ReadyPlanet.com


หนี้เงินที่จะฟ้องร้องกันได้ต้องมีจำเงินขั้นต่ำเท่าใด


ติดหนี้เท่าไหร่อ่ะค่ะถึงจะฟ้องร้องได้ คือว่า นู๋ทำข้อสอบอ่ะค่ะ เค้ามีช้อยส์ให้เลือก คือ 50 100 1,000 10,000 ขอขอบคุณสำหรับคำตอบน่ะค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ เนย :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-15 17:58:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615195)

กฎหมายไม่ได้กำหนดขั้นต่ำของทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องไว้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีหนี้หรือสิทธิเรียกร้องจำนวนเท่าใดก็ฟ้องร้องได้ แต่จะคุ้มค่าเสียเวลาหรือไม่ในกรณีที่ยอดสิทธิเรียกร้องหรือหนี้ที่เรียกร้องนั้นมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการฟ้องบังคับคดี

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ไม่มีทร้พย์สินให้บังคับคดีก็ต้องรอสืบทรัพย์ต่อไป

อีกกรณีหนึ่งหนี้เงินที่กู้ยืมกันเกินกว่า 2,000 บาท ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมลงลายมือชื่อผู้ยืมจะฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-17 15:34:06


ความคิดเห็นที่ 2 (1615196)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7060/2549

เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามฟ้อง รายการแรกที่เขียนว่า "ย/ม(จากเล่มเก่า)?390,670" ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าเป็นการกู้ยืม ส่วนที่เขียนว่า "ยืม" ก็เขียนอยู่คนละบรรทัดและเขียนในลักษณะเป็นช่องสำหรับลงรายการทุกรายการที่จะมีต่อไป ไม่ใช่ระบุเฉพาะรายการ 390,670 เท่านั้น และในรายการที่ลงต่อ ๆ มา โจทก์ก็เขียนข้อความประกอบในแต่ละรายการว่าเป็นค่าอะไรบ้าง จึงไม่อาจแปลความคำว่า "ยืม" ตอนบนมาขยายความในช่องรายการแรกได้ ซึ่งข้อความ ย/ม(จากเล่มเก่า)?390,670 นั้น เป็นการแสดงว่าตัวเลข 390,670 นี้ นำมาจากสมุดเล่มเก่า ซึ่งรายการในสมุดเล่มเก่าจะมีกี่รายการ แต่ละรายการเป็นเงินอะไรบ้าง โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏ เมื่อจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ จึงถือไม่ได้ว่าเอกสารดังกล่าวในรายการช่องแรกเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามรายการกู้ยืมที่จำเลยแต่ละคนลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จะให้จำเลยคนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายการร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ โจทก์ฎีกาว่ากรณีเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นแต่เรื่องกู้ยืม หาได้กล่าวถึงความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมสำหรับสามีภริยาไว้ด้วยไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,108,835 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 540,670 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 126,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ส่วนท้ายของแต่ละรายการของเอกสารหมาย จ. 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ตามเอกสารหมาย จ. 1 รายการแรกที่เขียนว่า "ย/ม (จากเล่มเก่า) ? 390,670" เป็นรายการกู้ยืมตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีข้อความที่ระบุว่าเป็นการกู้ยืมแต่อย่างใด ส่วนที่มีเขียนว่า "ยืม" ตามที่โจทก์ฎีกานั้นเป็นการเขียนอยู่คนละบรรทัดและเขียนในลักษณะเป็นช่องสำหรับลงรายการทุกรายการที่จะมีต่อไป ไม่ใช่ระบุเฉพาะรายการ 390,670 เท่านั้น และในรายการที่ลงต่อ ๆ มา โจทก์ก็เขียนข้อความประกอบในแต่ละรายการอีกว่าเป็นค่าอะไรบ้าง ฉะนั้นจึงไม่อาจแปลความคำว่า "ยืม" ที่อยู่ตอนบนมาขยายความในช่องรายการแรกของบรรทัดนี้ได้ ซึ่งข้อความที่เขียนว่า ย/ม (จากเล่มเก่า) เป็นการแสดงว่า ตัวเลข 390,670 นี้ นำมาจากสมุดเล่มเก่า ซึ่งรายการในสมุดเล่มเก่าจะมีกี่รายการ แต่ละรายการเป็นเงินอะไรบ้าง โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเอกสารหมาย จ. 1 ช่องรายการนี้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการต่อไปมีว่า สำหรับจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดนั้น จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ. 1 ในแต่ละรายการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดนั้น ได้แยกพิจารณาว่ารายการใดมีลายมือชื่อจำเลยคนใดก็ให้จำเลยคนนั้นรับผิด ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว จะให้จำเลยคนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายการร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดนั้น ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์บรรยายแต่เรื่องการกู้ยืม หาได้กล่าวถึงความรับผิดอย่างหนี้ร่วมสำหรับสามีภริยาไว้ไม่ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน?

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 15:11:26


ความคิดเห็นที่ 3 (1765158)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

"การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอยางหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว"

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:13:54


ความคิดเห็นที่ 4 (1765161)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2549

สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแต่ต้น โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน แล้วส่งคืนเข้าสำนวนในชั้นฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังคงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้.

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน 3,300,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,175,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงินใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแต่ต้น โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์ แล้วส่งคืนเข้าสำนวนในชั้นฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังคงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ฎีกาของจำเลยในประการอื่น จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท๋ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:15:07


ความคิดเห็นที่ 5 (1765163)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5414/2549

สัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้จึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับจำเลยผู้ลงลายมือชื่อไว้ได้ ส่วนจำนวนเงินกู้ที่ระบุไว้ 800,000 บาท เมื่อจำเลยต่อสู้และนำสืบพยานหลักฐานหักล้างและฟังได้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 400,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญาจำนองนั้นไม่สมบูรณ์เท่านั้น มิใช่กรณีที่ทำให้สัญญาจำนองเป็นเอกสารที่มีการทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

โจทก์หักเงิน 60,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ย 3 เดือนไว้ ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสัญญาจำนองทำเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 และกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ถือว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนดจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2543 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:16:20


ความคิดเห็นที่ 6 (1765167)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2549

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณารับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาได้รับรองแล้ว แต่ตามฎีกาของโจทก์ทุกข้อเป็นข้อกฎหมาย จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาจึงไม่จำต้องเพิกถอน

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย แต่จำเลยไม่ซื้อบ้านและที่ดินคืนภายในกำหนดและยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยละเมิด ขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แต่ไม่มีแบบพิมพ์ จึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาการซื้อขายมากรอกแทนสัญญากู้ยืมเงิน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อตกลงระบุว่าเป็นสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินมือเปล่า เมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ ทั้งโจทก์ยังไม่มีสิทธิครอบครองที่จะมีอำนาจฟ้อง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระคืนตามกำหนด เห็นว่าคดีเดิมเป็นการฟ้องในมูลละเมิด ส่วนคดีนี้ฟ้องในมูลหนี้กู้ยืมเงิน จึงเป็นการฟ้องคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีก่อน แม้ในคดีก่อนจำเลยให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นเรื่องที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้กู้ยืมเงินหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับว่าหลักฐานการกู้ยืมต้องเป็นหลักฐานที่ผู้ยืมทำขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ให้ยืมไว้ในความยึดถือ คำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนที่ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์นำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องร้องได้

สำเนาคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนที่แนบมาท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องแล้วว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ นอกจากนี้จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านถึงการมีอยู่ของต้นฉบับ ทั้งให้การรับว่าเป็นคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่าจำเลยเคยเบิกความไว้ในคดีก่อนมีข้อความตามที่ปรากฏในสำเนาคำเบิกความที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนด้วยต้นฉบับอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินคืนโจทก์ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ แต่ตามฎีกาของโจทก์ทุกข้อรวมทั้งข้อที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงนั้น ล้วนเป็นข้อกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1073/2542 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย แต่จำเลยไม่ซื้อบ้านและที่ดินคืนจากโจทก์ภายในกำหนด และยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยละเมิด จึงขอให้ขับไล่และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แต่ไม่มีแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงิน โจทก์และจำเลยจึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญาการซื้อขายมากรอกข้อความแทนสัญญากู้ยืมเงิน คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาการซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อตกลงระบุว่าเป็นสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินมือเปล่า เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะ และโจทก์ยังไม่มีสิทธิครอบครองที่จะมีอำนาจฟ้อง ต่อมาโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินโดยไม่มีสิทธิเพราะขายให้แก่โจทก์ไปแล้ว อันเป็นการฟ้องในมูลละเมิด ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์และยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินเป็นการกระทำโดยละเมิดหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ตามกำหนด อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้กู้ยืมเงินตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีก่อน แม้ในคดีก่อนจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นเรื่องที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยให้การถึงหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 แห่ง ป.วิ.พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์จะนำคำเบิกความของจำเลยและหนังสือสัญญาการซื้อขายในสำนวนคดีก่อนมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่และศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังมิได้วินิจฉัย และจำเลยได้ยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นในคำแก้ฎีกาทำนองเดียวกับที่ได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยใหม่ ในปัญหาข้อแรก เห็นว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าต้องเป็นหลักฐานที่ผู้ยืมทำขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ให้ยืมไว้ในความยึดถือ คำเบิกความของจำเลยในสำนวนก่อนที่ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์ชอบที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องคดีนี้ได้ และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้อ้างคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนดังกล่าวมาเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมซึ่งทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือสัญญาการซื้อขายในสำนวนคดีก่อนว่าจะใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้หรือไม่อีก

ส่วนปัญหาข้อหลัง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โดยโจทก์ได้แนบสำเนาคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนมาท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องแล้วว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์นอกจากจำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านถึงการมีอยู่ของต้นฉบับ ทั้งให้การรับว่าเป็นคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่าจำเลยเคยเบิกความไว้ในคดีก่อนมีข้อความตามที่ปรากฏในสำเนาคำเบิกความที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนด้วยต้นฉบับอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะโจทก์ยื่นบัญชีพยานโดยระบุหมายเลขสำนวนคดีก่อนผิดพลาดแล้วมิได้ขอแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าโจทก์มิได้อ้างต้นฉบับคำเบิกความของจำเลยในสำนวนคดีก่อนเป็นพยานหลักฐานของโจทก์นั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โดยฟังว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องนั้น จึงชอบแล้ว

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท.

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:17:30


ความคิดเห็นที่ 7 (1765170)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2549

หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มเอกสารหมาย จ.7 ด้านหน้ามีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยมีความจำเป็นขอยืมเงินจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก่อน 14,000 บาท กับที่เคยยืมแล้ว 200,000 บาท รวมจำนวนเงินยืม 214,000 บาท ลงชื่อจำเลยผู้กู้ยืม โจทก์ให้กู้ยืม ส่วนด้านหลังเป็นบันทึกต่อท้ายว่า ขอยืมเงินเพิ่มอีกหลายครั้ง รวมเป็นจำนวนเงิน 380,000 บาท ลงชื่อจำเลยไว้ทุกครั้ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 353 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 5 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่ง ป. รัษฏากรแต่อย่างใด ทั้งเอกสารหมาย จ.7 ทำขึ้นภายหลังเอกสารหมาย จ.6 เป็นเอกสารคนละฉบับที่แยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่บันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.6 จึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 610,976.96 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 380,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2538 โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการแบ่งมรดกว่า โจทก์ตกลงจะใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ต่อเมื่อได้ขายตึกแถวในซอยโชคชัย 4 ซึ่งจะแบ่งชำระจากส่วนที่ได้รับจากผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อทำตั๋วแลกเงินจำนวนดังกล่าวจ่ายให้ในนามของจำเลย วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว วันที่ 10 พฤษภาคม 2541 วันที่ 30 มิถุนายน 2541 วันที่ 2 สิงหาคม 2541 วันที่ 12 ตุลาคม 2541 วันที่ 17 มกราคม 2542 วันที่ 13 พฤษภาคม 2542 และวันที่ 3 สิงหาคม 2542 จำเลยได้ทำหนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มจากโจทก์จำนวน 14,000 บาท 14,000 บาท 28,000 บาท 14,000 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท และ 60,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 15 ตุลาคม 2542 จำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการแบ่งมรดก โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่แบ่งเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มด้านหน้าเป็นหนังสือเรื่องขอกู้เงินมีข้อความสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยมีความจำเป็นขอยืมเงินจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก่อน เป็นจำนวนเงิน 14,000 บาท กับที่เคยยืมแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำนวน 200,000 บาท รวมจำนวนเงินยืมทั้งสิ้น 214,000 บาท ลงชื่อจำเลยผู้กู้ยืม โจทก์ผู้ให้ยืม ส่วนด้านหลังเป็นบันทึกต่อท้ายว่า ขอยืมเงินเพิ่มอีกหลายครั้งรวมเป็นจำนวนเงิน 380,000 บาท ลงชื่อจำเลยไว้ทุกครั้ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 อย่างหนึ่ง เท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 5 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่ง ป. รัษฎากร แต่อย่างใด ทั้งเป็นเอกสารคนละฉบับที่แยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่บันทึกต่อท้ายตามที่จำเลยฎีกา หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มจึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:18:32


ความคิดเห็นที่ 8 (1765174)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2546

โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้หนี้เดิมจะมาจากมูลหนี้การกู้ยืมเงิน แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดงต่อศาล

หนี้ตามต้นเงินที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เป็นหนี้จากมูลสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนี้กู้ยืมจึงไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,516,058.89 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นจำนวน 92,039,067.01 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินต้นจำนวน 92,039,067.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินจำนวน 6,000,000 บาท ที่จำเลยนำมาชำระออกจากดอกเบี้ยดังกล่าวก่อน หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11756 เลขที่ดิน 230 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 250,000 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดงต่อศาล เมื่อโจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 97,000,000 บาท เพื่อนำไปชำระค่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากบุคคลอื่น การกู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ แต่จำเลยที่ 3 ได้ออกเช็คในนามของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ หลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์คืนเช็คดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 นอกจากนี้โจทก์และนางสาวชโนวรรณ ยังได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะผู้จำนองในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความระบุด้วยว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำเพื่อการนี้ ให้ถือเสมือนผู้มอบอำนาจเป็นผู้กระทำเองทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้กู้และผู้จำนองในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุว่ามอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญากับผู้ใด แต่โจทก์นำสืบว่าเป็นการมอบอำนาจให้ทำสัญญากับโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาและลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ยอดหนี้ค้างชำระจำนวน 134,730,404 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาจากหนี้กู้และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับเบี้ยปรับเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้าอีกร้อยละ 3 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า หนี้ตามต้นเงินที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเป็นหนี้จากมูลสัญญาประนีประนอมยอมความมิใช่หนี้กู้ยืมซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อีกทั้ง ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจะคิดเนื่องมาจากการชำระหนี้ล่าช้าก็เป็นเบี้ยปรับหาใช่ดอกเบี้ยดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยอันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะนั้น จำเลยทั้งสามมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 200,000 บาท แทนโจทก์.

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 11:19:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล