ReadyPlanet.com


ต้องการจะทำพินัยกรรมไว้ ให้ลูกหลานต้องทำอย่างไร


ตอนนี้อายุมากแล้วอยากทำพินัยกรรม ระบุทรัพย์สินให้ลูกหลาย เผื่อว่าเป็นอะไรไปจะได้ไม่ทะเลาะกันในภายหลังมีหลักในการทำอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ทองคำ :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-30 18:54:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615160)

พินัยกรรม คือ หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เป็นการกำหนดเมื่อตายไปแล้วทรัพย์สินหรือการต่างๆ
ของตนเองจะให้แก่ใคร หรือให้ใครเป็นคนจัดการมรดก พินัยกรรมมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไป และ
พินัยกรรมนี้จะต้องถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยพินัยกรรมมีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ คือ

 

   1.แบบธรรมดา

   2.แบบเขียนเองทั้งฉบับ

   3.แบบเอกสารฝ่ายเมือง

   4.เอกสารลับ

   5.แบบทำด้วยวาจา

แบบธรรมดา เป็นแบบที่นิยมทำที่สุด พินัยกรรมแบบนี้จะให้คนอื่นเขียนให้หรือใช้พิมพ์ดีด โดยพินัยกรรมที่ทำ
ต้องลงวันที่ เดือน ปี ใน วันที่ทำพินัยกรรม และเจ้าของมรดกต้องเซ็นท้ายพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน
และพยานต้องลงรายชื่อรับรองลายมือผู้ทำพินัยกรรมนั้นด้วย

แบบเขียนเองทั้งฉบับ เจ้าของมรดกจะต้องเขียนขึ้นด้วยตนเองเท่านั้น จะให้ผู้อื่นเขียนแทนไม่ได้ ต้องระบุ
วัน เดือน ปี และลายเซ็นของตนเองลงไปด้วย

แบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องแจ้งความประสงค์ด้วยตนเองต่อนายอำเภอ และต้องมีพยาน
อย่างน้อย 2 คน จากนั้นนายอำเภอจะจดข้อความพินัยกรรมลงไว้ และจะอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
เมื่อข้อความถูกต้องเรียบร้อย ผู้ทำพินัยกรรมและพยานก็ลงชื่อไว้ จากนั้นนายอำเภอจะลงวันที่ เดือน ปี และลง
ลายมือชื่อไว้ แล้วเขียนบอกว่าพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นถูกต้องทั้งหมด แล้วประทับตราตำแหน่งนายอำเภอเป็นอัน
เรียบร้อย

แบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนพินัยกรรมด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นเขียนแทนก็ได้ และต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย ปิดผนึกพินัยกรรม แล้วนยำไปที่ว่าการอำเภอ ยื่นต่นายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คน และแจ้งความจำนงต่อนายอำเภอและพยานว่าตนเป็นผู้เขียนเอง หรือถ้าให้ผู้อื่นเขียนให้ จะต้องบอกชื่อและที่อยู่ผู้เขียนให้ทราบ เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำและวัน เดือน ปี ที่ได้ทำพินัยกรรมไว้บนซอง แล้วก็ประทับตราตำแหน่งและลายมือชื่อบนซอง พร้อมกับผู้ทำพินัยกรรมและพยานด้วย

แบบทำด้วยวาจา ในกรณีที่ตกอยู่ในอันตรายใกล้เสียชีวิต ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำด้วยวาจาได้ โดยแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้า พยานอย่างน้อย 2 คน แล้วพยานทั้งสองนั้นจะต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอ แล้วแจ้งขอทำพินัยกรรม และพฤติกรรมพิเศษด้วย นายอำเภอจะจดข้อความนั้นไว้ แล้วพยานทั้ง 2 คนลงลายมือชื่อหรือถ้าลงลายนิ้วมือต้องมีพยานเพิ่มขึ้นอีก 2 คน เพื่อรับรองลายนิ้วมือด้วย

    หากพินัยกรรมที่ทำขึ้นมามีการขูด ลบ ตก เต็ม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งจะทำให้พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์
หากพินัยกรรมที่เขียนขึ้นเป็น แบบธรรมดา จะต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน
และพยานต้องลงลายมือชื่อด้วย ถ้าเป็นแบบเขียนเองต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง ถ้าเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
ทำโดยพยานและนายอำเภอเป็นคนลงลายมือชื่อกำกับ ส่วนแบบเอกสารลับผู้ทำพินัยกรรมเป็นคนลงลายมือชื่อ
กำกับไว้

    พินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นผู้ทำพินัยกรรมสามารถเพิกถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมเมื่อไหร่ก็ได้ สำหรับการ
เพิกถอนนั้นทำได้หลายวิธีเช่น ฉีกทิ้ง หรือขีดฆ่าก็ได้ หากต้องการแก้ไขพินัยกรรมจะเขียนพินัยกรรมเดิมไม่ได้
จะต้องเขียนขึ้นมาใหม่อีกฉบับโดยเท้าความถึงฉบับเดิม ว่าต้องการแก้ไขส่วนใดบ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 09:35:40


ความคิดเห็นที่ 2 (1615161)

การทำพินัยกรรมจะทำได้ก็แต่แบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 3 หมวด 2 ว่าด้วย แบบพินัยกรรม มาตรา 1655 ถ้าทำนอกแบบที่กล่าวไว้ในกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นสพินัยกรรม มาตรา 1655 บัญญัติไว้ว่า "พินัยกรรมนั้น จะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้" กฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้หลายแบบ จะเลือกทำแบบใดก็ได้ มีผลตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แม้ผู้ทำพินัยกรรมตั้งใจทำพินัยกรรมแบบหนึ่ง แต่ปรากฎว่าไม่ถูกต้องตามแบบที่ตั้งใจทำ แต่เมื่อพินัยกรรมนั้นครบถ้วนตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ถือว่าเป็นพินัยกรรมใช้ได้ตามกฎหมาย ดังเช่นตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกาที่ 1211/2492 (ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2494 คำพิพากษาฎีกาที่ 1211/2492 แม้พินัยกรรมจะทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามความประสงค์เดิมของผู้ทำพินัยกรรมก็ดี แต่ก็ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1656 ทุกประการ ดังนี้ ศาลย่อมยกความสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมอย่างหลังนี้ ขึ้นใช้บังคับได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136 (เดิม) ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยตัดสินคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้นจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นนั้น ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2492)

 โจทก์ฟ้องว่า นางสาวเนยป้าโจทก์ตาย จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนางสาวเนย โดยกล่าวว่านางสาวเนยทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยทั้งสองและผู้อื่นอีก ทั้งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีแดง 137/2488 ความจริงพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดก จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า พินัยกรรมรายนี้เป็นโมฆะใช้ไม่ได้ตามกฎหมายและให้ถอดถอนจำเลยทั้งสองออกจากหน้าที่ผู้จัดการมรดก กับให้ส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยเป็นสามีนางเนยโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนนางเนยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของนางเนยให้แก่จำเลยและคนอื่น ๆ จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยไม่รู้เห็นความเป็นไปในการทำพินัยกรรม ก่อนวันนัดพิจารณาศาลอนุญาตโจทก์แก้และเพิ่มเติมฟ้องว่าที่ดิน ซึ่งปลูกบ้านเรือนโฉนดที่ 2236 ตำบลศิริราช ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 1 ความจริงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมโดยจำเลยที่ 1 จัดให้นางสาวเนยทำใบมอบฉันทะให้ผู้มีชื่อไปโอนโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จไปแล้วก่อนนางสาวเนยตาย ดังปรากฏตามใบมอบฉันทะลงวันที่วันเดียวกับที่ทำพินัยกรรมนั้นเอง ใบมอบฉันทะเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาทำลายการโอนโฉนดตามใบมอบฉันทะดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การเพิ่มเติมว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่บ้านโฉนดที่ 2236 ตามใบมอบฉันทะของนางสาวเนยโดยสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ 2236 ให้ คงมีชื่อนางสาวเนยในโฉนดตามเดิม คำขออื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า (1) พินัยกรรม และใบมอบฉันทะได้ทำขึ้นตามความประสงค์ของนางเนย ๆ ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในเวลามีสติดี (2) แม้พินัยกรรมนี้จะทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามความประสงค์เดิมของนางเนยก็ดี แต่ก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ทุกประการ ดังนี้ ศาลยกความสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมอย่างหลังนี้ขึ้นใช้บังคับได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136 (3) ประเด็นข้อนี้ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้น จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากหลักฐานพยาน ซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ หรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดงเป็นต้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบ หรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงกล่าวข้างต้นนั้น ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ข้อบกพร่องของใบมอบฉันทะเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวกับพยานและการกรอกชื่อผู้รับมอบฉันทะไม่ถูกต้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากคำเบิกความของพยานอันเป็นการนอกเรื่อง ไม่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดจะต้องนำสืบ เพราะไม่มีใครกล่าวอ้างถึง และไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์แต่ประการใด ฉะนั้นจึงรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกกระบวนพิจารณาโดยชอบต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว พิพากษายืน ( ปรีชาวินิจฉัย - ลัดพลีธรรมประคัลภ์ - ทรงนิติกรณ์ ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2494 พินัยกรรมฝ่ายเมืองนั้นแม้จะไม่ถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ถ้าเป็นการถูกต้องอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดาแล้ว ก็ต้องถือว่าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์ตามแบบธรรมดาได้ พินัยกรรมมีรอยขีดฆ่า แล้วมิได้เซ็นชื่อกำกับไว้ ถ้าปรากฏว่าข้อความที่ขีดฆ่านั้นเป็นข้อหยุมหยิมเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสำคัญมิได้ทำให้เสียถ้อยกะทงความตรงไหนแต่อย่างใด เพียงเท่านี้ หาทำให้พินัยกรรมทั้งฉบับนั้นเสียไปไม่ คงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่ ในกรณีที่คู่ความมิได้ต่อสู้ไว้ การที่ศาลจะยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างเองนั้นศาลย่อมกระทำในเมื่อเห็นสมควร มิใช่ว่าถ้าเห็นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ฯลฯ แล้วศาลจะต้องยกขึ้นเองเสมอไป จากคำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าวศาลฎีกาตัดสินว่า พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตามแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ทำพินัยกรรมตั้งใจทำ แต่ก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ทุกประการ ดังนี้ก็ถือได้ว่าสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมธรรมดา คำพิพากษาฎีกาที่ 980/2499 "แม้พินัยกรรมที่ทำอย่างเอกสารลับจะไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656 แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 10:15:26


ความคิดเห็นที่ 3 (1615162)

ตัวอย่าง  พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

         พินัยกรรมทำที่บ้านเลขที่............

                        วันที่.......เดือน....ปี

 

         ข้าพเจ้านายมี  มีทรัพย์มาก  อายุ  60  ปี  ขอทำพินัยกรรมไว้ว่า  เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมแล้ว  ทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายกให้แก่นายจน  ไม่มีทรัพย์  น้องชายข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว  และให้นายจน  ไม่มีทรัพย์  เป็นผู้จัดการศพข้าพเจ้า

           พินัยกรรมนี้ข้าพเจ้าเขียนด้วยลายมือของข้าพเจ้าเองทั้งฉบับ  ทำไว้เพียงฉบับเดียวโดยข้าพเจ้าเก็บไว้เอง

 

          ลงชื่อ...............ผู้ทำพินัยกรรม

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 10:23:32


ความคิดเห็นที่ 4 (1615163)

ตัวอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดา

          พินัยกรรมทำที่บ้านเลขที่..........

                       วันที่......เดือน......ปี...

      ข้าพเจ้านายมาก  บุตรน้อย   อายุ  64  ปี  ขอทำพินัยกรรมไว้ว่า  เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่ทั้งหมด ยกให้แก่นางนาก  บุตรน้อย  ภรรยาข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว  และให้นางนาก  บุตรน้อย  เป็นผู้จัดการศพข้าพเจ้า

            พินัยกรรมนี้ทำไว้  2  ฉบับ ข้อความตรงกัน

            นายขาว  สำลีไท  ผู้เขียนได้อ่านข้อความแห่งพินัยกรรมให้ข้าพเจ้าฟังแล้ว  2  ครั้ง  ข้อความตรงตามความประสงค์ของข้าพเจ้า จึงได้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยาน

 

             ลงชื่อ............ผู้ทำพินัยกรรม

 ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ได้นั่งเป็นพยานในพินัยกรรม  สังเกตเห็นผู้ทำพินัยกรรมไม่เจ็บป่วยอย่างใดและมีสติดี  ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงชื่อไว้ต่อหน้าข้าพเจ้า

         ลงชื่อ.................พยาน

         ลงชื่อ.................ผู้เขียนและพยาน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 10:34:17


ความคิดเห็นที่ 5 (1615164)

ข้อสังเกตุ

ทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรม    และทรัพย์สินที่เป็นกองมรดกของผู้ตาย

 

กองมรดก  ต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของเจ้ามรดก  ซึ่งเจ้ามรดกมีอยู่แล้วในเวลาที่เจ้ามรดกตาย

ส่วนในกรณี   พินัยกรรม  ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรม  แต่ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ทำพินัยกรรมมีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรม  หรือ อาจจะเป็นทรัพย์สินในอนาคตก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-02 17:22:04


ความคิดเห็นที่ 6 (1615165)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3523/2532

 ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วยทายาทโดยธรรมอื่นของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรม จำเลยได้ขายทรัพย์สินที่ยกให้จำเลยตามพินัยกรรมข้อ 4 และข้อ 6 แล้วได้มีการขีดฆ่าข้อความทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรม ข้อ 4 และ ข้อ 6 ออก เขียนกำกับไว้ข้างหน้าข้อ 4 และ ข้อ 6 ว่าขายไปแล้วเมื่อใด แก่ผู้ใด และลงลายมือชื่อจำเลยกำกับไว้ ทรัพย์สินตามพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว การขีดฆ่ารายการทรัพย์สินในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินซึ่งอยู่ตำบลขี้เหล็กอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน และแบ่งที่ดินที่ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่ยอมแบ่งก็ขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ใช้ราคา 792,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร พันตำรวจเอกวันชัยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งที่ดินที่ตำบลขี้เหล็กอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินที่ถนนประชาชื่นแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของจำเลย จึงไม่ระบุลงในพินัยกรรมนั้น ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร ผู้ตาย เมื่อวันที่ 29 เมษายน2506 มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ นางสาวปาริชาต ภาติกร ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 ผู้ตายมีทรัพย์สินหลายอย่างเป็นมรดกข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมายล.4 จริงและพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมายเป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้นแม้ว่าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมคนอื่นก็ตามทายาทโดยธรรมคนอื่นของผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมนั้น ปรากฏตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเอกสารหมายล.5 และ ล.6 ว่า จำเลยซื้อมาจากผู้อื่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2523ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.4 แล้วดังนั้น ถึงหากจะฟังว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ การที่มีรอยขีดฆ่าข้อความทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรมดังกล่าว ข้อ 4และ ข้อ 6 คือ ที่ดินที่ถนนประชาชื่น เขตดุสิต กรุงเทพมหานครและที่ดินที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีออกแล้วมีลายมือเขียนกำกับไว้ที่ข้างหน้า ข้อ 4 ว่า ขายแล้วเมื่อ 8กันยายน 2525 และที่ข้างหน้าข้อ 6 ว่า ขายแล้วให้นายดาบตำรวจกมล ไข่นาค และลงลายมือชื่อจำเลยกำกับไว้ข้างล่างด้วยนั้นศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้ขายที่ดินดังกล่าวไปในภายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรม ซึ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แล้วจึงได้มีการขีดฆ่าและเขียนข้อความลงลายมือชื่อจำเลยไว้ในภายหลัง ดังนั้นการขีดฆ่ารายการทรัพย์สิน ข้อ 4 และ ข้อ 6 ในพินัยกรรมดังกล่าวย่อมไม่ทำให้พินัยกรรมดังกล่าวเสียไปหรือตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมา ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น"

          พิพากษายืน

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-02 17:29:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล