ReadyPlanet.com


มีสิทธิ์ได้รับมรดกหรือไม่


ผมอยากขอคำปรึกษาหน่อยครับ คือตายายของผมมีลูก 9 คน ผมเป็นลูกคนที่ 2 ของตายายคือแม่ของผม แต่ท่านไม่สมประกอบ ตอนที่ผมเกิดตายายเลยให้ใช้นามสกุลของตาและยายและในทะเบียนบ้านผมก็เป็นลูกของตายายว่าเป็นพ่อและแม่ แต่ตอนนี้ตายายของผมได้ตายไปแล้วโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผมมีสิทจะได้รับมรดกหรือไม่ในกรณีที่ตายายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกไว้ให้ใคร และแม่ที่แท้จริงของผมก็ตายไปพร้อมกับตายาย ผมมีสิทธิ์จะได้รับมรดกของแม่ของผมด้วยหรือไม่ และมีลูกของตายายบางคนบอกว่า ผมไม่มีสิทธิ์ได้มรดกของตายาย โดยจะไม่แบ่งให้ เขาอ้างว่าตายายไม่ใช่พ่อแม่ตัวจริงเดี๋ยวเค้าสืบไปก็รู้ แต่ผมสงสัยว่าผมมีสิทธิจะเรียกร้องทางใดๆตามกกหมายได้บ้างครับและถ้าเขาไม่ให้จะทำยังไงดีครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ํธีรพล :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-08 07:35:13


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2151903)

ในทะเบียนบ้านผมก็เป็นลูกของตายายว่าเป็นพ่อและแม่ (ข้อเท็จจริงจะดูสับสนนิด ๆ ก็ตรงที่เม่ไม่สมประกอบ)

พอเข้าใจได้ว่า ตากับยายแจ้งเกิดเป็นบุตรของตนเอง ซึ่งความจริงแล้วเป็นหลานคือบุตรของลูกสาว ต่อมาแม่+ตา+ยาย เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ มรดกของผู้เสียชีวิตตกได้แก่ผู้ใดอย่างไร

ปัญหานี้เคยมีคำพิพากษาที่เทียบเคียงเรื่องการสมอ้างว่าเป็นบุตรเช่นเดียวกับกรณีของคุณ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเมื่อไม่ใช่บุตรที่แท้จริงจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของพ่อแม่ในสูติบัตร (ตา+ยาย) แต่ในกรณีของคุณเนื่องจากมารดาที่แท้จริงของคุณเป็นบุตราของ ตา+ยาย และแม่คุณมีสิทธิรับมรดกของ ตา+ยายในฐานะทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกับบุตรคนอื่น ๆ ดังนั้นทางออกก็คือ คุณต้องร้องต่อศาลว่าคุณเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่แท้จริงของแม่ (ทายาทโดยธรรมของตา+ยาย) เพื่อที่จะเข้ารับมรดกแทนที่ของแม่นั่นเอง) (หมายเหตุ  ถ้าแทนที่ไม่ได้ก็สืบสิทธิได้ แต่นักกฎหมายบางท่านบอกว่าตายพร้อมกันรับมรดกแทนที่ได้) คุณควรรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์เพื่อพิสูจน์ว่าแม่ที่แท้จริงของคุณคือบุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกของ ตา+ยาย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-08 21:52:09


ความคิดเห็นที่ 2 (2151905)

บทความที่เกี่ยวข้อง

บิดาในสูติบัตร กับการรับมรดก

รับสมอ้างว่าเป็นบุตรโดยการแจ้งการเกิดในสูติบัตรว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรของตนและภริยา แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กดังกล่าวเป็นบุตรของมารดาที่เป็นชาวกัมพูชาและบิดาเป็นคนไทย ซึ่งมีตัวตนที่แน่นอน ในกรณีอย่างนี้ทางเด็กจะฟ้องทายาทที่แท้จริงเพื่อขอแบ่งมรดกไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของเจ้ามรดกที่รับสมอ้างเป็นบิดาโดยการแจ้งเกิดในสูติบัตร และไม่เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (บิดาในสูติบัตร)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4791/2542


          บทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของร.และอ.ซึ่งมีตัวตนแน่นอนส.และสค. ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่ ส.ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส. จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส. จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่ ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งปันทรัพย์มรดกให้โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน316,500 บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วน
                         จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
                                 โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
                                   โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสมพรและนางสมคิดเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส นายชายเป็นบุตรของนายสมพรและนางสมคิด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 นายสมพรไปแจ้งการเกิดในสูติบัตรว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมพรและนางสมคิด จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของนายชายอันเกิดจากนางเกษรและนางบุญยงค์ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายชายได้รับรองแล้ว นายชายถึงแก่ความตายก่อนนายสมพร ส่วนนางสมคิดถึงแก่ความตายหลังนายสมพร ตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 นายสมพรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2538 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 4 แปลง และอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง หลังจากนายสมพรและนางสมคิดถึงแก่ความตายแล้วนางเพิ่มยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งนางเพิ่มเป็นผู้ปกครองของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางเพิ่มเป็นผู้ปกครองของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าสูติบัตรตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งออกโดยผู้ช่วยนายทะเบียนตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นกำนันท้องที่ที่รับแจ้งเป็นเอกสารราชการมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและรับฟังยันจำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น เห็นว่า สูติบัตรเอกสารหมาย จ.10ซึ่งนางสายใจ สุทธิวารี ปลัดอำเภอ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มาเบิกความว่านางสายใจเป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเอกสารดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.10 ลำดับ 4.4 ระบุว่านายสมพร รำไพ เป็นผู้แจ้งการเกิด แต่ไม่เคยเห็นลายมือชื่อนายสมพรจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นลายมือชื่อของนายสมพรหรือไม่ ส่วนตามเอกสารหมาย ล.1ในช่องลายมือชื่อ นายสมพร รำไพ เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อนายสมพร รำไพ ในเอกสารหมาย จ.10 น่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ตามเอกสารหมาย จ.10 ลำดับ 5 ระบุว่าแจ้งเกิดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 ส่วนเอกสารหมาย ล.1 ระบุว่าสั่งไว้ ณ (สั่งไว้นะ) วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และตอนท้ายของเอกสารหมาย ล.1 ระบุว่าข้าพเจ้าในนามนายสมพร รำไพ สั่งไว้นะ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เมื่อได้พิเคราะห์เอกสารดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวแม้จะไม่ใช่พินัยกรรมแต่ข้อความเป็นการระบุบอกไว้ได้ความชัดเจนว่า นายสมพร มีทายาทชั้นบุตรเพียงคนเดียวชื่อนายชายหรือสมชาย รำไพ และมีผู้มาอาศัยฝากรับให้ใช้นามสกุลรำไพนี้หนึ่งคน บิดาเป็นไทยมารดาเป็นคนกัมพูชา เมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ นายสมพรจึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทนโดยระบุว่าเป็นบิดา จากข้อความตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นการยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรโดยแท้จริงของนายสมพรและนางสมคิด แต่เป็นบุตรของนายสุรินทร์และนางอ้อน นางอ้อนเป็นคนกัมพูชาอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อโจทก์เกิดจึงไปแจ้งเกิดไม่ได้เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าว ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนนายสมพรจึงรับสมอ้างและไปแจ้งการเกิดต่อผู้ช่วยนายทะเบียนตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสมพรและนางสมคิด การที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสมพรและนางสมคิด ที่บิดารับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมามีเพียงคำเบิกความของนางเพิ่ม บุญตูบ ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความลอย ๆอ้างว่า ขณะที่นายสมพรและนางสมคิดยังมีชีวิตอยู่ได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูโดยให้การศึกษาแก่โจทก์ ให้ใช้นามสกุล เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอ ไม่มีน้ำหนักรับฟังให้เชื่อว่าโจทก์เป็นบุตรที่แท้จริงของนายสมพรและนางสมคิดแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าตามเอกสารหมาย จ.10 เป็นเอกสารที่นายสมพรไปแจ้งการเกิดของโจทก์ในสูติบัตรหรือทะเบียนการเกิดว่าเป็นบุตรของนายสมพรและนางสมคิดดังกล่าวเท่ากับเป็นการรับรองแล้วว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมพรและนางสมคิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวหมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสุรินทร์และนางอ้อนซึ่งมีตัวตนแน่นอน นายสมพรและนางสมคิดไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่นายสมพรได้ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 นั้น เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 ซึ่งกรณีตามฎีกาของโจทก์ข้อเท็จจริงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของนายสมพรกรณีจึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้วทั้งไม่ใช่ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายสมพรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายสมพรผู้ตายและไม่มีอำนาจฟ้องดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-08 21:54:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล