ReadyPlanet.com


ปล้นทรัพย์


อยากทราบลายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง ปล้นทรัพย์

เพราะที่ผมจะได้ศึกษาอย่างละเอียดและได้ข้อมูล

จากหลายๆที่น่ะคับผม

รบกวนช่วยให้ลายละเอียดด้วยนะคร๊าบ

เรื่องเดียวแบบเนื้อและน้ำเลยอ่ะคับ

ขอเยอะๆเลยนะคับผม อีกอย่างผมจะเอาไปทำรายงานอ่ะคับ อาจานเค้าขอมาเยอะจิงๆคับ ยังไงก้อขอขอบคุณล่วงหน้านะคร๊าบ บ



ผู้ตั้งกระทู้ นศ.ผู้รักความยุติธธรรม (parin_charoensil-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-03 00:19:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1830346)

มาตรา 340 ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใด มีอาวุธติดตัวไป ด้วยผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปีและปรับ ตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณ จนเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำ ทรมานผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

 

ปล้นทรัพย์ก็คือการชิงทรัพย์ แต่เป็นการชิงทรัพย์โดยการร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เพราะฉะนั้นสาระสำคัญของความผิดปล้นทรัพย์ ก็คือต้องมีคน 3 คน ร่วมเป็นตัวการ ดังนั้นจะต้องไปศึกษาเรื่องตัวการให้ดี ๆ วิธีจำง่าย ๆ ก็ คือ การจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้นั้นต้องมีการร่วมกายและร่วมใจ ถ้ามีแต่รวมใจไม่ได้ร่วมกาย หรือร่วมกายแต่ไม่ได้ร่วมใจก็เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้เช่น ก ข ค ตกลงจะไปปล้นทรัพย์กำนันเป็ง แต่ ก ซึ่งร่วมวางแผนไม่ได้ไปปล้นด้วย คงนอนหลับอยู่กับบ้านเฉย ๆ มี แต่ ข กับ ค ไปทำการปล้นทรัพย์ ก เพียงแต่ร่วมใจคือร่วมวางแผนในการปล้นทรัพย์แต่ไม่ได้มีการร่วมกายหรือมีส่วนการกระทำในการชิงทรัพย์แต่ประการใด ข ค จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วน ก จะมีความผิดฐานสนับสนุนในการชิงทรัพย์หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2516

จำเลยที่ 1 วางแผนอยู่ที่บ้านให้จำเลยอื่นไปทำการปล้นทรัพย์ แล้วต่อมาจำเลยอื่นได้ไปทำการปล้นทรัพย์ตามแผนดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปร่วมทำการ ในการปล้นทรัพย์ด้วยเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นตัวการในการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด แต่เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้จำเลยอื่นกระทำผิด หากกล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นกระทำการปล้นทรัพย์ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 วางแผนในการปล้นทรัพย์และออกเงินให้จำเลยอื่นไปใช้จ่ายเป็นค่าเช่าแก่เจ้าของทรัพย์อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในการปล้น ตลอดจนไปชี้บ้านเจ้าทรัพย์ให้แก่พวกที่จะไปทำการปล้น ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ซึ่งแม้โจทก์จะมิได้กล่าวถึงความข้อนี้มาในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์รายนี้ได้

(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 39/2515)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2513

 

จำเลยกับพวกอีก 3 คนร่วมกันลักโคของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายกับชาวบ้านติดตามไปทันในระยะเวลากระชั้นชิดกันนั้นเอง พวกของจำเลยทั้ง 3 คนหลบหนีไปได้ก่อน คงเหลือแต่จำเลยผู้เดียวถูกผู้เสียหายกับชาวบ้านล้อมจับ จำเลยยิงปืนต่อสู้ขัดขวางการจับกุม และใช้ปืนตีทำร้ายผู้เสียหายจนถูกจับไว้ได้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเฉพาะตัว พวกของจำเลยมิได้ร่วมประทุษร้ายหรือขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่หามีความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2514

 

การที่บุคคลหลายคนร่วมกันมาปล้นทรัพย์บ้านใกล้เคียงกันแม้จะแยกกันเข้าทำการในหลายบ้าน แต่ละบ้านมีจำนวนไม่ถึง 3 คน อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็ตามก็ถือว่าการกระทำทั้งหมดเป็นกรรมเดียวกัน แต่ละคนย่อมมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ประกอบด้วยมาตรา 83แต่เมื่อคนหนึ่งในจำนวนนั้นไปข่มขืนกระทำชำเราเจ้าทรัพย์ด้วยอันไม่อยู่ในเจตนาของการร่วมกันมา ย่อมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ซึ่งศาลอาจเรียงกระทงลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ในกรณีที่โจทก์ฟ้องรวมกระทงกันมา

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228 - 231/2521

 

จำเลยขู่เจ้าทรัพย์ ค้นตัวเอาเงินไป 160 บาทนาฬิกาข้อมือ ยึดรถจักรยานยนต์ไว้แล้วเรียกค่าไถ่ตัว ตกลงให้ภริยาเจ้าทรัพย์ไปเอาเงินค่าไถ่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้ภริยาเจ้าทรัพย์นำเงินกลับไปให้จำเลยจำเลยคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ให้ เสื้อกันฝนหายไปดังนี้นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา316 ยังเป็นความผิดตาม มาตรา 340 ด้วย ที่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้เป็นค่ารถไปเอาเงิน กับคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ ไม่ใช่เรื่องไม่ประสงค์ต่อทรัพย์นั้น

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2533

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คนเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไปแต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้ เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนี้การที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก 80.

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2548

 

ผู้เสียหายขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ จำเลยกับพวกอีก 2 คนว่าจ้างให้ขับไปส่งบริเวณเกษตร เมื่อไปถึงจำเลยกับพวกให้ผู้เสียหายหยุดรถ จำเลยกับพวกลงจากรถโดยไม่ชำระค่าโดยสารอ้างว่าผู้เสียหายโกงมิเตอร์ ผู้เสียหายจึงลงจากรถและตามจำเลยกับพวกไปเพื่อทวงค่าโดยสาร จำเลยหันกลับมาชักมีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้วออกมาจี้หลังผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายเดินเข้าไป ในบ้านที่เกิดเหตุแล้วให้ผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในห้องในบ้าน จำเลยกับพวกเตะผู้เสียหายคนละ 1 ครั้ง กล่าวหาว่าผู้เสียหายเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจและพูดข่มขู่ให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีน จากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายนั่งในลักษณะคู้ตัวไปข้างหน้า ขาเหยียดตรงแล้วจึงเอานาฬิกาข้อมือและเงินสด 880 บาท ไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 เมื่อจำเลยร่วมกระทำความผิดกับพวกอีก 2 คน โดยมีมีดเป็นอาวุธ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามมาตรา 340 วรรคสอง

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2530

 

จำเลยกับพวกอีก 4 คน ไล่จับไก่ของผู้เสียหายจากบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ไฟไหม้บ้าน หลังจากจับไก่ได้แล้วจำเลยกับพวกยิงปืน 2 นัด ด้วยความคึกคะนอง มิได้ยิงปืนขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์ยึดถือทรัพย์ไว้หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายกับพวกซึ่งแอบดูอยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335(2)(7) และ(8) วรรคสาม

 

 

หมายเหตุ * ฎีกานี้เป็นฎีกาที่น่าศึกษาดังจะเห็นได้ว่า การปล้นทรัพย์ต้องมีการชิงทรัพย์ การชิงทรัพย์ต้องมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีตัวผู้ถูกกระทำเข้ามารับรู้แต่ ในกรณีดังกล่าว ปรากฎว่าพวกผู้่เสียหายแอบดูอยู่ จึงไม่มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ดังนั้นแม้มีการกระทำเกินกว่า 3 คน ก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2532

 

ในการกระทำความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3กับพวกร่วมกันขู่บังคับให้โจทก์ร่วมลงลายมือในเช็ค สั่งจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกแต่ เจตนาของจำเลยกับพวกประสงค์ที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในทันทีนั้นเองเพราะขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำเช็ค ไปเบิกเงินที่ธนาคาร โจทก์ร่วมยังถูก จำเลยที่ 1 ที่ 2กับพวกที่เหลือควบคุม ตัว ไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงไม่เป็นความผิดฐาน กรรโชก ในคดีที่รวมพิจารณา 2 สำนวน จำเลยสำนวนหนึ่งฎีกาเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐาน กรรโชก ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องข้อหากรรโชกตลอดไปถึง จำเลยอีกสำนวนหนึ่งซึ่ง ถูกฟ้องข้อหาเดียวกันที่มิได้ฎีกาได้ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225.

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2539

 

จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอด เสื้อฝึกงานและ แหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อยจำเลยกับพวกกระทำไปเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนองเพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้นมิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา309วรรคแรกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้ต้องคืนแก่ผู้เสียหายหลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงินแล้วกลุ่มเพื่อนของจำเลย3คนได้ชกต่อยผู้เสียหายจากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง1ฟุตแต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็กเป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมี เจตนาฆ่าแต่การกระทำไม่บรรลุผลจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,80และมาตรา371

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2519

จำเลยกับพวกอีก 2 คน ใช้เส้นลวดกลมขนาด 1 หุน จำนวน 3 เส้นยาวเส้นละ 16 เมตร ทำเป็นเกลียวเส้นเดียว ขึงกั้นสะพานบนถนน โดยใช้เส้นลวดผูกติดกับราวสะพานทั้งสองข้างเป็นแนวเฉียง ดักรถที่ผ่านมาชนเพื่อเอาทรัพย์สิน ผู้เสียหายซึ่งมีเงินติดตัวมาด้วย ผู้เสียหายกับพวกขับรถยนต์ผ่านมา และเห็นเส้นลวดดังกล่าวจึงหยุดรถได้ทันในระยะห่างราว 3 วา แล้วลงไปดูที่ใต้สะพานพบจำเลยถือปลายลวดข้างหนึ่งจึงจับตัวไว้ดังนี้ การกระทำของจำเลยกับพวกมิใช่เป็นขั้นตระเตรียม เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดถือได้ว่าจำเลยพยายามกระทำความผิดและเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2519)

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-03 08:54:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล