ReadyPlanet.com


ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายและชื่อเสียง


การที่ฝ่ายชายซื้อแหวนหมั้นให้ฝ่ายหญิง แล้วพูดว่า "ผมจองคุณแล้วนะ" โดยการหมั้นไม่ได้จัดทำพิธีตามประเพณี แต่มีบุคคลอื่นรับทราบถึงการซื้อแหวนหมั้นนี้ด้วย จะถือว่าเป็นการหมั้นหรือไม่ และสัญญาหมั้นมีผลสมบูรณ์หรือไม่

เมื่อฝ่ายหญิงมั่นใจว่าจะได้มีการสมรสแน่นอนจึงยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดวันสมรสตามสัญญาคู่หมั้นเลื่อนการสมรสออกไปโดยไม่มีกำหนด

ต่อมาฝ่ายชายได้ไปสมรสกับหญิงอื่น ถามว่า สิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงเกิดขึ้นเมื่อใด และมีกำหนดอายุความเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายอย่างไร

 



ผู้ตั้งกระทู้ ไม่มีขันหมาก :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-14 19:43:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1950547)

การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็ตาม ก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง

หากพฤติการณ์เห็นว่าหลังจากการเลื่อนการสมรสไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่จึงแสดงว่าทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์ที่จะสมรสกันในภายหน้า ฝ่ายชายจึงยังไม่ผิดสัญญาหมั้น

ต่อมาเมื่อฝ่ายชายไปสมรสกับหญิงอื่น แสดงว่าฝ่ายชายไม่ประสงค์จะสมรสกับหญิงคู่หมั้น ฝ่ายชายจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นนับแต่ได้สมรสกับหญิงอื่นนั้น สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดแต่กายและชื่อเสียงจึงเริ่มแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ฝ่ายหญิงต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญาหมั้น มิฉะนั้นขาดอายุความ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-14 21:01:45


ความคิดเห็นที่ 2 (1950549)

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยทำสัญญาหมั้นกับโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วงแก่โจทก์ เป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับโจทก์ หลังจากโจทก์กับจำเลยหมั้นกันแล้ว โจทก์เชื่อว่าโจทก์และจำเลยจะได้สมรสกัน โจทก์จึงยอมให้จำเลยมีความสัมพันธ์กับโจทก์ถึงขั้นร่วมประเวณีกัน และแสดงออกจนเพื่อนบ้านและบุคคลทั่วไปในบริเวณที่พักเข้าใจว่าโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์และจำเลยกำหนดจะจัดพิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 แต่กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป ต่อมาจำเลยผิดสัญญาหมั้นไปสมรสกับหญิงอื่นเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2539 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงโดยโจทก์มีญาติพี่น้องและครอบครัวที่มีเกียรติยศ โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาโท รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 สถาบัน...เป็นอาจารย์พิเศษในโรงเรียนนายร้อย.. อาจารย์พิเศษคณะพัฒนาสังคม สถาบัน... และมีตำแหน่งหน้าที่พิเศษอีกมากมาย โจทก์คิดค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงเป็นเงิน 2,000,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยหมั้นกับโจทก์ โจทก์ซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรตามฟ้องให้แก่ตนเอง จำเลยไม่เคยสัญญาว่าจะจัดพิธีสมรสกับโจทก์กำหนดการพิธีมงคลสมรส โจทก์กำหนดขึ้นเองและบังคับให้จำเลยทำการสมรส แต่โจทก์ยกเลิกกำหนดการดังกล่าว มิใช่เลื่อนออกไป โจทก์กับจำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย หากจำเลยผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายค่าเสียหายก็ไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีเกิน 6 เดือนนับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์กำหนดจะทำการสมรสกับจำเลย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ทำการหมั้น วันเวลาและสถานที่ที่จะทำการสมรส รวมทั้งรายละเอียดความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมอีกทั้งโจทก์ไม่บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยต่างทำงานอยู่ที่สถาบัน...ด้วยกัน และรู้จักกันตั้งแต่ปี 2523 เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยร่วมไปกับโจทก์เพื่อซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วง ราคา 4,000 บาท ซึ่งแหวนวงดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ต่อมามีการกำหนดการสมรสกันในวันที่ 11พฤศจิกายน 2537 แต่เมื่อถึงกำหนดโจทก์จำเลยมิได้มีการสมรสกันตามกำหนดดังกล่าว ต่อมาจำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยตกลงหมั้นโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชรให้แก่โจทก์ 1 วง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับโจทก์ต่อไปในอนาคต กำหนดจัดพิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่มีการเลื่อนไป จนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกลับเข้าสู่พิธีสมรสกับหญิงอื่นเป็นการผิดสัญญาหมั้น โจทก์เชื่อว่าจำเลยจะทำการสมรสกับโจทก์ในอนาคตจึงยอมให้โจทก์มีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณีการที่จำเลยผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยหมั้นโจทก์และผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ในปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยเป็นคนรักกัน จำเลยขอหมั้นโจทก์โดยจำเลยพาโจทก์ไปซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชร แล้วมอบให้โจทก์ที่ร้านที่ซื้อ จำเลยพูดว่า "ผมจองคุณแล้วนะ ผมเป็นเจ้าของคุณแล้วนะ"การหมั้นมิได้จัดทำพิธีตามประเพณีเนื่องจากจำเลยอ้างว่ายังตกลงกับมารดาของจำเลยยังไม่ได้ หลังจากนั้นก็มีการกำหนดวันทำพิธีสมรสจำเลยได้มาสู่ขอโจทก์กับมารดาโจทก์ มีการจองสถานที่จัดงานทำพิธีสมรสที่ภัตตาคารบ้านคุณหลวง พิมพ์บัตรเชิญงานสมรสปรากฏตามเอกสารหมายจ.8 จ.9 จ.5 และ จ.6 ในการที่จะจัดทำพิธีสมรสครั้งนี้ จำเลยไปเรียนเชิญศาสตราจารย์ปุระชัย ... ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี   ขณะนั้นให้เป็นเจ้าภาพและประธานในพิธีมารดาโจทก์นำบัตรเชิญงานสมรสไปแจกให้แก่บรรดาญาติของโจทก์แต่เมื่อถึงกำหนดวันจัดงานทำพิธีสมรส จำเลยขอเลื่อนออกไปโดยบอกกับโจทก์ว่า มารดาจำเลยไม่สบาย แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539  จำเลยทำการสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์  ซึ่งโจทก์มีศาสตราจารย์ปุระชัย มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าจำเลยมาพบพยานและแจ้งความประสงค์ว่าจะขอให้พยานเป็นเจ้าภาพในพิธีสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยอ้างว่าจะไม่มีปัญหากับทางญาติผู้ใหญ่ของจำเลย ในที่สุดเมื่อพูดคุยกันแล้วพยานก็ไม่ขัดข้องที่จะเป็นเจ้าภาพให้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาววิมลรัตน์ ซึ่งเป็นน้องสาวโจทก์มาเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากโจทก์และจำเลยหมั้นกันแล้ว จำเลยมาที่บ้านโจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์หยิบแหวนหมั้นออกมาให้บุคคลในครอบครัวของโจทก์ดู โดยจำเลยพูดว่าหมั้นกับโจทก์แล้วจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมานำสืบประกอบกัน อีกทั้งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยไปบอกกับบิดามารดาของจำเลยว่าจะจัดงานพิธีมงคลสมรสกับโจทก์ประมาณเดือนกันยายน 2537 และนางอารีย์  มารดาจำเลยซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยมาที่บ้านของจำเลยเพื่อขออนุญาตจัดพิธีสมรส แต่พยานไม่อนุญาต ซึ่งคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า เมื่อมีการหมั้นกันแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยก็เตรียมที่จะจัดงานสมรสกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักที่จะรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ก็ดี ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสก็ดี รวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรสก็ดี ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็ตาม ก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมีการหมั้นระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว จำเลยกลับไปสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในปัญหานี้เห็นว่า โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11พฤศจิกายน 2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรสในเรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของศาสตราจารย์ปุระชัยว่าได้สอบถามจำเลยแล้วจำเลยบอกขอเลื่อนเนื่องจากมารดาจำเลยป่วยไม่อยากให้มารดาจำเลยสะเทือนใจ และจำเลยยืนยันว่ายังรักโจทก์อยู่ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยเพียงแต่ขอเลื่อนไปเพื่อไปทำความเข้าใจกับมารดาของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยก็ยังมีความสัมพันธ์กันเหมือนเดิมจึงเห็นได้ว่าแม้จะมิได้มีการสมรสกันในวันที่กำหนด แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไปเท่านั้น โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1447/1 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000 บาทแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายสำหรับโจทก์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่เกิน 200,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า200,000 บาท ทั้งที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใดในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าหลังจากมีการหมั้นกันแล้ว โจทก์มีความมั่นใจว่าจะได้สมรสกับจำเลยจึงยอมให้จำเลยมีเพศสัมพันธ์มาตลอด โจทก์มีการศึกษาระดับปริญญาโทและเป็นข้าราชการระดับ 6 เป็นอาจารย์พิเศษคณะพัฒนาสังคม  และเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ การที่จำเลยทอดทิ้งโจทก์ไปสมรสกับหญิงอื่นเช่นนี้ทำให้บุคคลอื่นมองว่าโจทก์ประพฤติไม่ดี ถูกตั้งข้อรังเกียจหากโจทก์จะทำการสมรสใหม่ และถูกมองว่าโจทก์เป็นเพียงนางบำเรอของจำเลยเท่านั้นเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล และฐานทางสังคมของโจทก์อีกทั้งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของโจทก์อีกด้วยซึ่งจำเลยนำสืบหักล้างในข้อนี้ไม่ได้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สุเมธ ตังคจิวางกูร - สมพล สัตยาอภิธาน - วิชา มหาคุณ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-14 21:09:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล