวิธีอื่นก่อน
 
มาตรา 68  เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ห้ามมิให้ควบคุม คุมขัง กักขัง คุมความประพฤติ หรือใช้มาตรการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือเป็นจำเลย เว้นแต่มีหมายหรือคำสั่งของศาล หรือเป็นกรณีการคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามมาตรา 69 มาตรา 70 หรือมาตรา 72
 
มาตรา 69  ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ และแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบหากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ แล้วนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว
ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่ด้วยในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ และในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี เจ้าพนักงานผู้จับจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่กับผู้ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทำได้ และหากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
ในการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น รวมทั้งมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น
ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับทำบันทึกการจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ  ทั้งนี้ ห้ามมิให้ถามคำให้การผู้ถูกจับ ถ้าขณะทำบันทึกดังกล่าวมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทำต่อหน้าบุคคลดังกล่าวและจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้ ถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุมมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของเด็กหรือเยาวชน แต่ศาลอาจนำมาฟังเป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้
 
มาตรา 70  เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิดและอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการตามมาตรา 82
การสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
 
มาตรา 71  เมื่อได้สอบถามเบื้องต้นและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 70 แล้ว ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามมาตรา 134 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยอนุโลม
 
มาตรา 72  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที  ทั้งนี้ ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นด้วย
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดมีบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ พนักงานสอบสวนอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแลและสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับ ในกรณีเช่นว่านี้ หากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามควรแก่กรณีก็ได้
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้นำไปใช้บังคับในคดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีอาจเปรียบเทียบปรับได้
 
มาตรา 73  เมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาล ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้ และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนศาลอาจมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการดำเนินคดี โดยกำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานสอบสวนหรือพนักงานคุมประพฤติหรือศาล แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร
ถ้าเยาวชนนั้นมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกินยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่ผู้ดูแลตามวรรคหนึ่งหรือการปล่อยชั่วคราวหากปรากฏต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนมีความจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษา หรือรับคำปรึกษาแนะนำหรือเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดใด ๆ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการเช่นว่านั้นด้วยก็ได้
 
มาตรา 74  ก่อนมีคำสั่งควบคุมหรือคุมขังเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือ ซึ่งเป็นจำเลยทุกครั้ง ให้ศาลสอบถามเด็กหรือเยาวชนหรือที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนนั้นว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงความจำเป็นหรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาไต่สวนเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
ในการพิจารณาออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และการควบคุมหรือคุมขังเด็กหรือเยาวชนให้กระทำเป็นทางเลือกสุดท้าย
 
มาตรา 75  ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนตามวรรคสอง บิดา มารดา ผู้ปกครองบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้
 
มาตรา 76  เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
 
มาตรา 77  ในระหว่างการสอบสวน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอายุของเด็กที่ถูกจับกุมหรือควบคุมให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หากปรากฏภายหลังว่าเด็กนั้นมีอายุไม่เกินสิบปีในขณะกระทำความผิดและเด็กอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือองค์การอื่นใด ให้สถานพินิจหรือองค์การดังกล่าวรายงานให้ศาลทราบ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กและดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในวรรคสองโดยอนุโลม
หากปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าเด็กซึ่งถูกจับกุมหรือควบคุมนั้นในขณะกระทำความผิดอายุไม่เกินสิบปีบริบูรณ์ให้ดำเนินการต่อไปดังนี้
(1) ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าเด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรือพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนมอบตัวเด็กให้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย ในกรณีที่เด็กไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าว ให้ส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในโอกาสแรกที่กระทำได้ แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
(2) ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าเด็กไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ
(3) หากพนักงานอัยการเห็นว่าเด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายดังกล่าว  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
 
มาตรา 78  เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา 70 วรรคหนึ่งให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุมหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
การผัดฟ้องตามวรรคสองและวรรคสาม ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจผัดฟ้องต่อศาลที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นได้
ในการพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง ถ้าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหายังไม่มีที่ปรึกษากฎหมายให้ศาลแต่งตั้งให้เพื่อแถลงข้อคัดค้านหรือซักถามพยาน
 
มาตรา 79  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนผู้ต้องหาหลบหนีจากการควบคุมในระหว่างสอบสวนมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีนั้นรวมเข้าในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 78
 
มาตรา 80  ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 78 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด
 
มาตรา 81  ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน จำต้องควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ต้องหาไว้ก่อนส่งตัวไปศาลตามมาตรา 70 และมาตรา 72 ห้ามมิให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ต้องหานั้นไว้ปะปนกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่ และห้ามมิให้ควบคุมไว้ในห้องขังที่จัดไว้สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่
 
มาตรา 82  เมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจได้รับแจ้งการจับกุมเด็กหรือเยาวชนตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง หรือได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนตามมาตรา 73 แล้ว ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะข้อเท็จจริงตามมาตรา 36 (1) เว้นแต่ในคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นว่าการสืบเสาะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่จำเป็นแก่คดีจะสั่งงดการสืบเสาะข้อเท็จจริงนั้นเสียก็ได้ แล้วให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง
(2) ทำรายงานในคดีที่มีการสืบเสาะเพื่อแสดงถึงข้อเท็จจริงตามมาตรา 36 (1) และแสดงความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน แล้วส่งรายงานและความเห็นนั้นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี และถ้ามีการฟ้องร้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลให้เสนอรายงานและความเห็นนั้นต่อศาลพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย
(3) ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ ให้เด็กหรือเยาวชนได้รับการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(ก) ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
(ข) ให้แพทย์ตรวจสภาพร่างกายและสภาพจิตใจในเบื้องต้น และถ้าเห็นสมควรให้จิตแพทย์ตรวจสภาพจิตด้วย
(ค) ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนเจ็บป่วย ซึ่งควรจะได้รับการรักษาพยาบาลก่อนดำเนินคดี ให้มีอำนาจสั่งให้ได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพินิจหรือสถานพยาบาลอื่นตามที่เห็นสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องด้วย
 
มาตรา 83  เมื่อศาลพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ศาลหักจำนวนวันที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือเรือนจำหรือสถานที่อื่นใดที่ได้รับการมอบหมาย ให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เด็กหรือเยาวชนเข้าตรวจสภาพร่างกายหรือสภาพจิต หรือรับการรักษาพยาบาลหรือแก้ไข บำบัด หรือฟื้นฟูในสถานพยาบาล หรือศาลกำหนดเงื่อนไขระหว่างปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 73 วรรคสี่ ให้ศาลหักจำนวนวันที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวให้แก่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
 
มาตรา 84  เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นไม่ว่าในทางใด ๆ เว้นแต่เป็นการใช้ประกอบดุลพินิจของศาลเพื่อกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน หากมีการฝ่าฝืนให้ศาลสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือเพิกถอนการกระทำนั้น และอาจกำหนดค่าเสียหายหรือบรรเทาผลร้ายหรือมีคำสั่งให้จัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร
เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือเป็นจำเลยที่อยู่ในระหว่างการควบคุมดูแลของบุคคลหรือองค์การใด ๆ จะต้องได้รับการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ และส่งเสริมให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคม รวมทั้งได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีการแสวงหาประโยชน์ การกระทำอันมิชอบ การทรมาน การลงโทษ การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้ารูปแบบอื่น หรือกระทำการใด ๆ ที่มิได้เป็นไปเพื่อฟื้นฟูร่างกายหรือจิตใจหรือเพื่อการกลับคืนสู่สังคม และมีลักษณะที่ขัดต่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ให้ศาลสั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำที่ฝ่าฝืน และกำหนดค่าเสียหายหรือบรรเทาผลร้ายหรือมีคำสั่งให้จัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา 85  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบถามปากคำตามมาตรา 69 และมาตรา 70 หรืออยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดีก็ดี ระหว่างการตรวจสภาพร่างกายหรือสภาพจิตหรือรับการรักษาพยาบาลก็ดี ไม่ให้ถือว่าเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าศาลพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ศาลหักจำนวนวันที่อยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบปากคำ หรืออยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกส่งตัวไปควบคุมไว้เพื่อฝึกอบรมตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหลบหนีไปจากการควบคุมแล้วภายหลังจับตัวมาได้ ให้ศาลชั้นต้นที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง หรือศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนถูกส่งตัวไปควบคุมไว้เพื่อฝึกอบรม มีอำนาจสั่งกำหนดเวลาที่ต้องฝึกอบรมเพิ่มขึ้นตามที่เห็นสมควรแทนการลงโทษอาญาก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าเวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
 
หมวด 7
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
                 
มาตรา 86  ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดีเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพ ฐานะ และเหตุแห่งการกระทำความผิดแล้ว หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติและหากจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กหรือเยาวชนอาจกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติด้วยก็ได้  ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม แล้วเสนอความเห็นประกอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา  ทั้งนี้ การจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย
เมื่อพนักงานอัยการได้รับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจตามวรรคหนึ่งแล้ว หากมีข้อสงสัยอาจสอบถามผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ถ้าพนักงานอัยการ ไม่เห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้สั่งแก้ไขแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือสั่งดำเนินคดีต่อไปและให้ผู้อำนวยการสถานพินิจแจ้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้พนักงานสอบสวนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ หากพนักงานอัยการเห็นว่าแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้พนักงานอัยการเห็นชอบกับแผนดังกล่าว และให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูดังกล่าวได้ทันที พร้อมทั้งให้รายงานให้ศาลทราบ
ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลว่ากระบวนการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร
ศาลต้องมีคำสั่งตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน  ทั้งนี้ ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการของศาลด้วย
แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรานี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย
 
มาตรา 87  ในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจเชิญฝ่ายเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ฝ่ายผู้เสียหาย และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมประชุม และหากเห็นสมควรอาจเชิญผู้แทนชุมชนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด หรือพนักงานอัยการด้วยก็ได้  ทั้งนี้ จะต้องจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้แล้วเสร็จและเสนอให้พนักงานอัยการพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำ
แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชน เว้นแต่เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของเด็กหรือเยาวชนนั้นหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กหรือเยาวชน
แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดให้ว่ากล่าวตักเตือน กำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ และหากจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน อาจกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติด้วยก็ได้ กำหนดให้ชดใช้เยียวยาความเสียหาย กำหนดให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ไม่เกินสามสิบชั่วโมง หรือกำหนดให้นำมาตรการอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมาใช้เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน  ทั้งนี้ ระยะเวลาในการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องไม่เกินหนึ่งปี
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา 88  ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูนั้น หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้พนักงานอัยการทราบและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้พนักงานอัยการทราบ หากพนักงานอัยการเห็นชอบให้มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้น คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการให้เป็นที่สุด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ  ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียที่จะดำเนินคดีส่วนแพ่ง และให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานคำสั่งไม่ฟ้องให้ศาลทราบ
 
มาตรา 89  ในระหว่างจัดทำและปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการงดการสอบปากคำหรือดำเนินการใด ๆ เฉพาะกับเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ก่อน  ทั้งนี้ มิให้นับระยะเวลาในการจัดทำและการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรวมเข้าในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 78
 
มาตรา 90  เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินยี่สิบปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมาก่อน เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ก่อนมีคำพิพากษา หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำและผู้เสียหายยินยอมและโจทก์ไม่คัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร และศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้ และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควรหากนำวิธีจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชนและต่อผู้เสียหายมากกว่าการพิจารณาพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชน บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติ แล้วเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง หากศาลเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ดำเนินการตามนั้นและให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากศาลไม่เห็นชอบ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
 
มาตรา 91  การประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ประสานการประชุม โดยให้มีผู้เข้าร่วมประชุมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87  ทั้งนี้ พนักงานอัยการจะเข้าร่วมประชุมด้วยก็ได้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
 
มาตรา 92  ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ศาลเห็นชอบฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูนั้น ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรายงานให้ศาลทราบและให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรหรือยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป แต่ถ้าปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูครบถ้วนแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรายงานให้ศาลทราบหากศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และมีคำสั่งในเรื่องของกลาง โดยให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ  ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียที่จะดำเนินคดีส่วนแพ่ง
 
มาตรา 93  ในกรณีที่การจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูไม่สำเร็จและต้องดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อไปห้ามมิให้นำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ได้มาจากการประชุมเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 และมาตรา 91 มาใช้อ้างต่อศาล
 
มาตรา 94  ให้ผู้เข้าร่วมประชุมในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 หรือแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 และมาตรา 132 ได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
หมวด 8
อำนาจศาลเกี่ยวกับคดีอาญา
                 
 
มาตรา 95  คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้
 
มาตรา 96  ถ้าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาร่วมกับบุคคลซึ่งมิใช่เด็กหรือเยาวชนให้แยกฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนร่วมกับบุคคลซึ่งมิใช่เด็กหรือเยาวชนต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา แต่ต่อมาความปรากฏแก่ศาลนั้นว่าจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนและถ้าศาลเห็นสมควร ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดามีอำนาจโอนคดีเด็กหรือเยาวชนไปพิจารณายังศาลเยาวชนและครอบครัวตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 95 แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรโอนคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดามีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้แก่จำเลยที่เป็นเด็กหรือเยาวชนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ไม่ทำให้การดำเนินการในชั้นสอบสวนและการพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาดังกล่าวเสียไป
 
มาตรา 97  เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกินยี่สิบปีบริบูรณ์กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจและให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน
คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือในระหว่างการพิจารณา เด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้
 
มาตรา 98  ในกรณีที่มีการโอนคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวไปยังศาลอื่นตามมาตรา 26 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะโอนคดีไปยังศาลอื่นที่ใช้วิธีพิจารณาคดีต่างกับศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้
 
หมวด 9
การฟ้องคดีอาญา
                 
 
มาตรา 99  ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
เมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจได้รับการร้องขอของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาตามวรรคหนึ่งแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการสืบสวนและสอบสวนว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลสมควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่ แล้วแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าอนุญาตให้ฟ้องหรือไม่อนุญาตให้ฟ้อง
ในกรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่อนุญาตให้ฟ้อง ผู้เสียหายจะร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตก็ได้ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจมาสอบถามแล้วสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลให้เป็นที่สุด
เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับรับฟ้องของผู้เสียหายแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการตามมาตรา 82 ตามควรแก่กรณี
 
มาตรา 100  ก่อนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิด ให้ศาลแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจทราบก่อน ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามมาตรา 86 แล้ว เห็นว่าเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน สมควรให้มีการคุมความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนนั้น ก็ให้เสนอความเห็นต่อศาล ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนได้และให้นำมาตรา 138 และมาตรา 139 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 101  ในท้องที่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการแล้ว ให้อัยการสูงสุดแต่งตั้งพนักงานอัยการคนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็นเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดและจะต้องฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว
 
หมวด 10
การพิจารณาคดีอาญา                  
 
มาตรา 102  ถ้าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นเป็นการสมควรที่จะควบคุมเด็กหรือเยาวชนไว้ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนไว้ยังสถานพินิจหรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร
ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ปกครองสถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนมีหน้าที่จัดส่งตัวเด็กหรือเยาวชนมายังศาลตามคำสั่งศาล
 
มาตรา 103  ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กในระหว่างเวลาที่จำเป็นต้องควบคุมเด็กนั้นไว้เพื่อการพิจารณาคดี เว้นแต่ในคดีที่มีข้อหาว่าเด็กกระทำความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินสิบปี
 
มาตรา 104  เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้รับฟ้องคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ และบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยทราบถึงวันและเวลานั่งพิจารณาของศาลโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรศาลจะเรียกให้บุคคลดังกล่าวมาฟังการพิจารณาด้วยก็ได้
ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้รับฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลตามมาตรา 80 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการตามมาตรา 82 ตามควรแก่กรณี
 
มาตรา 105  เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้รับฟ้องคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดแล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว แล้วแต่กรณี จะเป็นเจ้าของสำนวนหรือจะให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลนั้นเป็นเจ้าของสำนวนก็ได้
 
มาตรา 106  ไม่ว่าเวลาใดก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นสมควรให้มีอำนาจเรียกจำเลยไปสอบถามเป็นการเฉพาะตัวเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาและสาเหตุแห่งการกระทำความผิด บุคลิกลักษณะ ท่วงที วาจา และข้อเท็จจริงตามมาตรา 115 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น  ทั้งนี้ ให้กระทำในห้องที่เหมาะสมซึ่งมิใช่ห้องพิจารณาคดี โดยอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาสมทบกระทำการแทนได้
 
มาตรา 107 การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลยให้กระทำในห้องที่มิใช่ห้องพิจารณาคดีธรรมดา แต่ถ้าไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ ให้พิจารณาคดีในห้องสำหรับพิจารณาคดีธรรมดา แต่ต้องไม่ปะปนกับการพิจารณาคดีธรรมดา
 
มาตรา 108 การพิจารณาคดีในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวให้กระทำเป็นการลับ และเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้นมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ซึ่งได้แก่
(1) จำเลย ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย และผู้ควบคุมตัวจำเลย
(2) บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย
(3) พนักงานศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
(4) โจทก์ และทนายโจทก์
(5) พยาน ผู้ชำนาญการพิเศษ และล่าม
(6) พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นของสถานพินิจ
(7) บุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควรอนุญาต
 
มาตรา 109  ถ้าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นว่าจำเลยไม่ควรฟังคำให้การของพยานในตอนหนึ่งตอนใด ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยออกไปนอกห้องพิจารณาได้ แต่เมื่อศาลสั่งให้จำเลยกลับเข้ามาฟังการพิจารณา ให้ศาลแจ้งข้อความที่พยานเบิกความไปแล้วให้จำเลยทราบเท่าที่ศาลเห็นสมควร
 
มาตรา 110  ในการพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ถ้าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นสมควรที่จะพูดกับจำเลยโดยเฉพาะ หรือเห็นว่าบุคคลบางคนไม่ควรอยู่ในห้องพิจารณา ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลทั้งหมดหรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าไม่ควรอยู่ในห้องพิจารณาออกไปนอกห้องพิจารณาได้
 
มาตรา 111  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องมาเป็นพยานเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับจำเลยได้
 
มาตรา 112  ในการพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย เมื่อศาลเห็นเองหรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบเกี่ยวแก่ตัวเด็กหรือเยาวชน กระทำทารุณกรรม หรือกระทำการอันมีลักษณะเกื้อหนุนให้เด็กหรือเยาวชนประพฤติตนเสียหาย หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงได้ หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เป็นเวลาไม่เกินสองปี แต่ต้องไม่เกินกว่าเยาวชนนั้นบรรลุนิติภาวะและตั้งบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะหรือครอบครัวอุปถัมภ์หรือผู้แทนองค์การด้านเด็กที่ยอมรับเด็กหรือเยาวชนนั้นไว้ในความปกครองดูแลเป็นผู้ปกครองชั่วคราว หรือจะตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในเขตอำนาจเป็นผู้ปกครองเด็กหรือเยาวชนนั้นชั่วคราว หรือสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ผู้ปกครองชั่วคราวที่ศาลตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่ การอบรมสั่งสอน การคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือการให้การอุปการะเลี้ยงดูแก่เด็กหรือเยาวชนตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการใช้อำนาจปกครองและการตั้งผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่การตั้งผู้ปกครองชั่วคราวโดยอนุโลม
 
มาตรา 113  เมื่อครบระยะเวลาการตั้งผู้ปกครองชั่วคราวตามมาตรา 112 ให้ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองกลับมีอำนาจหน้าที่ดังเดิม เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
ถ้าผู้ถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองตามมาตรา 112 เห็นว่าเหตุดังกล่าวสิ้นไปแล้ว เมื่อตนเองหรือญาติของเด็กหรือเยาวชนหรือบุคคลหรือครอบครัวอุปถัมภ์ หรือผู้อำนวยการสถานพินิจร้องขอ ศาลจะสั่งให้ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองมีอำนาจดังเดิมก็ได้
การที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองบางส่วนตามมาตรา 112 ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนตามกฎหมาย
 
มาตรา 114  การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด และให้ใช้ถ้อยคำที่จำเลยสามารถเข้าใจได้ง่ายกับต้องให้โอกาสจำเลยรวมทั้งบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้อง แถลงข้อเท็จจริง ความรู้สึก และความคิดเห็นตลอดจนระบุและซักถามพยานได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนั้น
 
มาตรา 115  ในการพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวถือว่าประวัติ อายุ เพศ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต นิสัย อาชีพ และฐานะของจำเลย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับจำเลย และของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วย
 
มาตรา 116  ในกรณีที่ไม่มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงตามมาตรา 82 (1) ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจสืบเสาะข้อเท็จจริงข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดตามมาตรา 36 (1) และทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นตามมาตรา 82 (2) เสนอต่อศาลก็ได้
 
มาตรา 117  ในกรณีที่ได้มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงตามมาตรา 36 (1) หรือมาตรา 116 แล้ว ถ้าศาลเห็นว่ารายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามมาตรา 115 ยังมีข้อที่ควรสืบเสาะเพิ่มเติม ก็ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจสืบเสาะข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาลได้
 
มาตรา 118  การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะรับฟังรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามมาตรา 115 ที่มิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบรายงานนั้นก็ได้ แต่ถ้าศาลจะรับฟังรายงานเช่นว่านั้นให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยแล้ว ให้ศาลแจ้งข้อความตามรายงานนั้นให้จำเลยทราบในกรณีเช่นว่านี้จำเลยมีสิทธิที่จะแถลงคัดค้านและสืบพยานหักล้างได้
 
มาตรา 119  ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษและในการพิพากษาคดีนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคน ๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกัน
 
มาตรา 120  ในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะมีทนายความแก้คดีแทนไม่ได้ แต่ให้จำเลยมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกับทนายความได้ ในกรณีที่จำเลยไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้
 
มาตรา 121  ที่ปรึกษากฎหมายตามมาตรา 120 ต้องมีคุณสมบัติเป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความและผ่านการอบรมเรื่องวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา การสังคมสงเคราะห์ และความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
 
มาตรา 122  ศาลเยาวชนและครอบครัวทุกศาลอาจรับจดแจ้งผู้ที่ประสงค์จะเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวก็ได้
การจดแจ้งตามวรรคหนึ่ง และการลบชื่อออกจากบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
 
มาตรา 123  ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้ง ให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 124  ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจวางระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมายในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
 
มาตรา 125  ถ้าปรากฏแก่ศาลว่าที่ปรึกษากฎหมายซึ่งจำเลยหรือศาลแต่งตั้งนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือจำเลยในคดีใด ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนเสีย
 
มาตรา 126  ในระหว่างที่เด็กหรือเยาวชนถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจหรือสถานที่อื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ถ้าศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ หรือจะมอบตัวเด็กหรือเยาวชนแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งมอบตัวเด็กหรือเยาวชนแก่บุคคลหรือองค์การดังกล่าว ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ปกครองสถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน แล้วแต่กรณี มาสอบถามความเห็นก่อน
ในกรณีที่ความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี ให้ศาลสอบถามความเห็นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ประกอบการพิจารณาปล่อยชั่วคราว เว้นแต่ไม่อาจสอบถามได้โดยมีเหตุอันสมควรศาลจะงดการสอบถามเสียก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้
ถ้าบุคคลหรือองค์การที่รับมอบตัวเด็กหรือเยาวชนไว้จากศาล แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่าไม่สามารถจะอบรมดูแลเด็กหรือเยาวชนต่อไปได้ และขอมอบตัวเด็กหรือเยาวชนต่อศาล ก็ให้ศาลส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมไว้ในสถานพินิจหรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร
 
มาตรา 127  ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถมาฟังการพิจารณา ถ้าศาลเห็นสมควรศาลจะสั่งให้สืบพยานในข้อที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ลับหลังจำเลยได้แต่ทั้งนี้ ต้องกระทำต่อหน้าที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยนั้น
 
มาตรา 128  การให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนมาศาล ถ้าศาลได้มอบตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไว้กับบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือบุคคลหรือองค์การอื่นตามมาตรา 73 หรือมาตรา 126 ให้ศาลออกหมายเรียกให้เด็กหรือเยาวชนนั้นมาศาล ถ้าได้ส่งหมายเรียกให้บุคคลดังกล่าวรับไว้แล้ว ให้ถือว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นได้รับหมายเรียกแล้ว ให้บุคคลซึ่งได้รับหมายเรียกส่งตัวเด็กหรือเยาวชนมาศาลตามหมายเรียก ถ้าไม่ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นมาโดยจงใจหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลเช่นว่านั้นชำระเงินจำนวนไม่เกินห้าพันบาทแก่ศาลภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 129  ในการควบคุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยมาหรือไปจากศาลหรือในระหว่างควบคุมตัวไว้ก่อนนำเข้าห้องพิจารณา ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากศาลห้ามมิให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนนั้นปะปนกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่
 
มาตรา 130  ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาโดยได้รับอนุญาตจากศาลหรือการกระทำที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
 
หมวด 11
การพิพากษาคดีอาญา
                 
 
มาตรา 131  ในกรณีที่ได้มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงตามมาตรา 36 (1) ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานและความเห็นจากผู้อำนวยการสถานพินิจตามมาตรา 82 (2) หรือมาตรา 116 หรือมาตรา 117 แล้ว และถ้าผู้อำนวยการสถานพินิจขอแถลงเพิ่มเติมด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือให้ศาลรับไว้ประกอบการพิจารณาด้วย
 
มาตรา 132  ในกรณีที่ศาลเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษาหรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอ เมื่อศาลสอบถามผู้เสียหายแล้วศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ โดยกำหนดเงื่อนไข เช่น ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือเจ้าพนักงานอื่นหรือบุคคลใดหรือองค์การด้านเด็ก เข้ารับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรับคำปรึกษาแนะนำ เข้าร่วมกิจกรรมบำบัดหรือกิจกรรมทางเลือก หรือให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยเข้าร่วมกิจกรรม หรือรับคำปรึกษาแนะนำด้วยก็ได้
ในกรณีศาลเห็นว่าจำเลยไม่สมควรใช้วิธีการตามวรรคหนึ่ง ศาลจะส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจหรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควรที่ยินยอมรับตัวจำเลยไว้ดูแลชั่วคราวหรือจะให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งตามวรรคหนึ่ง ตลอดจนวิธีการประเมินสภาพปัญหาการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู การเตรียมความพร้อมเพื่อมอบตัวจำเลยให้บิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
 
มาตรา 133  เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 132 แล้ว ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย เว้นแต่คำสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ
ถ้าจำเลยผิดเงื่อนไขตามมาตรา 132 ก็ให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาต่อไป
 
มาตรา 134  ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดซึ่งเป็นองค์คณะเป็นประธาน และให้ประธานของที่ประชุมนั้นถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อน
 
มาตรา 135  การอ่านคำพิพากษาให้กระทำเป็นการลับ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 108 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ ให้ศาลเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยมาฟังคำพิพากษาด้วย
 
มาตรา 136  ในการโฆษณาไม่ว่าด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ห้ามมิให้ระบุชื่อ หรือแสดงข้อความ หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันจะทำให้รู้จักตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
 
มาตรา 137  เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วและต่อมาความปรากฏต่อศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือปรากฏจากคำร้องของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 115 หรือมาตรา 119 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งหรือซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่เห็นว่า มีเหตุอันสมควรก็ให้มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ ในกรณีที่ศาลที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้แจ้งศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งทราบ และถ้าโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่กำหนดภายหลังหนักกว่าโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่เด็กและเยาวชนนั้นได้รับอยู่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นได้
ในคดีที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ซึ่งเป็นจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในวรรคหนึ่ง
 
มาตรา 138  ในกรณีที่ศาลพิพากษาปล่อยเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำให้กระทำผิดและเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนนั้น ศาลจะว่ากล่าวตักเตือนเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือองค์การที่รับเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนก็ได้ ถ้าจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วย ก็ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อไว้ในคำพิพากษาเท่าที่จำเป็น ดังต่อไปนี้
(1) ห้ามมิให้เด็กหรือเยาวชนเข้าไปในสถานที่หรือท้องที่ใดอันอาจชักนำให้เด็กหรือเยาวชนนั้นกระทำผิด
(2) ห้ามมิให้เด็กหรือเยาวชนออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
(3) ห้ามมิให้เด็กหรือเยาวชนคบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจชักนำไปสู่การกระทำผิด
(4) ห้ามมิให้เด็กหรือเยาวชนประพฤติตนอันอาจนำไปสู่การกระทำผิด
(5) ให้เด็กหรือเยาวชนไปรายงานตัวต่อศาล พนักงานคุมประพฤติ หรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นครั้งคราว
(6) ให้เด็กหรือเยาวชนไปศึกษา เข้ารับการฝึกอบรม รับคำปรึกษาแนะนำ รับการรักษาแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ประกอบสัมมาชีพ หรือให้เด็กหรือเยาวชนเข้ารับการอบรมศีลธรรม จริยธรรมและหน้าที่พลเมือง
(7) ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือบุคคลหรือองค์การที่รับเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนนั้น กระทำหรือห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนตามที่ศาลกำหนด
(8) กำหนดเงื่อนไขอื่นใดเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน
ในการกำหนดเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลกำหนดระยะเวลาที่จะให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วยเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามวรรคหนึ่งนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏจากรายงานของบุคคลตามมาตรา 139 วรรคหนึ่ง ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวแก่การกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดหรือทุกข้อก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมก็ได้
 
มาตรา 139  เมื่อศาลได้กำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 138 แล้ว ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่จะสอดส่องและทำรายงานเสนอต่อศาล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกเด็กหรือเยาวชนนั้นและบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือองค์การที่รับเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนมาตักเตือน แต่ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวเมื่อบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าวยินยอมหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปแก้ไขบำบัดฟื้นฟูในสถานที่ตามที่ศาลเห็นสมควรเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
 
มาตรา 140  ภายใต้บังคับมาตรา 143 ในกรณีที่จะมีการปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ครบตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดหรือตามที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 137 ถ้ามีเหตุอันสมควรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนก่อนปล่อยตัวไป เมื่อศาลเห็นเองหรือผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ปกครองสถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรมร้องขอ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในมาตรา 138 ได้ ถ้าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 138 วรรคสองและวรรคสามและมาตรา 139 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 141  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดี อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว แล้วแต่กรณี มีอำนาจตรวจสถานพินิจ สถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 สถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หรือเรือนจำ เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน หรือคู่ความในคดีครอบครัวหรือคดีคุ้มครองสวัสดิภาพซึ่งถูกส่งตัวไปควบคุม ฝึกอบรม แก้ไขบำบัดฟื้นฟู หรือรับคำปรึกษาแนะนำในสถานที่ดังกล่าว
 
หมวด 12
การเปลี่ยนโทษและการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
                 
มาตรา 142  ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ ดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร ตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
(2) เปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ โดยจะกำหนดเงื่อนไขข้อเดียวหรือหลายข้อตามมาตรา 138 ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 138 วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา 139 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ศาลได้พิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าควรจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนตาม (1) ต่อไปอีกหลังจากที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ศาลระบุในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนด
 
มาตรา 143  การส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร ถ้าศาลได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ ศาลจะปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปในระหว่างระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงนั้นก็ได้ในกรณีดังกล่าวศาลจะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติตามมาตรา 138 ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าได้กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติไว้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 138 วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา 139 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกเด็กหรือเยาวชนนั้นและบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือองค์การที่รับเลี้ยงเด็กหรือเยาวชนมาตักเตือน แต่ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว เมื่อบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าวยินยอมหรือศาลเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานพินิจ สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตแห่งหนึ่งแห่งใด และระยะเวลาที่จะฝึกอบรมนั้นต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่เหลืออยู่
 
มาตรา 144  คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาว่ามีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษไว้แต่รอการลงโทษเด็กหรือเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ แม้ว่า
(1) เด็กหรือเยาวชนนั้นได้เคยรับโทษจำคุกหรือโทษอย่างอื่นตามคำพิพากษามาก่อนแล้ว
(2) โทษที่จะลงแก่เด็กหรือเยาวชนเป็นโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก
(3) ศาลจะกำหนดโทษจำคุกเกินกว่าสามปี
 
มาตรา 145  ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตามถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและศาลเห็นสมควร ตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีมีการชำระค่าปรับ หากเด็กหรือเยาวชนได้ถูกควบคุมตัวมาบ้างแล้ว ให้คิดหักระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวออกจากค่าปรับที่จะต้องชำระตามอัตราที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด 13
การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว
                 
มาตรา 146  การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวนั้นไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เพื่อการนี้ให้ศาลคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้เพื่อประกอบดุลพินิจด้วย คือ
(1) การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชายและหญิงที่สมัครใจเข้ามาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ
(2) การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่บุตรที่เป็นผู้เยาว์
(3) การคุ้มครองสิทธิของบุตรและส่งเสริมสวัสดิภาพของบุตร และ
(4) หามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสามีภริยาให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับบุตร

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9117/2557)
 
มาตรา 147  ในการกำหนดองค์คณะตามมาตรา 23 ถ้าศาลเห็นว่าคดีครอบครัวใดที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาเป็นคดีที่ผู้เยาว์ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียก่อนเริ่มพิจารณาคดีให้ศาลสอบถามคู่ความว่าประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่ ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วย ให้ผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคนเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีได้
ในระหว่างการพิจารณาของศาลที่ไม่มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลว่าคดีนั้นเป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ให้ศาลกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบตามมาตรา 23 เป็นองค์คณะ แต่ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปแล้ว
ในกรณีจำเป็นต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ จิตวิทยา การให้คำปรึกษา แนะนำการสังคมสงเคราะห์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นศาลอาจเรียกบุคคลดังกล่าวมาร่วมปรึกษาหารือหรือให้ความเห็นตามมาตรา 31 ก็ได้
 
มาตรา 148  คดีครอบครัวที่มีข้อพิพาท ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความในคดีครอบครัวได้ประนีประนอมกัน  ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการไกล่เกลี่ยและการรายงานผล ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ประนีประนอมกันในคดีครอบครัวศาลอาจมอบหมายให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความ ทนายความของคู่ความ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือบุคคลหรือหน่วยงานที่ศาลเห็นสมควร ให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวที่ศาลตั้งตามวรรคหนึ่งก็ได้ และในคดีครอบครัวที่มีผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้องและจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ ศาลจะเรียกพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กมาร่วมในการไกล่เกลี่ยด้วยก็ได้
เมื่อผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวตามวรรคหนึ่งได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้วให้รายงานผลการไกล่เกลี่ยประนีประนอมต่อศาล ในกรณีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมเป็นผลสำเร็จ ให้ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นแล้วรายงานศาล หรือจะนัดหรือขอให้ศาลเรียกคู่ความมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นหรือศาลจะยังไม่พิพากษาแต่กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้คู่ความทดลองปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนก็ได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจปกครองหรือการอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ถ้าคดีครอบครัวนั้นผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียให้ศาลคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์เป็นสำคัญ
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียและมิได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์ ให้ศาลปฏิเสธการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว ให้นำบทบัญญัติมาตรา 146 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 149  ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีหน้าที่รับจดทะเบียนผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว
ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์
(2) มีคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เว้นแต่ในเรื่องพื้นความรู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
(3) มีอัธยาศัย บุคลิกภาพ และความประพฤติเหมาะสมแก่การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว
(4) ได้รับการอบรมและฝึกปฏิบัติจนสามารถผ่านการทดสอบในเรื่องเจตนารมณ์ของศาลเยาวชนและครอบครัว การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว และวิธีการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว
การจดทะเบียนหรือลบชื่อออกจากทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
 
มาตรา 150  ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและรักษาความลับที่ตนล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดตามคำแนะนำที่ประธานศาลฎีกากำหนด
ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 151  ถ้าคู่ความไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ หรือลักษณะของคดีไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ ให้ศาลสั่งยุติการไกล่เกลี่ยแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
บันทึกหรือถ้อยคำสำนวนในชั้นไกล่เกลี่ยจะนำมารับฟังในชั้นพิจารณาไม่ได้
 
มาตรา 152  ในกรณีที่ศาลเห็นว่าจำเป็นเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรที่เป็นผู้เยาว์ในระหว่างการไกล่เกลี่ยหรือพิจารณาคดี ศาลอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา ดำเนินการสืบเสาะภาวะความเป็นอยู่ของครอบครัวเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทหรือเมื่อเห็นเป็นการสมควรและคู่ความได้ยินยอมแล้ว จะสั่งให้แพทย์หรือจิตแพทย์ตรวจสภาพร่างกายหรือสภาพจิตของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้
 
มาตรา 153  เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยจะให้มีทนายความอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้
ในการโฆษณา ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นหนังสือ เผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อสารสนเทศหรือโดยวิธีการอื่นใดซึ่งคำคู่ความ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ใด ๆ ในคดี หรือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีครอบครัวหรือการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว ห้ามมิให้แพร่ภาพ แพร่เสียง ระบุชื่อหรือแสดงข้อความหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันอาจทำให้รู้จักตัวคู่ความหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือถูกกล่าวถึงในคดี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
 
มาตรา 154  ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพนั้น สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 286 (1) (2) และ (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จำนวนบุพการี และผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย
ในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานศาล เจ้าพนักงานอื่นหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการ โดยค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีให้ได้รับการยกเว้น
 
มาตรา 155  ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม
 
มาตรา 156  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดไปยังคู่ความในคดีครอบครัวให้ส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยเจ้าพนักงานศาล หรือศาลจะกำหนดให้ส่งโดยวิธีอื่น
 
มาตรา 157  ในการฟ้องคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียหรือฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์หรือผู้ร้องอาจยื่นคำฟ้องหรือคำร้องเป็นหนังสือหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลก็ได้ ถ้ามาแถลงข้อหาด้วยวาจาให้ศาลมีอำนาจสอบถามตามที่จำเป็นแล้วบันทึกรายการแห่งข้อหาเหล่านั้น อ่านให้โจทก์หรือผู้ร้องฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้
โจทก์หรือผู้ร้องตามวรรคหนึ่งจะมอบอำนาจให้บุคคลหรือองค์การใดดำเนินคดีแทนหรือบุคคลหรือองค์การใดจะขออนุญาตต่อศาลดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ก็ได้
 
มาตรา 158  ในกรณีคู่ความไม่มีทนายความ จะขอให้ศาลแต่งตั้งให้ก็ได้ทนายความซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 159  ในคดีครอบครัวให้ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องสินสมรส ค่าทดแทน ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยาและการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือวิธีการใด ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของคู่ความหรือบุตรได้ตามความจำเป็นและสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี
ในกรณีจำเป็นเพื่อสงเคราะห์ผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ไม่ว่าจะมีคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลที่ปกครองดูแลผู้เยาว์นั้นร้องขอหรือไม่ ศาลมีอำนาจสั่งให้กองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้เยาว์ดังกล่าวตามความจำเป็นระหว่างการไกล่เกลี่ยหรือการพิจารณาคดีก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
 
มาตรา 160  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี  ทั้งนี้ ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น
ให้แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสั่งตามมาตรานี้ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 161  เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำบังคับที่ไม่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 159 หากความปรากฏต่อศาลเองหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้แทนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลว่าคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับแต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
 
มาตรา 162  ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไข หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา
เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพร้องต่อศาลว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเรียกตัวมาสอบถาม หากปรากฏเป็นความจริงให้ศาลว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาลตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าลูกหนี้จะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพมาชำระหรือวางศาล แต่ห้ามมิให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
 
มาตรา 163  ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าศาลเห็นสมควรอาจสั่งให้แพทย์หรือจิตแพทย์ตรวจพิเคราะห์ทางกายหรือทางจิตบุคคลที่ขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นจัดทำรายงานสภาพครอบครัว สภาวะความเป็นอยู่หรือสัมพันธภาพระหว่างผู้ไร้ความสามารถกับผู้ขอเป็นผู้อนุบาลแล้วรายงานศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคดี
ในกรณีศาลมีคำสั่งตั้งผู้อนุบาลถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ ศาลจะมีคำสั่งตั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้อำนาจของผู้อนุบาลเกี่ยวแก่ตัวผู้ไร้ความสามารถหรือทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูและการรักษาพยาบาลผู้ไร้ความสามารถก็ได้แล้วให้เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งรายงานให้ศาลทราบตามระยะเวลาที่เห็นสมควรหรือตามที่ศาลสั่ง แล้วแต่กรณี
ให้แพทย์ จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นที่ศาลสั่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 164  ในคดีที่ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับผู้ใช้อำนาจปกครองหรือร้องขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ ถ้าศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งหรือกำหนดเงื่อนไขเป็นการชั่วคราวให้ผู้จะใช้อำนาจปกครองหรือผู้ที่จะเป็นผู้ปกครองทดลองปกครองเลี้ยงดูผู้เยาว์นั้นเป็นการชั่วคราวก่อนเป็นระยะเวลาไม่เกินหกเดือนก็ได้ และให้ศาลสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นเป็นผู้กำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูผู้เยาว์แล้วรายงานให้ศาลทราบตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
ในการพิจารณารายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาหรือเจ้าพนักงานอื่นตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบุคคลดังกล่าวมาแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ที่จะใช้อำนาจปกครองหรือจะเป็นผู้ปกครองมีความเหมาะสมให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี
 
หมวด 14
การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย                  
 
มาตรา 165  ในคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียนอกจากการพิจารณาพิพากษาคดีจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวด 13 แล้ว ยังอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ด้วย
 
มาตรา 166  การดำเนินคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามกฎหมายอื่น
 
มาตรา 167  เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้รับคำฟ้องหรือคำร้องขอใด ๆ ในคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ให้ศาลแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจทราบ
เมื่อได้รับแจ้งจากศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจประมวลและรายงานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว สวัสดิภาพ ความประสงค์หรือประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์และข้อเท็จจริงอื่นและเสนอความเห็นต่อศาลโดยไม่ชักช้า เมื่อศาลได้รับความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจแล้ว ให้ศาลแจ้งความเห็นนั้นให้คู่ความทราบ คู่ความมีสิทธิที่จะแถลงคัดค้านและนำสืบหักล้างได้
 
มาตรา 168  ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ให้ศาลฟังความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจ เมื่อได้รับความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจแล้ว ให้ศาลแจ้งความเห็นนั้นให้คู่ความทราบ ในกรณีเช่นว่านี้คู่ความมีสิทธิที่จะแถลงคัดค้านและนำสืบหักล้างได้
 
มาตรา 169  ศาลมีอำนาจตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจเป็นผู้กำกับการปกครอง และให้ผู้กำกับการปกครองมีอำนาจหน้าที่สอดส่องว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ได้ใช้อำนาจปกครองเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์หรือไม่ และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่ศาลมอบหมาย รวมทั้งรวบรวมและรายงานข้อเท็จจริงและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับการปกครองต่อศาลเป็นครั้งคราวหรือภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาลของผู้เยาว์ซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือผู้พิทักษ์ของผู้เยาว์ซึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยอนุโลม
ในระหว่างการกำกับการปกครองตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หากผู้อยู่ใต้การกำกับการปกครองเห็นว่าการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้กำกับการปกครองไม่เป็นไปเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ หรือตามที่ศาลมอบหมาย ผู้อยู่ใต้การกำกับการปกครองอาจร้องต่อศาลที่สั่งตั้งผู้กำกับการปกครองภายในกำหนดสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขการกระทำหรือสั่งยืน กลับ หรือแก้ไขคำวินิจฉัยของผู้กำกับการปกครองหรือสั่งการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา 170  ในกรณีที่ศาลจะตั้งผู้ปกครองของผู้เยาว์ ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดา มารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์สิ้นสุดลง หรือมีเหตุจะถอนผู้ปกครองของผู้เยาว์ และศาลเห็นว่าไม่มีผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ ศาลจะตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจหรือครอบครัวอุปถัมภ์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือบุคคลอื่นใด เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์หรือผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ก็ได้
 
หมวด 15
การพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
                  
มาตรา 171  ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ  ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นสำคัญ
 
มาตรา 172  ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ตนมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนาหรือศาลที่มูลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้
ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอตามวรรคหนึ่งได้ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายจะกระทำการแทนก็ได้
 
มาตรา 173  เมื่อศาลได้รับคำร้องขอตามมาตรา 172 แล้ว ให้ทำการไต่สวนโดยมิชักช้าและไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัดในระหว่างการไต่สวนถ้าศาลเห็นว่าผู้ร้องขอไม่ควรเผชิญหน้ากับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำด้วยความรุนแรง ศาลอาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกนอกห้องพิจารณาหรือใช้วิธีการอื่นใดเพื่อลดการเผชิญหน้า และให้นำบทบัญญัติมาตรา 108 และมาตรา 111 มาใช้บังคับแก่การไต่สวนโดยอนุโลม
 
มาตรา 174  ในกรณีปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาเสพสุราหรือสิ่งมึนเมา เข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง ใช้หรือครอบครองทรัพย์สินหรือกระทำการใดอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวเป็นระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าหกเดือน และศาลอาจกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับคำปรึกษาแนะนำจากศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานตามที่ศาลกำหนด
ในกรณีศาลสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นติดตามกำกับให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามคำสั่งและรายงานให้ศาลทราบตามระยะเวลาที่เห็นสมควรและจะสั่งให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาศาลเพื่อสอบถามความเป็นไปหรือการปฏิบัติตามคำสั่งศาลก็ได้
คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด แต่ถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมได้
 
มาตรา 175  เมื่อศาลเห็นว่าผู้ร้องมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ บำบัดรักษา ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องเข้ารับคำปรึกษาแนะนำหรือเข้ารับการอบรมหรือบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูจากศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานหรือองค์การ ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือครอบครัวตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
ในกรณีศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 174 วรรคหนึ่ง ให้ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำสถานพยาบาล หน่วยงาน หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือครอบครัวได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา 176  ให้ศาลแจ้งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ผู้ถูกกล่าวหามีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในเขตอำนาจเพื่อทราบ
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยไม่มีเหตุอันสมควรศาลมีอำนาจออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหามาขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งแต่ไม่เกินกว่าหนึ่งเดือนถ้าผู้ถูกกล่าวหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราวก็ได้
 
มาตรา 177  เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพครบถ้วนแล้ว คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นอันสิ้นสุด
ก่อนครบระยะเวลาตามเงื่อนไขหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการคุ้มครองสวัสดิภาพได้
 
มาตรา 178  ในระหว่างมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่อีกฝ่ายตามที่เห็นสมควรได้ ในกรณีไม่มีการจดทะเบียนสมรสให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นตามสมควรแก่ฐานะให้แก่ผู้เสียหายหรือสมาชิกในครอบครัวได้
 
มาตรา 179  ในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กให้เด็กหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นร้องขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามหมวดนี้ได้ โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 155 มาตรา 156 มาตรา 172 มาตรา 173 มาตรา 174 มาตรา 176 มาตรา 177 และมาตรา 178 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
หมวด 16
อุทธรณ์                  
 
มาตรา 180  คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดให้ใช้วิธีการตามมาตรา 74 (1) และ (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 142 เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี
(3) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 143 เว้นแต่การฝึกอบรมนั้นมีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกินสามปี
 
มาตรา 181  ในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 180 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคและอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป
 
มาตรา 182  ให้ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาคจัดตั้งแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคแผนกเดียวหรือหลายแผนกตามความจำเป็นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่มีอุทธรณ์จากศาลเยาวชนและครอบครัว
 
หมวด 17
ฎีกา
                 
 มาตรา 183  คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180
 
มาตรา 184  ให้ประธานศาลฎีกาจัดตั้งแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในศาลฎีกาแผนกเดียวหรือหลายแผนกตามความจำเป็น เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่มีฎีกาจากศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
 
หมวด 18
บทกำหนดโทษ                  
 
มาตรา 185  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้และได้รู้ความลับของผู้อื่นเพราะการปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ กระทำการโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น โดยประการที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา 186  ผู้ใดช่วยเหลือหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เด็กหรือเยาวชนหลบหนีไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งควบคุมไว้ระหว่างสอบสวน ระหว่างพิจารณาคดี หรือเพื่อฝึกอบรมตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา 187  ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ตามมาตรา 48 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 51 (1) หรือ (2) ขัดขืนไม่ยอมให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ หรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปในสถานที่ดังกล่าวในระหว่างเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 หรือมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา 188  ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือเป็นผู้อยู่ในสถานที่ตามมาตรา 48 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 51 (1) หรือ (2) ไม่ยอมตอบคำถามของผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ หรือนักสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา 189  ผู้ใดเป็นครู อาจารย์ หรือผู้จัดการสถานศึกษาตามมาตรา 48 (3) ไม่ยอมตอบคำถามของผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ หรือผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา 190  ผู้ใดเป็นครู อาจารย์ หรือผู้จัดการสถานศึกษาไม่ยอมทำรายงานตามมาตรา 48 (3) หรือทำรายงานเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา 191  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ หรือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 48 (4) หรือมาตรา 51 (3) แล้วแต่กรณี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา 192  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 130 มาตรา 136 หรือมาตรา 153 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
บทเฉพาะกาล                  
 
มาตรา 193  ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวได้ต่อไป
 
มาตรา 194  ให้สถานพินิจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 เป็นสถานพินิจตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 195  ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวไปเป็นของศาลเยาวชนและครอบครัวและของเจ้าหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา 196  ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับราชการของสถานพินิจที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจดังกล่าวไปเป็นของสถานพินิจ หรือของเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา 197  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และเงินงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับศาลเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง
 
มาตรา 198  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และเงินงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับสถานพินิจที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของสถานพินิจตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 199  ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด และผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด และผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาอาวุโส ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบในแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาอาวุโส ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
ให้ผู้พิพากษาสมทบตามวรรคหนึ่งและวรรคสองดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ  ทั้งนี้ ไม่ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาสมทบดังกล่าวเป็นวาระการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 25 วรรคสาม
 
มาตรา 200  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นใดอ้างถึงศาลเยาวชนและครอบครัว และสถานพินิจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงศาลเยาวชนและครอบครัวและสถานพินิจตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา 201  ให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา 202  ให้แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเปิดทำการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด โดยมีเขตอำนาจเช่นเดียวกับแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวดังกล่าว และให้ยุบเลิกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวนั้น แล้วให้โอนบรรดาคดีที่ค้างการพิจารณาในแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวไปพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นแทน
ให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวไปเป็นของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดที่จัดตั้งขึ้น
 
มาตรา 203  ให้กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ พนักงานสังคมสงเคราะห์ และผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ผู้อำนวยการสถานพินิจ พนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา 204  ให้สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม และสถานแนะนำทางจิตที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสถานศึกษา สถานฝึกและอบรมและสถานแนะนำทางจิตที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา 205  ในวาระเริ่มแรกมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 121 มาใช้บังคับภายในสองปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ โดยในระหว่างนั้นให้นำบทบัญญัติมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
 
มาตรา 206  พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบถึงการดำเนินคดีใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินคดีใดที่ยังมิได้กระทำจนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ แต่ยังอยู่ในกำหนดเวลาที่อาจกระทำได้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินคดีนั้นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันได้มีการแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม โดยมีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และโครงสร้างใหม่ ประกอบกับสมควรปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 




พระราชบัญญัติ ต่าง ๆ

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478
พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติโรงรับจำนำพ.ศ. 2505
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม