ReadyPlanet.com


อายุสัญญาเงินกู้


 เรียน สำนักงานกฎหมายพีศิริ ทนายความ

สวัสดีครับ ผมมีเรื่องขอถามดังนี้ครับ

 

ข้อ 1. การทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยในสัญญากู้เงิน เขียนไว้ว่า นาย ก. ได้กู้เงินจาก นาย ข . เป็นจำนวนเงิน 50,000บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) โดยในสัญญาเงินกู้เขียนไว้ว่าให้ นาย ก. ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเดือนละ 2,000บาท(สองพันบาท) โดยเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.53 (และวันที่กู้ในสัญญาเงินกู้ ลงวันที่ 1 เม.ย.53 ครบกำหนดสัญญาเงินกู้ 31 มี.ค. 54)

แต่วันนี้ 6 ก.ค. 54  นาย ก. ผู้กู้ไม่ได้ชำระเงินกู้ให้นาย ข. แม้แต่บาทเดียว ขอถามว่านาย ข.จะทำอย่างไรครับ เพราะสัญญาเงินกู้หมดอายุแล้ว?

ข้อ 2. จากคำถามถ้า นาย ก. บอกว่าได้ชำระหนี้เงินกู้เรียบร้อยตามสัญญาเงินกู้(ตามข้อ 1) แบบนี้นาย ข. จะทำอย่างไรครับ?

ขอขอบคุณมากครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ สมชาย :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-06 13:52:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2194633)

ตามคำถามที่ผู้ถามเข้าใจว่าสัญญากู้หมดอายุแล้วนั้นเป็นความเข้าใจผิดครับ เพราะตามสัญญาเงินกู้ข้างต้นเป็นการตกลงกันเรื่องเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มาตรา 193/33 มีกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดในงวด นั้น ๆ เช่น งวดแรกตกลงผ่อนชำระกันในวันที่ 1 เมษยน 2553 แต่ผู้กู้ผิดนัด ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ในวันที่ 2 เมษยน 2553 จึงมีอายุความฟ้องร้องให้ชำระหนี้ในงวดวันที่ 1 เมษยน 2553 ได้ ถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 ครับ

มาตรา 193/33    สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าลูกหนี้อ้างว่าชำระแล้วจะทำอย่างไร ในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดไว้ว่า การอ้างว่าได้ชดใช้เงินแล้วต้องมีใบรับเงินจากผู้ให้กู้ หรือขอสัญญาเงินกู้คืน หรือทำเครื่องหมายว่าสัญญากู้ได้ยกเลิกกันแล้ว เป็นต้น

มาตรา 653    การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 


ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-10 21:43:07


ความคิดเห็นที่ 2 (2194635)

 หมายเหตุ  

          สัญญากู้ยืมเงินก่อให้เกิดหนี้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่จะต้องคืนเงินต้นที่กู้ยืมไปแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ถ้าตกลงให้คืนเงินต้นทั้งหมดในคราวเดียวโดยมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอนจะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2660/2545) ถ้าตกลงให้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ โดยกำหนดจำนวนงวดไว้หรือกำหนดเวลาชำระเสร็จไว้ หรือไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1887/2541)

           ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระไม่ว่ากรณีใดมีอายุความ 5 ปี เสมอตามมาตรา 193/33 (1) มิใช่กรณีตาม 193/33 (2) ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยรวมกันไปกับการชำระเงินต้นซึ่งเป็นเงินทุน เพราะดอกเบี้ยมิใช่เงินทุนแต่อย่างใด
        
           ไพโรจน์ วายุภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  134/2551
          สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยสัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) (มาตรา 166 เดิม) มิใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว แต่ไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดครั้งแรกเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยในสัญญากู้ยืมนั้น ได้มีข้อตกลงผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ปรากฏว่าให้ผ่อนชำระกันเป็นระยะเวลาเท่าใด หรือกี่งวด ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักฐานฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนั้นได้มีข้อตกลงในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจึงถือได้ว่า เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงิน เพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปีตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) (มาตรา 166 เดิม) แล้ว หาใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 21:47:46


ความคิดเห็นที่ 3 (2194640)


 เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับจากมีสิทธิเรียกร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) บัญญัติอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องไว้เพียงกรณีเดียวเฉพาะเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  902/2547

          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันกู้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ โดยผ่อนชำระคืนเป็นรายวันการที่จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับจากมีสิทธิเรียกร้อง ซึ่งตามมาตรา 193/33(2) บัญญัติอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องไว้เพียงกรณีเดียวเฉพาะเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ เช่นนี้ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวได้แสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่า สิทธิเรียกร้องตามหนังสือสัญญากู้ยืมที่โจทก์นำมาฟ้องขาดอายุความเมื่อใดและเพราะเหตุใด คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าคดีขาดอายุความหรือไม่

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 และวันที่ 24 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 15,000 บาท และ14,000 บาท ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่กู้ยืมเงินไปจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลยดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ยืมถึงวันฟ้องสำหรับกู้ครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 12,118.75 บาท ครั้งที่ 2 เป็นเงินจำนวน 12,093.75บาท และครั้งที่ 3 เป็นเงินจำนวน 10,675 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน78,887.50 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 44,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์สองครั้งแรกเพียงครั้งละ 10,000 บาท ส่วนที่เกินเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดบวกเข้าไป ส่วนสัญญากู้ฉบับที่สามเป็นต้นเงินเพียง 8,000 บาท อีก 6,000 บาท เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดที่โจทก์บวกเข้าไป เป็นต้นเงิน จำเลยได้ผ่อนชำระเงินตามสัญญากู้ทั้งสามฉบับให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่คืนสัญญากู้ให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเกิน 5 ปี นับจากมีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 44,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 กรกฎาคม 2544) ย้อนหลังไป 5 ปี และถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 500 บาท

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากคำให้การของจำเลยไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนที่เป็นต้นเงินขาดอายุความเมื่อใด เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันกู้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ ซึ่งปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึง 4 กำหนดให้จำเลยผ่อนชำระคืนเป็นรายวัน การที่จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับจากมีสิทธิเรียกร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) บัญญัติอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องไว้เพียงกรณีเดียวเฉพาะเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ เช่นนี้ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวได้แสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่า สิทธิเรียกร้องตามหนังสือสัญญากู้ยืมที่โจทก์นำมาฟ้องขาดอายุความเมื่อใดและเพราะเหตุใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาเรื่องอายุความตามคำให้การของจำเลย จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ"

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 21:55:55


ความคิดเห็นที่ 4 (2194642)

 สัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุกคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9842/2542

 การนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามฟ้อง ไม่เป็นการนำสืบแตกต่างจากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ

 โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลัก การที่จำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่บิดาจำเลยและเครือญาติมีต่อโจทก์โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับก่อให้เกิดหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยมีความผูกพันต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จำเลยจะอ้างว่าไม่ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินไม่สมบูรณ์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้

  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ธนาคารโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงิน 9,531,658.55 บาท โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีและยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งแนบสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยคำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงสิทธิของโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

โจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุกคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 คือ วันที่ 26 กันยายน 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2540 จึงพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี

  แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่ทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ระบุว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยจะมาติดต่อแต่ได้รับอุบัติเหตุ จำเลยขอผ่อนผันการชำระหนี้ 2 เดือน และจะขายทรัพย์สินชำระหนี้แก่โจทก์กับขอให้โจทก์ลดดอกเบี้ยแก่จำเลย กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ เพราะการรับสภาพหนี้ตามพาณิชย์ มาตรา 193/14 ต้องเป็นเรื่องรับสภาพกันภายในกำหนดอายุความ แต่การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้

 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87 ประกอบด้วยมาตรา 83 ที่บัญญัติให้โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาคดี ก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก แต่ถ้าทนายความจำเลยเป็นผู้แถลงขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านและทายาทยินยอมเข้ามาแก้คดีแทน ก็ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายอีก และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย แต่จำเลยได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87บัญญัติให้กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย หมายถึงบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ หากปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้ล้มละลายได้ เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้เนื่องจากจำเลยไม่มีสภาพเป็นบุคคล ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

     โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย

 จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ หนี้ที่โจทก์ฟ้องไม่มีมูลหนี้ โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หนี้ในส่วนดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใดและมีจำนวนเท่าใดกับไม่มีรายละเอียดในการคิดดอกเบี้ย ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม และเมื่อรายการส่วนดอกเบี้ยไม่ถูกต้องยอดหนี้ตามคำฟ้องจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินขาดอายุความ หนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534ไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ จำเลยไม่มีเจ้าหนี้อื่นอีกและมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย ทนายความจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกทายาทจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทน นางกิ่งกาญจน์คณานุรักษ์ ภริยาของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

 จำเลยอุทธรณ์

  ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

  จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่ไม่ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจึงไม่สมบูรณ์ จะรับฟังว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ สัญญากู้ยืมเงินจึงสมบูรณ์ และบังคับได้ตามกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบในชั้นพิจารณา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องนั้นเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2528 เป็นเงิน 9,531,658.55 บาทและจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ครบถ้วน แต่โจทก์ก็นำสืบว่า เดิมนายดิเรกคณานุรักษ์ บิดาจำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 9,547,467.80 บาท เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอรับผิดชำระหนี้แทน และต่อมาจำเลยทำบันทึกข้อตกลงประนอมหนี้และรับผิดใช้หนี้สินตามเอกสารหมายจ.17 และ จ.18 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยรวมหนี้ของบิดาจำเลยและเครือญาติเข้าด้วยกันเป็นเงิน 9,531,658.55 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.9ดังนี้เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามฟ้องไม่เป็นการนำสืบแตกต่างจากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญเพราะโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักซึ่งมีจำนวนหนี้เท่านั้น การที่จำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่บิดาจำเลยและเครือญาติมีต่อโจทก์โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ทำให้หนี้เดิมระงับก่อให้เกิดหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยมีความผูกพันต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.9 จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินไม่สมบูรณ์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้

 ที่จำเลยฎีกาข้อสองว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้นเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงิน 9,531,658.55บาท โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งแนบสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย คำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงสิทธิของโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม

   ที่จำเลยฎีกาข้อสามว่า หนี้ตามฟ้องมีกำหนดอายุความ 5 ปี มิใช่มีกำหนดอายุความ 10 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์เป็นเงิน 9,531,658.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยตกลงชำระหนี้ตามสัญญาให้ครบถ้วนภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2536 โดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 25 กันยายน 2528 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.9ข้อ 3 ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 คือ วันที่ 26 กันยายน 2528โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 จึงพ้นกำหนดอายุความ5 ปี แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่ทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ระบุว่า จำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยจะมาติดต่อ แต่ได้รับอุบัติเหตุ จำเลยขอผ่อนผันการชำระหนี้ 2 เดือนและจะขายทรัพย์สินชำระหนี้แก่โจทก์กับขอให้โจทก์ลดดอกเบี้ยแก่จำเลยตามหนังสือและซองจดหมายเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ดังที่จำเลยฎีกา เพราะการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 ต้องเป็นเรื่องรับสภาพกันภายในกำหนดอายุความ แต่การที่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.12 ถึงโจทก์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้และต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ที่จำเลยฎีกาข้อสี่ว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 83 โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายมิได้บัญญัติให้บุคคลอื่นเป็นผู้ร้องขอ การที่ทนายความจำเลยแถลงขอให้เรียกนางกิ่งกาญจน์ คณานุรักษ์ ภริยาจำเลยเข้ามาแก้คดีแทน แม้โจทก์กับนางกิ่งกาญจน์ไม่คัดค้านก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87ประกอบด้วยมาตรา 83 ที่บัญญัติให้โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาคดี ก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก แต่ถ้าทนายความจำเลยเป็นผู้แถลงขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านและทายาทยินยอมเข้ามาแก้คดีแทน ก็ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายอีก และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87บัญญัติให้กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย อันหมายถึงบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ หากปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้ เนื่องจากจำเลยไม่มีสภาพเป็นบุคคล ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 84 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

   พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-10 22:05:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล